ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

Re-engineering the Mind: Women, Prison, and the Bangkok Rules

 

ณัฐธินี  วิชัยรัตน์ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อาวุโส
หัวหน้าฝ่ายจำแนกลักษณะและสังคมสงเคราะห์  เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี

 

“ยากที่สุดก็คงเป็นการเปลี่ยนคนเนี่ยแหละ”

ณัฐธินี  วิชัยรัตน์ หรือที่น้อง ๆ มักเรียกกันว่า พี่ณัฐ หัวหน้าฝ่ายจำแนกลักษณะและสังคมสงเคราะห์ประจำแดนหญิงของเรือนจำจังหวัดอุทัยธานี นั่งลงกับทีมงานของเราในบ่ายวันหนึ่งเพื่อเล่าถึงการทำงานในเรือนจำหญิง สำหรับณัฐธินีแล้ว ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของการขับเคลื่อนทางสังคมใด ๆ ก็ตาม ไม่ใช่ปัจจัยด้านงบประมาณ สาธารณูปโภค แต่คือการเปลี่ยนระบบความคิดของคนทำงานให้มองข้ามสถานะเชิงอำนาจ และเห็นคุณค่าของการเคารพซึ่งความเป็นมนุษย์ในระดับพื้นฐานที่สุด ซึ่งเป็นฐานคิดของข้อกำหนดกรุงเทพหรือ The Bangkok Rules “สมัยก่อนเจ้าหน้าเรือนจำอาจจะมองว่าแนวคิดของข้อกำหนดกรุงเทพคือการทำงานที่เอาใจผู้ต้องขังมากเกินไป เราจะชินกับการทำงานที่เน้นการควบคุมและแนวคิดเรื่องการแก้แค้นทดแทน ซึ่งไม่ไม่เน้นเรื่องแก้ไขฟื้นฟูแบบข้อกำหนดกรุงเทพ”

ทัศนคติของโลกภายนอกก็ไม่ได้ช่วยให้งานของเธอง่ายไปกว่ากัน การเสนอเรื่องราวความรุนแรงของผู้ต้องโทษจากทั้งสื่อกระแสหลัก โดยหยิบยกเพียงเรื่องของคนใดคนหนึ่งในข่าวมาสร้างดราม่าเพื่อกระตุ้นความรู้สึกร่วมจากผู้ชม จนเกิดการผลิตซ้ำภาพจำของเรือนจำและผู้ต้องโทษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นยิ่งทำให้การทำงานบำบัดฟื้นฟูเป็นเรื่องยากสำหรับเจ้าหน้าที่เรือนจำอย่างณัฐธินี “สังคมภายนอกมองเห็นแต่ด้านมืดของเรือนจำ จะไปนึกถึงภาพแบบเรื่อง ขัง 8” เธอแสดงทัศนะ “เวลาที่พี่ทำเคส [กับผู้ต้องขังหญิง] ความกังวลของพวกเขาคือกลัวว่าสังคมจะไม่ยอมรับไม่ให้โอกาส”

ผู้หญิงที่เคยต้องโทษจำคุกส่วนมากซึ่งก้าวออกจากประตูเรือนจำด้วยความรู้สึกกังวลและความรู้สึกด้อยค่า ต้องต่อสู้กับสิ่งแวดล้อมภายนอกที่แทบจะไม่เอื้อให้แก่การสร้างความรู้สึกเคารพตัวเองขึ้นมาใหม่ได้เลย การสร้างกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้ต้องขังใกล้พ้นโทษปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมการกลับสู่โลกภายนอก และการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมบำบัดฟื้นฟูต่าง ๆ มากขึ้นตามแนวทางของข้อกำหนดกรุงเทพ จึงมีผลอย่างมากต่อการขัดเกลาวาทกรรมทางสังคมเหล่านี้ “พี่คิดว่าพี่โชคดีที่ได้ทำงานขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพ เลยมีโอกาสได้ส่งต่อข้อมูลและประสานงานกับสังคมภายนอก ชุมชน สมาคมต่าง ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะเราก็อยากให้พวกเขาเห็นด้านดีๆ ของข้างในด้วยอยากให้คนข้างนอกมองเห็นว่าเราทำงานแบบมีมาตรฐาน” เธอเล่า

ตั้งแต่วันที่เรือนจำเล็ก ๆ อย่างเรือนจำจังหวัดอุทัยธานีได้รับคัดเลือกให้เป็นเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ ในปี 2558 ณัฐธินีได้พยายามทำงานให้ทุกคนในเรือนจำเห็นคุณค่าของข้อกำหนดเรื่อยมา ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ทั้งเก่าและใหม่ในรั้วเรือนจำอุทัยธานีต่างเต็มใจที่จะร่วมผลักดันให้เรือนจำเดินหน้าไปในทิศทางที่ณัฐธินีพยายามสร้างความตระหนักรู้มาโดยตลอด “เดี๋ยวนี้เวลาเด็ก ๆ ต้องปรับเปลี่ยนตำแหน่งกันภายใน น้อง ๆ ก็จะบอกว่า ตอนนี้ใคร ๆ ก็อยากมาอยู่ทีมพี่ณัฐ นี่พี่ภูมิใจมากเลยนะ” เธอหัวเราะ การนำข้อกำหนดกรุงเทพมาเป็นกรอบในการทำงาน ยังช่วยให้งานด้านการบริหารจัดการเรือนจำราบรื่นกว่าเมื่อก่อน  “เราทำงานง่ายขึ้น ภายในเรือนจำมันมีระบบชัดเจน เจ้าหน้าที่ก็จะมีความใกล้ชิดสนิทกับผู้ต้องขังมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นว่าช่วยให้งานควบคุมง่ายตามไปด้วย”

ในฐานะที่เธออยู่ในวงการราชทัณฑ์มากว่า 30 ปี และได้ทำงานกับผู้ต้องขังมาทุกรูปแบบ เธอแสดงความเห็นว่าจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในมุมมองของเธอที่จะมีผลต่อการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของผู้กระทำผิดคือความเข้าใจจากครอบครัว “[เรือนจำ] ต้องประสานให้ครอบครัวมีส่วนร่วมตลอด ไม่ใช่แค่ก่อนพ้นโทษ แต่ว่าตั้งแต่แรกรับเลย ถ้าเราประเมินได้ตั้งแต่แรกว่าเค้ามีครอบครัวที่พร้อมจะมีส่วนร่วม เราจะรู้เลยว่าเค้าจะมีความเสี่ยงต่ำที่จะทำผิดซ้ำ ถ้าไม่มีครอบครัวรองรับ พวกเขาก็จะกลับเข้ามาหาเรา ตรงนี้คือเรื่องที่ชัดเจน” การช่วยให้ผู้ต้องขังเริ่มชีวิตใหม่ได้ไม่ใช่งานของคนใดคนหนึ่ง แต่เธอมองว่านี่เป็นปัญหาที่ซับซ้อนและต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ในส่วนของเธอเองในฐานะเจ้าหน้าที่เรือนจำนั้น เธอรับรู้ได้ถึงคุณค่าในตัวเองของงานที่เธอทำ “เราทำงานนี้พี่รู้สึกว่าพี่ได้บุญ พี่ได้ช่วยคนแล้วมีความสุข นี่ไม่ได้มโนโลกสวยนะ” ณัฐธินีกล่าวอย่างร่าเริง “เวลาได้คุยกับเค้าแล้วเห็นแววตาเค้าสว่างขึ้นมามันก็ดีใจ” เธอกล่าวทิ้งท้าย

Back

Most Viewed

chat