ช่วงต้นปี 2018มีข่าวว่ารัฐบาลเนเธอแลนด์พิจารณาการ ‘ปิดคุก’ ถึง 4 แห่ง เนื่องจากไม่มีนักโทษเพิ่มขึ้นเลย การ ‘เปิดคุก’ ไว้ จึงเป็นการสูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ ปัจจุบันนักโทษในเนเธอแลนด์ลดลงเหลือ 13,500คน คิดเป็นอัตราส่วนต่อประชากรทั้งหมดเพียง 57 ต่อ 100,000 คน นับว่ามีอัตราต่ำที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง
ภาพคุกว่างเปล่าที่ว่า อาจไม่ใช่เรื่องคุ้นเคยเท่าไรนักในประเทศไทย สิ้นปีที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ต้องขังในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 386,000คน แต่เรือนจำสามารถรองรับได้เพียงแสนกว่าคนเท่านั้น ปริมาณนักโทษที่สูงกว่าพื้นที่เรือนจำ 3 เท่านี้ จึงเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข ไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณการดูแลผู้ต้องขังเท่านั้น แต่การพัฒนามนุษย์ให้คืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ในงานเสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปี ข้อกำหนดกรุงเทพ ในหัวข้อ ‘จากเรือนจำสู่ชุมชน : ลดช่องว่าง สร้างโอกาส และเสริมสร้างความยุติธรรมในสังคม’ ที่จัดโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) พูดถึงประเด็นเกี่ยวกับผู้ต้องขังไว้อย่างน่าสนใจ คือ Beyond Prison – การสร้างโอกาสและส่งเสริมการกลับสู่สังคม และ Besides Prison – อนาคตของการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในประเทศไทย ทั้งสองประเด็นนี้พูดถึงปัญหาสำคัญในการจัดการผู้ต้องขังคือ ปัญหาคนล้นเรือนจำ และปัญหากระทำผิดซ้ำเพราะไม่อาจคืนสู่สังคมได้
ปัญหาใหญ่ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ แม้ ‘ผู้ต้องขัง’ จะกลายเป็นเพียง ‘อดีตผู้ต้องขัง’ แต่การกลับเข้ามาสู่สังคมโดยได้รับการยอมรับก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่แค่เสียงติฉินนินทาของคนรอบข้าง แต่การใช้ชีวิต ‘ได้จริง’ ก็เป็นเรื่องยากลำบาก เช่น การหางานทำ การอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้าน การได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ ฯลฯ ยังคงเป็นอุปสรรคอย่างมาก แม้ว่าเขาจะได้รับโทษไปแล้ว แต่เมื่อพ้นโทษออกมา ก็ยังต้องรับโทษจากสังคมอีกต่อหนึ่ง โดยที่ไม่รู้เลยว่าโทษนั้นจะจบลงเมื่อใด
เพราะเหตุนี้ จึงมีการพยายามแก้ปัญหา ช่วยให้อดีตผู้ต้องขังกลับสู่สังคมได้อย่างเป็นปรกติ มีชีวิตอย่างที่เรียกว่า ‘ชีวิต’ จริงๆ
วงเสวนาเรื่อง Beyond Prison – การสร้างโอกาสและส่งเสริมการกลับสู่สังคม
เรือนจันแลนด์ - สร้างความสัมพันธ์เรือนจำกับชุมชน
“เราอยากเห็นคนเหล่านี้มีความสุข เพราะเขาอยู่ในดินแดนต้องห้ามและต้องคำสาป ดังนั้นการที่จะนำพาคนเหล่านี้ให้หลุดพ้น เราต้องคิดโจทย์หลายเรื่อง”
ความเชื่อ ความหวัง และความฝัน คือแนวคิดสำคัญในการทำ ‘เรือนจันแลนด์’ ของชาญ วชิรเดช ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดจันทบุรี เรือนจำที่สร้างงานและสร้างพื้นที่ให้คนในชุมชนได้เข้ามารู้จักกับเรือนจำ ว่าไม่ใช่ดินแดนลึกลับและอันตรายอย่างที่คิด ชาญยังกล่าวอีกว่า “การคืนคนดีสู่สังคม จะไม่ทิ้งใครเอาไว้ข้างหลัง เราจะต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายในสู่ภายนอก และไม่ติดกับดัก”
