ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้นมีต้นทุนสูง แม้ตามกฎหมาย คู่ความในคดีอาญาจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล แต่ในความเป็นจริงไม่มีอะไรได้มาฟรี  ทันทีที่คู่ความเข้าสู่กระบวนการก็มีค่าใช้จ่ายหลายรายการที่จะต้องแบกรับโดยไม่มีทางเลือก บางรายอาจต้องจ่ายค่าจ้างทนายซึ่งสูงไม่แพ้คดีแพ่งเลยทีเดียว ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงผลกระทบด้านสุขภาพ การศึกษาหรือจ้างงาน ความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว ตลอดจนชื่อเสียงและสถานะทางสังคม ที่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้เสียหายหรือจำเลยก็ล้วนต้องเจอกับผลกระทบในการดำเนินชีวิตและโอกาสในการประกอบอาชีพ ซึ่งค่าเสียโอกาสลักษณะนี้ไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้ง่าย 

ต้นทุนทั้งทางตรงทางอ้อมจึงเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้บางคนจำใจต้องยอมสละสิทธิที่จะได้รับความยุติธรรมอย่างเสมอภาคตามกฎหมายไป  

ตัวอย่างผู้เสียหายในคดีอาญาเกี่ยวกับเพศรายหนึ่ง มีรายได้จากการขายของประมาณสองพันบาทต่อเดือน เล่าว่าต้องเดินทางไปศาลเพื่อเข้าร่วมการพิจารณาคดีกว่า 5 ครั้ง หลังจากที่เดินทางไปร้องทุกข์และให้การในชั้นก่อนฟ้องแล้วหลายครั้ง การต่อสู้คดีทำให้เกิดความเครียดอีกทั้งต้องหยุดค้าขายหลายวัน เป็นผลให้ถูกแย่งพื้นที่ขายที่ได้จับจองไว้ไป กระทบต่อความสามารถในการจุนเจือครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างยากจน ในอีกตัวอย่างหนึ่ง ผู้เสียหายในคดีอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ แม้พอจะมีฐานะ สามารถจ้างทนายความดำเนินการแทนได้ ก็ต้องเดินทางไปศาลมากกว่าสิบครั้ง และต้องจ่ายค่าเอกสารต่างๆ รวมกว่าสองหมื่นบาท[1]

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็น Disruption สำคัญที่ทำให้กำแพงการเข้าถึงความยุติธรรมที่สูงชันยิ่งขึ้น ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอยขั้นรุนแรง อัตราการว่างงานสูงขึ้นจากปกติอย่างกะทันหัน ค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงความยุติธรรมในจำนวนเท่าเดิมอาจเป็นมูลค่าที่สูงอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับรายได้ที่หายไป  อีกทั้งยังมีอุปสรรคเพิ่มเติม คือการลดการรวมกลุ่มของคนเพื่อป้องกันการระบาดทำให้ต้องเลื่อนพิจารณาคดีจำนวนมาก จากข้อมูลของศาลยุติธรรม ระหว่างวันที่ 24 มีนาคม ถึง 21 พฤษภาคม 2563  มีคดีแพ่งและอาญาที่เลื่อนออกไปทั่วประเทศทั้งสิ้น 163,620 คดี ซึ่งส่วนใหญ่มีกำหนดวันพิจารณาใหม่ระหว่างมิถุนายน - สิงหาคม 2563 ทำให้ผู้ที่อยู่ในการควบคุมตัวเพื่อรอการพิจารณาคดียิ่งต้องรอนาน ไม่สามารถไปหารายได้ช่วยเหลือดูแลครอบครัวได้

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ยากลำบากนี้อาจเป็นโอกาสดีที่สุดครั้งหนึ่ง สำหรับ Digital Transformation หรือการปรับเปลี่ยนกระบวนการยุติธรรมไปสู่รูปแบบดิจิทัล โดยนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีมาใช้ส่งเสริมการอำนวยความยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่ประหยัดและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น 

ผลการศึกษาจากการสำรวจค่าใช้จ่ายที่ประชาชนต้องจ่ายจริงเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา[2] พบว่าการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ไม่ว่าในฝั่งของผู้เสียหายหรือผู้กระทำผิดนั้น มีค่าใช้จ่ายทางตรงที่เกิดขึ้นแน่นอนในทุกกรณี คือ ค่าเดินทางไปติดต่อหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่การแจ้งความ หรือให้ปากคำแก่เจ้าพนักงานที่สถานีตำรวจ ไปพบพนักงานอัยการ ไปขึ้นศาล อีกทั้งยังอาจมีการเดินทางไปขอคำปรึกษาทางกฎหมาย บางรายก็จำเป็นต้องรวบรวมพยานหลักฐานเองบางส่วน เช่น ไปขอภาพวงจรปิด ไปขอตรวจพิสูจน์ นอกจากนั้น ก็เป็นค่าดำเนินการทางเอกสาร ค่าประกันตัว ค่าทนาย ซี่งรายละเอียดความแตกต่างกันไปตามประเภทและความร้ายแรงของคดี

 

ประมาณการค่าเดินทางสำหรับการติดต่อหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมแต่ละครั้ง[3]

