เมื่อพูดถึงปัญหาคนล้นเรือนจำ หรือการคืนผู้พ้นโทษสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ เรามักจะยังยึดโยงอยู่กับการพัฒนาคุก หรือพยายามเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อผู้พ้นโทษ แต่ขณะเดียวกันหากตั้งคำถามใหม่ว่า มีทางอื่นไหมที่จะลงโทษผู้กระทำผิดโดยไม่ต้องจับขังในเรือนจำ?
เมื่อตั้งคำถามแบบนี้ คำว่า ‘เรือนจำ’ หรือ ‘คุก’ ก็จะหายไปจากสมการ โดยเปลี่ยนเป็นมาตรการอื่นๆ แทน ปัญหาคนล้นเรือนจำ หรือสภาพแวดล้อมในเรือนจำส่งผลให้ผู้ต้องขังไม่อาจคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ ก็อาจถูกปลดล็อกไปได้เช่นกัน
ในปัจจุบันเริ่มมีวิธีการลงโทษตามกฎหมายในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเอาคนเข้าคุมขังเท่านั้น เช่น การคุมประพฤติ การติดตามตัวด้วยระบบกำไลอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ซึ่งประเด็นเหล่านี้กำลังมีการพัฒนาและหาจุดที่เหมาะสมอยู่ ควบคู่กับการแก้ปัญหาพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังในเรือนจำและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน
ในงานเสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปี ข้อกำหนดกรุงเทพ ในหัวข้อ ‘จากเรือนจำสู่ชุมชน : ลดช่องว่าง สร้างโอกาส และเสริมสร้างความยุติธรรมในสังคม’ ที่จัดโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) พูดถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ คือ Besides Prison – อนาคตของการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในประเทศไทย โดยในปัจจุบัน ศาลใช้มาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังมากขึ้นตั้งแต่ก่อนการพิจารณาคดี
วงเสวนาเรื่อง Besides Prison – อนาคตของการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในประเทศไทย
มาตราการทางเลือกที่มิใช่การคุมขัง
ตัวเลขล่าสุดในปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ใน 1 ปี มีคนขอประกันตัวจำนวน 200,000 คน ได้รับการอนุญาต 94 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีการใช้มาตรการทางเลือกที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากจำนวนคนที่เข้ามาสู่ระบบยุติธรรมทั้งหมด ศาลตัดสินลงโทษโดยไม่ใช้มาตรการคุมขัง 85เปอร์เซ็นต์ เช่น การรอลงโทษ การคุมประพฤติ โทษปรับ ส่วนที่เหลืออีก15 เปอร์เซ็นต์เป็นมาตรการคุมขัง ซึ่งตัวเลขนี้น้อยลงกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วอย่างชัดเจน (ปี 2554ใช้มาตรการคุมขัง 25 เปอร์เซ็นต์)
“ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายค่อนข้างมาก ในเรื่องของกฎหมายคุมประพฤติ กฎหมายราชทันฑ์ ผมว่าเราอยู่ในช่วงจังหวะเวลาที่ดี ที่มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อใช้มาตรการทางเลือกมากขึ้น” ศุภกิจ แย้มประชา รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมกล่าว
ศุภกิจ แย้มประชา รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
ปัจจัยสำคัญที่ใช้พิจารณาในการปล่อยตัวระหว่างพิจารณาคดีคือดูความเสี่ยง3 อย่าง 1. ดูว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไม่2. ผู้ต้องหาจะไปยุ่งกับพยานและหลักฐานไหม และ 3. เขาจะไปก่ออันตรายประการอื่นหรือไม่ เช่น การกระทำผิดซ้ำ เป็นต้น