โจทย์ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการแก้ปัญหาการกระทำผิดซ้ำ ที่เรือนจำจังหวัดจันทบุรีมีการกระทำผิดซ้ำ 25เปอร์เซ็นต์ และมีการกระทำผิดซ้ำของผู้หญิง 4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 2,500 คน มีผู้ต้องขังหญิงประมาณ 300 คน ดังนั้นการจะเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาจึงจำเป็นต้องเข้าใจปัญหาที่แท้จริงก่อน ทั้งการควบคุมผู้ต้องขังและการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ให้เกิดการยอมรับในท้ายที่สุด การเปิดเรือนจำสู่สังคมจึงเป็นทางออกที่จะแก้ปัญหาที่ว่านี้ ทำให้คนมองว่าเรือนจำแห่งนี้พัฒนาแล้ว ทั้งในเชิงพื้นที่และคน
ชาญ วชิรเดช ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดจันทบุรี
“เราเริ่มด้วยการสร้างแบรนด์ขึ้นมาชื่อ ‘เรือนจันเฮ้าส์’ ผลิตขนมขาย แล้วมีส่วนราชการ โรงแรมในจังหวัดจันทบุรีมาอุดหนุน เดือนหนึ่งก็ขายได้หลายแสน การเปิดเรือนจำสู่สังคมนั้นยังไม่เป็นที่ประจักษ์ ก็ต้องเปิดให้เห็นว่าคนเหล่านี้ที่ผิดระเบียบ ผิด norm จากสังคม เขาอยู่ในระเบียบ เคารพกฎ ต้องให้หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด และคนในจังหวัดเข้ามาดูการสวนสนาม ดูกิจกรรม ก็จะเห็นว่าคนเหล่านี้อยู่ในระเบียบวินัยดี” ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดจันทบุรี อธิบายโมเดลการพัฒนาคนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนกับเรือนจำ
นอกจากนี้ยังมีการจัดกาแฟสัญจรในเรือนจำ ให้คนภายนอกที่ไม่เคยเห็นเรือนจำได้เห็นพื้นที่นี้ในมิติใหม่ ว่าภายในมีการเปลี่ยนแปลง พัฒนาทั้งรสชาติอาหาร การบริการ การแสดง ในหนึ่งปีมีการประกวด ‘The Chan star บุกแดนค้นหาจัน’ ให้ผู้ต้องขังได้แสดงความสามารถ ซึ่งรางวัลคือการเข้าทำงานที่ร้านอาหาร หลังจากพ้นโทษไปแล้ว มีรายได้เดือนละ 2-3 หมื่นบาท
รวมถึงมีโรงงานกระเบื้องที่รับคนเข้าทำงานไปเช้าเย็นกลับขณะยังเป็นผู้ต้องขัง เมื่อพ้นโทษออกมาโรงงานก็รับเข้าทำงานทันที ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดจันทบุรีอธิบายว่า การพัฒนาเรือนจำนี้คือการสร้าง Business Model มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านเกษตร ร้านนวด และร้านคาร์แคร์ ซึ่งทั้งมวลมีเป้าหมายคือการผลิตออกไปสู่ตลาดอย่างจริงจัง
ผลิตภัณฑ์จากเรือนจันเฮ้าส์
การสร้างการยอมรับ ไม่ใช่แต่เพียงการสร้างโมเดลพัฒนาเรือนจำเท่านั้น หากแต่คนในชุมชนเป็นส่วนสำคัญอย่างมากที่จะช่วยให้อดีตผู้ต้องขังกลับมาสู่สังคมได้อย่างเป็นปรกติ เพราะการยอมรับคือแขนที่โอบอุ้มผู้คนอย่างอบอุ่นที่สุด โดยคุณชาญ ได้เข้าไปพูดคุยกับหลายภาคส่วนในจังหวัดเพื่อทำให้การมีส่วนร่วมเกิดขึ้นได้จริง
