ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

มีคดีอนาจาร คดีข่มขืนเกิดขึ้นอีกแล้ว เราจะจัดการกับปัญหานี้ยังไงดี? กระบวนการยุติธรรมจะให้ความเป็น “ธรรม” ได้จริงหรือ? เป็นคำถามที่เกิดขึ้นกับสังคมในปัจจุบันและเป็นคำถามที่กำลังดังขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนให้เห็นว่าสังคมเราตื่นตัวกับปัญหาอาชญากรรมทางเพศ อย่างไรก็ตามมีสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจก่อนตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น
 

 

สิ่งแรกที่ต้องเข้าใจคือการจัดการกับคดีลักษณะนี้ต้องมีความละเอียดอ่อนเป็นพิเศษ ต้องมี “ทัศนคติ” ที่พร้อมจะเข้าใจความซับซ้อนของความรู้สึกและข้อจำกัดที่ไม่เหมือนคดีอาญาในรูปแบบอื่น ๆ คดีทางเพศมีความยากทั้งในตัวคดีเองและทางกฎหมาย ขณะที่ผู้เสียหายของคดีอาญาทั่วไปมีหลักฐานแสดงความบาดเจ็บหรือความเสียหายชัดเจนและผู้ถูกกล่าวหามักจะเป็นฝ่ายถูกตั้งคำถามมากกว่า  แต่สำหรับคดีทางเพศนั้น การกระทำก่อนการล่วงละเมิดค่อนข้างยืนยันได้ยาก หลักฐานทั้งหลายอาจเริ่มตั้งแต่การใช้สายตา ถ้อยคำ หรือการกระทำที่รู้เห็นกันเพียงสองฝ่าย เมื่อนำมาพิจารณาแล้วจึงมักตีความได้หลากหลาย ยิ่งหากเกิดขึ้นในสถานที่ปิดหรือไม่มีพยานก็ทำให้หลักฐานเข้าถึงยาก แม้แต่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ก็อาจยังไม่สามารถช่วยพิสูจน์ความยินยอมได้ กลายเป็นว่าผู้เสียหายซึ่งอยู่ในสภาวะเปราะบางมากอยู่แล้ว ได้รับแรงกดดันจากกำหนดเวลาตามกฎหมายในการร้องทุกข์อีก ดังนั้นความยากในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ภาระที่ทั้งมองเห็นและมองไม่เห็น (บาดแผลทางจิตใจ, คำวิจารณ์ และสายตาของสังคม คนรอบข้างเป็นต้น) ล้วนตกอยู่กับผู้เสียหาย ซึ่งอาจจะนำไปสู่การผลักผู้เสียหายออกจากกระบวนการยุติธรรม ก่อนจะได้รับความยุติธรรมเสียอีก
 

  

แน่นอนว่าการได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมหรือการสู้ให้ชนะคดีเป็นเป้าหมายสำคัญ แต่การ “สู้ให้ชนะ” สำหรับผู้เสียหายไม่ใช่เรื่องง่ายดังที่กล่าวมาข้างต้น ดร. บุญวรา สุมะโน เจ้าของบทความ “สู้ให้ชนะ” บนความไม่เป็นธรรมกับผู้เสียหายในคดีการคุกคามทางเพศ” ได้ให้ทัศนะที่น่าสนใจว่า ประเทศไทยยังมีช่องว่างในกระบวนการยุติธรรมและค่านิยมทางสังคมที่ทำให้ผู้เสียหายจากการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศเสียเปรียบอยู่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางสังคมที่ค่านิยมความเป็นชายเป็นใหญ่ หรือความยากในการเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ที่การรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อแสดงให้ตำรวจดูว่าเกิดอะไรขึ้นอาจสร้างทั้งความอับอายและซ้ำเติมบาดแผลทางจิตใจให้แก่ผู้เสียหาย หรือถ้าหากผู้เสียหายไม่สามารถพิสูจน์ความผิดของผู้กระทำได้ ก็จะทำให้ผู้กระทำพ้นข้อกล่าวหานั้นไป ไปจนถึงท้ายที่สุดผลของคำพิพากษามันคุ้มค่ากับการต่อสู้ให้ชนะของผู้เสียหายหรือไม่
 

 

