ขับเคลื่อน “ข้อกำหนดแมนเดลา” เต็มรูปแบบครั้งแรกในโลก ที่เรือนจำพิเศษธนบุรี
กรุงเทพฯ – 18 กรกฎาคม 2560 – เนื่องในโอกาสวัน เนลสัน แมนเดลา 18 กรกฎาคม กรมราชทัณฑ์กระทรวงยุติธรรม ผสานความร่วมมือกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ประกาศขับเคลื่อนการนำข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) ซึ่งเป็นข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติ ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง สู่การปฏิบัติเต็มรูปแบบเป็นแห่งแรกในโลก โดยเรือนจำพิเศษธนบุรีเป็นเรือนจำนำร่อง ตั้งเป้าหมายเป็นเรือนจำต้นแบบในพ.ศ. 2561 โดยมาตรฐานการดูแลผู้ต้องขังด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังด้วยความเท่าเทียม นอกจากจะเป็นสิ่งที่สมควรกระทำแล้ว ยังจะมีส่วนเอื้ออำนวยต่อการกลับไปใช้ชีวิตในสังคมหลังพ้นโทษ และช่วยลดปัญหาการกลับมากระทำความผิดซ้ำอีกทางหนึ่ง
แม้ว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยจะประสบปัญหาแออัด จากจำนวนผู้ต้องขังที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันมีจำนวนผู้ต้องขังมากกว่า 286,000 คน (เพิ่มขึ้นอัตราร้อยละ 55 ของจำนวนผู้ต้องขังในปี พ.ศ. 2551) โดยที่ความจุเต็มที่รองรับได้ 245,000 คน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการบริหารจัดการ แต่กรมราชทัณฑ์ในฐานะ หน่วยงานปลายน้ำในกระบวนการยุติธรรม ก็ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาปรับปรุงระบบการบริหารจัดการเรือนจำ ให้ได้มาตรฐานมาโดยตลอด และล่าสุดจะได้ริเริ่มขับเคลื่อนนำข้อกำหนดแมนเดลา ซึ่งเป็นมาตรฐานโลกมาปรับใช้ อย่างเป็นทางการในโครงการนำร่อง
ข้อกำหนดแมนเดลา และความเชื่อมโยงกับประเทศไทย
ข้อกำหนดแมนเดลา คือข้อกำหนดแห่งสหประชาชาติที่วางมาตรฐานขั้นต่ำในการบริหารจัดการเรือนจำที่ดี รวมทั้งวางมาตรฐานให้มีการเคารพสิทธิของผู้ต้องขัง มีหลักการพื้นฐาน 5 ประการคือ 1) ผู้ต้องขังพึงได้รับการปฏิบัติ ด้วยความเคารพต่อศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ 2) ห้ามการทรมานหรือการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังด้วยความทารุณ 3) ให้ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังโดยคำนึงถึงความต้องการขั้นพื้นฐานโดยไม่เลือกปฏิบัติ 4) วัตถุประสงค์ของเรือนจำ คือการคุ้มครองสังคมให้ปลอดภัยและลดการกระทำผิดซ้ำ และ 5) ผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่ ผู้ให้บริการด้านต่าง ๆ ในเรือนจำและผู้เข้าเยี่ยม จะต้องได้รับความปลอดภัยตลอดเวลา ก่อนหน้าที่จะมีข้อกำหนดแมนเดลา ประเทศต่างๆ ได้ใช้ “ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง” (Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoner: SMR) ซึ่งจัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2498 ในเดือนธันวาคม 2558 ประเทศสมาชิกสมัชชาแห่งสหประชาชาติ จำนวนหนึ่ง มีความคิดที่จะปรับปรุง SMR ให้เหมาะสมกับสภาพสังคม โดยยกระดับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 16 ประเทศ และเป็นหนึ่งใน 4 ประเทศแกนนำ ที่ร่วมสนับสนุนการร่างข้อกำหนดฉบับปรับปรุงใหม่ภายใต้ชื่อข้อกำหนดแมนเดลา และผลักดันข้อกำหนดดังกล่าวให้ได้รับ การลงมติเห็นชอบจากสมัชชาแห่งสหประชาชาติ ทั้งนี้ ชื่อข้อกำหนดดังกล่าวตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเกียรติแก่นายเนลสัน แมนเดลา อดีตประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้ ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำถึง 27 ปี ระหว่างการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและ ความเท่าเทียม
การขับเคลื่อนโดยกรมราชทัณฑ์
กรมราชทัณฑ์ เตรียมนำข้อกำหนดแมนเดลา มาปรับใช้อย่างเป็นทางการเพื่อยกระดับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้ สอดคล้องกับมาตรฐานสากลโดยประสานความร่วมมือกับ TIJ ในด้านองค์ความรู้ ในส่วนการประเมินผลจะเป็นไปตาม หลักเกณฑ์ Assessing compliance with the Nelson Mandela Rules: A checklist for internal inspection mechanisms ของสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปราบอาชญากรรม แห่งสหประชาชาติ (UNODC)
นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า “กรมราชทัณฑ์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการบริหาร จัดการเรือนจำให้ได้มาตรฐานมาโดยตลอด โดยก่อนหน้านี้ได้สนับสนุนกระบวนการปรับปรุงแก้ไขตามข้อกำหนด แมนเดลามาแล้วบางส่วน และมุ่งมั่นที่จะอนุวัติข้อกำหนดแมนเดลาอย่างเต็มรูปแบบต่อไป เรือนจำพิเศษธนบุรีถูกเลือก ให้เป็นเรือนจำนำร่อง เพราะมีความพร้อมหลายประการ และหากสามารถยกระดับมาตรฐานการจัดการได้เป็นผลสำเร็จ ก็จะเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ในการขยายการปฏิบัติตามข้อกำหนดแมนเดลาไปยังเรือนจำและทัณฑสถานแห่งอื่น ๆ”
