หน่วยปฏิบัติการใหม่ของ TIJ จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 โดยมีภารกิจหลักในการสนับสนุนงานของ TIJ ด้วยการผลิตข้อมูลเชิงคุณภาพ ใช้ระเบียบวิธีวิจัยที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based researches) และการสำรวจข้อมูล ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคนิคแก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดการจัดทำนโยบายในด้านการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยมีโครงการหลักในการสนับสนุนข้อมูล ด้วยระเบียบวิธีการสำรวจข้อมูลที่สอดคล้องกับมาตรฐานตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ
ทั้งนี้ การใช้ข้อมูลทางด้านสถิติและการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติด้านกระบวนการยุติธรรมและอาชญากรรม มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการหาหนทางต่อต้านอาชญากรรมและป้องกันปัญหาทางสังคมในรูปแบบต่างๆ เนื่องจากทั้งตัวเลขและแนวโน้มของกระแสสังคมล้วนสะท้อนอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายติดตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม รวมทั้งเข้าแทรกแซงเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
กิจกรรมสำคัญ
ด้วยตระหนักถึงความจำเป็นในการยกระดับคุณภาพ และการสร้างเสริมการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา กลุ่มโครงการพัฒนาข้อมูลสถิเพื่อการวิจัยและนโยบาย (STATS) จึงมุ่งดำเนินงานภายใต้ขอบเขตการดำเนินงาน 3 ประการ
ประการที่หนึ่งการปรับปรุงคุณภาพของข้อมูลโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งประเภทของข้อมูลระหว่างเหยื่อและผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับข้อมูลอาชญากรรมโดยมี “คน” เป็นศูนย์กลาง ที่ไม่เพียงให้ภาพของสิ่งที่เกิดขึ้นในอาชญากรรมเท่านั้น หากยังแสดงถึงที่มาที่ไปของอาชญากรรมนั้น ๆ รวมทั้งความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง โดยความเข้าใจทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายเพื่อการป้องกันอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพได้ต่อไป
กลุ่มโครงการ STATS ดำเนินงานในด้านการปรับปรุงข้อมูล ด้วยการระบุข้อมูลจำเป็นที่ยังขาดหาย จัดทำการศึกษาและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม จัดการอบรม และให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค โดยให้การสนับสนุน ตลอดจนสร้างความตระหนักในการนำระเบียบวิธีการและเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ อันได้แก่ International Classification of Crime for Statistical Purpose (ICCS),The Manual on Crime Victimization Surveys, United Nations Surveys on Crime Trends และthe Operations of Criminal Justice Systems (UN-CTS) มาปรับใช้
ประการที่สอง การเสนอแนะเชิงนโยบายเป็นขอบเขตการดำเนินงานที่สำคัญอีกประการของ STATS โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอนโยบายผ่านทางเครือข่ายพันธมิตรทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มโครงการ STATS ได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime - UNODC) และองค์กรเครือข่ายของ UNODCเพื่อจัดการประชุมระดับภูมิภาค สำหรับนักสถิติและผู้ปฏิบัติงานในด้านกระบวนการยุติธรรม เช่นเดียวกับการเสริมสร้างองค์ความรู้และจัดการฝึกอบรมตามแนวทางที่ได้มาจากการประชุมระดับภูมิภาค
นอกจากนี้ ยังได้ขยายความร่วมมือไปยังสถาบันในประเทศ เช่น สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานสถิติยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม และเวทีระหว่างประเทศดำเนินไปได้อย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านข้อมูลสำคัญเพื่อการติดตามการดำเนินงานเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals – SDGs)
ประการที่สามเป็นขอบเขตการดำเนินงานด้านการให้การสนับสนุนทางเทคนิคผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพที่ได้จากการดำเนินงานศึกษาและวิจัยในโครงการต่าง ๆ ที่ได้ร่วมทำกับหน่วยงานภายในอื่น ๆ ของ TIJโดยในปีที่ผ่านมา กลุ่มโครงการ STATS ได้ทำงานร่วมกับสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก กระทรวงยุติธรรม เพื่อเก็บข้อมูลจากเด็กและเยาวชนที่อยู่ในสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก อันจะนำไปสู่การเสนอแนะนโยบายการป้องกันอาชญากรรม อีกทั้งให้การสนับสนุนวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อกำหนดกรุงเทพ และการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดหญิง (The Bangkok Rules)
กลุ่มโครงการ STATS มุ่งหวังในการเสริมสร้างให้ TIJ เป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลปฐมภูมิและเป็นหน่วยงานระดับภูมิภาคที่มีการทำงานเชิงรุกในด้านการจัดทำและวิเคราะห์ข้อมูลกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและอาชญากรรมในประเทศไทย เนื่องจากมีเพียงข้อมูลที่ถูกต้องน่าเชื่อถือได้เท่านั้นที่จะนำไปสู่การเอื้ออำนวยให้รัฐบาลสามารถประเมินสถานการณ์ และแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องตรงเป้าหมาย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัย ความมั่นคงในชีวิต และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในสังคม
พันธมิตรหลัก
- สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime - UNODC) และองค์กรเครือข่าย UNODC
- สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานสถิติยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม