ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการทำสงครามต่อต้านยาเสพติด (War on Drugs) อย่างรุนแรงและเด็ดขาด ซึ่งสอดคล้องกับสถิติที่พบว่า มีผู้หญิงเข้าสู่เรือนจำด้วยคดียาเสพติดสูงถึง 80%ขณะที่ผู้ชายคิดเป็น 60-70%
การที่ผู้หญิงจำนวนมากต้องเข้าสู่เรือนจำก่อให้เกิดผลกระทบในหลายแง่มุม ทั้งกับตัวผู้ต้องขัง และกับชีวิตของคนที่อยู่รอบตัวผู้ต้องขัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้ต้องขังหญิงคนนั้นมีลูก
หากผู้หญิงคนหนึ่งทำผิดและได้รับโทษจำคุก สังคมจะมี ‘นักโทษหญิง’ เพิ่มขึ้นหนึ่งคน แต่สำหรับผู้เป็นลูกของผู้ต้องขังหญิงคนนั้น ‘แม่’ ซึ่งเป็นโลกทั้งใบของเขาหายไป สายใยผูกพันของทั้งคู่ถูกตัดลงอย่างฉับพลัน
ขณะที่ผู้เป็นแม่ได้รับบทลงโทษอยู่หลังกำแพงเรือนจำ ผู้เป็นลูกที่ใช้ชีวิตอยู่ด้านนอกก็เสมือนหนึ่งว่ากำลังถูกลงโทษอยู่เช่นกัน แต่เด็กติดผู้ต้องขังเหล่านี้คือผู้บริสุทธิ์ คือเหยื่อที่ไม่มีใครมองเห็น และเป็นผลผลิตจากกระบวนการยุติธรรมที่มิได้คำนึงถึงความอ่อนไหวทางเพศภาวะมากพอ
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้เริ่มให้ความสำคัญกับกลุ่มแม่และเด็กติดผู้ต้องขัง โดยเริ่มจาก ‘โครงการกำลังใจ’ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาในปี พ.ศ.2549ก่อนจะมีการผลักดันและพัฒนาจนเกิดเป็น ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ หรือข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures of Women Offenders) ที่ถือเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่ยอมรับกันในระดับสากล
เนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปีของข้อกำหนดกรุงเทพ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2561 ทางสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ ‘จากเรือนจำสู่ชุมชน: ลดช่องว่าง สร้างโอกาส และเสริมสร้างความยุติธรรมในสังคม’ โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ที่มาร่วมกันเสวนาและอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องข้อกำหนดกรุงเทพ การมีส่วนร่วมของชุมชนและการให้โอกาส การแสวงหามาตรการที่มิใช่การจำคุกมาใช้ทดแทน รวมถึงบทเรียนจากต่างประเทศที่มีประโยชน์ และอาจนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้
จาก 'โครงการกำลังใจ' สู่ 'ข้อกำหนดกรุงเทพ'
“8 ปีของ Bangkok Rules ไม่สามารถมองได้แค่ 8 ปีนี้ แต่อาจต้องมองย้อนไปไกลกว่านั้น”
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงเรื่องราวก่อนจะมาเป็นข้อกำหนดกรุงเทพ โดยเท้าความไปถึงปี พ.ศ.2544 ที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้เคยเสด็จเข้าเยี่ยมทัณฑสถานหญิงกลางตั้งแต่ช่วงที่ทรงศึกษาอยู่ และทรงเห็นถึงสภาพปัญหาของผู้ต้องขังหญิง ที่เป็นเหมือนกลุ่มบุคคลที่ถูกลืมในกระบวนการยุติธรรม
ต่อมาเมื่อเสด็จกลับมาทรงงานในประเทศไทย ก็ทรงดำริว่าอยากช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่ตั้งครรภ์หรือมีลูกอ่อน เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าเห็นใจและต้องการ ‘กำลังใจ’ มากที่สุด และเรื่องนี้ยังมีช่องว่างในการแก้ปัญหาอยู่ด้วย เพราะเด็กไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด กรมราชทัณฑ์จึงไม่ได้ตั้งงบประมาณเพื่อดูแล
ด้วยเหตุนี้จึงทรงริเริ่ม ‘โครงการกำลังใจ’ ขึ้นที่ทัณฑสถานหญิงกลาง โดยในช่วงแรกของโครงการ ได้เน้นเฉพาะหญิงที่ตั้งครรภ์ หรือมีลูกเล็กๆ ติดมาด้วย มีการจัดตั้งมุมแม่และเด็ก มีการเตรียมความพร้อมก่อนคลอดให้ผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ รวมถึงอนุญาตให้เด็กติดผู้ต้องขังอยู่กับแม่ได้ เป็นต้น ซึ่งคือที่มาของโครงการกำลังใจในปัจจุบัน
จุดแข็งของโครงการกำลังใจที่เป็นแนวพระดำริ คือการระดมความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ เข้าไปร่วมแก้ปัญหา เพราะทรงเล็งเห็นว่าคนไทยเป็นคนที่มีจิตใจดีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ถ้ามีโครงการดีๆ ที่ทำให้คนเห็นประโยชน์ร่วมกันได้ก็จะมีคนมาช่วย ซึงก็เป็นไปดังที่ทรงคาดหมาย โครงการกำลังใจในพระดำริฯ ได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ อย่างดียิ่งและประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี
ต่อมาได้มีการนำความสำเร็จของโครงการกำลังใจไปจัดแสดงที่องค์การสหประชาชาติในปี2551 โดยทรงเน้นประเด็นการสร้าง ‘Partnership Model’ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาในเรือนจำที่ทุกประเทศมีปัญหาเหมือนกัน คือขาดงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐที่เพียงพอ แต่ ‘กำลังใจโมเดล’ หรือ ‘Inspire Model’ คือตัวอย่างของการสร้างการสนับสนุนจากเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยการนำของพระองค์ท่าน
นอกจากงานนิทรรศการแล้ว กิตติพงษ์เล่าว่าในเวทีการอภิปรายที่สหประชาชาติ มีผู้สอบถามพระองค์ท่านว่า การนำเด็กมาอยู่กับผู้ต้องขังจะก่อให้เกิดปัญหากับเด็กหรือไม่ เพราะเด็กอาจจะซึมซับบรรยากาศในเรือนจำมา จึงควรจะมีการแยกเด็กออกมามากกว่า พระองค์ท่านทรงตอบว่า “น่าจะพยายามปรับบรรยากาศในเรือนจำให้เด็กได้ใกล้ชิดกับแม่ให้มากที่สุด แต่ก็ไม่ทราบว่าในทางวิชาการแนวทางไหนดีที่สุด แต่จากที่เห็นด้วยตัวเองและเล่าให้ฟังได้ คือการที่ผู้ต้องขังที่เป็นแม่ที่ได้มีโอกาสกอดลูก อุ้มลูก ตัวผู้ต้องขังเองก็จะมีกำลังใจที่จะเป็นคนดี มีกำลังใจที่จะกลับมาทำความดี และลดโอกาสที่จะกลับเข้าไปข้างในอีก เพราะฉะนั้น การที่ลูกได้มีโอกาสใกล้ชิดกับแม่ น่าจะช่วยทั้งลูกและแม่ในการเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน ทำให้มีพลังที่จะก้าวต่อไป” คำตอบนี้เรียกเสียงปรบมือจากคนทั้งห้องได้ยาวนาน
“การเสด็จสหประชาชาติในครั้งนั้นประสบความสำเร็จอย่างมาก และมีผู้แทนหลายคนมาฝากความหวังกับประเทศไทยและกับพระองค์ท่านให้ผลักดันเรื่องผู้ต้องขังหญิงต่อไป” กิตติพงษ์กล่าว
กิตติพงษ์บรรยายต่อว่าเมื่อกลับมาประเทศไทย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้ทรงมอบแนวทางให้คณะทำงาน ทำการศึกษาเรื่องมาตรฐานผู้ต้องขังของสหประชาชาติที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2498 ซึ่งยังไม่มีความเข้าใจเรื่องเพศภาวะ เรือนจำถูกสร้างขึ้นเพื่อผู้ชาย ไม่ได้คำนึงถึงมิติของผู้ต้องขังหญิง และทรงแนะนำให้มีการจัดตั้ง ‘โครงการ Enhancing Life of Female Inmate (ELFI) หรือโครงการจัดทำข้อเสนอในนามประเทศไทยเพื่อผลักดันให้เป็นข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ’ ขึ้น และมีการร่างข้อกำหนดกรุงเทพร่างแรกขึ้นมา โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากภูมิภาคต่างๆ มาร่วมให้คำปรึกษาด้วย
หลังจากผ่านกระบวนการรณรงค์ตามขั้นตอนของสหประชาชาติอันยาวนาน และการเดินทาง lobby ด้วยพระองค์เองทั่วทุกภูมิภาคในโลก ในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2553 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 65 จึงได้ให้ความเห็นชอบ ‘ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures on Women Offenders) และได้เรียกชื่อย่อว่า ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ (The Bangkok Rules) เพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศไทยในฐานะผู้ผลักดันเรื่องนี้
สาระสำคัญของข้อกำหนดกรุงเทพคือ การปรับปรุงกระบวนการทำงานในเรือนจำ รวมถึงการปรับปรุงแผนงานต่างๆ สำหรับผู้ต้องขัง ตั้งแต่กระบวนการแรกรับ การปรับปรุงสภาพจิตใจและทัศนคติ และการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัวผู้ต้องขัง เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์สูงสุดของการดำเนินงาน คือการทำให้เรือนจำเป็นสถานที่เปลี่ยนชีวิตอย่างแท้จริง ด้วยการใช้กิจกรรมที่หลากหลายเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ ให้โอกาสเรียนรู้เพื่อปรับวุฒิการศึกษา รวมถึงส่งเสริมการฝึกอาชีพโดยคำนึงถึงศักยภาพของผู้ต้องขัง
Inside Prion: หลังกำแพงเรือนจำ
หลังจากที่ข้อกำหนดกรุงเทพได้รับความเห็นชอบ ได้มีการประกาศ ‘พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ.2544’ ขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเริ่มมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตของผู้หญิงที่เข้าสู่เรือนจำ ประกอบกับการที่โลกเกิดปรากฏการณ์ที่มีผู้ต้องขังหญิงเพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้ข้อกำหนดกรุงเทพ และแนวคิดเกี่ยวกับการทำความเข้าใจเส้นทางสู่เรือนจำของผู้ต้องขังหญิงเป็นที่สนใจมากขึ้น
“เราพบว่าคนที่อยู่ในเรือนจำหลายคนไม่ควรจะต้องอยู่ในนั้น พวกเขาเป็นคนที่เข้าไปอยู่เพราะสถานการณ์ที่สามี แฟน เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ตัวเองเลยพลอยเข้าไปร่วมอยู่ด้วย บางคนเจอความรุนแรงในครอบครัว หรือมาจากครอบครัวที่มีปัญหา นี่ทำให้เราเข้าใจมิติความเป็นจริงของกลุ่มผู้ต้องขังหญิง และเข้าใจความเป็นไปในเรือนจำ ทำให้เกิดการพัฒนามาตรฐานเรือนจำหญิงในด้านต่างๆ ให้มีการคำนึงถึงเพศภาวะ มีการปรับระบบภายใน และยังมีการดำเนินการสร้างหลักสูตรมาตรฐานการอบรมด้วย”
กิตติพงษ์สรุปว่า นี่คือส่วนของ Inside Prison ที่หลายหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศได้ทำงานและเรียนรู้ร่วมกัน มีเรือนจำต้นแบบให้คณะดูงานได้ศึกษาจากเรือนจำของจริง ซึ่งโครงการเรือนจำต้นแบบ เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยและกรมราชทัณฑ์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างเต็มรูปแบบ
Beyond Prison: เมื่อเรือนจำไม่ใช่จุดสิ้นสุด
อย่างไรก็ดี กิตติพงษ์กล่าวต่อว่า ในภาพรวม เรื่องทั้งหมดไม่ได้จบแค่ในเรือนจำ เพราะผู้ต้องขังหลายคนไม่สมควรอยู่ในเรือนจำตั้งแต่ต้น และการจำคุกก็มิได้กระทบแค่ตัวผู้ต้องขัง แต่ยังกระทบคนอื่นที่แวดล้อมอยู่ด้วย ดังนั้น นอกจากการพัฒนาศักยภาพและฝึกอาชีพในเรือนจำ ยังต้องพูดถึงเรื่อง Beyond Prison ที่เกี่ยวกับการให้ผู้ต้องขังสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังพ้นโทษได้ โดยมีความภูมิใจในตัวเอง มีรายได้ที่เพียงพอ เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ ซึ่งในปัจจุบัน มีภาคีเครือข่ายและกลุ่มต่างๆ มาช่วยกันพัฒนาและรับผู้ต้องขังหญิงไปทำงานด้วย
“เรื่องของ Beyond Prison เป็นส่วนที่สำคัญมาก เราเห็นความพยายามที่จะปรับทัศนคติของคนในสังคม และเราต้องช่วยกันเพื่อให้แนวคิดนี้ประสบความสำเร็จ”
