การประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ (High-level meeting of the General Assembly on the Global Plan of Action to combat Trafficking in Persons) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2556 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปิดโอกาสให้มีการหารือในเชิงลึกเกี่ยวกับการอนุวัติแผนปฏิบัติการสากลของสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ (United Nations Global Plan of Action against Trafficking in Persons) ตลอดจนติดตามและประเมินผลสำเร็จ รับทราบอุปสรรคและข้อท้าทายต่างๆ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการค้ามนุษย์
ตามข้อมติสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยการยกระดับความร่วมมือในความพยายามต่อต้านการค้ามนุษย์ (Improving the coordination of efforts against trafficking in persons)
สมัชชาสหประชาชาติได้รับรองแผนปฏิบัติการสากลของสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 โดยแผนนี้มีเนื้อหาหลักในเรื่อง การป้องกันและปราบปรามกระบวนการค้ามนุษย์การคุ้มครองและช่วยเหลือเหยื่อในกระบวนการค้ามนุษย์ กระบวนการดำเนินคดีค้ามนุษย์และความร่วมมือในระดับชาติเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ อีกทั้งในแผนยังกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนสหประชาชาติเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (UN Voluntary Trust Fund for Victims of Trafficking in Person especially Women and Children) เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย และสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่เสนอโดยรัฐบาลและองค์กรเอกชน รวมถึงการส่งเสริมบทบาทของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ในการติดตามผลการดำเนินงานในประเด็นดังกล่าว สมัชชาสหประชาชาติจึงเชิญผู้แทนระดับสูงของประเทศสมาชิกเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
ในการนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้เสด็จเข้าร่วมประชุมโดยมีคณะผู้แทนไทยและผู้แทน สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) โดยเอกอัครราชทูตอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ และ นายวงศ์เทพ อรรถไกวัลวที ผู้อำนวยการสำนักกิจการต่างประเทศและการประสานความร่วมมือ ตามเสด็จด้วย
การประชุมระดับสูงดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับเนื่องการค้ามนุษย์ซึ่งมีความเกี่ยวข้องและสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของ TIJ ในบริบทเรื่องอาชญากรรมและการพัฒนาการเข้าร่วมประชุมพร้อมคณะผู้แทนไทยจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมบทบาทและยุทธศาสตร์การดำเนินงานของสถาบันฯ ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น TIJ จึงมีความยินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้และหวังว่าจะได้ประสานความร่วมมือกับ UNODC และหน่วยงานอื่นของสหประชาชาติในงานด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุมติดตามได้ที่ http://www.un.org/en/ga/president/67/issues/trafficking/trafficking.shtml
แก้ไขครั้งล่าสุด : 9 กันยายน 2556