TIJ Common Ground ได้ชวน ดร. บุญวรา สุมะโน มาพูดคุยต่อถึงประเด็นดังกล่าว เริ่มตั้งแต่การประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน และความยากของการดำเนินคดีเกี่ยวกับเพศ ดร. บุญวรา ให้ความเห็นต่อภาพรวมของกระบวนการยุติธรรมในการดำเนินคดีทางเพศว่า “ปัจจุบันยังไม่เห็นพัฒนาการที่ชัดเจนทั้งในตัวกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม” ยกตัวอย่างเช่น โทษตาม พรบ. คุ้มครองแรงงานมาตรา 16(1) ที่กำหนดให้นำค่าปรับเข้ารัฐ แต่กลับไม่ระบุถึงขั้นตอนการชดเชยผู้เสียหาย ขณะเดียว กันสิ่งที่ ดร. บุญวรา เห็นว่ากำลังพัฒนาไปในทางที่ดีคือ “กระแสสังคม” ที่ตื่นตัวกันมากขึ้น
 

 

ในทัศนะของ ดร. บุญวรา สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงคือ “อคติทางเพศ” โดยเฉพาะอคติที่เกิดจากความคาดหวังของสังคม เช่นว่าผู้หญิงจะถูกคาดหวังว่าไม่ควรทำตัวให้ตกเป็นเหยื่อตั้งแต่แรก หรือคาดหวังให้ผู้เสียหายต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทุกคน หรือแม้กระทั่งอคติของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมเอง เนื่องจากผู้เสียหายส่วนใหญ่ของคดีทางเพศคือผู้หญิง ความไม่เข้าใจหรืออคติทางเพศจึงอาจส่งอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำของเจ้าหน้าที่ต่างเพศโดยไม่รู้ตัว และขาดความระมัดระวังเรื่องความอ่อนไหวทางเพศไป ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ ความพร้อมที่จะรับฟัง ไม่ว่าผู้เสียหายพูดอะไร ไม่ตั้งคำถามเชิงตำหนิ เช่น คุณแต่งตัวอย่างไร ? ทำไมไปที่แบบนั้น? ทำไมไปกับคนนั้น? ซึ่งคำถามเหล่านี้ยิ่งส่งทำให้ผู้เสียหายรู้สึกว่าเป็นความผิดของตัวเอง และไม่อยากจะดำเนินคดีต่อ ดร. บุญวรา เห็นว่าสิ่งที่น่าจะช่วยปรับอคติทางเพศเหล่านี้ของเจ้าหน้าที่ได้ คือ การฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้าง “gender lens” ในการทำงาน ตั้งแต่ทัศนคติที่พร้อมรับฟัง วิธีการเข้าถึงและพูดคุยกับผู้เสียหาย และการติดตามประเมินผลการทำงาน ควบคู่ไปกับการให้ “กำลังใจ” หรือ “คำปรึกษา” แก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบโดยตรงด้านจิตใจจากการทำงานและการรับร้องเรียนด้วยเช่นกัน สะท้อนว่าจริง ๆ แล้วคนในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องช่วยเหลือผู้เสียหายสู้กับปัญหาที่เกิด  ก็เป็นคนที่ต้องการการสนับสนุนด้วยเช่นกัน 
 

 

นอกจากนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า “สื่อ” มีบทบาทในกระบวนการยุติธรรมของคดีทางเพศเป็นอย่างมาก ดร. บุญวรา ให้ความคิดเห็นไว้ว่า แม้สื่อจะเป็นตัวหลักในการ “ปลุกกระแสสังคม” ให้เหยื่อได้รับความเป็นธรรม แต่ในอีกทางหนึ่งสื่อต้องไม่ตั้งประเด็นชี้นำ ต้องระมัดระวังในการเลือกประเด็นและการเลือกคำ เพราะอาจส่งผลต่อรูปคดี อีกทั้งการนำเสนอคดีของสื่ออาจส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้เสียหาย เช่นถ้าเขาออกมาพูด จะโดนสังคมตัดสินไหม จะโดนสาวไส้ไหม และที่สำคัญการนำเสนอของสื่อที่เน้นข้อเท็จจริงมากกว่าอารมณ์หรือความคิดของใครคนใดคนหนึ่งน่าจะช่วยลดอคติทางเพศของคนในสังคมได้มากทีเดียว
 

 

“กระบวนการยุติธรรมต้องฟังผู้เสียหาย เพราะราคาของเขาดีเป็นมูลค่าไม่ได้” ดร. บุญวรา สรุปในบทสุดท้ายของการสัมภาษณ์ ความเสียหายของคดีเกี่ยวกับเพศหลายอย่างตีเป็นมูลค่าไม่ได้ ผู้เสียหายอาจจะไม่ได้ต้องการเงิน หรืออาจจะต้องการเยียวยาบาดแผลมากกว่า ความยุติธรรมจริงๆ สำหรับผู้เสียหายจึงต้องเริ่มจากการรับฟังและให้เขาเป็นศูนย์กลาง
 

