TIJ จัด Virtual Forum แชร์ไอเดียนักเศรษฐศาสตร์ - สาธารณสุข เสนอแผน “เปิดเมืองอย่างไรให้ปลอดภัย” แนะให้ข้อมูลชุมชน ให้ชุมชนร่วมออกแบบพฤติกรรมอยู่ร่วมกับโควิด-19
“เปิดเมืองอย่างไรให้ปลอดภัย” เป็นโจทย์ใหญ่ที่กำลังถูกถกเถียงกันอย่างเข้มข้นจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งมีคำถามมาตลอดว่า จะหาจุดที่ลงตัวระหว่างการจำกัดวงการแพร่ระบาดให้มีประสิทธิภาพกับการจัดการปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างไร
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงจัดการประชุมทางไกลผ่านแอปพลิเคชัน ZOOM ในหัวข้อหลัก Living with COVID-19 ตอน เปิดเมืองอย่างไรให้ปลอดภัย ผ่านเครือข่ายด้านหลักนิติธรรมเพื่อการพัฒนา หรือ RoLD (Rules of Law Development) ซึ่งมีผู้บริหารองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 100 คน ร่วมหารือเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา
ศ.พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดการประชุมโดยระบุถึงสถานการณ์ที่ประเทศไทย อาจจะต้องมีกระบวนการที่ทำให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตปกติร่วมกับโรคโควิด-19 ได้ หรือที่เรียกกันว่า New Normal โดยมีประเด็น 3 ส่วนหลักที่ให้ความสำคัญคือ 1. การศึกษาและออกแบบพฤติกรรมของปัจเจกชนที่จะต้องปรับตัวในการอยู่ร่วมกับโควิด-19 ไปอีกซักระยะ 2. การสร้างระบบคัดกรองตรวจสอบกันเองที่เข้มแข็งในระดับชุมชนซึ่งจะช่วยลดภาระของโรงพยาบาล และ 3. การมีระบบติดตามที่ทันสมัยให้แต่ละคนรู้ความเสี่ยงของตัวเองเช่นเดียวกับที่แพทย์รู้ว่าคนที่มีความเสี่ยงอยู่ที่ไหน โดยมองว่า ถ้าสามารถดำเนินการใน 3 ส่วนนี้ได้ ก็จะสามารถเปิดเมืองอย่างปลอดภัยได้
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลองแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “Behavioral Insights ของครัวเรือนไทยภายใต้สถานการณ์ โควิด-19” ซึ่งจัดทำโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน 18 จังหวัด แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ วันที่ 5-9 เมษายน 2563 วันที่ 18-19 เมษายน 2563 และวันที่ 22-24 เมษายน 2563 โดยสำรวจความคิดเห็นของประชนกลุ่มเดิม และพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆ อย่างเต็มที่ในช่วงแรกหลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เมื่อผ่านไป 2 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มตัวอย่างทุกพื้นที่ให้ความร่วมมือน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเรียกว่าเป็น “ความเหนื่อยล้าทางพฤติกรรม” และมีถึงประมาณ 80% จากทั้ง 18 จังหวัด ที่คาดหวังว่ารัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองต่างๆ ลงตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลอาจจำเป็นต้องผ่อนคลายมาตรการหรือเปิดเมืองบางพื้นที่ตามความคาดหวังของประชาชน และจำเป็นต้องอธิบายหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้ชัดเจนด้วยว่า เพราะเหตุใดจึงเลือกเปิดหรือปิดจังหวัดนั้นๆ
ข้อมูลจากงานวิจัยชิ้นนี้ ระบุด้วยว่า ประชาชนส่วนใหญ่ติดตามข่าวสารในภาพรวมของประเทศ และรู้ข้อมูลในภาพรวมพอๆ กันทุกพื้นที่ แต่ไม่รู้ข้อมูลในระดับท้องถิ่นของตัวเอง เช่น ประชาชนสามารถตอบได้ว่า มีผู้ติดเชื้อในภาพรวมกี่คน เสียชีวิตกี่คน แต่ตอบไม่ได้ว่าในจังหวัดของตนเองมีผู้ติดเชื้อกี่คน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ประชาชนมีความคาดหวังว่าจะ “เปิดเมือง” ได้เหมือนๆ กันทุกพื้นที่ เพราะไม่ทราบข้อมูลเชิงลึกในแต่ละพื้นที่ว่ามีความอ่อนไหวแตกต่างกัน และงานวิจัยชิ้นนี้ ยังพบข้อมูลที่สำคัญว่า “ปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละคน มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการให้ความร่วมมือกับมาตรการทางสาธารณสุขอย่างมาก โดยพบว่า คนที่มีรายได้น้อย จะพร้อมยอมรับความเสี่ยงจากการต้องติดเชื้อได้มากกว่า และพร้อมจะเดินทางย้ายจังหวัดทันที หากมีบางจังหวัดที่เปิดเมืองก่อน ซึ่งในทางกลับกัน ก็หมายความว่า หากรัฐบาลบริหารมาตรการช่วยเหลือทางการคลังได้ดี ก็จะช่วยลดการอพยพคนข้ามจังหวัด และช่วยระงับการแพร่ระบาดได้
“จากงานวิจัย เราจะเห็นว่า คนที่ยิ่งมีรายได้น้อย จะยิ่งยอมรับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มาก เมื่อเราถามต่อว่า หากมีการเปิดเมืองบางจังหวัดจะทำอย่างไร ได้คำตอบว่า ผู้มีรายได้น้อยเกือบทั้งหมดพร้อมจะย้ายไปทำงานยังจังหวัดที่ประกาศเปิดเมือง เพราะถ้าเขาไม่ออกนอกบ้านก็จะไม่มีกิน จึงยอมเสี่ยงกับโควิดมากกว่าที่จะยอมอด และเมื่อถามว่า เงิน 5 พันบาทที่ได้รับเพียงพอมั้ย พบว่า คนมีรายได้น้อยบอกว่า 5 พันถึง 1 หมื่นบาท เพียงพอ ดังนั้นจึงหมายความว่า เงิน 5 พันบาทที่รัฐบาลจ่ายให้ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ช่วยให้คนไม่อพยพย้ายเมืองได้ ดังนั้นเงินที่นำมาแจกจ่าย เมื่อนำมาผนวกกับมิติของสาธารณสุข ก็เป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดได้ แต่คำถามคือ ถ้ามีคำสั่งให้เปิดบางจังหวัด จะยังจ่ายเงิน 5 พันบาทอยู่หรือไม่ ถ้านำประเด็นทางสาธารณสุขไปผนวกกับมาตรการการคลังดีๆ ก็จะป้องกันการระบาดได้”
งานวิจัยชิ้นนี้ ยังศึกษาแยกกลุ่มประชากร เป็น 4 กลุ่ม คือ คนเมือง คนจนเมือง คนชนบท และคนในจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งพบว่า ทั้ง 4 กลุ่ม มีองค์ความรู้ต่อสถานการณ์ในภาพรวมไม่ต่างกัน ทัศนคติต่อการปฏิบัติต่างๆ ตามมาตรการไม่ต่างกัน แต่ “มีข้อจำกัดในการปฏิบัติต่างกัน” โดยเฉพาะกลุ่มคนจนเมือง มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตอยู่ในบ้านกับครอบครัวซึ่งไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ เพราะมีจำนวนสมาชิกในบ้าน สูงกว่าจำนวนห้องนอน และยังมีค่าเฉลี่ยจำนวนห้องน้ำต่อบ้านน้อยที่สุด ส่วนกลุ่มคนในชายแดนใต้ แม้จะมีจำนวนสมาชิกในบ้านมากกว่ากลุ่มอื่น แต่ก็มีจำนวนห้องนอนในบ้านมากกว่าเมื่อเทียบกลุ่มคนจนเมืองและกลุ่มคนชนบท
งานวิจัยนี้ จึงเสนอทางออกว่า ความพร้อมของแต่ละพื้นที่ที่จะผ่อนคลายมาตรการต่างๆ จำเป็นต้องสำรวจความพร้อมของประชาชน โดยหากเปิดเมืองต้องปฏิบัติให้ได้ใน 3 แนวทาง คือ 1. หากพบผู้ติดเชื้อ ต้องมีมาตรการส่งตัวถึงแพทย์และกักตัวผู้ใกล้ชิดโดยเร็ว 2. ต้องมีสถานที่กักตัวทั้งในระดับ State Quarantine และ Local Quarantine ซึ่งถือว่าจะมีบทบาทสำคัญมากในการแยกกลุ่มเสี่ยงออกมาจากชุมชน และ 3. ต้องมีกระบวนการสื่อสารให้สังคมเข้าใจผู้ติดเชื้อ ป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อถูกรังเกียจ
รศ.ดร.ชะนวนทอง ธนสุกานต์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอให้เห็นว่า ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขชุมชนที่แข็งแรงไปถึงในระดับครัวเรือน คือ อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน หรือ อสม. และมีเครื่องมือที่เรียกว่า “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” ซึ่งเป็นเหมือนแผนใหญ่ ให้องค์กรชุมชนและท้องถิ่นสามารถนำไปใช้อ้างอิงเพื่อจัดทำแผนหรือวางกรอบกติกาในระดับชุมชนเองได้
หากจะต้องเปิดเมือง ข้อเสนอของ รศ.ดร.ชะนวนทอง คือ การใช้ “ต้นทุน” จากกลไกสาธารณสุขชุมชนที่ดีอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์ โดยแยกเป็น “ทุนมนุษย์ ทุนสังคม” ซึ่งหมายถึงการใช้เครือข่ายภาคประชาชน มาประกอบกับ “ทุนปัญญา” จากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในพื้นที่ และองค์ความรู้ต่างๆ แต่ยังมีสิ่งสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณา คือ ประชาชนส่วนใหญ่ยังได้รับเฉพาะข้อมูลตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต เป็นข้อมูลเพียงมิติเดียว ซึ่งจะทำให้ชุมชนไม่สามารถวิเคราะห์เพื่อกำหนดกติกาที่เหมาะสมร่วมกันได้ จึงต้องทำให้ชุมชนเข้าถึงข้อมูลของโควิด-19 ในทุกมิติมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจสร้างธรรมนูญสุขภาพในชุมชน สามารถกำหนดกติกาต่างๆ ในชุมชนได้ดียิ่งขึ้น
“คณะกรรมการระดับจังหวัด ระดับประเทศจำเป็นต้องดู เช่น ให้ชุมชนเขาส่งเสียงออกมาร่วมตัดสินใจ เช่นบอกว่า ถ้าให้เปิดร้านตัดผมจะทำอย่างไร จัดการร้านอย่างไร ถ้าเรารู้ว่า ชุมชนเขามีข้อมูลอะไร เขาก็จะมีส่วนร่วมตัดสินใจได้ เราอยากเห็นว่า โรงเรียนเปลี่ยนแปลงอย่างไร โรงเรียนพูดแต่เรื่องจะเปิดสอนออนไลน์ แต่เราอยากเห็นว่าโรงเรียนจัดการห้องน้ำอย่างไร จัดการการเข้าแถวอย่างไร ปรับตัวอย่างไร”
อีกสิ่งหนี่งที่จะมีส่วนสำคัญหากต้องเปิดเมืองก็คือ ข้อเสนอการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ระบุถึงวัตถุประสงค์ในการนำเสนอให้ใช้แอปพลิเคชันนี้ เพราะมีผลโดยตรงกับคน 4 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 คือ ผู้ป่วย เมื่อเข้าไปรับการรักษาจะสามารถตรวจสอบได้ว่าไปที่ไหน ทำอะไรมาบ้าง
กลุ่มที่ 2 คือ บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งข้อมูลผู้ป่วยจากแอปพลิเคชันจะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ปลอดภัยและลดความเสี่ยงติดเชื้อ จากสาเหตุที่ผู้ป่วยปกปิดข้อมูลหรือจำข้อมูลไม่ได้ และยังออกแบบให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถติดต่อกับคนที่ต้องสงสัยหรือเข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง (PUI) โดยไม่ต้องสัมผัสตัว เพิ่มความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด้วย
กลุ่มที่ 3 คือ สังคม จะมีระบบข้อมูลที่แม่นยำขึ้น เพราะแอปพลิเคชันช่วยชี้ให้เห็นว่า ใครสัมผัสกับใครบ้าง ใครเสี่ยงแค่ไหน และควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อมีความเสี่ยง โดยยังช่วยให้ร้านค้าหรือบริษัทเอกชน สามารถคัดกรองเฉพาะคนที่ไม่มีความเสี่ยงให้เข้าไปในที่ทำงานหรือร้านค้าได้ จึงไม่จำเป็นต้องปิดร้าน
กลุ่มที่ 4 คือ ภาครัฐ จะมีข้อมูลสำหรับควบคุมการระบาด หรือจัดการการระบาดได้รวดเร็ว
ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งอาจเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ผู้ร่วมพัฒนาระบบ ย้ำว่า แอปพลิเคชันหมอชนะ จะเก็บข้อมูลของแต่ละบุคคลในลักษณะ “ไม่บ่งบอกตัวตนของผู้ใช้” แต่จะส่งเฉพาะข้อมูลการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ออกไปโดยระบบส่วนกลางจะไม่ทราบว่าเป็นข้อมูลของใคร และจะทำการประมวลผลเมื่อพบคนใดคนหนึ่งติดเชื้อแล้ว
“กลุ่มแรกที่จะรู้ว่าผู้ใช้แอปพลิเคชันนี้เป็นใคร คือ โรงพยาบาลและกรมควบคุมโรค เพราะข้อมูลแรกจะถูกเปิดเผยกับโรงพยาบาลเท่านั้น และจะเปิดเผยก็ต่อเมื่อผู้ป่วยเข้าไปลงทะเบียนเพื่อรับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งเมื่อกรมควบคุมโรคประเมินแล้วว่า บุคคลนี้มีความเสี่ยงหรืออาจเป็นผู้ติดเชื้อ จึงจะส่งข้อมูลย้อนกลับเข้ามาในระบบ ทางระบบจึงจะระบุว่า ผู้ที่ใช้โทรศัพท์เครื่องนี้เป็นผู้ป่วย จากนั้นระบบจะประมวลผลย้อนกลับไป 15 วัน เพื่อระบุข้อมูลการเดินทางและบุคคลที่ใกล้ชิดผู้ป่วย โดยใช้เทคโนโลยี GPS กับ Bluetooth เพื่อช่วยแยกแยะ เตือนให้เข้าสู่ขั้นตอนการกักตัวเพื่อเฝ้าระวัง 14 วัน โดยแบ่ง QR Code ออกเป็น 4 ระดับ คือ สีเขียว สีเหลือง สีส้ม สีแดง ซึ่งแต่ละระดับก็จะมีคำแนะนำ การปฏิบัติตัวตามกลุ่มสี เนื่องจากเป็นระบบที่ Realtime ข้อมูลของผู้ติดเชื้อ หรือมีความเสี่ยงติดเชื้อ ก็จะไปมีผลต่อบุคคลใกล้ชิดด้วย ตัวสีของ QR Code คนใกล้ชิดก็จะเปลี่ยนสี พอผู้ใช้รู้ตัวจากสีที่เปลี่ยน เขาก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมเอง”
นายสมโภชน์ ยืนยันว่า แอปพลิเคชันให้ความสำคัญกับการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล จึงจะขอเก็บข้อมูลผู้ใช้เฉพาะข้อมูลการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ และรูปภาพของผู้ใช้เพียง 1 รูป ซึ่งรูปที่ส่งมา จะถูกเปิดเผยเมื่อเข้ารักษาที่โรงพยาบาลแล้วเท่านั้น ส่วนข้อมูลกลางจะถูกส่งไปเก็บที่ AWS ของทาง Amazon ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัยระดับโลก โดยมีสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เป็นผู้เก็บรักษาข้อมูล ผ่านการเข้ารหัสไว้กับคน 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐ ฝ่ายพัฒนา และกำลังจะเชิญกลุ่มบุคคลที่ 3 เข้ามาร่วมกันตรวจสอบการเก็บข้อมูล ดังนั้นการเปิดข้อมูล ต้องผ่านความเห็นชอบของทั้ง 3 กลุ่มพร้อมกันเท่านั้น และข้อมูลจะมีอายุเพียง 30 วัน หลังจากนั้นจะถูกลบทิ้งทันที
ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ยอมรับว่า ระบบที่ใช้อยู่ขณะนี้ ยังต้องมีการปรับปรุงพัฒนาหากต้องการให้ใช้งานได้สมบูรณ์ เพราะแอปพลิเคชันจะมีประสิทธิภาพได้ จำเป็นต้องมีผู้ใช้จำนวนมาก ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลซึ่งกันและกัน ดังนั้นนอกจากการทำงานร่วมกับกรมควบคุมโรคแล้ว ยังต้องเร่งทำให้คนในสังคมเชื่อใจในระบบให้ได้ด้วย
ด้านนายสุนิตย์ เชรษฐา กรรมการผู้จัดการสถาบัน Change Fusion ยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการติดตามการแพร่ระบาด เพราะเคยมีบทเรียนจากการแพร่ระบาดของโรค MERS จนมีกฎหมายการจัดการข้อมูลในกรณีเกิดสถานการณ์ระบาด ทำให้รัฐบาลสามารถเข้าถึงข้อมูลประชาชนได้ แต่มีเงื่อนไขและมีคณะกรรมการมาตรวจสอบเช่นกัน
นายสุนิตย์ ระบุว่า สำนักติดตามการระบาดของเกาหลีใต้ จะเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะเป็น Open Data โดยระบุข้อมูลว่า พบผู้ติดเชื้อเดินทางไปสถานที่ใด อย่างไรบ้าง โดยทุกครั้งที่มีข้อมูลเช่นนี้ รัฐบาลจะส่งข้อความแจ้งเตือนฉุกเฉินให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยง และสามารถหลีกเลี่ยงได้ รวมทั้งจะทำให้ประชาชนรู้ตัวว่าหากได้ไปในพื้นที่ที่พบการติดเชื้อมา ก็จะต้องไปตรวจว่าติดเชื้อหรือไม่ และเมื่อผ่านไปสักระยะก็จะค่อยๆ ลดระดับความเสี่ยงลง จึงถือเป็นการเปิดเผยข้อมูลที่ใช้หลักความโปร่งใส คือ เปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ตราบใดที่ไม่ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
ส่วนเทคโนโลยีที่กำลังถูกนำมาใช้เพื่อช่วยลดผลกระทบจากโควิด-19 ในชุมชนเปราะบางรวมทั้งผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทย นายสุนิตย์ ได้พัฒนา “สบายดีบอท” ซึ่งเป็น Line Bot ให้คนในชุมชนสามารถบันทึกสุขภาพของตัวเองได้ เพื่อคอยตรวจสอบว่ามีอาการคล้ายผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ และบันทึกเสร็จแล้วก็จะมีคำแนะในการปฏิบัติตัวตอบกลับมาโดยโนมัติ โดยเขาย้ำว่า การพัฒนาระบบนี้ขึ้นมา มีเป้าหมายเน้นไปที่การทำให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเองไม่ให้ป่วย ช่วยให้รู้เท่าทันสถานการณ์สุขภาพของตัวเองและสมาชิกในชุมชน ช่วยให้เข้าถึงความรู้ในการจัดการปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ ช่วยลดปัญหาการรับข้อมูลที่ผิดพลาดหรือข่าวลวงในพื้นที่ และช่วยให้เข้าถึงการสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็น ทำให้เข้าถึงพื้นที่ที่จะระดมทุน หรือระดมอุปกรณ์จำเป็นให้เขาอยู่ได้
ส่วนในกรณีที่ชุมชนหรือโรงพยาบาลใดขาดแคลนอุปกรณ์ต่างๆ และต้องการความช่วยเหลือ ก็ได้พัฒนาเว็บไซต์ที่ชื่อ infoaid.org เข้าไปทำข้อมูลของชุมชนที่มีองค์กรสาธารณะประโยชน์ในพื้นที่ ว่ามีความต้องการอะไรเพิ่มเติม จำนวนเท่าไร ในพื้นที่ใดบ้าง สามารถประสานงานไปที่ใคร ซึ่งจะทำให้การบริจาคสิ่งของต่างๆ ไปถึงพื้นที่ที่กำลังขาดแคลนได้อย่างตรงจุด และถ้าหน่วยงานใดทำเป็นโครงการที่ต้องการการระดมทุน ก็สามารถเข้าไประดมทุนได้ที่ taejai.com ต่อได้ ถือเป็นการนำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือชุมชนอีกทางหนึ่ง
ชมคลิปย้อนหลัง