เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2556 รัฐบาลโดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Uniting for the future : Learning from each other′s experiences หรือ “ผนึกกำลังสู่อนาคต : เรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์ ” โดยเชิญอดีตผู้นำประเทศที่มีประสบการณ์ด้านการส่งเสริมประชาธิปไตย สันติภาพ และความสมานฉันท์ ได้แก่ นายโทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นายมาร์ตี อาห์ติซารี อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เมื่อปี 2551 และนางพริซิลลา เฮย์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ขึ้นเวทีแลกเปลี่ยนและให้มุมมอง รวมถึงกรณีศึกษาการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจากประเทศอื่น โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะรัฐมาตรี ผู้แทนพรรคการเมือง นักวิชาการ รวมถึงผู้แทนองค์การระหว่างประเทศและผู้แทนสถานทูตต่างๆ ในไทย เข้าร่วมรับฟังการปาฐกถาดังกล่าวด้วย
สาระสำคัญของการปาฐกถาพิเศษในรอบเช้า คือ นายโทนี่ แบลร์ ได้แนะนำหลักการ 5 ประการในการสร้างความปรองดอง คือ
- การทำให้ความสมานฉันท์เป็นการแบ่งปันโอกาส ไม่ใช่การแบ่งแยก
- การไม่ลืมอดีตแต่ต้องตระหนักถึงการสร้างอนาคตร่วมกันเพื่อไม่ให้เรื่องในอดีตเกิดขึ้นซ้ำอีก
- การแสวงหากรอบเพื่อให้การทำงานร่วมกันเดินต่อไปได้
- การสร้างสภาวะแวดล้อมให้มีประชาธิปไตยที่แท้จริง มีหลักนิติธรรม
- รัฐบาลมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ขจัดการทุจริตให้เป็นความหวังของประชาชนต่อไปได้
ขณะที่นายมาร์ตี อาห์ติซารี เน้นให้ความสำคัญต่อกระบวนการปรองดอง 3 ลักษณะ คือ
- กระบวนการเสริมสร้างความเชื่อใจซึ่งกันและกัน
- การที่ทั้งสองฝ่ายต้องมีความต้องการความปรองดองอย่างแท้จริง
- ลักษณะการเปิดกว้างให้มากที่สุด ให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการผลักดันประเทศไปในทิศทางที่ถูกต้อง และสุดท้ายคือ นางพริซิลลา เฮย์เนอร์ ได้ชี้ให้เห็นว่าการปรองดองที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ต้องไม่มีการคะยั้นคะยอ หรือใช้เป็นเครื่องมือปกปิดความผิดที่ผ่านมา และไม่ใช่เรื่องการลืมอดีตแต่ต้องเป็นการทำความเข้าใจแก่นของปัญหาที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง
ในช่วงบ่ายมีสาระสำคัญของการปาฐกถาพิเศษ คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนและความปรองดองจากสวีเดน ได้เน้นย้ำถึงความสำเร็จที่ทำให้สวีเดนก้าวข้ามความขัดแย้งมาจนถึงปัจจุบันได้ นั่นคือการสร้างรัฐสวัสดิการ ที่ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน รวมถึงการกระจายรายได้และการสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศ ซึ่งหัวใจสำคัญของรัฐสวัสดิการก็คือประชาธิปไตยและความมั่งคั่ง ที่ต้องเป็นสิ่งที่ทำควบคู่กันไป ส่วนศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเลือกตั้งที่ถือเป็นกลไกหลักอย่างหนึ่ง ในการแก้ไขความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง ดังนั้นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น จึงควรอยู่ภายใต้หลักนิติธรรม หน่วยงานที่จัดการเลือกตั้งต้องเป็นกลาง ประชาชนทุกคนควรมีสิทธิ์เลือกตั้งอย่างเท่าเทียม เงินทุนที่ใช้ในการเลือกตั้งต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และทุกภาคส่วนในสังคมต้องสร้างความมั่นคงร่วมกัน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วกระบวนการสร้างความปรองดองจะต้องใช้เวลาแม้จะนานแต่ก็ต้องยอมรับและอดทน ด้านนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และอดีตกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติหรือคอป. ก็กล่าวยอมรับว่า เป็นความจริงที่คอป. ถูกตั้งขึ้นโดยคู่ขัดแย้ง แต่คอป. ก็พยายามพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นกลางมาโดยตลอด โดยตั้งเป้าหมายว่าจะไม่ให้เกิดความรุนแรงจากความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศขึ้นมาอีก เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และที่สำคัญที่สุด คือมีแนวความคิดที่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะตั้งหน่วยงานหรือเจ้าภาพขึ้นมาสานงานต่อจากคอป. แต่หน่วยงานนั้นจะต้องเป็นอิสระ และทำงานจริง แต่ท้ายที่สุดนายกิตติพงษ์มองว่า ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติของสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งประเทศไทยต้องพลิกวิกฤตินี้เป็นโอกาส และใช้สติไตร่ตรองปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประเทศเดินต่อไปได้ในอนาคต
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาความแตกแยกทางสังคมและความคิด อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลและองค์กรทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ ดังนั้นการที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยตระหนักว่าปัญหาความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขในฐานะที่เป็นประเด็นหนึ่งที่รัฐให้ความสนใจ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับปัญหานี้จึงเป็นการเพิ่มองค์ความรู้เรื่องความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย สธท. จึงผลักดันให้มีการพัฒนาศักยภาพการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคในสาขาความยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน สันติภาพ และความมั่นคง โดยถือเป็นการทำตามแผนงานหนึ่งของสธท.
แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์มติชน วันอังคารที่ 3 กันยายน 2556 ฉบับที่ 12959 และ http://prachatai.com/journal/2010/11/31944
แก้ไขล่าสุด : 9 ตุลาคม 2556