ต่อมาในขั้นตอนการลงโทษ ศาลจะพิจารณาว่าจะลงโทษด้วยการจำคุกหรือคุมประพฤติ ซึ่งในประมวลกฎหมายอาญาจะดูปัจจัยครอบคลุมทั้งเรื่องของ อายุ อาชีพ การศึกษา สภาพความเป็นอยู่ สภาพจิตใจ ความรู้สึกผิด การบรรเทาผลกับผู้เสียหายของผู้ต้องหา เพื่อประกอบการพิจารณาคดี
ตอนนี้มีทางเลือกใหม่ในการคุมประพฤตินักโทษ คือกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring Center) หรือที่เรียกว่า EM ปัจจุบันมีการใช้มาตรการนี้ในระดับความผิดที่ศาลตัดสินลงโทษจำคุกไม่เกิน5 ปี ที่รอลงการลงโทษและกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติไว้
ด้วยเทคโนโลยีและมาตรการที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ศาลมีทางเลือกการตัดสินมากขึ้น ตั้งแต่กำหนดวันรายงานตัว ทำงานบริการสังคม หรือห้ามออกนอกสถานที่ที่กำหนดโดยใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว ทิศทางดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีการให้อำนาจศาลในการใช้มาตรการทางเลือกมากขึ้น
กำไลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring Center)
อย่างไรก็ตาม คดียาเสพติดก็ยังเป็นคดีที่มีตัวเลขผู้ต้องขังจำนวนมาก และเมื่อเข้าไปในเรือนจำแล้วก็อยู่เป็นระยะเวลานาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขกันต่อไป ถึงแม้ว่ามาตรการทางเลือกที่มิใช่การคุมขังจะดูเป็นทางออกที่ดี แต่ในแง่ปฏิบัติแล้ว ต้องหาข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เหมาะสมเพื่อให้ศาลใช้ดุลยพินิจได้อย่างเหมาะสม โดยศุภกิจมองว่า ยิ่งมีข้อมูลมากยิ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการไม่ใช้มาตรการการคุมขัง
“ถ้าเราจะสร้างมาตรการที่ไม่ใช่การคุมขัง ต้องใช้ความร่วมมือหลายๆ ส่วน ต้องมีความรู้และความเข้าอกเข้าใจคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมด้วย อย่างวาทกรรมที่ว่า คุกมีไว้ขังคนจน ความจริงแล้วคุกมีไว้ขังคนผิด แต่ก็อาจจะมีคนจนบางส่วนที่กระทำความผิดมาเข้ามาอยู่ในเรือนจำ ที่เราขังไม่ใช่เพราะเขาจน เราขังเพราะเขากระทำความผิดมา” ศุภกิจกล่าว
เปลี่ยนวิธีคิดคนในกระบวนการยุติธรรม
กว่า 80เปอร์เซ็นต์ของคดีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของไทยคือคดียาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาที่พยายามแก้กันมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ปัญหาสำคัญไม่ใช่เพราะมีผู้ต้องขังจำนวนมากเท่านั้น แต่ระยะเวลาในการจำคุกก็นานด้วย เพราะคดียาเสพติดมีโทษร้ายแรง กลายเป็นว่ามีคนเข้ามากกว่าคนออก ตัวเลขคนในเรือนจำจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีทีท่าจะหยุด
ปัจจุบันงบประมาณหลักของกระทรวงยุติธรรมกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ ถูกนำมาใช้กับผู้ต้องขังและเด็กเยาวชนในสถานพินิจ ปีละประมาณเกือบ 2 หมื่นล้านบาท แน่นอนว่าตัวเลขมหาศาลเช่นนี้ รัฐบาลอาจไม่สามารถแบกรับต่อไปได้ในระยะยาว จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
โกมล พรมเพ็ง ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงยุติธรรม อธิบายแผนนโยบายที่จะนำมาใช้เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังลง โดยใช้การพยายามผลักดันพระราชบัญญัติส่งเสริมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และผลักดันพระราชบัญญัติพฤติกรรมชุมชน ที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่ ให้ช่วยกันดูแลสอดส่อง และช่วยให้ประชาชนเข้าใจกฎหมายมากขึ้น นอกจากการผลักดัน พ.ร.บ. ข้างต้นแล้ว ยังมีการทำงานด้านคุมประพฤติอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเข้าไปแก้ไขที่ระบบ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีการแก้ไขวิธีคิดของคนในสังคมด้วย หลายครั้งที่มีคดีความไกล่เกลี่ยกันได้ แต่ในปัจจุบันคนเลือกที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แจ้งความดำเนินคดีกันมากขึ้น ทำให้ทุกคนไหลเข้าระบบทั้งที่ไม่ได้อยากเข้า
โกมล พรมเพ็ง ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงยุติธรรม
ทั้งนี้ โกมลยังพูดถึงประเด็นเรื่อง การฝากขังแทนค่าปรับ ซึ่งเขามองว่าไม่ควรมีในประเทศไทย
“คนที่ไม่มีเงินมากพอ จะถูกขังแทนการจ่ายค่าปรับ ซึ่งไม่แตกต่างจากการถูกจำคุกเลย แค่ใช้ชื่อต่างกันเท่านั้นเอง แทนที่รัฐจะได้ประโยชน์กลับเสียประโยชน์ เพราะต้องมาดูแลเขาอย่างดี แทนที่จะทำให้เขากลับไปอยู่ในสังคม สร้างมูลค่าเพิ่มหรือไปทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ กลับกลายเป็นว่ารัฐต้องมาดูแลส่งเสียเลี้ยงดู จากโครงการ ‘กินอิ่มนอนอุ่น’ ของกระทรวงยุติธรรม ทำให้เรือนจำสะดวกสบายขึ้นและเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ก็เลยมีอยู่จำพวกหนึ่งที่เสพติดคุกและทำผิดซ้ำ”
จะเห็นได้ว่า มีหลายปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการทำผิดซ้ำ และส่งผลต่อคนล้นเรือนจำ ปัญหาทั้งหมดวนเวียนเป็นวงกลม จำเป็นต้องแก้ไปทีละเปลาะอย่างละเอียดและระมัดระวัง ทั้งส่งเสริมด้านการเรียนการสอน ฝึกอาชีพ เตรียมหางานก่อนปล่อยตัว เพื่อป้องกันการทำผิดซ้ำ
“ตอนนี้กระทรวงยุติธรรมได้มีการจัดตั้งสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานยุติธรรมชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนนั้นได้มีส่วนร่วมในการดูแลชุมชนของตัวเอง ตั้งแต่เรื่องของการป้องกันแก้ไขปัญหาและจัดการชุมชนให้เป็นระเบียบ นอกจากนั้นยังมีการให้ความรู้ความเข้าใจกฎหมายอีกด้วย เนื่องจากคนเรานั้นเป็นผลผลิตของชุมชน ชุมชนเองก็ควรที่จะมีส่วนในการช่วยรับผิดชอบด้วย”
ก่อนจบ โกมลทิ้งท้ายไว้ว่า ควรจะเปลี่ยนวิธีคิดของคนในกระบวนการยุติธรรม และปรับปรุงข้อกฎหมายบางประเภท
“ถ้าจะแก้ไขปัญหาคนล้นคุกได้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือเปลี่ยนวิธีคิดของคนในหน่วยงานกระบวนการยุติธรรมใหม่ แทนที่จะใช้กระบวนการหลัก ให้หันมาใช้กระบวนการยุติธรรมแบบสมานฉันท์ หรือกระบวนการยุติธรรมทางเลือกให้มากขึ้น”
“ประเด็นที่สอง เราต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพราะกฎหมายคือตัวกลางสำคัญที่ทำให้คนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องของคดียาเสพติดบางประเภท อาจทำให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ เช่น คดีกระท่อม แต่ก็ต้องกำหนดวิธีการใช้และผลิตภัณฑ์ เรื่องของกัญชาก็เช่นกัน”
“การแก้ปัญหาคนล้นคุกเป็นปลายเหตุ การแก้ที่ต้นเหตุคือเรื่องการทำอย่างไรให้คนไทยทำตามกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา” ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงยุติธรรมกล่าวสรุป
กลไกลการจัดการผู้กระทำความผิด และความร่วมมือจากชุมชน
