ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

TIJ ลงพื้นที่ประเมินผลเรือนจำภาคใต้ ส่งเสริมสิทธิผู้ต้องขังตามข้อกำหนดกรุงเทพ

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ จัดกิจกรรมลงพื้นที่ประเมินเรือนจำเบื้องต้น ตามโครงการเรือนจำต้นแบบเพื่ออนุวัติตามข้อกำหนดสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (ข้อกำหนดกรุงเทพ) ในเขตภาคใต้ทั้งหมด 10 แห่ง ประกอบด้วย เรือนจำอำเภอไชยา ทัณฑสถานหญิงสงขลา เรือนจำกลางพัทลุง เรือนจำจังหวัดตรัง เรือนจำจังหวัดระนอง เรือนจำอำเภอตะกั่วป่า เรือนจำจังหวัดกระบี่ เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช เรือนจำอำเภอทุ่งสง และเรือนจำอำเภอปากพนัง ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายน 2562

 

 

การลงพื้นที่ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในเรือนจำด้านการบริหารจัดการเรือนจำตามข้อกำหนดกรุงเทพ การจัดเก็บและรวบรวมเอกสาร และการพัฒนาทางด้านกายภาพ โดยมีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ในการวัดและประเมินผล ประกอบด้วย ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ ผู้แทนสถาบัน และผู้เชี่ยวชาญภายนอก ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การคัดเลือกเรือนจำที่สามารถดำเนินงานตามมาตรฐานให้เป็นเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพในเขตภาคใต้ 
 
 
 
 
ผลจากการลงพื้นที่ประเมินเรือนจำเบื้องต้น พบว่า เรือนจำส่วนใหญ่กำลังปรับปรุงพัฒนาทั้งด้านการบริหารจัดการภายในเรือนจำ และโครงสร้างทางกายภาพไปในทางที่ดีขึ้น เช่น มีการแบ่งแดนชัดเจน มีรายละเอียดครบถ้วน มีบริเวณค้นตัวเป็นสัดส่วน มีม่านกั้น มีป้ายบอกสิทธิต่างๆ ของผู้ต้องขัง และมีรูปภาพบรรยายการตรวจค้นตัว เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่า ห้องแม่และเด็กสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย มีอุปกรณ์เครื่องใช้เด็ก มีสิ่งของเพิ่มพูนความรู้ของแม่ และมีสิ่งของเครื่องใช้ที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กครบถ้วน อย่างไรก็ดี ทุกเรือนจำยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาปรับปรุงในทุกด้าน เพื่อมุ่งสู่การเป็นเรือนจำต้นแบบ
 
 
ทั้งนี้การลงพื้นที่ดังกล่าวจะเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนสิงหาคม เพื่อตรวจสอบและประเมินผล
การดำเนินงานเรือนจำและคัดเลือกเรือนจำที่ผ่านมาตรฐานตามข้อกำหนดกรุงเทพ 
 
 
ในปีนี้ TIJ พยายามผลักดันให้เรือนจำในเขตภาคใต้ของประเทศไทยนำแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามข้อกำหนดกรุงเทพไปปรับใช้ โดยมุ่งหวังให้เรือนจำในเขตภาคใต้มีแนวทางในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างมีมาตรฐาน และเข้าใจถึงหลักสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างเท่าเทียมมากขึ้น 
หากเรือนจำปรับปรุงให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีโปรแกรมการอบรมที่เหมาะสม ก็จะส่งผลให้ผู้ต้องขังเห็นคุณค่าของตนเอง มีทักษะชีวิต และกลับสู่สังคมได้อย่างปกติสุข ส่งผลดีต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมในภาพรวม 
 
 
Back
chat