 

นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายทางอ้อมจากประโยชน์อื่นที่เสียไป  ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่าต้นทุนค่าเสียโอกาส (opportunity cost)  โดยส่วนหลักที่พอจะคำนวณเป็นตัวเลขเบื้องต้นได้ คือ การสูญเสียรายได้จากการทำงานประจำ หรืองานพิเศษ เท่ากับระยะเวลาที่ใช้ไปสำหรับกระบวนการยุติธรรม สำหรับฝ่ายผู้เสียหายก็คือการต้องเดินทางไปติดต่อหน่วยงานต่างๆ แต่ละครั้งก็ไม่ต่ำกว่าครึ่งวัน ในส่วนของจำเลยก็จะเป็นค่าเสียโอกาสเมื่อต้องถูกควบคุมตัวหรือไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวซึ่งตัวเลขก็สูงขึ้นไปตามระยะเวลาการดำเนินคดี 

 

ประมาณการค่าเสียโอกาสจากรายได้ที่ขาดไปตามเศรษฐานะ[4]

เราสามารถคำนวณค่าเสียโอกาสจากรายได้ที่อาจเสียไปต่อวันของผู้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาจาก
ฐานรายได้ของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตาม ในระดับประเทศอาจคำนวณคร่าวๆ ได้จากการหารายได้ต่อวันจาก
ผลการสำรวจรายได้ต่อเดือนของครัวเรือนไทยตามลำดับฐานะ 10 กลุ่ม (Deciles)

เมื่อคิดคำนวนจากค่าเฉลี่ยจะพบว่า หากคู่ความต้องเดินทางข้ามเขตภายในกรุงเทพมหานคร 10 ครั้ง จะต้องจ่ายค่าเดินทางรวมไม่ต่ำกว่าประมาณ  829.6 บาท  หากอยู่ในต่างจังหวัดพื้นที่ห่างไกลก็จะเพิ่มเป็นอย่างน้อย 1,618.2 บาท  หรือหากข้ามจังหวัดก็อย่างต่ำ 3000-4000 บาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมค่าอาหาร หรือค่าที่พักในกรณีที่ต้องไปค้างคืนต่างจังหวัด และค่าเสียโอกาสจากการขาดรายได้อีก  นอกจากนี้ คู่ความมักมีญาติหรือครอบครัวที่ต้องเดินทางไปด้วยและต้องขาดรายได้ด้วย หรือหากจำเลยไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็จะเป็นภาระของญาติเป็นหลัก  ในกรณีที่คู่ความไม่ได้ไปด้วยตนเอง แต่ว่าจ้างทนายความดำเนินการแทน ค่าใช้จ่ายก็จะถูกรวมไว้ในค่าจ้าง ซึ่งทำให้ฐานค่าจ้างทนายความมีอัตราที่สูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะคดีที่มีความซับซ้อนยุ่งยากและใช้เวลาพิจารณานานหลายนัด   หากประชาชนไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายนี้ การเข้าถึงความยุติธรรมก็จะสะดวกและเท่าเทียมมากขึ้น

ภายในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน ประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบและมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก เช่น จีน อินเดีย อิตาลี สหรัฐอเมริกา ก็ได้พยายามเดินหน้าพิจารณาพิพากษาคดี โดยขยายขอบเขตการบริหารจัดการในช่องทางออนไลน์ พัฒนาระบบเพื่อให้คู่ความและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ต้องเดินทางไปศาลด้วยตนเอง ตั้งแต่การบริการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย การยื่นสำนวนผ่านระบบออนไลน์ การสืบพยาน พิจารณารวมทั้งอ่านคำพิพากษาคดีโดยใช้วิธี Video Conference โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีที่มีความสำคัญเร่งด่วน เช่น คดีความรุนแรงทางเพศ คดีความรุนแรงในครอบครัว คดีละเมิดเด็กและเยาวชน และคดีที่ผู้ต้องหาอยู่ระหว่างการควบคุมตัวของรัฐ

ในประเทศไทยเอง ศาลยุติธรรมได้ผลักดันแนวนโยบายการทำงานแบบ Digital Court และเริ่มเตรียมระบบเทคโนโลยีรองรับไปบ้างแล้วก่อนหน้านี้ โดยเริ่มต้นจากคดีแพ่งเป็นหลัก มีทั้งระบบการปรึกษาข้อกฎหมายออนไลน์ ระบบยื่นฟ้องและส่งคำคู่ความ (e-Filing) ที่ร่วมพัฒนากับธนาคารกรุงไทย เป็นทางเลือกสำหรับคู่ความและทนายความในการยื่นเอกสารคำร้องคำให้การทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งสามารถติดตามสถานะ คัดถ่ายสำเนาคำพิพากษาภายในสิบวัน พร้อมทั้งชำระค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งจะช่วยลดจำนวนวันที่ต้องเดินทางมาศาล และค่าใช้จ่ายในการยื่นหรือค่าจัดทำสำเนาเอกสารไปได้มาก

