ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาทรงเปิดการประชุมผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติเกี่ยวกับ “การใช้กีฬาเป็นยุทธศาสตร์ในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชน”

 

 

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จไปยังห้อง Grand Hall 1-2 โรงแรมดิ แอทธีนี โฮเทลอะ ลักซ์ซูรี่ คอลเล็คชั่น โฮเทล ทรงเปิดการประชุมผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติเกี่ยวกับ “การใช้กีฬาเป็นยุทธศาสตร์ในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชน”

 

ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ได้พระราชทานพระดำรัสเปิดงาน โดยทรงกล่าวถึงการใช้กีฬาเป็นยุทธศาสตร์ในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชนว่า กีฬา เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ได้รับยอมรับโดยสากล ว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนจากการกระทำผิดทางอาญาได้ เพราะไม่เพียงเป็นการส่งเสริมสิทธิในการพัฒนาตนเอง การผ่อนคลาย และการเล่นของเด็กและเยาวชนเท่านั้น กีฬายังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนากระบวนการคิดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอีกด้วย และประเทศไทยก็เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งในบทบาทสำคัญของกีฬาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

 

ความพยายามที่จะนำกีฬามาใช้เป็นเครื่องมือป้องกันการกระทำความผิดทางอาญาในเด็กและเยาวชนจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อเด็กและเยาวชนที่เคยก้าวพลาดและกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการกระทำความผิด เราจึงต้องเน้นย้ำถึงบทบาทและความสำคัญของกีฬาในเรื่องนี้ โดยสนับสนุนการพัฒนาทักษะทางด้านกีฬาแก่เด็กและเยาวชนเหล่านั้น เพื่อลดพฤติกรรมการต่อต้านสังคมและการกระทำผิดกฎหมาย พร้อมทั้งส่งเสริมทักษะการใช้ชีวิต เพื่อให้พวกเขากลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ ด้วยทักษะทางด้านกีฬา

 

จากนั้น ได้ทอดพระเนตรนิทรรศการซึ่งนำเสนอผลการดำเนินงานขององค์กรผู้ร่วมจัดงานโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ศ.(พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล นายโจฮาน เดอ ฮาน ผู้แทนสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ สำนักงานใหญ่ ณ กรุงเวียนนา นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นายเอกภพ เดชเกรียงไกรสร ประธานสโมสรกีฬา BBG พร้อมด้วยผู้บริหารขององค์กรผู้ร่วมจัดงานเฝ้ารับเสด็จฯ

 

 

การประชุมผู้เชี่ยวชาญในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม 2562 โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้เป็นเวทีในการวิเคราะห์และรวบรวมมาตรการและแนวปฏิบัติจากนานาชาติในการนำกีฬามาใช้เพื่อป้องกันการก่ออาชญากรรม ตลอดจนเพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะแก่ภาครัฐในการนำไปบรรจุเป็นนโยบายระดับประเทศและระดับสากล  การประชุมดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากความสำเร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ประเทศไทยได้เสนอร่างข้อมติเรื่อง “Integrating Sport into Youth Crime Prevention and Criminal Justice” ในเวทีการประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice) สมัยที่ 28 ที่กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย และได้รับการรับรองโดยฉันทามติจากประเทศสมาชิก

 

 

สาระสำคัญของข้อมติดังกล่าวคือการเน้นย้ำถึงความสำคัญของกีฬาว่าเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน และเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนตระหนักว่ากีฬามีส่วนช่วยในการส่งเสริมและฟื้นฟูเด็กที่กระทำผิดให้กลับมาอยู่ในสังคมและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ หากเด็กได้มีโอกาสฝึกฝนทักษะด้านกีฬาควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะชีวิต  สำหรับประเทศไทยมีกรณีตัวอย่างความสำเร็จจากโครงการสโมสรกีฬา Bounce Be Good หรือ สโมสรบีบีจี ซึ่งเป็นโครงการที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงมีพระดำริให้จัดตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2557หนึ่งในตัวชี้วัดผลสำเร็จของสโมสร บีบีจี คือเมื่อดูสถิติเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฟื้นฟูและพัฒนาตนเองด้วยกีฬาของสโมสรฯ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 17 ของเด็กและเยาวชนทั้งประเทศ มีผู้กลับไปกระทำผิดซ้ำภายในระยะเวลา 1 ปีหลังพ้นโทษ จำนวนไม่ถึงร้อยละ 1[1] ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับอัตราการกระทำผิดซ้ำของเด็กและเยาวชนในภาพรวมของประเทศไทย ซึ่งค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 4 ปี อยู่ที่ประมาณร้อยละ 23

 

[1] ข้อมูล ณ พ.ศ. 2560

Back
chat