ต่อจากประเด็นของการแก้ไขข้อกฎหมาย และการส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแล และยอมรับผู้พ้นโทษมากขึ้น รศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายบทบาทของชุมชนว่า ชุมชนสามารถเข้ามาช่วยเหลือเหยื่อ และทำให้ผู้กระทำผิดสำนึกได้ ซึ่งเป็นมาตรการที่โลกให้ความสำคัญมานานแล้ว ก่อนที่จะเกิดการใช้วิธีการแก้แค้นทดแทนในศตวรรษที่ 20 จนในปัจจุบันมีความพยายามที่จะกลับไปใช้มาตรการให้ชุมชนเข้ามาช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้ง จริงอยู่ที่การสามัคคีปรองดอง การสำนึกผิด และการให้อภัยไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเข้ามาพัฒนาส่งเสริมในเรื่องนี้
รศ.ดร.จุฑารัตน์ ยกตัวอย่างกรณีตัวอย่างในแคนาดา เมื่อปี 1974 ที่ทำให้คนเห็นภาพว่าการแก้แค้นถูกทดแทนด้วยพื้นที่ของการให้อภัยและชดใช้เยียวยาอย่างไร
“เมื่อปี 1974 ที่แคนาดา มีเด็กไปขีดเขียนตามบ้านคนอื่น 22 แห่ง จริงๆ แล้วต้องส่งไปที่ศาลและเข้าคุก ถึงแม้จะเป็นคดีเล็กน้อย แต่ก็มีการให้ไปพูดคุยกับผู้เสียหาย โดยมีพนักงานคุมประพฤติเป็นผู้ประสานงาน และผู้เสียหายยอมเปิดประตูพูดคุยกัน โดยวิธีดังกล่าว ทำให้พื้นที่ของการแก้แค้นถูกทดแทนด้วยพื้นที่ของการให้อภัยและชดใช้เยียวยา ซึ่งไม่ใช่ว่ารัฐจ่ายเงินชดใช้เยียวยาต่างๆ แต่เป็นการชดใช้โดยตรง และนำไปใช้ในชุมชนเองด้วย”
จากกรณีนี้ รศ.ดร.จุฑารัตน์มองว่าสามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้
“ในชุมชนก็จะมีทั้งในเชิงป้องกัน เชิงจัดระเบียบชุมชน เช่น มีความขัดแย้งก็แก้ไข และก็ยังมีเหยื่ออาชญากรรมซึ่งส่วนมากเราหลงลืม ในประเทศไทยมีหน่วยงานที่ดูแลเหยื่อไม่มากพอ ชุมชนเลยเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถช่วยกลับมาซับน้ำตาให้กับเหยื่อเหล่านี้ได้”
ระบบการไกล่เกลี่ยแบบนี้ได้รับการรองรับในระบบกฎหมายมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการตัดสินคุมขังคนได้น้อยลงด้วย กระบวนการดังกล่าวนี้ทั้งกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมต่างพยายามนำไปปรับใช้พัฒนา มีศูนย์ต่างๆ เพื่อจัดการความขัดแย้งในชุมชนมากขึ้น
รศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ถ้าเรามองว่าจะทำให้สังคมสงบสุขโดยไม่ใช้การแก้แค้นและติดคุก เราก็จะสามารถใช้วิธีที่ประหยัดกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า นำมาใช้ได้ทั้งในชุมชนและกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก” รศ.ดร.จุฑารัตน์กล่าวถึงประเด็นการไกล่เกลี่ยในชุมชนอย่างกระชับ
การนำมาตรการนี้มาใช้ในระดับชุมชน มีความจำเป็นที่ต้องรู้ เข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญ เพื่อให้คนมีวิธีมองการทำโทษแบบใหม่ที่ไม่ใช่เฉพาะการคุมขังเท่านั้น
“การที่จะทำให้คนตระหนักรู้นั้น เราต้องให้ความรู้เขาก่อน เราต้องลองเปลี่ยนวิธีคิด เช่นสมัยก่อนเขาจับคนมาได้ 1คน เขาก็บอกว่าคนนี้กระทำผิดอะไรมา มีโทษอะไร ค่าเสียหายเป็นอย่างไร เขาละเมิดผู้เสียหายอย่างไร แล้วค่อยมาดูว่าละเมิดกฎหมายอย่างไร นี่คือการคืนความเป็นมนุษย์เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ฉะนั้นเราควรตั้งโจทย์ใหม่ว่า จะสามารถสร้างสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ได้อย่างไรเพื่อเกิดการให้อภัยกัน”
ประเด็นการให้อภัยและการไกล่เกลี่ย มีกรณีศึกษามาแล้วหลายครั้ง เช่นในคดีข่มขืนที่พัทลุง เมื่อผู้กระทำผิดกลับเข้าไปอยู่ในชุมชน ซึ่งต้องเผชิญหน้ากับพ่อแม่ของผู้เสียหาย กรมคุมประพฤติได้จัดให้มีการพูดคุยขอโทษ และดูว่าผู้กระทำผิดมีพฤติกรรมในชุมชนอย่างไร โดยใช้ชุมชนเข้าช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว
“ต้องเริ่มจากการมีความรู้และความเข้าใจก่อน และสุดท้ายในขั้นปฏิบัติ เขาก็จะให้ความสำคัญกับเหยื่อหรือผู้เสียหาย หมายความว่าการที่จะเชิญเหยื่อมาประชุมสมานฉันท์ ตัวเหยื่อจะต้องให้ความยินยอม เพราะให้ความสำคัญกับเหยื่อ ซึ่งเหยื่อก็มีสิทธิที่จะรู้สึกแค้น แล้วอยากใช้กระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ก็ต้องปล่อยให้เขาใช้ ไม่ตัดสิทธิเขา”
อย่างไรก็ตาม มีคำถามที่ระดับโลกที่ว่า ในกรณีที่กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักดีอยู่แล้ว ทำไมจึงต้องใช้วิธีการทางเลือกอื่นๆ อีก รศ.ดร.จุฑารัตน์ สรุป 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง ยังมีปัญหาคดีล้นศาลและคนล้นคุก ซึ่งเป็นปัญหาของการบริหารจัดการ
ประเด็นที่สอง แม้เป็นความผิดเล็กน้อย แต่ยังนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งยังมีการกำหนดโทษสูงเกินไป
ประการที่สาม กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักคือการแก้แค้นทดแทน วิธีแก้คือการใช้มาตรการทางเลือกที่มิใช่การคุมขัง
ประการที่สี่ ชุมชนเริ่มเข้มแข็งขึ้น รัฐชาติเริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบ ฉะนั้นเมื่อชุมชนเข้มแข็งจึงย้อนกลับมาใช้ Community Justice ได้มากขึ้น
ประการที่ห้า กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายๆ กลุ่ม ดังนั้นการทใช้วิธีอื่นนอกจากกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักจะช่วยแก้ปัญหา คือเข้าให้น้อยที่สุด แล้วออกให้เร็วที่สุด
บทเรียนจากต่างประเทศ: เราเรียนรู้และปรับเปลี่ยนใช้อะไรได้บ้าง?
นอกจากการพูดถึงเรือนจำและระบบยุติธรรมไทยแล้ว อีกหนึ่งความน่าสนใจของงานเสวนาในครั้งนี้ คือการบรรยายพิเศษจาก 2 ผู้เชี่ยวชาญในวงการอาชญาวิทยา ที่มาถ่ายทอดบทเรียนและประสบการณ์การทำงาน อันจะก่อให้เกิดการเรียนรู้เพื่อที่จะนำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
สหรัฐอเมริกา: ผลกระทบของการใช้โทษจำคุก และการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพ นอกเหนือบริบทเรือนจำ
ดร.บาร์บารา โอเวน (Prof. Barbara Owen)
“ความไม่เท่าเทียมเป็นทั้งสาเหตุของปัญหาในเรือนจำ และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงต้องเข้าสู่เรือนจำ” เป็นคำกล่าวของ ดร.บาร์บารา โอเวน (Prof. Barbara Owen) ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยาชาวอเมริกัน ผู้มีประสบการณ์มากกว่าสองทศวรรษในการทำงานเกี่ยวกับเรือนจำหญิง และเป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทในการจัดทำร่างข้อกำหนดกรุงเทพ
ดร.โอเวนกล่าวว่า ผู้หญิงมีเส้นทางที่ต่างจากผู้ชายในการเข้าสู่เรือนจำ ซึ่งเส้นทางดังกล่าวเกิดจากประเด็นเพศภาวะและความไม่เท่าเทียม โดยในสหรัฐอเมริกา มีคำว่า ‘Intersectional inequality’ซึ่งหมายถึงการที่ผู้หญิงถูกกีดกัน เพราะเหตุผลทางเชื้อชาติ ศาสนา หรือแม้กระทั่งภาษา
นอกจากนี้ ความไม่เท่าเทียมในเรือนจำยังเป็นตัวก่อร่างสร้างปัญหาขึ้นมาด้วย กล่าวคือ ผู้ต้องขังบางคนมีความพร้อมทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ และการศึกษา ทำให้ได้รับประโยชน์จากกิจกรรมต่างๆ ที่จัดไว้ให้ในเรือนจำ แต่ผู้ต้องขังบางคนมีอดีตที่เลวร้าย เคยเจอกับความรุนแรงทั้งในครอบครัวและชุมชน ทำให้อาจไม่ได้รับประโยชน์เท่ากับผู้ต้องขังกลุ่มแรก
จะเห็นว่ามีความไม่เท่าเทียมเกิดขึ้นและแฝงอยู่ในทุกกระบวนการของเรือนจำ จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้าง ‘เส้นทางการออกสู่เรือนจำ (pathway away from prison)’ ขึ้น โดยมีข้อกำหนดกรุงเทพ และสถาบันด้านสิทธิมนุษยชนเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน นอกจากนี้ ดร.โอเวนยังเสนอว่า จากเดิมที่เราเคยพูดถึงแนวคิด ‘การนำผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคม (reintegration)’ ให้เราเปลี่ยนแนวคิดเป็น ‘การบูรณาการ (integration)’ เพื่อนำผู้ต้องขังหญิงกลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแทน โดยอาศัยทรัพยากรชุมชน การลงทุน และกิจกรรมทางสังคมเพื่อช่วยขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าว
อีกประเด็นที่น่าสนใจและสอดคล้องกับแนวคิดข้างต้นคือ ‘การลงทุนในการเยียวยาและการฟื้นฟู’ ที่ตั้งคำถามว่า เราจะลงทุนกับผู้หญิงและครอบครัวที่อยู่ในชุมชนได้อย่างไร เพราะความไม่เท่าเทียมทางเพศไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับตัวผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบกับชุมชนโดยทั่วไปด้วย
“เราต้องคิดใหม่ว่า การนำผู้หญิงออกจากชุมชนจะเป็นการทำลายชุมชนอย่างไร”
“นานมาแล้วที่เราลงทุนกับความล้มเหลวของเรือนจำ ในสหรัฐอเมริกา มีผู้ต้องขัง 60-65 เปอร์เซ็นต์ที่ออกมาจากเรือนจำแล้วทำผิดซ้ำภายในสองปี ถึงเวลาแล้วที่เราจะลงทุนในมาตรการที่มิใช่การคุมขังบ้าง มีข้อค้นพบว่า มาตรการดังกล่าวจะสร้างความเสียหายให้กับผู้หญิงน้อยกว่า และยังทำให้ผู้หญิงสามารถกลับคืนสู่ชุมชนได้”
เป็นเวลาหลายปีแล้วที่สังคมมองว่าผู้ต้องขังหญิงเป็นปัญหา ซึ่งดร.โอเวนกล่าวว่า เราควรจะเปลี่ยนความคิด มองในอีกมุมว่า หากเรามอบโอกาสให้กับผู้ต้องขังหญิงเหล่านี้ พวกเธอจะมอบประโยชน์อะไรกลับคืนสู่สังคมได้บ้าง ซึ่งประโยชน์ที่ว่าจะไม่ใช่แค่ประโยชน์ส่วนตน แต่เป็นประโยชน์ที่เกิดแก่ส่วนรวมด้วย
“ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ขอให้คุณคิดถึงหนทางที่จะทำให้มาตรการที่มิใช่การคุมขัง สามารถช่วยบูรณาการผู้หญิงเข้าไปในสังคมได้ นานมาแล้วที่เราลงทุนในเรื่องเรือนจำโดยที่เน้นไปที่อดีต ตอนนี้ ถึงเวลาแล้วที่คุณสามารถลงทุนในอนาคต”
“เมื่อคุณลงทุนในผู้หญิง คุณกำลังลงทุนในเด็ก และคุณกำลังลงทุนในอนาคต” ดร.โอเวนกล่าวทิ้งท้าย
ญี่ปุ่น: การส่งเสริมข้อกำหนดโตเกียว และมาตรการที่มิใช่การคุมขัง
ทาคุยะ ฟุรุฮาชิ (Prof. Takuya Furuhashi)
จากสหรัฐอเมริกา วงเสวนาได้พาเรากลับมาที่แถบเอเชีย ด้วยการบรรยายจาก คุณทาคุยะ ฟุรุฮาชิ (Prof. Takuya Furuhashi) ผู้แทนจากสถาบันการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดของสหประชาชาติ ภาคพื้นเอเชียและตะวันออกไกล (The United Nations Asia and Far East Institute – UNAFEI)
“ข้อกำหนดโตเกียว ปีค.ศ.1990 มีความครอบคลุมมาตรการทั้งหมดที่มิใช่การคุมขัง และเน้นความสำคัญไปที่การมีส่วนร่วมของประชาชนและสาธารณะ ข้อกำหนดนี้เป็นความหวังว่าจะนำไปสู่การส่งเสริมสังคมแบบถ้วนหน้า (Inclusive society) ได้”