ในส่วนคดีอาญา ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นได้ริเริ่มการอ่านคำพิพากษาออนไลน์เป็นครั้งแรก รวมทั้งการพิจารณาการฝากขัง ผัดฟ้องและให้จำเลยที่อยู่ในการควบคุมตัวในเรือนจำให้การผ่านการประชุมออนไลน์  เพื่อลดจำนวนคนที่ต้องเดินทางไปศาล ลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายโรค  

น่าสนใจว่า แม้หลังจากสถานการณ์โรคระบาดจะดีขึ้นแล้ว แต่การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการเดินทางติดต่ออาจจะกลายเป็น New Normal หรือวิถีปกติใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมให้สะดวกและประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ลดความจำเป็นในการเดินทางไปศาล ลดภาระของพยานและผู้เกี่ยวข้องซึ่งจะมีผลต่อจำนวนนัดพิจารณาคดีและระยะเวลารอการพิจารณาคดีของผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวตามไปด้วย ทั้งนี้ จากการสัมภาษณ์จำเลยในคดีอาญาที่ได้รับการพิพากษาแล้วจำนวน 99 คน พบว่า จำเลยได้เดินทางไปขึ้นศาลเฉลี่ยประมาณ
5 ครั้ง

 

จำนวนครั้งที่ผู้ต้องหาเดินทางไปศาล จำแนกผู้ต้องหาตามกลุ่มคดีที่ศึกษา กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 99 คน

จริงอยู่ว่าภาพที่สมบูรณ์แบบที่หลายฝ่ายคาดหวังให้เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ คือกระบวนการยุติธรรมที่สามารถให้บริการออนไลน์ทุกขั้นตอน ซึ่งต้องอาศัยการลงทุนในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีที่มีราคาสูง และอาจไม่สอดคล้องกับภาระด้านงบประมาณที่รัฐบาลต้องเผชิญในขณะนี้ แต่การเริ่มต้นเท่าที่ทำได้แม้เพียงในชั้นศาลก็มีความคุ้มค่าและช่วยลดภาระของประชาชนได้มหาศาล  กล่าวคือ หากนำค่าเฉลี่ยจำนวนครั้งของนัดพิจารณาโดยยกตัวอย่าง คิดเฉพาะจำนวนครั้งที่ต้องเดินทางไปศาล คูณด้วยค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเดินทางขั้นต่ำต่อครั้งในเขตต่างจังหวัด  และคูณจำนวนคดีอาญาที่ขึ้นสู่ศาลยุติธรรม ซึ่งอยู่ที่ 1,249,328 คดีในปี 2561[5]  จะคิดเป็นเงินที่ต้องสูญเสียไปถึง  345 ล้านบาท การพัฒนาระบบ Digital Court ในคดีอาญาให้เป็น  New Normal ต่อเนื่องไป  จะมีส่วนช่วยให้ประชาชนผู้เดือดร้อนไม่ถูกซ้ำเติมด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และสามารถนำเงินจำนวนนี้ไปใช้ประโยชน์ในการพยุงฐานะทางเศรษฐกิจของตนให้ผ่านช่วงเวลายากลำบากนี้ไปได้

 


 

[1] โครงการพัฒนาตัวชี้วัดด้านค่าใช้จ่ายเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ปี 2561  โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยร่วมกับสถาบัน TDRI ในปี 2561 เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหา จำนวนทั้งสิ้น 160 คดี ในกลุ่มคดีความผิดต่อชีวิตและร่างกาย คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ คดีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ คดียาเสพติด และคดีความผิดจราจร

[2] โครงการพัฒนาตัวชี้วัดด้านค่าใช้จ่ายเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยร่วมกับสถาบัน TDRI ปี 2561

[3] ค่าเดินทางไป-กลับ 1 ครั้ง = ค่าเดินทางต่อกิโลเมตร × ระยะทางในการเดินทาง
โดยค่าเดินทางต่อกิโลเมตร อ้างอิงจากอัตราค่าเชื้อเพลิง E20 ซึ่งเป็นค่ากลางของค่าเชื้อเพลิงรถ ตามหลักเกณฑ์และอัตราค่าใช้จ่ายประกอบการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่เบิกจ่ายในลักษณะค่าตอบแทน ใช้สอย วัสดุ และค่าสาธารณูปโภค ปี พ.ศ. 2562 มีค่าเท่ากับ 1.97 บาท และระยะทาง คำนวณโดยใช้กำหนดให้พื้นที่แต่ละเขตมีขนาดเสมือนพื้นที่วงกลม และให้การเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดในเขตมีค่าเฉลี่ยเท่ากับรัศมีของวงกลมนั้นๆ

[4] คำนวณจากข้อมูลสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประชากรไทย พ.ศ. 2560

[5] ปริมาณคดีอาญาที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้น (คงค้างและรับใหม่) ในปี 2561 จากหนังสือสถิติคดีศาลทั่วราชอาณาจักร ปี พ.ศ. 2561 จัดทำโดยสำนักงานศาลยุติธรรม

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

เอกสารดาวน์โหลด

COVID_and_Digital_Court .pdf

ขนาด 327.1 KB
ประเภทไฟล์ pdf
จำนวนดาวน์โหลด 62
ดาวน์โหลด
Back

Most Viewed

chat