ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

TIJ Public Forum เวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 10 (Part 2)
 

 

โลกนี้จะเป็นอย่างไร หากมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่เรามองไม่เห็นพวกเขา หรือ “เด็กที่ถูกลืม”?

 

 

ดร.พัชชา เจิงกลิ่นจันทร์ รองคณบดี ฝ่ายการนักศึกษาและการเรียนรู้ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งคำถามก่อนเข้าสู่การบรรยายในหัวข้อ “การจัดสวัสดิการทางสังคมสำหรับเด็กและเยาวชน” ในเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 10 (The 10th TIJ Public Forum on the Rule of Law and Sustainable Development: Resilient Leaders in Action) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา

 

 

โดย ดร.พัชชา เริ่มเล่าถึงเด็ก 3 กลุ่ม ที่เรามักจะหลงลืม ว่าประกอบด้วย กลุ่มแรก คือ เด็กที่มีปัญหาการใช้ความรุนแรง พฤติกรรม การใช้สารเสพติด หรือ การเป็นอาชญากร ซึ่งสังคมและเรามักจะคาดหวังว่าพวกเขาจะควบคุมตนเองได้ แต่จริง ๆ แล้ว เด็กกลุ่มนี้ต้องการได้รับการคุ้มครอง กลุ่มที่สอง คือ เด็กทั่วไป ที่มีรายละเอียดของปัญหา หรือ มีรายละเอียดชีวิตที่แตกต่างกัน และเรามักจะหลงลืม เช่น เด็กขายพวงมาลัย ที่แม้ว่าเราจะเห็นทุกวัน แต่เราไม่เคยทราบว่า รายละเอียดชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไร และอะไรทำให้พวกเขาต้องมาใช้ชีวิตแบบนี้ และ กลุ่มที่สาม คือ เด็กที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับสภาพจิตใจ การปรับตัว การเข้าสังคม เด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ และเรามักลืมไปว่า เด็กทุกคนสามารถที่จะพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพได้ หลายคนไม่กล้าแตะปัญหา ไม่กล้าเข้าไปเยียวยาฟื้นฟู ซึ่งมันทำให้ปัญหาถูกหมักหมม

 

 

ดร.พัชชา ยังชี้สถิติและตัวเลขน่าสนใจที่สะท้อนถึงสถานการณ์ของเด็กในปัจจุบันว่า เด็กหลายคนไม่ได้รับการดูแล เยียวยา แก้ไข ฟื้นฟู ได้อย่างเหมาะสม และหลายคนก็ถูกละเมิด และ กระทำความรุนแรงทั้งที่รู้ และ ไม่รู้ตัว โดยพบว่า

 

 

  • ปัจจุบันมีเด็กทั่วโลกจำนวน 2 พันล้านคน และในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยใน 2 พันล้านคน มีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 127 ล้านคน 
  • 153 ล้านคน เป็นเด็กกำพร้า ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ต้องได้รับการดูแล อุปการะ
  • 263 ล้านคน เป็นเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ จากสถิติชี้ให้เห็นว่าเด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ นอกจากจะอยู่ในสภาพแวดล้อม เช่น ภัยพิบัติ สงคราม ส่วนหนึ่งเป็นเด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ และขาดโอกาสทางการศึกษา
  • 168 ล้านคน เป็นแรงงานเด็ก เด็กกลุ่มนี้มีอายุต่ำกว่า 15 ปี และต้องทำงานประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นงานที่มีความเสี่ยง ส่งผลต่อการพัฒนาตามช่วงวัยของเด็ก
  • 1 พันล้านคน เป็นเด็กที่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง เช่น ความรุนแรงทางร่างกาย จิตใจ ทางเพศ และ การปล่อยปละละเลย เช่น การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม ซึ่งกว่าที่ปัญหาเหล่านี้จะไปถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบ ปัญหาก็เกิดขึ้นจนเรื้อรังไปแล้ว
  • นอกจากนี้ยังพบว่า 3 ใน 4 ของเด็กทั่วโลก เคยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง เช่น ความรุนแรงที่เกิดจากคำพูดที่ทำให้เด็กน้อยใจ ไม่มีตัวตน การหลงลืม ทอดทิ้ง เหล่านี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความรุนแรงเช่นกัน

 

 

เมื่อหันกลับมามองสถานการณ์เด็กในประเทศไทย จะพบว่า มีเด็กและเยาวชน (ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 25 ปี) รวม 21 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งดัชนีชี้วัดความเปราะบาง (The Child Vulnerability Index หรือ CVI) ได้วัดโอกาสของเด็กที่จะกลายเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง พบว่า เด็กไทยที่มีโอกาสจะเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 42.2 ทั่วประเทศ เด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ประสบความยากลำบาก บางรายต้องได้รับการคุ้มครอง ทำให้เด็กหลายคนต้องไปอยู่ในสถานคุ้มครองเด็ก และ สถานรองรับ โดยใน 5 ปีที่ผ่านมา มีการสำรวจพบว่า มีเด็กเข้าไปอยู่ที่สถานรองรับของรัฐ 30 แห่งทั่วประเทศ จำนวนถึง 29,054 คน

 

 

“เด็กกลุ่มนี้ ไม่มีโอกาสตัดอะไรออกจากชีวิต แต่ความเปราะบางทำให้สิ่งสำคัญในชีวิตพร่องไปเรื่อย ๆ” ดร.พัชชา กล่าว

 

 

เมื่อเด็กจำนวนมากต้องเข้าไปสู่สถานรองรับแทนที่จะได้อยู่กับครอบครัว ทำให้ดร.พัชชา ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ สวัสดิการสำหรับเด็กอื่น ๆ ที่ได้รับการยอมรับ คือ การเลี้ยงดูทดแทน (Alternative Care) ซึ่งแบ่งเป็นหลายรูปแบบ เช่น สถานแรกรับ (Shelter) ที่มีแพร่หลายทั้งในไทยและต่างประเทศ, Group Home คือ บ้านพักที่มีความยืดหยุ่น ใกล้เคียงครอบครัวมาก จำนวนเด็กไม่มากเท่าสถานแรกรับ มีผู้ดูแล, Foster Care คือ ครอบครัวอุปถัมภ์ ทำให้เด็กได้เติบโตในครอบครัวชั่วคราว ทำให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ อยู่ในชุมชนเดียวกันกับครอบครัวอุปถัมภ์ มีโอกาสทางสังคมมาก, Transition House คือ บ้านที่เด็กสามารถทดลองใช้ชีวิตของตัวเองได้ มีความยืดหยุ่น เหมือนบ้านที่แท้จริง เด็กสามารถออกไปทดลองประกอบอาชีพได้ และ Adoption Family หรือ ครอบครัวบุญธรรม ซึ่งจากข้อมูลทั่วโลก พบว่า มีเพียง 88 ประเทศที่มีบริการครอบครัวอุปถัมภ์ และมีเด็กเปราะบางเพียง 25% เท่านั้นที่เข้าถึงบริการนี้

 

 

เมื่อเด็กต้องอยู่ในสถานรองรับในระยะยาว เราสามารถทำอะไรได้บ้าง ?

  1. การสร้างบรรยากาศสถานรองรับให้เป็นครอบครัว หรือ ที่เรียกว่า การเปลี่ยน House ให้เป็น Home ทำให้เด็กรู้สึกถึงความผูกพัน และ ทำให้เขารู้สึกถึงความมีตัวตน
  2. การจัดทำแผนพัฒนารายบุคคล (Individual Development Plan: IDP) โดยวางแผนร่วมกับทีมสหวิชาชีพ เด็กจะต้องได้รับการเยียวยา อาจจะมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือ การสนับสนุนสิ่งที่เด็กต้องการทำ เช่น การฝึกให้พวกเขาได้เล่นดนตรี หรือทำอาหาร
  3. การสร้างบรรยากาศทางสังคมที่เป็นมิตรกับเด็ก
  4. เตรียมความพร้อมเด็กก่อนกลับสู่ครอบครัวหรือออกสู่สังคม โดยการเตรียมสภาพแวดล้อมของครอบครัว ให้เอื้อให้เด็กได้ออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้อย่างปกติสุข
  5. การสร้างระบบติดตามและสนับสนุนทางจิตสังคมหลังออกจากสถานรองรับ จะทำโดยการเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กได้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข

 

 

คำถามต่อมา คือ เด็กที่เข้าไปอยู่ในสถานรองรับของรัฐ จำนวน 29,054 คน เมื่อออกจากสถานรองรับของรัฐแล้ว พวกเขาไปอยู่ที่ไหน ประเด็นนี้ ดร.พัชชาได้ นำเสนอข้อมูลจากรายงานสถานการณ์เด็กและเยาวชนประจำปีงบประมาณ 2563 พบว่า เด็กส่วนใหญ่กลับสู่ครอบครัว บางส่วนอยู่ในครอบครัวบุญธรรม แต่ก็มีเด็กบางส่วนที่กลับมาอยู่ที่สถานคุ้มครองหรือสถานพินิจแม้จะได้ออกไปอยู่กับครอบครัวแล้วก็ตาม

 

 

ดังนั้น หากไม่อยากให้เด็กกลุ่มนี้กลับมาอยู่ที่สถานคุ้มครองหรือสถานพินิจอีกครั้ง ดร.พัชชา เสนอว่า อยากให้ผู้เกี่ยวข้องร่วมกันทำสวัสดิการสำหรับเด็กทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมาแล้วให้ดีที่สุด

 

 

โครงการ “Finding the Invisible Child: ONE LOVE Project” กับ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ระยอง

 

 

คุณคณพร ฮัทชิสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เกรย์ (ประเทศไทย) จำกัด และหนึ่งในผู้เข้าร่วมหลักสูตร RoLD 2020: The Resilient Leader กลุ่ม I เล่าถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ระยอง ว่า “สถานคุ้มครองฯ ที่นี่มีเด็ก จำนวน 4,177 คน เด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้ง ถูกใช้ความรุนแรง ไม่ได้รับความรัก ไม่มีความหวังในชีวิต เมื่อไม่ได้รับความรักและไม่มีความหวังในชีวิต ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม พวกเขาก็แสดงอาการก้าวร้าว หรือ ก่ออาชญากรรม กลายเป็น Pain Cycle หรือวงจรของความเจ็บปวด”

 

 

แต่เมื่อได้ลงไปศึกษาและพูดคุยกับเด็กกลุ่มนี้จริง ๆ กลับพบว่า เด็กหลายคนมีความหวัง อยากมีอาชีพ และอยากทำหลายอย่างในชีวิต เพียงแต่พวกเขาไม่มีโอกาส ดังที่เด็ก ๆ กลุ่มนี้สะท้อนมาว่า “หนูไม่ค่อยได้รับโอกาส แต่พอมาอยู่ที่นั่งได้เรียน ได้ทำหลายอย่างที่อยากทำ” หรือ “ผมอยากออมเงิน เพื่อเอาเงินไปช่วยเหลือคนอื่น” ขณะที่กลุ่มพ่อบ้านแม่บ้านก็มีความหวังให้โครงการนี้สำเร็จ และ ยังมีความห่วงเด็กกลุ่มนี้หากต้องไปใช้ชีวิตข้างนอกโดยปราศจากการดูแล เยียวยา ฟื้นฟูที่ดี

 

 

โครงการ ONE LOVE Project จึงเกิดขึ้น โดยไม่ใช่การให้เพียงแค่หนึ่งครั้ง แต่จะทำให้เกิด life time growth โดยการดึงศักยภาพในตัวเด็กกลุ่มนี้ออกมา ให้ได้รับความรักความเข้าใจ และโอกาสดี ๆ เพื่อให้เด็กมีความเชื่อมั่น มีพื้นที่ที่ทำให้เขารู้สึกปลอดภัย และรู้สึกว่าได้รับความรักจากครอบครัว รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้ที่มีหน้าที่ดูแลเด็กโดยตรงด้วย

 

 

คุณณฤดี คริสธานินทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูเรก้า โกลบอล จำกัด สะท้อนถึง สภาพภายในและสภาพแวดล้อมใกล้เคียงสถานคุ้มครองฯ ระยอง ให้ฟังว่า สภาพภายในร่มรื่นมาก แบ่งเป็นฝั่งหญิงชายชัดเจน แต่ชุมชนใกล้ ๆ ยังมองว่า สถานคุ้มครองฯ นี้ เป็นสถานกักกันเด็ก หรือ เด็กที่กระทำผิด ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น โรงเรียนก็ไม่กล้ารับเด็กกลุ่มนี้เข้าโรงเรียน เพราะกลัวว่า จะไปสร้างปัญหา แม้กระทั่ง ผู้ประกอบการก็กังวลว่าถ้ารับเด็กกลุ่มนี้มาทำงาน อาจจะมีทำให้เกิดปัญหา

