ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

Call Me by My Name “ฉันก็มีชื่อ” อย่ามาเรียกฉันด้วยชื่ออื่น

 

แม้การเปิดหน้าผู้ต้องขังในสื่อสาธารณะจะเป็นสิ่งที่ผิดหลักสิทธิมนุษยชน

แต่บางครั้ง “ผู้ต้องขัง” ก็อยากเปิดเผยตัวตน

 

 

“ผมไม่อยากเบลอหน้า” เป็นคำที่ติดอยู่ในใจของคุณลุงเปิ้ล #ภาพไม่เหมือน มาโดยตลอด นั่นจึงเป็นที่มาของการก้าวเข้าสู่โลกหลังกำแพง ในฐานะ “ผู้ให้” อย่างเต็มตัว

 

 

เริ่มจากสิ่งที่ติดค้าง

 

ครั้งแรกที่เข้าไปในเรือนจำ คุณเปิ้ล จาริณี เมธีกุล หรือ ลุงเปิ้ล ภาพไม่เหมือน เล่าให้ฟังว่า มีแต่ความกลัว เพราะไม่รู้จักว่าแต่ละคนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมนั้นเป็นอย่างไร จากเดิมคุณเปิ้ลรู้จักผู้ต้องขังเพียงจากในฐานะคนหลังกล้องทำสารคดี และต้องทำการ “เบลอ” หน้าผู้ต้องขัง เมื่อนำเนื้อหาเหล่านั้นออกเผยแพร่สู่สาธารณะ เพราะการเปิดเผยตัวตนผู้ต้องขัง โดยไม่ได้ขออนุญาตก่อนเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขัง หรือแม้แต่หากได้รับคำยินยอมจากผู้ต้องขังแล้ว ก็ไม่แน่ว่าจะถูกใครมาฟ้องร้องภายหลังเอาหรือไม่

 

 

“พอเราบอกเค้าว่า เราจะขอเบลอหน้าก่อนเผยแพร่นะ หลายคนก็ถามเราว่าจะเบลอทำไม ถ้าเบลอเขาจะไม่ให้เราสัมภาษณ์ ซึ่งก็เคยมีที่เขาไม่ให้เราสัมภาษณ์จริงๆ”

 

 

ด้วยความคิดที่ติดอยู่ในใจ สุดท้าย ลุงเปิ้ล ขอโอกาสเข้าไปเรือนจำ เพื่อใช้ความสามารถในการวาดภาพไม่เหมือนไปวาดภาพผู้ต้องขัง และตั้งใจไว้ว่าหากทำได้จะนำภาพผู้ต้องขังนั้นออกมาจัดนิทรรศการ

 

 

“เราคิดว่า คงเป็นเรื่องที่สนุกดี หากผู้ต้องขังออกมาแล้วได้มาเดินดูภาพตัวเองร่วมกับคนอื่นๆ โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าเขาคือคนในภาพ ไม่ต้องมีใครกลัวใครอีกต่อไป เพราะอย่างไรเขาก็ต้องออกมาใช้ชีวิตเป็นปกติแบบทุกคนเหมือนกัน”

 

 

ภาพไม่เหมือน - ภาพฝันสะท้อนความจริง

 

ดังนั้น เมื่อเริ่มกิจกรรมซึ่งใช้ชื่อว่า Call Me by My Name กับผู้ต้องขังกลุ่มแรกที่ได้รับคัดเลือกมาจากเรือนจำราชบุรี โดยครั้งนั้นทางเรือนจำเลือกให้ “กลุ่มดื้อ” มาร่วมกิจกรรม จึงไม่น่าแปลกใจที่ ลุงเปิ้ล จะยังคงรู้สึกเกร็งๆ อยู่ แต่กลับกลายเป็นว่า กิจกรรม “วาดภาพไม่เหมือน” ในวันนั้น เปลี่ยนเป็นการวาด “ความงามของโอกาส” ให้แก่ทั้งลุงเปิ้ลและผู้ต้องขัง

 

 

“กลุ่มดื้อ ที่เรือนจำพูดถึง คือกลุ่มคนที่อยู่ในเรือนจำแต่ไม่เข้าร่วมกิจกรรม พอเริ่มกิจกรรม เราต้องละลายพฤติกรรมก่อน โดยเราก็เปิดรูปที่เราวาดให้เขาดู เปิดรูปศิลปินระดับโลกอย่างแวนโก๊ะ แรมแบรนด์ให้เขาดู บอกเขาว่าภาพแบบนี้ราคาหลายล้านบาทนะ เขาก็ดูตื่นเต้น เพราะเป็นภาพวาดไม่เหมือน พอถามว่าให้พวกเขาวาดแบบนี้บ้างทำได้ไหม ทุกคนก็บอกว่าได้แน่นอน”

 

 

ลุงเปิ้ลบอกว่า เหตุที่หลายคนไม่วาดภาพ หรือบอกว่าวาดไม่เป็น เพราะเราคิดว่าภาพวาดที่สวยคือภาพที่เหมือนจริง แต่จริงๆ ไม่ต้องเป็นแบบนั้น

 

 

กิจกรรมของลุงเปิ้ลในเรือนจำ ใช้เวลา 3 ชั่วโมง แต่เป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปเร็วสำหรับผู้ต้องขัง ด้วยบรรยากาศที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ การได้รู้จักกับคนอื่นจากแดนอื่น ผ่านการวาดภาพไม่เหมือน การเลือกใช้สีและกระดาษวาดภาพที่ดีที่สุดอย่างเต็มที่ โดยไม่มีกรอบใดๆ มาจำกัดจินตนาการ

 

 

