TIJ Academy มุ่งสรรค์สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีคุณค่าสำหรับผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติงานด้านความยุติธรรม ด้วยองค์ความรู้ระดับโลก ทักษะที่สนับสนุนการทำงานอย่างมีนวัตกรรม พร้อมทั้งแรงบันดาลใจจากตัวอย่างจริงของไทยและนานาชาติ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
เราทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐทั้งในและนอกกระบวนการยุติธรรม สถาบันวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคม สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) สถาบันเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (UN-PNIs) และรวมถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในหลากหลายภาคส่วน เพื่อเชื่อมโยงพลังเครือข่ายในการสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงด้านความยุติธรรม
โดยประเด็นการพัฒนาศักยภาพที่ TIJ Academy ให้ความสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมการนำมาตรฐานและบรรทัดฐานระหว่างประเทศด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาไปปฏิบัติ การบูรณาการความร่วมมือของเครือข่ายเพื่อพัฒนาความยุติธรรม และนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรม รวมถึงความยุติธรรมสมานฉันท์
หลักสูตรหลักของ TIJ Academy
ICPCJ - หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการอนุวัติมาตรฐานและบรรทัดฐานระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรม (The Executive Programme for the Implementation of International Standards and Norms in Crime Prevention and Criminal Justice)
เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายของการสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านความยุติธรรม และความคาดหวังต่อระบบยุติธรรมทางอาญายุคใหม่ TIJ Academy ได้ร่วมมือกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) พัฒนาหลักสูตรเสริมสร้างศักยภาพของผู้นำด้านความยุติธรรมในการคิดริเริ่ม ออกแบบ และบริหารงานการดำเนินงาน ที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบริบทความต้องการของประชาชน
ICPCJ นำเสนอประเด็นการพัฒนาที่สำคัญของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา พร้อมทั้งแนวคิดและแนวปฏิบัติทางเลือกต่างๆ ที่จะสนับสนุนการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาตลอดทั้งกระบวนการ โดยครอบคลุมเนื้อหาในประเด็นด้านความยุติธรรมต่างๆ ประกอบด้วย
- แนวโน้มอาชญากรรมระหว่างประเทศ และอาชญากรรมที่เกิดขึ้นใหม่ โดยเฉพาะในระดับภูมิภาคและประเทศไทย
- ความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา
- ความท้าทายของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
- แนวคิดใหม่ในการส่งเสริมความยุติธรรมทางอาญา
- การเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับทุกคน
- ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม
- การบริหารจัดการเรือนจำและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด
- ความร่วมมือ และนวัตกรรมด้านความยุติธรรม
- กิจกรรมเรียนรู้ผ่านโครงการกลุ่ม