หากย้อนกลับไปก่อนหน้าที่จะมีการริเริ่มข้อกำหนดโตเกียว ในปีค.ศ. 1955 ได้เกิด ‘ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners – SMR)’ ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านการราชทัณฑ์และสิทธิมนุษยชน ก่อนจะตามมาด้วย ‘ข้อกำหนดโตเกียว’ และ ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ ที่เกิดขึ้นในปีค.ศ. 2010และล่าสุดคือ ‘ข้อกำหนดแมนเดลา หรือข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังฉบับปรับปรุง ในปีค.ศ. 2015’ ซึ่งเป็นการปรับปรุงSMR 1955 ใน 8 หัวข้อสำคัญ
โครงสร้างพื้นฐานของข้อกำหนดโตเกียว เริ่มต้นที่กระบวนการก่อนการพิจารณาคดี ที่เปิดโอกาสให้มีการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังได้ ต่อมาเมื่อมีการพิพากษาแล้ว อาจมีการพักการลงโทษ หรือการปล่อยตัวก่อนกำหนดโดยมีเงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งประชาชนและอาสาสมัครจะเข้ามามีส่วนร่วมในทุกๆ ขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมอาญา
คุณทาคุยะเริ่มต้นตั้งคำถามถึงความแตกต่างทางเพศภาวะของผู้ชายและผู้หญิง กล่าวคือผู้หญิงที่เป็นแม่จะต้องมีการตั้งครรภ์ มีการคลอดบุตร รวมถึงการให้นมบุตร ซึ่งลักษณะพิเศษเหล่านี้สามารถกลายเป็นปัญหาได้ในตอนที่ผู้หญิงรับโทษอยู่ในเรือนจำ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก เช่น ผู้หญิงหลายคนต้องประสบปัญหาทางด้านการเงิน เนื่องจากหางานที่เหมาะสมทำไม่ได้ หรือผู้หญิงบางคนเคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ หรือเจอประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก ซึ่งประสบการณ์เหล่านี้นำมาซึ่งปัญหาที่ซับซ้อนในการติดยาเสพติด
ผู้แทนจาก UNAFEIได้เสนอหนทางที่อาจนำมาใช้ทดแทนการจำคุกได้ เช่น การใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังให้ได้มากที่สุด และมีการส่งเสริมการทำงานร่วมกันในชุมชน ประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ทำแนวคิดนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรม คือมีสมาคมสตรีที่คอยช่วยทำหน้าที่ฟื้นฟูผู้ต้องขัง โดยอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในชุมชน หรือเป็นผู้อาศัยในชุมชนที่มีความเข้าใจ และรู้รายละเอียดของชุมชนในเชิงลึก
อีกหนึ่งความพยายามในเรื่องนี้ของญี่ปุ่น คือการใช้มาสคอตที่ชื่อ ‘โฮโมะจัง’ ซึ่งเป็นตัวนกเพนกวินที่เคยทำความผิดมาก่อน แต่ด้วยการได้รับโอกาสจากเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ อาสาสมัคร และนายจ้าง ทำให้โฮโมะจังได้รับโอกาสทำงาน และกลับเข้ามามีส่วนร่วมในชุมชน จนทำให้เขาได้รับการเยียวยาฟื้นฟูในที่สุด
จะเห็นว่าในญี่ปุ่น มีหลายภาคส่วนเข้ามาทำงานเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพื่อสนับสนุนการเยียวยาฟื้นฟูผู้ต้องขัง ให้สามารถกลับคืนสู่สังคมและกลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้อีกครั้ง ตามหลักการข้อกำหนดโตเกียว และเรื่องนี้ยังสามารถถูกเสริมแรงด้วยข้อกำหนดอื่นๆ เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ที่หวังไว้ ดังที่คุณทาคุยะกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า
“ข้อกำหนดโตเกียวสามารถเป็นเสาหลักในการสร้างสังคมแบบถ้วนหน้า ความสุข และการกินดีอยู่ดีของคนในสังคม และด้วยความร่วมมือกับข้อกำหนดกรุงเทพ ก็ทำให้ความพยายามนี้มั่นคงและสว่างสดใสกว่าเดิม”
ที่มา https://www.the101.world/besides-prison/