เพื่อเป็นการเน้นย้ำความสำคัญของแนวคิด Beyond Prison ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทางสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย จึงจัดให้มีการมอบรางวัล ‘Crafting Hope Awards’ เป็นปีแรก เพื่อเป็นการขอบคุณและเชิดชูเกียรติบุคคลหรือหน่วยงานในภาคเอกชน ที่มีบทบาทในการส่งเสริมกระบวนการกลับคืนสู่สังคม เป็นผู้มอบโอกาสให้กับผู้ก้าวพลาด และเป็นเสมือนลมใต้ปีกที่ช่วยพยุงให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกมาแล้ว สามารถเดินทางต่อไปในสังคมได้อย่างราบรื่น
สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลในปีแรกนี้ ได้แก่ คุณเนาวรัตน์ ธนะศรีสุธารัตน์ ผู้ก่อตั้งร้าน ‘ลีลานวดไทย’ จังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์พูลชัย จิตอนันตวิทยา ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน บ้านกึ่งวิถี ‘เธอ’ (SHE) และศาสนาจารย์สุนธร สุนทรธาราวงศ์ จากมูลนิธิบ้านพระพร (มูลนิธิพันธกิจเรือนจำคริสเตียน)
คุณเนาวรัตน์ ธนะศรีสุธารัตน์ ผู้ก่อตั้งร้าน ‘ลีลานวดไทย’ จังหวัดเชียงใหม่
นายแพทย์พูลชัย จิตอนันตวิทยา ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน บ้านกึ่งวิถี ‘เธอ’ (SHE)
ศาสนาจารย์สุนธร สุนทรธาราวงศ์ จากมูลนิธิบ้านพระพร (มูลนิธิพันธกิจเรือนจำคริสเตียน)
Beside Prison: ทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ
“ถ้าไม่ใช่เรือนจำแล้ว จะมีทางเลือกอะไรอีก”
กิตติพงษ์เริ่มต้นคำถามในช่วงสุดท้ายของการบรรยาย ถ้าหากเรือนจำควรเป็นมาตรการสุดท้ายสำหรับผู้ต้องขัง แล้วเราสามารถนำมาตรการทางเลือกอื่นมาใช้แทนการจำคุกได้หรือไม่ เช่น การทำงานบริการสังคม การควบคุมที่บ้าน การนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronics monitoring) เช่นกำไลข้อเท้า มาใช้แทนการควบคุมตัว หรือการให้ชุมชนช่วยกันสอดส่องดูแล ซึ่งวิธีเหล่านี้ผู้ต้องขังจะถูกจำกัดเสรีภาพบ้าง แต่ก็ไม่ต้องจากครอบครัวเข้าไปอยู่ในเรือนจำ
“ในช่วงระยะเวลา 8 ปีของข้อกำหนดกรุงเทพ มีการเปลี่ยนแปลงเชิงทิศทางที่ชัดเจนคือ การทำให้เรือนจำเป็นที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ต้องขังให้ดีขึ้น มีแนวคิดเรื่อง Beyond Prison ให้สังคมมอบโอกาสแก่คนที่ต้องการกลับตัว ทำให้เขาเริ่มต้นชีวิตใหม่ มีศักยภาพยืนบนขาของตัวเองได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมและชุมชนต้องช่วยกัน แต่สิ่งที่เป็นการแก้ปัญหาได้ตรงจุดและสำคัญมาก แต่ยังไม่ได้มีการดำเนินการเท่าไหร่นัก คือเรื่องของ Besides Prison ซึ่งเป็นการสร้างทางเลือก ในการลงโทษที่ไม่ใช้โทษจำคุกมากเกินเหตุ จนเรือนจำต้องเต็มไปด้วยคนที่ไม่ควรจะอยู่ในนั้น และยังหมดสภาพที่จะช่วยแก้ไขฟื้นฟูกับคนที่จำเป็นอีกด้วย”
“คนเรามีโอกาสที่จะก้าวพลาดกันทุกคน แต่เมื่อพลาดไปแล้ว การลงโทษควรทำอย่างเหมาะสม ไม่ทำให้แก้วที่มีแค่รอยร้าว กลายเป็นแก้วแตกที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ และอาจไปสร้างบาดแผลให้คนอื่น”
“กลุ่มผู้ต้องขังหญิงคือกลุ่มที่ถูกทอดทิ้งมายาวนาน เราต้องพยายามช่วยกันสร้างสังคมของเราให้เป็นสังคมที่ให้โอกาส ไม่ทอดทิ้งกลุ่มใดไว้ข้างหลัง เป็นสังคมที่เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน” กิตติพงษ์กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา https://www.the101.world/inside-prison/