โฉมหน้าระบบยุติธรรมแบบที่สังคมรู้จักมักคุ้น คือระบบยุติธรรมที่เมื่อมีคนทำผิด ก็ดำเนินการไปตามกระบวนการดำเนินคดี พิพากษา และคุมขัง นี่คือ ‘ระบบ’ ที่เราคุ้นชิน แต่มันคงจะดีไม่น้อยหากเราถอยออกมาสักก้าว แล้วพิจารณาดูว่าระบบที่เป็นอยู่นั้นมีปัญหาเช่นไร และเรามีทางเลือกอื่นใดไหมที่จะแก้ไขปัญหาที่มีอยู่
ปัญหาหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมอาญา คือปัญหานักโทษล้นคุก ปัจจุบันประเทศไทยมีนักโทษอยู่ในเรือนจำกว่า 400,000 คน และเรามักคิดว่าการจับคนทำผิดเข้าคุกคือคำตอบ แต่จริง ๆ แล้วนี่อาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป ในคดีอาญาที่มีผู้กระทำผิดและผู้ถูกกระทำ การคุมขังผู้กระทำผิดไม่ได้แก้ปัญหาได้ในทุกกรณี เพราะผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยา และในบางครั้งผลกระทบก็ไม่ได้ตกอยู่แค่กับผู้เสียหาย แต่ยังส่งผลต่อครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม นอกจากนี้ ผลกระทบก็มิใช่เกิดขึ้นเพียงแค่ทางกาย แต่รวมถึงทางใจ และนี่ยังไม่รวมถึงคดีที่มีความละเอียดอ่อนและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องได้รับการเยียวยาเป็นพิเศษ เช่น คดีทำร้ายร่างกาย หรือความรุนแรงทางเพศ
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (restorative justice) จึงก้าวเข้ามา เพื่อเติมเต็มช่องว่างของกระบวนการยุติธรรมอาญา โดยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นั้นช่วยส่งเสริมความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของผู้ถูกกระทำและผู้กระทำผิดในการเยียวยาความเสียหาย และผลลัพธ์ที่ตามมาคือการอำนวยให้ผู้ถูกกระทำเป็นศูนย์กลางของกระบวนการยุติธรรม และการนำผู้กระทำความผิดกลับคืนสู่สังคมในฐานะปัจเจกบุคคลที่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
เข้าใจกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ด้วย Handbook on Restorative Justice
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มีประวัติความเป็นมาอย่างเป็นทางการในประชาคมโลกไม่นานนัก ในปี ค.ศ. 2002 คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Economic and Social Council) ได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกที่มีกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ในระบบ ในปี ค.ศ. 2006 จึงเกิดคู่มือ Handbook on Restorative Justice ฉบับแรก โดย สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime - UNODC) เพื่อให้นักกฎหมาย ผู้พิพากษา และผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมได้ทำความเข้าใจกับแนวคิด และช่วยหาทางในการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นั้นมาปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ นับจากนั้นเป็นต้นมา แนวคิดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จึงแพร่หลายไปยังหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ความหมายและการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันทมาใช้สามารถทำได้ในบริบทที่หลากหลายมากขึ้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการพัฒนาคู่มือฉบับใหม่ ที่มีข้อมูลทันสมัย ครอบคลุมในทุกมิติมากกว่าในอดีต รวมทั้งมตัวอย่างจากนานาประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงเกิด Handbook on Restorative Justice ฉบับปรับปรุงแก้ไขในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติและสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เพื่อขยายความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และการนำไปปฏิบัติใช้จริงโดยสอดคล้องกับบริบทการนำไปใช้ในปัจจุบัน
คู่มือมีอะไรใหม่ ?