 

 

การทำความรู้จักกับสถานที่แห่งนี้จากภายในและสภาพแวดล้อมใกล้เคียงอย่างจริงจัง จึงเป็นเรื่องสำคัญ การดำเนินงานโครงการนี้จึงต้องพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ ทีมงานที่เกี่ยวข้อง พ่อบ้าน แม่บ้าน เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในสถานคุ้มครองฯ ระยอง รวมถึงเด็ก ๆ ด้วย

 

 

ปัญหาสำคัญ คือ เด็กในกลุ่มนี้ไม่รู้สึกถึงความผูกพัน ความเป็นพี่เป็นน้อง และไม่มีความหวังในชีวิต ขณะที่กลุ่มพ่อบ้านแม่บ้าน รวมถึงกลุ่มเจ้าหน้าที่ก็รู้สึกกังวล เหนื่อยล้า เครียด ไม่มั่นใจในความปลอดภัยหากต้องทำงานกับเด็กกลุ่มนี้

 

 

“เครื่องมือสำคัญ คือ การทำงานกับพ่อบ้านแม่บ้านที่ทำงานใกล้ชิดกับเด็ก รวมถึงการทำงานกับกลุ่มเด็กไปพร้อม ๆ กัน โดยการเติมพลังให้พ่อบ้านแม่บ้าน รู้สึกปลอดภัย ได้รับการฟัง และทำให้พวกเขาคิดว่าการทำงานของพวกเขามีค่า มีความหมาย ควบคู่กับการทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ทำให้รู้สึกว่าตนเองเป็นที่รัก เป็นที่ต้องการ ชีวิตมีความหมาย มีความหวัง ซึ่งวิธีคิดที่ใช้ คือ เราไม่ได้บังคับให้เขาเปลี่ยน แต่เราแค่ไปสร้างสภาพแวดล้อมให้มันระเบิดจากข้างใน เพื่อให้เขาอยากเปลี่ยนเอง โดยเริ่มจากการใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากข้างใน” คุณณฤดี กล่าว

 

 

ต่อยอดพัฒนาหลักสูตร “วิชาดี” เสริมสร้างศักยภาพ พัฒนา“ทักษะการสื่อสารเชิงบวก” ให้กลุ่มพ่อบ้านแม่บ้านผู้ดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยง

 

 

ไม่เพียงแต่การกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงจากภายใน แต่ยังต้องอาศัยการพัฒนาหลักสูตรและเครื่องมือเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่กลุ่มพ่อบ้านแม่บ้านที่เป็นอีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่ต้องดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงอย่างใกล้ชิด

 


ประเด็นนี้ คุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท ทูลมอโร จำกัด กล่าวว่า “เราเชื่อว่าโลกของเด็กเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการระเบิดจากข้างในของพ่อบ้านแม่บ้านให้พวกเขามีความรู้ มีทักษะ มี mindset รวมถึงมุมมองที่ดี เราจึงเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารเชิงบวก คุณหมอ ผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัว ทีมงาน TIJ มาร่วมพูดคุยระดมสมองกัน เพื่อออกแบบหลักสูตรให้พ่อบ้านแม่บ้านได้มีทักษะ โดยพัฒนาหลักสูตร “วิชาดี” สร้างโดยยึดหลักการสื่อสารเชิงบวก แต่เน้นการประยุกต์ตามความต้องการของพวกเขามากขึ้น เพราะพ่อบ้านแบ่บ้าน มักจะเหนื่อยล้าและมีความเครียด เราเลยให้ทักษะในการจัดการอารมณ์ การสื่อสารเชิงบวก การจัดการความเครียด การจัดการตนเอง และสามารถสื่อสารกับเด็ก ๆ ได้ เช่น ทักษะการสื่อสารกับเด็กรายคน ที่ต้องมีการชม และการพูดในเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เพื่อไห้ได้รับความไว้วางใจจากเด็ก และเป็นการเพิ่มสัมพันธภาพที่ดีระหว่างพ่อบ้านแม่บ้าน และ เด็ก”

 

 

