ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม
บ้านกึ่งวิถี (Halfway House) – สร้างเส้นทางเริ่มชีวิตใหม่ให้ผู้พ้นโทษ
 
หลายครั้งคนที่ผ่านเรือนจำออกมาแล้ว ไม่สามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ ก็เพราะต้องกลับไปที่เดิมๆ บรรยากาศเดิมๆ บ้านหลังเดิมที่หล่อหลอมเค้าขึ้นมา และเมื่อต้องตั้งหลักใหม่ บรรยากาศเหล่านั้นก็คอยแต่จะฉุดรั้งให้ก้าวไปข้างหน้าไม่สำเร็จ และหลายคนก็ต้องกลับไปกระทำผิดกฎหมายอีกครั้งหรือหลายครั้ง
 
 
หนึ่งในแนวทางที่ช่วยบรรเทาปัญหาการกระทำผิดซ้ำ และตั้งหลักให้พวกเขาได้ คือบ้านกึ่งวิถี หรือ Halfway House ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ต้องอยู่ในการคุมประพฤติ และผู้ที่พ้นจากการต้องโทษมาแล้ว แนวคิดบ้านกึ่งวิถียังถูกนำไปใช้เพื่อช่วยผู้ติดยาเสพติด้วย โดยแนวคิดสำคัญของบ้านกึ่งวิถีคือการช่วยเป็นบ้านพักชั่วคราวให้แก่ผู้ที่ไม่พร้อมจะกลับสู่สังคม ลดการกระทำผิดซ้ำ และนำไปสู่สังคมที่ปลอดภัย
 
 
อย่างที่ญี่ปุ่น บ้านกึ่งวิถี หรือมีชื่อทางการว่า สถานบำบัดฟื้นฟูผู้กระทำผิด (Offenders Rehabilitation Facility) เป็นส่วนหนึ่งของระบบการบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขังที่เน้นการมีส่วนร่วมของอาสาสมัครคุมประพฤติในชุมชน เพื่อช่วยเหลือผู้พ้นโทษหรือผู้ต้องคุมประพฤติ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 104 แห่ง ระบบการบำบัดฟื้นฟูผู้พ้นโทษในชุมชนของญี่ปุ่นเช่นนี้มีประวัติยาวนานมากว่า 130 ปี และเกี่ยวพันกับความคิดความเชื่อทางศาสนาในการช่วยเหลือผู้อื่น
 
 
บ้านกึ่งวิถีจำนวนมากในญี่ปุ่นจึงเริ่มจากการจัดการแบบครอบครัว มีอาสาสมัครในชุมชน และดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานฟื้นฟูผู้กระทำผิดของกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น ที่น่าสนใจคือบ้านกึ่งวิถีที่ดำเนินงานในลักษณะองค์กรเพื่อการฟื้นฟูผู้พ้นโทษ (The Corporation for Offender Rehabilitation) ตามกฎหมายการฟื้นฟูผู้พ้นโทษ 1996 ของญี่ปุ่น ยังได้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีเช่นเดียวกับองค์กรเพื่อสังคมด้วย และนอกจากบ้านกึ่งวิถีแล้ว ญี่ปุ่นยังมีสถานที่ให้การสงเคราะห์ผู้พ้นโทษอีกหลายแห่งที่ดำเนินงานในลักษณะขององค์กรไม่แสวงผลกำไร องค์กรเพื่อสังคม และมูลนิธิ
หลักสำคัญของบ้านกึ่งวิถีคือจะต้องมีที่พักและมีที่ทำงานด้วย ผู้อาศัยในบ้านกึ่งวิถีในญี่ปุ่นเบื้องต้นจะอยู่ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพียง 60 วันแรกเท่านั้นและสามารถอยู่ได้ 6 เดือน แต่ขอขยายเวลาเป็น 1 ปีได้ และเมื่อเข้ารับบริการในบ้านกึ่งวิถีแล้ว ผู้รับบริการจะได้รับการสนับสนุนให้ร่วมโปรแกรมตั้งแต่การให้คำปรึกษาและการฝึกอาชีพ การฝึกทักษะสังคมและการบำบัดยาเสพติด ซึ่งรวมไปถึงการเสพติดแอลกอฮอล์ การฝึกทักษะการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่
 
 
ส่วนการส่งเสริมให้มีงานที่มั่นคงทำ บ้านกึ่งวิถีจะตั้งอยู่ใกล้ชุมชน เพื่อให้ผู้อาศัยหางานทำและเดินทางไปทำงานได้อย่างสะดวก ทั้งยังให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชนเพื่อให้คุ้นเคยกับคนในชุมชนและเกิดการยอมรับ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการกระทำผิดซ้ำ
 
 
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีบ้านกึ่งวิถีที่ดำเนินการโดยภาครัฐอีก 3 แห่ง แห่งแรกให้บริการผู้พ้นโทษที่ต้องการการดูแลอย่างเข้มงวด และผู้พ้นโทษสามารถอยู่ได้ 3 เดือน อีก 2 แห่งให้บริการฝึกทักษะอาชีพ ในด้านเกษตรกรรม แบ่งเป็นบ้านกึ่งวิถีสำหรับเยาวชน 1 แห่ง และสำหรับผู้ใหญ่อีก 1 แห่ง
 
 
สิงคโปร์เป็นอีกประเทศที่มีบ้านกึ่งวิถีให้ผู้พ้นโทษได้ปรับตัวก่อนเริ่มชีวิตใหม่ โดยหลังจากได้รับการปล่อยตัวแล้ว ผู้พ้นโทษสามารถเข้ารับบริการบ้านกึ่งวิถีซึ่งมีอยู่ 9 แห่ง ภายใต้โครงการ Comminity-based Programmes (CBPs) ที่กรมราชทัณฑ์สิงคโปร์สนับสนุนงบประมาณให้ดำเนินการเพื่อลดการกระทำผิดซ้ำของผู้พ้นโทษและให้สามารถคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุขและยั่งยืน ผู้รับบริการจะได้รับการยกระดับทักษะชีวิต ทั้งจากการรับคำปรึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพจากเครือข่ายการดูแลผู้พ้นโทษและครอบครัว
 
 
ทั้งยังมีบ้านกึ่งวิถี Selarang Halfway House ซึ่งเป็นบ้านพักของรัฐแห่งแรก จัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2562 และบริหารจัดการโดย Yellow Ribbon Singapore สังกัดกระทรวงมหาดไทย บ้านกึ่งวิถี Selarang แห่งนี้อยู่ในโครงการดูแลผู้พ้นโทษภาคบังคับ (Mandatory Aftercare Scheme (MAS)) สำหรับผู้พ้นโทษที่มีความเสี่ยงจะกระทำผิดซ้ำและต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อกลับสู่สังคม
 
 
เมื่อออกจากบ้านกึ่งวิถี ภายใต้โครงการ MAS แล้วผู้พ้นโทษจะต้องเข้าสู่ระยะการติดตามดูแลที่บ้าน (Home Supervision Phase) และระยะการคืนสู่ชุมชน (Community Reintegration Phase) ต่อไป โดยแต่ละขั้นตอนมีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับกรมราชทัณฑ์ สิงคโปร์ เพื่อติดตามความก้าวหน้าของผู้พ้นโทษอย่างต่อเนื่อง
 
 
สิงคโปร์ยังมีบ้านกึ่งวิถีอีกหลายแห่งที่บริหารจัดการโดยเอกชน เช่น ศูนย์ฝึกอบรมการทำอาหารของ HCSA Community Services เปิดให้ผู้พ้นโทษสมัครเข้าเรียนคอร์สการทำอาหารมืออาชีพพร้อมที่พัก โดยมีค่าใช้จ่าย และบางแห่งดำเนินการเพื่อผู้พ้นโทษหญิงโดยเฉพาะ เป็นต้น
 
 
ส่วนประเทศไทยมีบ้านกึ่งวิถีที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้กระทำผิดที่ต้องการที่พักอาศัย อยู่ในความดูแลของกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ผู้ที่ขอเข้ารับบริการบ้านกึ่งวิถีต้องเป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับการสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ. 2559 เช่น ผู้ถูกคุมความประพฤติทั้งเด็กและเยาวชน หรือผู้ใหญ่ ผู้พ้นจากการคุมประพฤติ ผู้ได้รับการปล่อยตัวเมื่อพ้นโทษ โดยบุคคลเหล่านี้บางรายอาจยังไม่พร้อมจะกลับสู่ครอบครัว และต้องการที่พักอาศัยชั่วคราว
 