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไม่เพียงแต่คำนึงถึงผู้เสียหายเป็นจุดศูนย์กลางของกระบวนการยุติธรรม แต่ยังคำนึงถึงผลกระทบต่อครอบครัวของทั้งผู้ถูกกระทำและผู้กระทำความผิด ชุมชน และสังคมโดยรวม รวมถึงต้นตอของการกระทำความผิดและวิธีการเยียวยาทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งยังมองว่าในหลาย ๆ ครั้ง เพียงการจับผู้กระทำผิดเข้าคุก ไม่ได้ช่วยให้เหยื่อได้รับการเยียวยาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ในบางครั้ง ผู้เสียหายนั้นไม่ใช่แค่เหยื่อในคคี แต่ยังรวมถึงครอบครัวของเหยื่อ ครอบครัวของผู้กระทำผิด หรือแม้แต่ชุมชน กระบวนการยุติธรรมเช่นนี้จึงมุ่ง ‘เยียวยา’ มากกว่า ‘เอาคืน’ ทว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ก็มีความซับซ้อน เช่น ในกรณีของอาชญากรรมร้ายแรง อย่างความรุนแรงทางเพศ กรณีเช่นนี้ไม่ค่อยมีตัวอย่างการดำเนินการให้เห็นชัดเจนนัก ว่าควรทำเช่นไร ทำอย่างไรให้เหยื่อและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับการเยียวยาและต้นตอของปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง คู่มือ Handbook on Restorative Justice ฉบับปรับปรุงแก้ไขในปี ค.ศ. 2020 นี้ให้คำตอบและคำแนะนำในการดำเนินการสำหรับกรณีอาชญากรรมรุนแรงเช่นนี้ ที่หากผู้อ่านหยิบขึ้นมา ก็จะเห็นแนวทางและตัวอย่างว่าควรดำเนินการเช่นไร นอกจากนี้ ยังได้รวบรวมความรู้และตัวอย่างที่ทันเหตุการณ์จากทั่วโลกที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อีกด้วย
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เยียวยา ยั่งยืน และเป็นเรื่องระดับชาติ
นอกเหนือไปจากข้อเท็จจริงที่ว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ช่วยเติมเต็มช่องว่างของกระบวนการยุติธรรมแบบดั้งเดิมที่ไม่สามารถเยียวยาผู้เสียหายและผู้เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ยังทำให้ระบบยุติธรรมยั่งยืนมากขึ้น แม้ว่าในระยะแรกของการดำเนินการเปลี่ยนแปลงปฏิรูประบบยุติธรรม รัฐจะต้องลงทุน แต่ในระยะยาวนั้น กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยเยียวยาผู้เสียหายให้ดีขึ้นโดยใช้ระยะเวลาที่สั้นลง นั่นหมายถึงการที่ประเทศชาติสามารถเก็บรักษาทรัพยากรที่มีคุณค่าไว้ได้ และจะแก้ปัญหานักโทษล้นคุกไปได้โดยปริยาย สิ่งเหล่านี้ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของระบบยุติธรรมลดลง เช่น ปกติแล้วเรือนจำมีค่าดำเนินการสูง ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าดูแลนักโทษ และอื่น ๆ แต่หากกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เข้ามาช่วยเยียวยาทั้งเหยื่อและช่วยไกล่เกลี่ยระหว่างผู้กระทำผิด ภาระของเรือนจำและค่าใช้จ่ายในระบบยุติธรรมก็จะลดลงด้วย
กล่าวได้ว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้รับการยอมรับในระดับสากล ผ่านประกาศและมติต่าง ๆ ของสหประชาชาติ แต่ในระดับประเทศนั้น ระบบยุติธรรมแบบดั้งเดิมนั้นยังคงไม่ถูกปฏิรูปตามแนวทางของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ปัจจุบันนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่สามารถนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเต็มรูปแบบ หนังสือคู่มือฉบับใหม่นี้จึงไม่ได้เพียงให้คำแนะนำว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นั้นคืออะไรและสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างไร แต่ยังมองการณ์ไกลกว่านั้น โดยให้คำแนะนำด้วยว่าการจะนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปใช้ได้อย่างยั่งยืน จะต้องมีการดำเนินการในระดับชาติอย่างมียุทธศาสตร์เช่นไร ซึ่งรวมถึงการสื่อสารอย่างมียุทธศาสตร์กับสาธารณะว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นั้นคืออะไร และจะส่งผลที่ดีกว่ากระบวนการยุติธรรมแบบดั้งเดิมเช่นไร เพราะหากประชาชนทั่วไปไม่มีความเข้าใจและมีอคติ ก็จะทำให้การดำเนินการปฏิรูประบบยุติธรรมแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นับเป็นก้าวใหม่ของระบบยุติธรรม ที่หากดำเนินการได้ก็จะถือว่าพลิกโฉมระบบยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แรงสนับสนุนจากภาคส่วนอื่น ๆ เช่น ศาล ทนาย อัยการ ตำรวจ องค์กรที่ทำงานโดยไม่แสวงหากำไร และสาธารณชนมีส่วนสำคัญอย่างมากในการที่จะทำให้เป้าหมายนี้เป็นจริง ทุกภาคส่วนควรร่วมมือร่วมใจกันและทำงานประสานกันเพื่อให้การดำเนินการตามแนวทางกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นไปได้อย่างราบรื่น หนังสือคู่มือเล่มนี้จึงมีความสำคัญยิ่งยวด เปรียบดั่งเมล็ดพันธุ์ที่บรรจุข้อมูลความรู้อยู่ข้างใน โดยมีปัจจัยในการเจริญเติบโตงอกงามเป็นการสื่อสารและการประยุกต์ใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งโดยรัฐบาล นักนโยบาย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบยุติธรรม และทุกภาคส่วนของสังคม
บทความชิ้นนี้กลั่นกรองมาจากงานสัมมนาออนไลน์ Launch Webinar: Handbook on Restorative Justice Programmes (Second Edition) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2020 ที่จัดขึ้นโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC) โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ได้แก่
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม
คุณวงศ์เทพ อรรถไกวัลวที ที่ปรึกษาพิเศษ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย
คุณ Jee Aei Lee Crime Prevention and Criminal Justice Officer, Justice Section, UNODC
คุณ Yvon Dandurand Fellow and Senior Associate at the International Center for Criminal Law Reform and Criminal Justice Policy
คุณ Marilou Reeves Counsel, Criminal Law Policy Section, Department of Justice Canada
คุณ Tim Chapman Chair of the Board, European Forum for Restorative Justice
สามารถรับชมวิดิโอเสวนาย้อนหลังได้ที่
อ่านสรุปผลการเสวนา Launch Webinar of the Handbook on Restorative Justice Programmes