ภาพวาดไม่เหมือนของผู้ต้องขังแต่ละคนมีความแตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์ และเปี่ยมด้วยความหวังและความฝัน หลายภาพเผยให้เห็นความต้องการในใจอย่างการใส่ชุดเสื้อกาวน์ เพราะผู้ต้องขังผู้นั้นมีฝันอยากเป็นหมอ การวาดให้ผมมีสีต่างจากเดิม เพราะอยู่ในเรือนจำไม่สามารถย้อมผมได้ และบางคนอาจมีความสุขเพิ่มขึ้นในขณะนั้นเพียงเพราะได้จับดินสอเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี

 

 

ปกติสุข สร้างคุณค่าด้วยความสุข

 

 

เกริก หนึ่งในผู้ต้องขังกลุ่มแรกที่ลุงเปิ้ลได้เข้าไปทำกิจกรรม และด้วยความบังเอิญ ลุงเปิ้ลได้วาดเกริก เพราะเป็นตัวเศษของทั้งกลุ่ม ระหว่างกิจกรรมผลัดกันวาดภาพ

 

 

“ผมเก็บของทุกวันเลย” เป็นคำตอบที่ลุงเปิ้ลได้หลังจากถามไปว่า อีกกี่วันจะได้ออกไปเห็นรูปที่ลุงเปิ้ลวาด และนำไปโพสต์ในเฟสบุ๊ก เพื่อนๆ ของเกริก นั่งหัวเราะกันขบขัน ทำให้ลุงเปิ้ลได้รู้ว่า อีกนานกว่าเกริกจะได้ออกไปยังโลกนอกกำแพง เมื่อถามว่าอยากให้เขียนอะไรบรรยายใต้ภาพเพื่อบอกกับคนข้างนอก เกริก นิ่งคิด ก่อนจะตอบว่า “นับแต่นี้ นาฬิกาชีวิตของผมจะเดินเป็นปกติ”


 

นาฬิกาชีวิตของคนหลังกำแพงต่างจากข้างนอกมากนัก พวกเขามีกิจวัตรประจำวันที่จำเจ และเป็นไปตามกฎ เวลาของพวกเขาจึงเนิบช้า ไม่มีจุดมุ่งหมาย หากจะมีบ้างก็คงเป็นเพียงการนับถอยหลังสู่อิสรภาพ ดังนั้น หากวันใดที่พวกเขาเริ่มคิดได้ว่าเวลาของเขาจะเดินเป็นปกติ วันนั้นจึงเหมือนกับวันที่พวกเขามีความสุข และอาจจะใช้ชีวิตหลังกำแพงได้อย่างเข้าใจและสบายมากขึ้น

 

 

“ไม่รู้ว่าศิลปะให้อะไรบ้าง แต่กิจกรรมนี้ทำให้พวกเขาได้มีช่วงเวลาหนึ่งที่มีความสุข” ลุงเปิ้ล กล่าว “เราเข้าไปที่เรือนจำหลายครั้ง ตอนเข้าไปแรกๆ ก็ไม่รู้ว่าทำไปแล้วจะได้อะไร แต่เมื่อกลับออกมาทุกครั้ง พบว่ามีความสุขใจที่จะเข้าไป และก็ตั้งใจว่าจะไปทำกิจกรรม “วาดภาพไม่เหมือน” นี้เรื่อยๆ”

 

 

ลุงเปิ้ล สรุปถึงกิจกรรม Call me by my name ว่า อย่าให้คนอื่นเรียกคุณด้วยชื่ออื่น ที่ผู้ต้องขังไม่อยากเบลอหน้าก็เพราะพวกเขามีตัวตน และจะมีตัวตนอย่างมีคุณค่าได้ สิ่งหนึ่งที่ต้องระลึกถึงคือ ต้องมีความสุขได้ด้วยตนเอง ทำด้วยตัวเอง อย่าให้คนอื่นมาตัดสิน อยู่ที่ไหนก็จะสามารถมีคุณค่าในตัวเองได้ และอย่าทำร้ายใคร

 

 

ความงามของโอกาส – ผ่อนปรนสู่ความสุข

“เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่ TIJ และกระทรวงยุติธรรมมองเห็นโอกาสเป็นความงาม” ลุงเปิ้ล กล่าวถึงงานครบรอบ 11 ปี ข้อกำหนดกรุงเทพ ที่ลุงเปิ้ลได้มีโอกาสนำภาพวาดไม่เหมือนของผู้ต้องขังจากกิจกรรม Call Me by My Name มาร่วมจัดแสดงภายในงาน

 

 

“ความงามของโอกาสนี้เป็นโอกาสของทั้งคนในเรือนจำและคนนอกเรือนจำ เพราะหากเรามองเห็นความงามนั้น คุณจะอยู่ข้างในก็ได้ หากออกมาก็ถือเป็นโอกาสใหม่ ในโอกาสมีความงาม ทำให้คนเข้าใจเขามากขึ้น คนข้างนอกก็ต้องผ่อนปรนให้คนที่เคยอยู่ข้างในบ้าง คนข้างในออกมาแล้วก็ผ่อนปรนให้คนข้างนอกให้ออกมาอยู่ด้วยกันได้ แต่ละคนก็ทำหน้าที่ของตนเองไป”

 

 

ภาพวาดจากกิจกรรม “Call Me by My Name” โดย จาริณี เมธีกุล หรือ คุณเปิ้ล หรือ ลุงเปิ้ล จะจัดแสดงที่นิทรรศการ “ความงามของโอกาส” ที่ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่  22 - 26 ธันวาคม 2564 เวลา 10.00 - 19.00 น. เนื่องในโอกาสครบรอบ 11 ปี การรับรองข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือ “ข้อกำหนดกรุงเทพ”

 

 

 

Back

Contact :

icon

ส่วนที่รับผิดชอบ ส่วนกลาง

icon

อีเมล : info@tijthailand.org

chat