ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม
“เหมือนอยู่ในที่มืดตลอด ไม่เคยได้เห็นแสงสว่าง ทุกคนที่มา เมื่อได้ยินว่าจะมาช่วยเหลือ ก็ดีใจทุกครั้ง...สิบกว่าปีที่ทุกข์ทน หนักนะ ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีหนทางที่จะไปไหนได้ ก็ยังคงทนอยู่อย่างนี้”
 
 
ลุงเทียบ สมานมิตร ชาวบ้านบ้านหนองพะวา ผู้ได้รับผลกระทบจากโรงงานรีไซเคิล บริษัท วิน โพรเสส จำกัด จังหวัดระยอง เข้าใจดีว่าผลกระทบที่เขาได้รับจากการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย เป็นเรื่องยากที่จะได้รับการแก้ไขให้กลับไปมีชีวิตปกติดังเดิมได้อีกครั้ง เพราะที่ผ่านมา ลุงเทียบ และชาวชุมชนหนองพะวาที่ได้รับผลกระทบ ได้พยายามดิ้นรนต่อสู้มาทุกทางแล้ว แต่ผลกระทบก็ยังไม่เคยลดลงไปเลยแม้แต่น้อย
 
จนกระทั่งเกิดเหตุไฟไหม้โรงงาน เมื่อ 22 เมษายน 2567 เสียงระเบิดจากถังสารเคมีจำนวนมากที่ดังก้องออกมาเกือบตลอดเวลา ก็ทำลายความหวังที่จะกลับไปใช้ชีวิตปกติธรรมดาของชาวหนองพะวาให้ลดน้อยลงไปอีก
 
 
สิ่งที่โดดเด่นที่สุดบนใบหน้ากร้านแดด เต็มไปด้วยริ้วรอย ของชายผมสีดอกเลา คือนัยน์ตาสีเทาหม่นที่มีแววทดท้อ เมื่อมองไปยังพื้นที่ทำกินกว่า 30 ไร่ตรงหน้า สวนยางพาราที่ปลูกไว้มากว่า 10 ปี เมื่อแรกขุดหลุมปลูกด้วยหวังเต็มเปี่ยมที่จะเป็นพื้นดินที่พึ่งพาหารายได้ บัดนี้กลายเป็นเพียงพื้นดินแตกระแหง คลุ้งไปด้วยกลิ่นสารเคมี ต้นยางพารากลายเป็นเพียงซากซางที่ยืนต้นตาย รอวันล้ม อีกไม่นานก็คงมีสภาพเป็นสุสานต้นไม้เหมือนแปลงอื่นๆ ที่อยู่ลึกเข้าไป
 
 
สุสานต้นไม้ที่กำลังแผ่ขยายไปยังผืนดินใกล้เคียงอีกกว่า 800 ไร่ เพราะการมาของโรงงานที่ถูกใช้เป็น “ถังขยะ” ลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย ... บริษัท วิน โพรเสส จำกัด
...
 
 
ตั้งแต่ปี 2554 ชาวชุมชนหนองพะวา หมู่ 4 ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง รวมตัวกันต่อต้านการตั้งโรงงานของบริษัท วิน โพรเซส จนในปี 2557 พวกเขาพบการฝังกลบสิ่งปฏิกูลและวัสดุภัณฑ์ไม่ใช้แล้วที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในชุมชน ชาวหนองพะวา พยายามทำทุกอย่างเพื่อยับยั้งการก่อตั้งโรงงาน ทั้งการยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การปิดทางเข้าโรงงาน เพราะตอนนั้นโรงงานยังไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หากแต่ก็ล้มเหลว
 
 
ในปี 2560 บริษัท วิน โพรเสส ที่ถูกประท้วงจากชุมชนและถูกขุดพบการลักลอบฝังกลบของเสีย กลับได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 3 ใบ ได้แก่ กิจการโรงงานอัดเศษกระดาษ (ลำดับที่ 40) โรงงานหล่อหลอมโลหะ (ลำดับที่ 60) และโรงงานรีไซเคิล (ลำดับที่ 106) ซึ่งโรงงาน 2 ประเภทแรกมีการแจ้งประกอบการ แต่ไม่มีเครื่องจักร และยังไม่เคยแจ้งขอประกอบการเป็นโรงงานรีไซเคิลอย่างเป็นทางการ ซึ่งเท่ากับว่า วิน โพรเสส จะยังไม่สามารถนำของเสียอันตรายต่างๆ เข้ามายังบริเวณโรงงานได้
 