ภายใต้แนวทางข้อกำหนดแมนเดลา กรมราชทัณฑ์ได้มีการยกระดับการปฏิบัติงานด้วยแผนการบริหารโทษ (Sentence Plan) ทั้งระบบมาแล้วก่อนหน้านี้ ตั้งแต่การจำแนกลักษณะผู้ต้องขังให้มีความเหมาะสม การควบคุม ผู้ต้องขังอย่างเป็นระบบและมีมนุษยธรรม การพัฒนาพฤตินิสัย โดยอาศัยการบูรณาการข้อมูลพฤติการณ์ของผู้ต้องขัง และการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย โดยกรมราชทัณฑ์ได้ก่อสร้างศูนย์เตรียมความพร้อมก่อนปล่อยภายในเรือนจำ และทัณฑสถานเปิดจำนวน 17 แห่งทั่วประเทศ และได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการดำเนินการของศูนย์เตรียมความพร้อมดังกล่าว
ด้าน นายยศพนต์ สุธรรม ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรี กล่าวว่า “ในฐานะผู้ปฏิบัติงานให้มีความสอดคล้อง กับข้อกำหนดแมนเดลา ทางเรือนจำได้มีการแบ่งการทำงานเป็น 7 ระยะ ได้แก่ 1) การวางแผนจัดทำโครงการ 2) การเตรียมการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาเรือนจำตามข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติ 3) การประกาศขับเคลื่อนเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดแมนเดลา 4) การนำข้อกำหนดแมน เดลามาปฏิบัติ ให้ได้ตามมาตรฐาน 5) การตรวจประเมินเรือนจำ 6) การสรุปและประเมินผล และ 7) การขยายผล สู่เรือนจำและทัณฑสถานอื่น ๆ โดยตามแผนงานที่วางไว้ คาดว่าจะสามารถบรรลุข้อกำหนดต่างๆ และผ่านการประเมินเป็นเรือนจำต้นแบบภายในพ.ศ. 2561
TIJ กับข้อกำหนดแมนเดลา: จากการผลักดันเชิงนโยบายสู่รูปธรรม
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “TIJ ในฐานะองค์กรด้านวิชาการด้านกระบวนการยุติธรรม และหนึ่งในสถาบันเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรม และความยุติธรรมทางอาญา (United Nations Crime Prevention and Criminal Justice Programme Network of Institutes : PNIs) ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง ในการถ่ายทอดองค์ความรู้สากลสู่การปฏิบัติ โดยเข้าร่วมทำงานเชิงนโยบายในเวทีโลก และการทำงานวิจัย การให้คำปรึกษาเชิงนโยบาย และการจัดการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ปฏิบัติงานในประเทศไทยและระดับภูมิภาค ทางด้านมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด และผู้ต้องขัง TIJ ได้มีส่วนร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง”
ในปีที่ผ่านมา TIJ ร่วมกับองค์กรการปฏิรูปการลงโทษสากล (Penal Reform International - PRI) จัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการอนุวัติข้อกำหนดแมนเดลา (The Southeast Asia Regional Consultation on the Implementation of the Mandela Rules) เพื่อให้ผู้แทนระดับสูงจากกรมราชทัณฑ์และเรือนจำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ร่วมกันหารืออุปสรรคและข้อท้าทายต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิด ในการนำข้อกำหนดแมนเดลามาสู่การปฏิบัติ รวมถึงร่วมกันพิจารณาแนวทางการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในการอนุวัติ ข้อกำหนดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารจัดการเรือนจำ
นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำคู่มือฉบับย่อสำหรับข้อกำหนดแมนเดลาฉบับภาษาไทย ซึ่งแปลจากต้นฉบับของ Penal Reform International (PRI) เพื่อเป็นแนวทางแก่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ในการบริหารจัดการเรือนจำ ให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำตามข้อกำหนดแมนเดลา และล่าสุด TIJ ได้ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ในการขับเคลื่อน ข้อกำหนดแมนเดลาสู่การปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกในโลก โดยมีบทบาทในการเป็นที่ปรึกษาเชิงนโยบายและช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เรือนจำพิเศษธนบุรี ผลักดันการสร้างเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนด แมนเดลาให้เป็นจริง
“โครงการนำร่องเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดแมนเดลาเป็นโครงการที่เกิดขึ้นต่อจากโครงการเรือนจำต้นแบบ ตามข้อกำหนดกรุงเทพหรือ Bangkok Rules (ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง) ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มโดยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และผลักดันเข้าเป็นข้อกำหนดสากลขององค์การสหประชาชาติโดย TIJ ในการนี้ TIJ และกรมราชทัณฑ์ได้ร่วมกันนำข้อกำหนดกรุงเทพมาปฏิบัติตั้งแต่ปี 2558 มีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ในหมู่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ สนับสนุนให้เรือนจำและทัณฑสถานหญิง คำนึงถึงความแตกต่างทางเพศสภาพในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งรวมถึงการตั้งครรภ์ การคลอดบุตรและการเลี้ยงดูทารกแรกเกิดในการบริหารจัดการเรือนจำและการปฏิบัติ ต่อผู้ต้องขังและผู้กระทำผิดหญิง ระหว่างปี 2558-2559 มีเรือนจำและทัณฑสถานที่ผ่านการประเมินให้เป็น เรือนจำต้นแบบแล้ว 6 แห่ง ได้แก่ เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทัณฑสถานหญิง เชียงใหม่ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง ทัณฑสถานหญิงชลบุรี และเรือนจำกลางสมุทรสงคราม” ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย