สรุปเสวนาออนไลน์: การส่งเสริมทางเลือกแทนการคุมขังสำหรับผู้หญิงที่กระทำผิดกฎหมาย
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และสำนักงานป้องกันอาชญากรรมและปราบปรามยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเสวนาออนไลน์ ในหัวข้อ “การส่งเสริมทางเลือกแทนการคุมขังสำหรับผู้หญิงที่กระทำผิดกฎหมาย” โดยเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมเสวนาออนไลน์ระดับโลก ว่าด้วยเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่งตอบสนองต่อความต้องการตามเพศภาวะและการปฏิรูปเรือนจำ”
“มาตรการที่มิใช่การคุมขังเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานของผู้ต้องขังหญิง” ดร.บาร์บารา โอเวน ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านยุติธรรมอาญา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียสเตท และที่ปรึกษา TIJ ในฐานะผู้เข้าร่วมเสวนา กล่าวถึงความสำคัญของการลงทุนเพื่อสิทธิของผู้หญิงและชุมชน โดยโมเดลการลงทุน (The investment model) ที่กล่าวถึงนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิผลแก่ผู้หญิงที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม บุตรในความดูแล และชุมชน ด้วยการเพิ่มแนวทางการลงโทษทางอาญาอื่นแทนการคุมขัง
ดร. โอเวน ยังได้กระตุ้นให้ผู้ผลักดันนโยบายต้องคำนึงถึงหลักการของการพัฒนามาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้หญิงซึ่งคือประเด็นด้านความแตกต่างและความเปราะบางทางเพศภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อผู้หญิงต้องโทษจำคุก ในขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นเสมือนอีกสัญญาณเตือนให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มุ่งเน้นการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขัง และเน้นกระบวนการฟื้นฟูมากกว่าการลงโทษ โดยหลักการนี้ ให้ความสำคัญกับเส้นทางชีวิตและบริบททางสังคมของพวกเธอ และยังครอบคลุมถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความสัมพันธ์กับชุมชน และการเสริมพลังชุมชน โดยมีเรือนจำร่วมในโครงการลงทุนเพื่อช่วยพัฒนาชุมชน นอกจากนี้ ดร. โอเวน ยังได้กล่าวถึงข้อค้นพบในงานวิจัยที่ชี้ชัดว่า มาตรการที่มิใช่การคุมขังก่อให้เกิดผลดีต่อสังคมมากกว่า ทั้งในแง่ของการลงทุนในชุมชนแทนที่การสร้างเรือนจำซึ่งอยู่ห่างไกล การสร้างบ้านเรือน การจ้างงาน สวัสดิการดูแลเด็ก และการศึกษา ตลอดจนการสร้างความแข็งแกร่งภายในชุมชนผ่านการรักษาบำบัด
หลักสำคัญในการปรับใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขัง คือ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ของสังคม คนในสังคมและชุมชน ซึ่งเป็นตัวแปรในการช่วยพัฒนาความรู้ความเข้าใจแบบองค์รวม และการบริหารจัดการ ให้การสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน ตลอดจนการเยียวยาความบอบช้ำทางจิตใจอันเกิดขึ้นจากความรุนแรง ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเป็นการสร้างความรู้สึกปลอดภัย และศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
“เราได้ลงทุนให้แก่ความล้มเหลวของเรือนจำมานานแล้ว ถึงเวลาที่เราจะประสบความสำเร็จในการลงทุนเพื่อมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่สนองตอบเพศสภาวะในอนาคตเสียที”
- ดร. บาร์บารา โอเวน
ด้าน ทามาร์ จันทูเรีย ผู้ช่วยโครงการ สถาบัน Penal Reform International เห็นพ้องในกรณีการเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนในมาตรการทางเลือกแทนการคุมขังว่าเป็นหนทางที่ช่วยเสริมพลังแก่ผู้หญิงและช่วยให้พวกเธอได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี โดยไม่ต้องพบกับการถูกกีดกันหรือแบ่งแยกจากสังคมอย่างที่ต้องเจอ หากพวกเธอต้องโทษจำคุก
จากนั้น นิโคลัส ไลโน ทนายความสาธารณะของรัฐบาลกลางอาร์เจนตินา และกรรมการบริหาร International Legal Foundation และดร.สุธาทิพ ยุทธโยธิน ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ประจำสำนักประธานศาลฎีกา ได้ยกตัวอย่างแนวทางการใช้ทางเลือกแทนการคุมขังของทั้งสองประเทศ
ไลโน ระบุว่า ที่สำนักงานอัยการอาร์เจนตินา จะมีคณะกรรมาธิการว่าด้วยเรื่องของเพศภาวะ ประกอบด้วยทนายความที่มีความเชี่ยวชาญด้านสิทธิสตรี ที่จะช่วยเหลือด้านการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง รวมทั้งส่งเสริมการปกป้องผู้หญิงในแง่มุมทางเพศภาวะ รายงานจากคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ต้องหา ครอบครัว และข้อมูลด้านบริบททางสังคมยังช่วยให้คดีหลายคดีถูกยกฟ้อง เนื่องจากพบหลักฐานว่าเป็นการกระทำผิดเพื่อป้องกันตัว หรือบางคดีก็ได้รับการลดโทษผ่านการลดข้อกล่าวหาการกระทำความผิด นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้รับการฝึกอบรมว่าด้วยเรื่องเพศภาวะทุกปี ซึ่งกระบวนการเช่นนี้ไม่เพียงช่วยลดจำนวนการจำคุกผู้กระทำผิดหญิงเท่านั้น หากยังช่วยเลี่ยงการตั้งข้อหาทางอาญาต่อผู้กระทำผิด ตั้งแต่ขั้นต้นกระทั่งถึงการไต่สวน และการพิพากษาคดีด้วย
“ผมเชื่อว่าเพื่อให้มีการนำมาตรการที่มิใช่การคุมขังมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังมิติการทำงานเฉพาะด้านเพศภาวะในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
- นิโคลัส ไลโน
ด้าน ดร.สุธาทิพ เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการมาตรการทางเลือกแทนการคุมขังว่าต้องนำมาใช้ในทุกกระบวนการทางยุติธรรมทางอาญา โดยในประเทศไทยมีโครงการใหม่ที่เพิ่งจะนำมาใช้คือ “โครงการพัฒนาและยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย ปี 2562” เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างผู้พิพากษาในการกำหนดมาตรการแทนการคุมขังที่มีประสิทธิภาพ ลดการกักตัวระหว่างการไต่สวนหรือระหว่างรอคำพิพากษาคดี และส่งเสริมมาตรการที่มิใช่การคุมขังในการดำเนินคดีกับกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งผู้หญิง
The workplan for this programme is divided into three phases:
แผนการดำเนินงานของโครงการดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การจัดให้มีศาลต้นแบบในการยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย รวม 10 ศาล เพื่อเผยแพร่ ให้ความรู้ และดำเนินการให้ประกันตัว โดยใช้หลักการประเมินและกำหนดมาตรการในการขอปล่อยตัวชั่วคราวตามเงื่อนไขที่จำเป็นเพื่อป้องกันการหลบหนี แทนการจ่ายเงินประกันตัว ปรากฏว่า ภายใน 4 เดือน มีผู้ต้องหายื่นคำร้องใบเดียวเพื่อขอปล่อยชั่วคราวทั้งสิ้น 488 คำร้อง อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีประกัน 365 คำร้อง คิดเป็นสัดส่วน 72.95 โดย 11% เป็นส่วนของผู้ต้องหาหญิง กระบวนการเช่นนี้ช่วยแก้ไขปัญหาด้านการขาดความรู้และขาดแคลนทุนทรัพย์แก่ผู้ยื่นขอประกันตัว และคาดว่าระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงกันยายน 2563 ศาลทั่วประเทศ 269 ศาลจะดำเนินการตามดังกล่าว
สำหรับระยะที่ 2 และระยะที่ 3 มุ่งเน้นให้ผู้พิพากษากำหนดมาตรการที่มิใช้การคุมขังเพิ่มขึ้น ผ่านการประชาสัมพันธ์ไปยังสำนักงานตุลาการ รวมทั้งการเผยแพร่คู่มือ แนวทาง และเงื่อนไขในการใช้มาตรการทางเลือกแทนการคุมขังไปยังศาลต่างๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีคณะทำงานเพื่อประสานงานกับฝ่ายตุลาการในการนำมาตรการดังกล่าวไปใช้ตามคู่มือด้วย
ด้านผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนา ได้ให้ความสนใจอย่างมากในประเด็นเกี่ยวกับการใช้ชุมชนในการช่วยผลักดันมาตรการที่มิใช่การคุมขัง โดยในช่วงถามตอบ ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับความต้องการเฉพาะของผู้หญิงที่ต้องโทษ ความสำคัญของการพิจารณาภูมิหลังของผู้กระทำผิดก่อนการพิพากษาคดี และบทบาท รวมถึงวิธีการของนำการบริการชุมชนมาใช้เป็นมาตรการทางเลือกแทนการคุมขังที่ประสบความสำเร็จ
Click to view Dr. Barbara Owen’s PowerPoint
Click to view Dr. Sutatip Yuthayotin’s PowerPoint
Click to view Ms. Tamar Chanturia’s PowerPoint