คุณสุรเสกข์ เล่าถึงแนวคิดและวิธีการเรียนการสอนพ่อบ้านแม่บ้าน ว่า “การเรียนจะไม่สร้างเงื่อนไขมาก แต่จะใช้วิธีการเรียนในกรุ๊ปไลน์ แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเช้า (ผ่านกลุ่มไลน์ ใช้เวลา เพียง 50 นาที) และ ช่วงค่ำ (ผ่านโปรแกรมซูม) การเรียนช่วงเช้าจะมีการส่งลิงค์ให้การบ้านทุกเช้า ให้พ่อบ้านแม่บ้านที่อยู่ในกลุ่มไลน์ทั้งหมดได้ลองอ่าน ลองทำ เมื่อกดส่งการบ้าน พวกเขาจะสามารถเข้าใจองค์ความรู้ที่สอดแทรกไว้ โดยสามารถเอาความรู้ที่ได้เรียนในตอนเช้า ไปใช้ในการเรียนในช่วงค่ำ ที่จะแบ่งเป็นกลุ่มย่อย 3-4 คน ซึ่งการเรียนรูปแบบนี้ จะทำให้พวกเขามีพื้นที่ปลอดภัย เข้าใจเด็กตามวัย ตามพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัยมากขึ้น”

 

 

อะไร คือ space for growth และ ทำไมถึงต้องสร้างสิ่งนี้ให้กับเด็ก ๆ ?

 

 

คุณคณพร ฮัทชิสัน อธิบายว่า space for growth คือ พื้นที่แห่งการเติบโต ที่มีความสำคัญ เพราะจะทำให้เด็ก ๆ มีพื้นที่ในการค้นหาตัวเองแบบ life time growth โดยต้องเน้น การให้ความรัก ความอบอุ่น พลังงานบวก การดึงจิตวิญญาณ พลังภายในให้เด็ก ๆ ได้เป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด และทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่พักใจ รู้สึกปลอดภัย เมื่อเหนื่อยก็จะมีคนรับฟัง โดยในอนาคตจะมีความร่วมมือพัฒนาโปรแกรมและเครื่องมือเสริมสร้างศักยภาพที่ทำให้เด็ก ๆ ได้ลองทำในสิ่งที่ตัวเองอยากจะเป็น เช่น เชฟ ผู้กำกับหนังสั้น ศิลปิน นักปั้นงานคราฟต์ ฯลฯ เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้รู้สึกภูมิใจมากขึ้น เพราะเธอเชื่อว่า “สิ่งที่เราลงทุนในเด็ก หรือ ในคนจะไม่มีวันขาดทุน” และหวังว่า เด็กกลุ่มเปราะบางจะเป็นผู้ใหญ่ที่เติบโตได้อย่างสวยงามและสมบูรณ์มากขึ้น

 

 

อย่างไรก็ดี การสร้างโครงการขึ้นมาอาจไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องมีการสร้างกลไกการติดตาม เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถก้าวสู่สังคมภายนอกได้อย่างปกติสุข ซึ่งในสถานคุ้มครองฯ ระยอง ก็ดำเนินการสร้างกลไกดังกล่าวเช่นกัน โดยประเด็นนี้ คุณปิยพล วุฒิวร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และการลงทุน บริษัท จีเอเบิล จำกัด ได้กล่าวถึง การวางโครงสร้าง และ กลไกในการติดตามที่มุ่งเน้นการสร้าง space for growth ให้เด็ก ๆ มีโอกาส ได้รับปลูกฝังให้มีหลักนิติธรรม รวมถึงให้มีการช่วยเหลือและความเข้าใจซึ่งกันและกัน

 

 

“เริ่มจากการใช้ Proud framework ที่มุ่งเน้นการพูดคุยกับครอบครัว ชุมชนภายนอก โรงเรียน พร้อมกับการแก้ไขฟื้นฟู (restoration) การสร้างโอกาสในการทำงานกับ stakeholders ต่าง ๆ และ การใช้ Unity and data เพื่อให้ทำงานด้วยกันได้อย่างไร้รอยต่อ โดยการใช้ข้อมูลสนับสนุนซึ่งกันและกัน”

 

 

“สิ่งสำคัญ คือ เรามองว่า สถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ระยอง เป็นเหมือนตุ๊กตาตัวหนึ่ง เพื่อให้ความคิดเหล่านี้ชยายผลไปยังที่อื่น ๆ ต่อไป” คุณปิยพล ทิ้งท้าย

Back
chat