“คนเหล่านี้อยู่กับท่านมาทั้งชีวิต เกิดมาอยู่ในสภาพแวดล้อมของท่าน แต่มาอยู่กับผมเพียงแค่ 2-5 ปี แล้วคาดหวังให้ผมคืนคนเหล่านี้กลับสู่สังคม ผมก็บอกเขานะว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะการจะคืนคนเหล่านี้กลับสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ พ่อแม่พี่น้องในจังหวัดนี้จะต้องเข้ามาร่วมทำกิจกรรม ร่วมสร้างโมเดลด้วยกัน”
ปัจจุบันตัวเลขการกระทำผิดซ้ำของอดีตผู้ต้องขังลดลงเหลือเพียง6 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของผู้หญิงเหลือเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ตัวเลขการมีงานทำยังเพิ่มขึ้นสูง จากเดิม 10 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นการพัฒนาที่เห็นผลได้จริงจากการมีส่วนร่วมของคนในสังคม
ดอยฮางโมเดล - แก้ปัญหายาเสพติดเชิงพื้นที่
โครงการลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่จังหวัดจันทบุรีเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายที่ที่พยายามสร้างความร่วมมือของคนในชุมชน และพยายามลดการกระทำผิดซ้ำ เช่นที่เรือนจำชั่วคราวดอยราง จังหวัดเชียงราย ที่ทำ ‘ดอยฮางโมเดล’ เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดเชิงพื้นที่
“สิ่งที่เราเห็นทุกวันนี้เป็นภาพสะท้อนจากผลผลิตที่ผิดเพี้ยน สังคมต้องมาคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือตอนนี้คนล้นเรือนจำ ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด และส่วนใหญ่เป็นคนตัวเล็กตัวน้อย เป็นคนจน อยู่ในวงจรแบบนี้ เข้าๆ ออกๆ คุกเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่างานป้องกันเรามีปัญหา เราต้องทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้นกับงานป้องกัน ทำไมคนไทยเข้าไปอยู่ในวงจรแบบนี้เยอะมาก” วัชรพงษ์ พุ่มชื่น นักพัฒนางานวิชาการสารเสพติด จากศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ทำงานแก้ปัญหายาเสพติดเชิงพื้นที่มากว่า 20 ปี กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
วัชรพงษ์ พุ่มชื่น นักพัฒนางานวิชาการสารเสพติด จากศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัญหาเรื่องเมทแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า กลายเป็นปัญหายาเสพติดแบบใหม่ ที่เจ้าหน้าที่ยังต้องทำความเข้าใจและหาวิธีแก้ปัญหาอีกมาก วัชรพงษ์เล่าถึงโครงการ ‘กำลังใจดอยฮาง’ ที่ตอนนี้ทำมาถึงรุ่นที่ 6คอยติดตามผู้พ้นโทษและคอยช่วยเหลือชีวิตหลังออกจากเรือนจำ เริ่มติดตามตั้งแต่ได้รับการปล่อยตัววันที่ 13 ตุลาคม 2559จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาทั้งหมดกว่า 800 วัน
จากนักโทษคดียาเสพติดประมาณ 40 คน มีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พบว่า 14 คนที่มีแนวโน้มจะกลับไปยุ่งเกี่ยวกับคดีค้ายาเสพติด และผลก็ออกมาอย่างที่คาด มีคนกลับไปเกี่ยวข้องกับคดียาเสพติดอีก 5 คน ซึ่ง 2 คนในนั้นเสียชีวิต คนแรกหลบหนีด่านด้วยการกระโดดลงน้ำแล้วจมน้ำเสียชีวิต ส่วนคนที่สองเสียชีวิตจากการเสพยา
“ผมตั้งข้อสังเกตว่าเราไม่ใช่เขา เราไม่เข้าใจหรอกว่าทำไมเขาถึงเสพหรือค้า เรากำลังคิดแทนเขาหรือเปล่า” วัชรพงษ์กล่าว
“เมื่อลงพื้นที่ไปดูจริงๆ เจ้าหน้าที่พบว่า คนที่พ้นจากระบบยุติธรรมออกมาแล้ว การจะยืนอยู่ในชุมชนได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ในเชิงทฤษฎีดูเหมือนว่าจะปรับใช้ได้ แต่ความจริงอีกชุดคือ ยังมีปัจจัยที่ส่งเสริมให้คนไปกระทำความผิดมากกว่านั้น ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ไม่มีใครพูดถึง คือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”
จากการสัมภาษณ์ผู้พ้นโทษ พบว่า 3 สิ่งแรกที่ทำหลังจากออกเรือนจำคือ ซื้อโทรศัพท์เพื่อเปิดเฟซบุ๊ก ดื่มฉลอง และมีเซ็กซ์
นอกจากอบายมุขจากโลกภายนอกจะมีส่วนทำให้อดีตผู้ต้องขังเข้าสู่วงจรเดิมแล้ว ในความเป็นจริง การจะกลับเข้ามาทำงานก็เป็นเรื่องยาก ทั้งปัญหาความยากจนที่ไม่อาจขยับฐานะทางชนชั้นขึ้นมาได้ง่าย ยังไม่นับปัจจัยรอบข้าง เช่นเพื่อนฝูง คนรัก ความสนุกตื่นเต้นของวัยรุ่น หรือบรรยากาศในการเสพยา ก็แทบจะเป็นแม่เหล็กที่รุนแรงกว่าการกลัวการกระทำผิด หรือคิดถึงครอบครัว การขายยาที่ได้กำไรมหาศาลจึงเป็นทางออกที่สะดวกที่สุด
“นี่คือความจริงของคนตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่ในสังคม แล้วผิดพลาดเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เราต้องเอาความจริงชุดนี้มาคุยกันให้เยอะขึ้น ไม่อย่างนั้นเราจะแก้ไขปัญหาในเชิงภาพฝันเกินไป” วัชรพงษ์กล่าวสรุป
สร้างภูมิตุ้มกันให้ผู้ต้องขัง
ไม่ใช่แค่หน่วยงานภาครัฐเท่านั้น แต่ยังมีคนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาเปิดพื้นที่ให้อดีตผู้ต้องขัง ได้มีงานและรายได้หลังจากพ้นโทษออกมาแล้ว เช่น นายแพทย์พูลชัย จิตอนันตวิทยา ประธานฝ่ายการแพทย์วิสาหกิจสุขภาพชุมชน (SHE)ผู้ทำให้คนเห็นว่า โอกาสยังมีเสมอในสังคม โดยเปิดรับอดีตผู้ต้องขังเข้าทำงานใน บ้านกึ่งวิถี ‘เธอ’ เปิดนวดดัดจัดสรีระสำหรับคนทั่วไป เริ่มต้นจากการนำความรู้ทางการแพทย์มาใช้ในธุรกิจแบบ Social Enterprise แล้วจึงค่อยขยับมาที่การเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขัง
“วันหนึ่งผมเข้าไปในเรือนจำแล้วพบว่า มีผู้หญิงตั้ง 5,000คนอยู่ในนี้ แล้วหลายคนพูดตรงกันว่าอยากได้โอกาสมีอาชีพ ผมเลยลองทำดูว่า ถ้าผมเอาคนเหล่านี้ฝึกอาชีพก่อนปล่อยออกจากเรือนจำ พอถึงเวลาปล่อยแล้วค่อยมาอยู่กับผม ให้เขามากินมาอยู่ที่นี่เลย แล้วก็หางานให้อย่างต่อเนื่อง” นายแพทย์พูลชัยกล่าวถึงที่มาของบ้านกึ่งวิถี ‘เธอ’
นายแพทย์พูลชัย จิตอนันตวิทยา ประธานฝ่ายการแพทย์วิสาหกิจสุขภาพชุมชน (SHE)
เมื่อทำไปสักพักจึงเจอปัญหาเรื่องความยั่งยืนและปัญหาภายในเรือนจำ นายแพทย์พูลชัยจึงเข้าไปเป็นกรรมาธิการแก้กฎหมาย เอาทีมไปนวดที่สภาอยู่ 6 เดือนเพื่อให้รัฐเห็นความสำคัญ เขียนเป็นกฎหมายประกันสังคม เปิดพื้นที่ให้คนประมาณ 13 ล้านคนในการทำงาน ต่อมาจึงเข้าไปร่วมแก้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ เสนอโมเดลให้พักโทษได้ตั้งแต่ 1 ใน 3 ของการรับโทษ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ จึงทำให้มีคนที่ออกจากเรือนจำก่อนเวลาเพื่อมาทำงานได้มากขึ้น