 
ปัจจุบันสถานที่ให้การดูแลผู้พ้นโทษในประเทศไทยในความดูแลของรัฐ มีทั้งหมด 140 แห่งทั่วประเทศ เป็นบ้านกึ่งวิถีจำนวน 69 แห่ง และเป็นสถานที่ให้การสงเคราะห์ (บ้านกึ่งวิถีที่ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามพระราชบัญญัติคุมประพฤติ พ.ศ. 2559) จำนวน 71 แห่ง มีการบริหารงานในรูปแบบคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทนจากเจ้าของสถานที่ ผู้แทนจากชุมชน และผู้แทนจากสำนักงานคุมประพฤติ ซึ่งในปี พ.ศ. 2566 มีผู้ใช้บริการบ้านกึ่งวิถีจำนวน 1,093 ราย และมีผู้เข้ารับบริการเข้าร่วมโครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้เข้ารับบริการในบ้านกึ่งวิถีหรือสถานที่เพื่อให้การสงเคราะห์ (เข้ารับการฝึกอาชีพ) จำนวน 730 ราย
 
 
กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในบ้านกึ่งวิถีของไทยนั้นเป็นไปตามการประเมินมาตรฐานของแต่ละแห่ง ซึ่งบางแห่งก็มีความพร้อมด้านที่พักอาศัยและความพร้อมในการดำเนินกิจกรรมเพื่อประโยชน์ในการปรับตัวทั้งด้าน กาย จิตใจ สังคม และการแนะแนวและฝึกอาชีพแก่ผู้เข้าพักอาศัย ส่วนสถานที่ให้การสงเคราะห์แบบครบวงจรมีจำนวน 1 แห่ง คือบ้านปูลา รายอ กาแลตาแป ที่จังหวัดนราธิวาส
 
 
มูลนิธิบ้านพระพรเป็นอีกบ้านกึ่งวิถีอีกแห่งในไทย แต่ดำเนินงานโดยภาคเอกชน มุ่งให้ความช่วยเหลือผู้พ้นโทษ รวมทั้งมีบริการช่วยเหลือทั้งผู้ต้องขังในเรือนจำ เยาวชนในสถานพินิจ และผู้พ้นโทษให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้ โดยมีการจัดกิจกรรมอบรมผู้ต้องขังในเรือนจำ และการจัดหางาน สนับสนุนการประกอบอาชีพ ที่พักอาศัย การศึกษาแก่ผู้พ้นโทษ การช่วยเหลือและอุปการะลูกของผู้ต้องโทษและผู้พ้นโทษ
 
 
สำหรับผู้ที่สนใจหรือต้องการรับบริการบ้านกึ่งวิถีในประเทศไทย สามารถแจ้งขอรับการสงเคราะห์ด้านที่พักอาศัยได้ที่ เรือนจำ ทัณฑสถาน ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนทุกแห่ง ก่อนได้รับการปล่อยตัว หรือติดต่อขอรับการสงเคราะห์ด้านที่พักอาศัยได้ที่สำนักงานคุมประพฤติทุกแห่ง หรือติดต่อสายด่วนกรมคุมประพฤติ 1111 กด 78
 
 
---
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายการ The Second Wall [กำแพงที่ 2]
รับฟังและติดตาม รายการ The Second Wall [กำแพงที่ 2] กด link ด้านล่าง
---
 
อ้างอิง
Halfway House. Japan. UNAFEI. https://www.unafei.or.jp/other/pdf/halfwayhouse.pdf. เข้าถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566
Offender Rehabilitation of Japan. Ministry of Justice, Japan. https://www.moj.go.jp/content/001345372.pdf. เข้าถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566
Conditional Remission System (CRS) & Mandatory Aftercare Scheme (MAS). Singapore Prison Service. https://www.sps.gov.sg/learn.../community-transition/crs-mas. เข้าถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566
Supporting Halfway House Residents Through COVID-19. http://www.mha.gov.sg/.../supporting-halfway-house.../. เข้าถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566
Selarang Halfway House. http://www.mha.gov.sg/.../supporting-halfway-house.../. เข้าถึงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566
บ้านกึ่งวิถี กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม. แผ่นพับ. https://www.probation.go.th/contentdl.php?id=777 . เข้าถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566
เกี่ยวกับ. มูลนิธิบ้านพระพร. https://www.hobfthailand.org/about/. เข้าถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566
 
May be an image of text
 
 
 
 
Back

Most Viewed

chat