 
แต่ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ชาวหนองพะวา กลับพบเห็นรถขนส่งถังสารเคมีวิ่งเข้าออกพื้นที่โรงงานวิน โพรเสส อย่างต่อเนื่อง จนมีถังสารเคมีขนาด 200 ลิตรหลายหมื่นถัง และถังขนาด 1,000 ลิตรอีกหลายพันถัง ถูกวางระเกะระกะอยู่ทั่วพื้นที่โรงงานที่ไม่มีเครื่องจักรสำหรับทำงานแม้แต่ชิ้นเดียว
 
 
เพียงไม่นานหลังจากนั้น ชาวบ้านก็เริ่มได้รับรู้ถึงผลกระทบจากสารเคมี สวนยางพารากว่า 30 ไร่ของลุงเทียบ เริ่มไม่ให้น้ำยาง น้ำในคันคลองเปลี่ยนสี ต้นยางทยอยยืนต้นตายเกือบทั้งหมดในปี 2563 และในช่วงฤดูฝน คันดินบ่อน้ำเสียรอบโรงงานพังลงมา ทำให้น้ำจากโรงงานทะลักออกมาท่วมพื้นที่โดยรอบ สร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง และเมื่อกรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่ตรวจสอบก็พบว่าน้ำผิวดินรอบโรงงานเป็นกรด มีการปนเปื้อนสารโลหะหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานทั้งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และบ่อบาดาล โดยไร่นาทางฝั่งเหนือของโรงงานก็พบมลพิษปนเปื้อน มีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวมมากกว่า 800 ไร่
...
 
 
ถึงแม้ชาวหนองพะวา 15 คน จะชนะคดีที่ได้ยื่นฟ้องบริษัทฯ โดยในปี 2565 ศาลจังหวัดระยองพิพากษาให้โรงงานฯ จ่ายชดเชยค่าเสียหายรวมเป็นจำนวนเงินกว่า 20 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี และให้ควบคุมไม่ให้เกิดการรั่วไหลของสารเคมี พร้อมทั้งฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่หนองพะวาให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ
 
 
ทว่า วันนี้สภาพของชุมชนและสิ่งแวดล้อมหนองพะวาก็ไม่อาจฟื้นคืนดังเดิมได้อีกต่อไป และเพลิงที่เผาผลาญวัสดุอันตรายที่ยังคงค้างอยู่ในโรงงานเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น โดยยังไม่ต้องนึกไปถึงห้วงฤดูฝนที่ใกล้เข้ามาที่จะชะล้างเอาของเสียในโรงงานให้หลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำใต้ดินอย่างต่อเนื่อง
 
 
พื้นที่หนองพะวาและใกล้เคียงจะยังคงปนเปื้อนสารพิษ ชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติได้และจำเป็นต้องซื้อน้ำกินน้ำใช้เพื่อประทังชีวิต น้ำใต้ดินที่ไหลจากพื้นที่ของโรงงานบริษัท วิน โพรเสส ยังคงแทรกซึมตามผืนดินไปพร้อมกับการกัดเซาะสิทธิในการเข้าถึงอากาศสะอาด แหล่งน้ำสะอาด ที่พักอาศัยที่ปลอดภัย และการมีสุขภาวะที่ดีของชาวบ้านและผู้คนในละแวกใกล้เคียง
 
 
ทำอย่างไรให้การออกใบอนุญาตตั้งโรงงานที่มีความเสี่ยงจะปลดปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม จะต้องมีมาตรฐานและรับผิดชอบต่อทั้งประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ทำอย่างไรให้ประเทศของเรามีแนวทางการแก้ไขฟื้นฟูสภาพแวดล้อมจากภัยพิบัติที่เกิดจากโรงงานประเภทต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เราจะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้อีกได้อย่างไร
 
 
ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยจะต้องหารืออย่างจริงจังเกี่ยวกับการผลักดันให้ข้อมูลมลพิษต้องเป็น “ข้อมูลเปิด” ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับสารมลพิษจะต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ โดยในปัจจุบัน องค์กรเอกชนหลายแห่งที่ทำงานร่วมกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างมูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ผลักดัน “ร่างพระราชบัญญัติการรายงานการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม หรือ PRTR” (Pollutant Release and Transfer Register) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษต่างๆ ในพื้นที่ของตัวเองได้อย่างแท้จริง
เมื่อประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลมลพิษได้ กระบวนการป้องกันการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
 
หลักการที่ท่องกันมาตลอดว่า “ผู้ก่อมลพิษ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ” ก็อาจจะเกิดขึ้นได้จริง
__
 
 
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการและลงพื้นที่ตามหาความเป็นธรรม เพื่อศึกษาข้อมูลเชิงลึก ในประเด็น “กฎหมายกับการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยุติธรรมในชุมชน” ณ จังหวัดระยอง สำหรับบุคลากรและเจ้าหน้าที่ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 3-4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567
Back

Most Viewed

chat