ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม
ข้อกำหนดกรุงเทพ หรือข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง เป็นมาตรฐานสหประชาชาติฉบับแรกในโลกที่มุ่งดูแลความต้องการเฉพาะของเพศหญิง 
 
 
ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ได้รับรองข้อกำหนดนี้ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553 และหลายประเทศทั่วโลกได้นำข้อกำหนดกรุงเทพไปใช้เป็นแนวทางเพื่อการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง ครอบคลุมในมิติต่างๆ เช่น อนามัยเจริญพันธุ์ สุขภาพเพศหญิง การดูแลเด็กติดผู้ต้องขัง รวมทั้งส่งเสริมการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขัง โดยคำนึงถึงลักษณะความผิดที่ไม่รุนแรง และภาระการดูแลครอบครัวที่ผู้หญิงมี ไปจนถึงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย และภายหลังการปล่อยตัว เพื่อสนับสนุนการลดการกระทำผิดซ้ำ และการกลับคืนสู่สังคมอย่างยั่งยืน ดังตัวอย่างโครงการจากทั่วโลก 
 
 
นอกจากนี้ เพื่อให้ข้อกำหนดกรุงเทพมีความทันสมัยและเท่าทันสถานการณ์ของผู้ต้องขังในยุคปัจจุบัน ในปี 2567 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จะร่วมมือกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) จัดประชุมคณะทำงานระดับภูมิภาคขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีจากประเทศและภูมิภาคต่างๆ อันจะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปใช้เพื่อสนองตอบต่อความต้องการเฉพาะด้านของผู้หญิงในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต
 
 

 

ไทย

เรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ

 

TIJ ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ดำเนินโครงการเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 – 2563 เพื่อสนับสนุนให้เรือนจำและทัณฑสถานในประเทศไทย นำข้อกำหนดกรุงเทพไปใช้ เสริมสร้างความรู้และเพิ่มศักยภาพของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เกี่ยวกับมาตรฐานระหว่างประเทศด้านการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง  และคัดเลือกเรือนจำและทัณฑสถานที่มีแนวทางปฏิบัติสอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพให้เป็นเรือนจำตัวอย่าง และเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับเรือนจำอื่นๆ โดยที่ผ่านมามีเรือนจำและทัณฑสถานผ่านการประเมินรวม 17 แห่ง ดูรายละเอียดได้ที่นี่ https://www.tijbangkokrules.org/th/good-practice-in-asean

 

 

 

เอสโตเนีย

สนับสนุนการใช้โทษแทนการคุมขังต่อผู้หญิงที่ใช้ยาเสพติด (ข้อกำหนดกรุงเทพ ข้อที่ 61)

 

โครงการ SUTIK ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2561 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำคดียาเสพติดสามารถติดต่อประสานขอความช่วยเหลือแก่ผู้หญิงที่กระทำผิดคดียาเสพติด เป็นทางเลือกแทนการคุมขัง โดยโครงการนี้จัดให้มีหมายเลขโทรศัพท์ฮอทไลน์ตลอด 24 ชม. เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการส่งต่อผู้กระทำผิดหญิงในคดียาเสพติด และจัดหาที่ปรึกษาและอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือทางด้านสุขภาพและการกลับคืนสู่สังคมแก่ผู้ใช้ยาเสพติด ตามแนวทางของการลดภัยอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Harm Reduction)

 

จากการดำเนินโครงการพบว่า ผู้หญิงที่ร่วมโครงการมีแนวโน้มจะปฏิสัมพันธ์กับโครงการมากกว่าผู้ชาย และความสำเร็จนี้ยังผลให้มีการขยายโครงการไปยังเขตพื้นที่อื่นในประเทศ รวมทั้งจัดทำโครงการสำหรับผู้กระทำผิดซ้ำที่มีประวัติการใช้ยาเสพติดด้วย

 

 

เวียดนาม

เลื่อนการพิจารณาบทลงโทษแก่ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือมีบุตรที่อายุน้อย (ข้อกำหนดกรุงเทพ ข้อที่ 61)

 

ตามกฎหมายอาญา 2015 มาตราที่ 67-68 การพิจารณาบทลงโทษแก่ผู้กระทำผิดหญิงสามารถเลื่อนไปได้ หากพบว่าผู้กระทำผิดหญิงนั้นตั้งครรภ์หรือมีบุตรที่มีอายุต่ำกว่า 3 ขวบ นอกจากนี้ หากผู้กระทำผิดหญิงนั้นเป็นผู้เดียวที่หาเลี้ยงดูครอบครัวและการต้องโทษคุมขังทำให้ครอบครัวต้องประสบความยากลำบาก สามารถเลื่อนการพิจารณาบทลงโทษออกไปได้อีก 1 ปี ยกเว้นการกระทำผิดฐานภัยความมั่นคงต่อประเทศหรืออาชญากรรมที่มีโทษรุนแรง

 

 

เคนย่า

การเสริมสร้างทักษะทางเทคโนโลยีแก่ผู้กระทำผิดหญิง (ข้อกำหนดกรุงเทพ ข้อ 42)

 

Change Hub Innovation Centre เป็นโครงการฟื้นฟูผู้กระทำผิดหญิงที่เรือนจำ Langata ที่กรุงไนโรบี จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2559 เพื่อสอนให้ผู้กระทำผิดหญิงสามารถเขียนโค้ด ออกแบบเว็บไซต์ ดูแลและซ่อมแซมอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และเครื่องพิมพ์สามมิติได้ โครงการนี้มุ่งออกแบบเพื่อให้ผู้กระทำผิดหญิงสามารถเข้าถึงเศรฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโตขึ้น ภายหลังจากได้รับการปล่อยตัว โดยไม่จำกัดโอกาสทางการศึกษาของพวกเธอ ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องเข้าเรียน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และอาจได้รับโอกาสเป็นผู้ช่วยสอนสำหรับคอร์สเรียนกลุ่มต่อไป โดยได้รับเงินค่าจ้างด้วย

 

 

เอกวาดอร์

นำการตั้งครรภ์และความจำเป็นในการให้นมบุตรเป็นปัจจัยร่วมในการพิจารณาบทลงโทษ (ข้อกำหนดกรุงเทพ ข้อที่ 61)

 

กฎหมายเอกวาดอร์ห้ามจำคุกผู้ตั้งครรภ์จนกว่าจะครบ 90 วันหลังคลอด โดยอาจนำบทลงโทษคุมขังในบ้านมาใช้เป็นทางเลือกแทนการจำคุกได้ ส่วนผู้ที่ต้องให้นมบุตรสามารถรับโทษและอาศัยอยู่ร่วมกับบุตรได้ในสถานคุมขังที่มีความปลอดภัยต่ำ

 

นอกจากนี้กฎหมายอาญายังเปิดให้ผู้พิพากษาสามารถนำปัจจัยด้านสถานะทางเศรษฐกิจ ร่างกาย และจิตใจ มาประกอบการพิจารณาคดีได้ โดยเฉพาะคดีที่เกิดจากความกลัวหรืออยู่ภายใต้การข่มขู่ที่จะถูกกระทำรุนแรง การกระทำผิดเพื่อหลีกหนีจากความยากจน โดยไม่มีเหตุรุนแรง การกระทำผิดที่เกิดจากความกดดันทางเศรษฐกิจ หากผู้พิพากษาพบว่ามีเหตุปัจจัยอย่างน้อย 2 ประการที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดก็สามารถพิจารณาคดีให้ลดโทษให้ผู้กระทำผิดได้กึ่งหนึ่ง เว้นแต่มีเหตุที่เป็นอื่น

 

อ้างอิงจาก 
Penal Reform Internation. ​Bangkok Rules Map. https://www.penalreform.org/issues/women/bangkok-rules/bangkok-rules-map/ 

Back

Most Viewed

chat