“ผมดึง Social impact investment เข้ามา ทั้งจากบริษัทรัฐวิสาหกิจ จากบริษัทมหาชน จากบริษัททั่วไป เข้ามาเตรียมจ้างงานคนเหล่านี้ ตั้งแต่ก่อนปล่อย และเมื่อปล่อยแล้วก็มีโควตางานประจำ และถ้าหากผ่านการประเมิน พวกเขาก็ได้รับค่าแรงเหมือนคนปกติ มีชีวิตเหมือนคนปกติ ตอนเช้ามาทำงาน ตอนเย็นกลับบ้าน หรือจะอยู่ที่บ้านกึ่งวิถี ‘เธอ’ ก็ได้”
Social impact investment หรือการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบในสังคม เป็นหนึ่งในรูปแบบการลงทุนเพื่อสังคมที่ต้องการสร้างแรงกระเพื่อมและพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น จากการทำโครงการมาทั้งหมด นายแพทย์พูลชัยสรุปว่า ถ้าไม่อยากให้ผู้พ้นโทษกลับไปกระทำผิด มีอยู่ 2 ประเด็นในการแก้ปัญหาคือ1.มีที่อยู่และมีทางเลือกให้ และ 2.มีอาชีพที่หลากหลาย แต่ต้องมั่นใจว่าเป็นงานที่มีลูกค้ามากพอ รวมถึงมีการมาซื้อซ้ำอย่างสม่ำเสมอ ผู้พ้นโทษจึงจะอยู่ได้ และคนเหล่านี้ต้องได้สิทธิมากกว่าคนอื่นที่จะได้รับงานนี้
“ภาครัฐหรือภาคชุมชนติดกับคำว่าชุมชนที่เป็นหมู่บ้าน แต่ผมพบว่าชุมชนโรงงาน ชุมชนคนใช้ BTS ชุมชนคนใช้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ชุมชนเหล่านี้อ้าแขนเปิดรับ เขาไม่สนใจหรอกว่าคุณเป็นใคร แต่ถ้าคุณให้บริการตรงนี้ได้ดี แล้วตอบโจทย์เรื่องอาชีพ คือมีอาชีพที่ดี จึงไม่กลับไปอีก ผมมองหาชุมชนที่ให้เขาอยู่ร่วมกันเป็นบ้านกึ่งวิถี และผมมองหาชุมชนซึ่งมีเงิน มีคนจำนวนมหาศาล และไม่สนใจด้วยว่าคุณเคยก้าวพลาดหรือเปล่า” นายแพทย์พูลชัยกล่าวสรุป
การสาธิตการนวดจัดสรีระ จากบ้านกึ่งวิถี ‘เธอ’
การสร้างภาพจำแบบใหม่ของผู้ต้องขัง
นอกจากการสร้างพื้นที่และโอกาสในเชิงรูปธรรมแล้ว การสร้างภาพจำแบบใหม่ของคนในสังคมต่อผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษก็เป็นเรื่องจำเป็น ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า คนส่วนใหญ่ในโลกและประเทศไทย ไม่มีประสบการณ์เห็นภาพจริงในเรือนจำ จึงไม่เข้าใจว่าผู้ต้องขังมีชีวิตความเป็นอยู่ เงื่อนไข เหตุผล หรือความจำเป็นของชีวิตแบบใด แต่เห็นภาพเหล่านี้จากสื่อ จึงทำให้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน จนถึงขั้นไม่เข้าใจผู้ต้องขังเลย ซึ่งเหล่านี้ล้วนมิใช่ภาพที่เป็นจริง การแก้ปัญหาภาพจำและภาพลักษณ์ของผู้ต้องขังจึงเป็นสิ่งที่ควรขับเคลื่อนไปควบคู่กัน
“ในพื้นที่ของข่าว ละคร ภาพยนตร์ จะมีการนำเสนอภาพในเชิงเกี่ยวกับคุกหรือชีวิตนักโทษในทางลบ ยังฝังภาพความรุนแรงเอาไว้ ทำให้เวลาคนทั่วไปนึกถึงภาพเรือนจำ จึงหนีไปไม่ได้ว่าเขากำลังถูกกระบวนการ internalizationของสื่อกระทำการสร้างความเชื่อฝังหัว เพราะตั้งแต่เราเกิดจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในทุกวันนี้ เราเรียนรู้ความจริงของโลกจากสื่อเกินกว่าค่อนชีวิต เพราะฉะนั้นการผลิตซ้ำและนำเสนอผ่านสื่อซ้ำๆ ก็จะทำให้เกิดความเชื่อฝังหัวบางอย่าง” ดร.ชเนตตี กล่าว
“เราสามารถสังเกตได้เลยว่าไวยากรณ์หลักที่สื่อนำเสนอเรื่องพวกนี้ จะหนีไม่พ้นการปรากฏภาพกำแพงสูง ลวดหนาม ลูกกรง ผู้คุม นักโทษ โซ่ตรวน ไม้กระบอง และการสร้างบรรยากาศที่ดูหม่นมัว ใช้เฉดสีดำ เทา แดง เป็นต้น สัญลักษณ์เหล่านี้ทำให้เราเข้าใจว่าชีวิตในเรือนจำเกี่ยวข้องกับเรื่องความทุกข์ ความสิ้นหวัง ความตาย การขาดอิสรภาพ และความรุนแรง”
ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.ชเนตตีอธิบายต่อว่า นอกเหนือจากเรื่องความสิ้นหวังแล้ว ยังมีการนำเสนอเรื่องความรุนแรงทางเพศ ตั้งแต่การทำอนาจารไปจนถึงการข่มขืนที่เกิดขึ้นในเรือนจำ แต่จากการเข้าไปทำงานในฐานะอาสาสมัคร เธอพบว่าในเรือนจำมีความงดงามของความรัก ความสัมพันธ์ของผู้ต้องขังที่เป็นกำลังใจให้กัน แต่ขณะเดียวกัน สื่อก็ยังมีการนำเสนอทั้งเรื่องเพศ และเรื่องที่ส่งผลต่อจิตใจ เช่น การถูกเลือกปฏิบัติ การสร้างความอยุติธรรมในรูปแบบต่างๆ และทำให้ผู้ต้องขังไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือสร้างสภาพแวดล้อมในเรือนจำให้เต็มไปด้วยอบายมุขและการทะเลาะวิวาท ทั้งหมดนี้จึงทำให้ภาพของผู้ต้องขังอยู่ในมุมมืด และแปลกแยกจากคนในสังคมไปเรื่อยๆ
“ภาพแทนในเรือนจำเป็นภาพของสังคมชนชั้น ทั้งระหว่างผู้คุมกับนักโทษ และระหว่างผู้ต้องขังด้วยกันเอง ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าสื่อเชื่อว่าในระบอบของเรือนจำ เต็มไปด้วยพื้นที่ของการใช้อำนาจ มากำกับให้สื่อสร้างภาพความรุนแรงออกไป
“สมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ในประเทศไทย ไม่ค่อยมีความจริงจังมากเท่าที่ควรในการทำงานที่จะเข้าไปรื้อทลายภาพแทนในลักษณะแบบนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องราวในเรือนจำจึงเป็นประเด็นโศกนาฏกรรมที่สื่อต้องการสะท้อนออกมา มากกว่าที่จะเป็นพื้นที่ของการสร้าง empowerment พื้นที่ของการฟื้นฟู หรือการสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นระหว่างคนในเรือนจำและคนที่อยู่ภายนอกเรือนจำ
“เพราะฉะนั้นจะมีงานน้อยชิ้นมาก ที่นำเสนอในเชิงของ empowermentแต่ในขณะเดียวกันภาพที่ถูกนำเสนอมากคือ สื่อจะไม่ค่อยให้โอกาสกับผู้ต้องข้องที่ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า”
ตัวอย่างสื่อที่ empowermentผู้ต้องขัง อย่างเห็นได้ชัด โดยสร้างภาพจำใหม่ของผู้ต้องขัง คือ มิวสิควิดีโอเพลง แด่ศาลที่เคารพ ของน้อย วงพรู ที่นำเสนอภาพหลากหลายของผู้ต้องขัง กระทบใจผู้รับชม
“สื่อที่จะสามารถเขย่าด้านในของผู้ชมได้ ต้องสร้าง Self-reflectionให้เกิดขึ้น เวลาที่ผู้ชมดูสื่อนั้นๆ เขาจะต้องรู้สึกสะท้อนสิ่งที่ได้ดูกลับเข้าสู่ตัวตนเขา นหมายความว่า ถ้าผู้ชมได้ดูมิวสิควิดีโอ ภาพยนตร์ ละคร หรือสารคดี แล้วเขาเห็นตัวเองปรากฏอยู่ในสื่อ นั่นคือเกิดกระบวนการ Self-reflection แต่งานสื่อมวลชนทั่วไปไม่ได้ทำให้ผู้ชมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาหรือเรื่องเล่านั้นๆ” ดร.ชเนตตีกล่าวสรุป และมีข้อเสนอแนะว่า
“ดิฉันอยากเสนอให้สื่อมาทำงานในส่วนของการเปลี่ยน paradigmต้องเคลื่อนจากการคิด วิเคราะห์ ใช้ฐานหัว มาสู่การใช้หัวใจเพื่อเปิดรับประเด็นที่มีความเปราะบางอ่อนไหวมากขึ้น หมายรวมถึงหลักสูตรที่ผลิตบัณฑิตด้านสื่อมวลชนทั่วประเทศ ก็จะต้องปรับกระบวนทัศน์ในการสอนใหม่ แทนที่จะสอนให้นิสิตคิดวิเคราะห์ จนกระทั่งละเลยการใช้หัวใจเพื่อเข้าใจความหลากหลายของความเป็นมนุษย์ในสังคม”
ที่มา: https://www.the101.world/beyond-prison/