 

แม้ความยากของคดีนี้ยังมีอยู่ แต่สามารถปรับแก้ได้พร้อมกับสังคมที่มีการตื่นตัวมากขึ้น และ TIJ เห็นด้วยกับ ดร. บุญวรา ที่ว่า การสู้ให้ชนะคนเดียวคงไม่ได้ เริ่มที่สังคมต้องเลิกคิด เลิกคาดหวังให้ชายและหญิงต้องทำแบบนั้นต้องเป็นแบบนี้ สิ่งที่ควรคาดหวังคือทุกคนควรได้รับความเป็นธรรมในรูปแบบที่ตนเองต้องการ พร้อมไปกับการสนับสนุนเจ้าหน้าที่ที่ทุ่มเททำงานเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหาย และนำนวัตกรรมมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยสู้ เช่น MySis Chatbot เพื่อลดอคติและการเผชิญหน้าระหว่างเหยื่อกับเจ้าหน้าที่ รวมถึงสนับสนุนทางจิตใจแก่ผู้เสียหายในคดีทางเพศ เช่นการพบแพทย์ให้ช่วยเยียวยาทางจิตใจ ก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะหากผู้เสียหายได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว เขาอาจจะสามารถตกผลึกได้ว่าเขาต้องการความยุติธรรมอย่างไร ซึ่งอาจจะไม่ใช่กระบวนการแบบ One size fits all แต่ไม่ fit ใครเลย เพราะบางทีชัยชนะของเขาอาจจะเป็นการก้าวข้ามบาดแผลที่เกิดขึ้น โดยกระบวนการช่วยเหลือทีไม่ทำให้ผู้เสียหายต้องติดอยู่กับกระบวนการยุติธรรมนานๆ ก็เป็นได้
 

 

คดีทางเพศมีความแตกต่างและมีกรอบทางสังคมกดทับตัวผู้ถูกกระทําอยู่ ต้องอาศัยองค์ประกอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความเข้าใจในความละเอียดอ่อนของคดี ทัศนะคติต่อผู้เสียหายของสังคมและเจ้าหน้าที่ เครื่องมือในการช่วยรับมือ และการปรับเปลี่ยนให้เท่าทันต่อสภาพสังคมของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สื่อสารมวลชนก็มีความสำคัญ ต้องไม่ส่งเสริมอคติทางเพศ พร้อมกับช่วยสะท้อนเสียงของเหยื่อให้ดังขึ้น ที่สำคัญคือกลไกหลักอย่างกระบวนการยุติธรรมควรต้องเปิดมุมมองให้กว้าง และเสริมสร้าง gender lens และ sensitivity ให้มากขึ้น  เพราะใน “ความขัดแย้ง” ทางเพศ ระหว่างคนสองคนซึ่งไม่ได้มีวัตถุพยานหรือหลักฐานอะไรชัดเจน “ความจริง” ไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว  ความจริงจะแตกต่างกันจากมุมของทั้งสองฝ่าย ที่ถูกหล่อหลอมทับถมมาด้วยอคติทางเพศของสังคมที่แตกต่างกัน จึงไม่มีสูตรสำเร็จที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาและตัดสินคดีทางเพศทั้งหลายได้เหมือนๆ กัน 
 

 

 

สุดท้ายนี้ TIJ อยากลองชวนคิดกันว่า ความยากต่าง ๆ ที่กล่าวมามันยากจนเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลยหรือ? หรือจริงๆ ทั้งทัศนคติ กฎหมายและกระบวนการปรับเปลี่ยนได้เสมอ “ความยาก” ถ้าเราไม่ทำอะไรกับมันก็จะไม่มีความเปลี่ยนแปลง เพราะคดีทางเพศสร้างบาดแผลไม่ใช่แค่ผู้เสียหาย แต่ยังสร้างรอยแผลกับคนในสังคมและสังคมที่เราอยู่ และเราคงไม่ต้องการส่งต่อกระบวนการแบบ “ได้อยู่” ให้รุ่นต่อไป ใช่ไหม
 
 
(1) พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 16  ห้ามมิให้นายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงานกระทํา การล่วงเกิน คุกคาม หรือก่อความเดือดร้อนรําคาญทางเพศต่อลูกจ้าง ประกอบมาตรา 147 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
Back

Most Viewed

chat