“ปกป้อง เป็นมิตร ไม่กล่าวโทษ ไม่ตั้งคำถามซ้ำ” ข้อเสนอต่อกระบวนการยุติธรรม ถึงการปฏิบัติต่อผู้เสียหายในคดีความรุนแรงทางเพศ
“ปัญหาความรุนแรงทางเพศ” กลายเป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง จากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเด็น “การตอบสนองของกระบวนการยุติธรรม” ถูกตั้งเป็นคำถามใหญ่ว่า สามารถให้ความเป็นธรรมอย่างแท้จริงกับผู้เสียหายที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศได้หรือไม่ นำไปสู่การจัดงานเสวนาในหัวข้อ Domestic Violence, Sexual Harassment, and Rape : Rehumanizing the Justice System through Stakeholders’ Experience ในระหว่างการอบรมหลักสูตร “หลักนิติธรรมและการพัฒนา” (Rule of Law and Development) หรือ RoLD 2022: Beyond Leadership ซึ่งจัดขึ้นโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)
ในเหตุความรุนแรงทางเพศ ไม่มีผู้เสียหายที่สมบูรณ์แบบ และไม่มีผู้กระทำรุนแรงที่สมบูรณ์แบบ ไม่เหมือนภาพจำที่ปรากฎในสื่อ
บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ทนายความสิทธิมนุษยชน นักวิจัยด้านความรุนแรงในครอบครัว และผู้ก่อตั้ง Shero Thailand เล่าถึงประสบการณ์การให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเพศ โดยย้ำว่า ที่ผ่านมาเคยพบกับเคสผู้เสียหาย จากเหตุความรุนแรงในครอบครัวหรือระหว่างคู่รัก เคสที่เข้ามามีความรุนแรงทางเพศ ทั้งการคุมคามทางเพศ การคุกคามออนไลน์ การติดตามอย่างลับๆ (stalk) การข่มขืนกระทำชำเรา ในอดีตเราก็จะบอกว่าแจ้งความอย่างไร และอธิบายขั้นตอน แต่ทุกอย่างที่พูดมา เราขาด Trauma Inform คือการที่กระบวนการหรือคนที่ทำงานกับผู้เสียหาย เข้าใจว่าเหตุการณ์นั้นมีผลกระทบทางจิตใจอารมณ์อย่างไร หากกฎหมายเข้าใจเรื่องนี้ก็จะมีการออกแบบคำถามที่ระมัดระวัง ไม่โทษเหยื่อ ไม่ถามซ้ำ ซึ่งในไทยอาจจะบอกว่ามี แต่จริงๆ ยังไม่มี
“ทำไมถึงยากที่จะแจ้งความ มันกลายเป็นวัฒนธรรมแห่งการกล่าวโทษผู้เสียหายตั้งแต่ต้น เมื่อเกิดความรุนแรงทางเพศและมีผู้เสียหายออกมาเปิดเผยเรื่องราวที่ถูกกระทำ จะถูกสังคมตั้งคำถามก่อนเลยว่า ทำไมไปกับเขา ทำไมแต่งตัวแบบนั้น แต่กลับไม่มีคำถามไปยังผู้กระทำบ้าง คำถามเหล่านี้ กลายเป็นการกดทับผู้เสียหายโดยที่สังคมไม่รู้ตัว ทำให้เมื่อมาถึงในกระบวนการยุติธรรม ผู้เสียหายจะเล่าถึงเหตุการณ์ก็ต้องเล่าด้วยความกลัวอยู่ตลอดเวลาว่าจะถูกกล่าวโทษมาที่ตัวเขาเองหรือไม่ และเกิดความรู้สึกตามมาอีกว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะต้องพิสูจน์ว่าตนเองเป็นผู้ถูกกระทำ” บุษยาภา กล่าว
ดังนั้น ผู้ก่อตั้ง Shero จึงย้ำว่า หากจะหาเหตุที่ผู้เสียหายไม่กล้าแจ้งความ เพราะเรามักจะถาม why question กับผู้เสียหาย แทนที่จะถามว่าทำไมผู้กระทำถึงทำ เพราะอยู่ในสังคมที่มีวัฒนธรรมการกล่าวโทษ (victim blaming culture) และไม่รู้ว่านี่คือสิ่งที่ผิด ทำให้เกิดการกดทับ เมื่อผู้เสียหายที่มาปรึกษา ผู้เสียหายจะระวังตัวว่าจะถูกกล่าวโทษไหมตลอดเวลา จึงต้องมีนักกฎหมายมาฝึกจิตวิทยากับเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ให้เป็นผู้ฟังที่ดีก่อน ให้พื้นที่กับผู้เสียหาย รับฟังด้วยใจ ให้เขาเล่าได้เต็มที่ ไม่ต้องห่วงว่าเราจะโทษเค้า เพราะผู้เสียหายจะโทษตัวเองไปก่อนแล้ว
ภาระในการพิสูจน์ความจริง ที่ตกเป็นภาระของผู้เสียหาย ทั้งการพิสูจน์ต่อสังคมและในกระบวนการยุติธรรม เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่บุษยาภาเน้นย้ำว่าต้องทำความเข้าใจกันใหม่ เพราะที่ผ่านมา สังคมไทยยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะสื่อต่างๆ ทั้งข่าว ละคร ภาพยนตร์ ทำให้สังคมมีความเชื่อต่อภาพลักษณ์ของผู้เสียหายและผู้กระทำไปในทิศทางเดียว คือความเชื่อที่ว่า ผู้เสียหายต้องต่อสู้ดิ้นรน และผู้กระทำมักจะเป็นคนจน เมาสุรา ติดยาเสพติด แต่ในความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป
“ในโลกนี้ไม่มีผู้เสียหายที่สมบูรณ์แบบ (perfect victim เหยื่อแบบที่มาแจ้งความในสภาพที่เห็นชัดเจนว่าถูกกระทำ เช่นมีบาดแผลสะบักสะบอม) และเราพบว่า 1 ใน 3 ของเหตุความรุนแรงทางเพศ เกิดจากผู้กระทำที่เป็นคนใกล้ตัว ทำให้ผู้เสียหายแทบจะไม่มีบาดแผล บางรายเกิดอาการชัตดาวน์ ตัวแข็งนิ่งไปเลย ไม่ได้มีการดิ้นรนหรือขัดขืน สูญเสียความสามารถในการเรียบเรียงหลักการเหตุผลไปด้วย แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็ถูกถามก่อนเลยว่า ทำไมไม่มีแผล ทำไมไม่สู้ ไม่ได้เก็บหลักฐานไว้ทันทีที่เกิดเหตุหรือ โดยเฉพาะถ้าผู้กระทำไม่ได้เป็นอาชญากรสมบูรณ์แบบ (perfect abuser ผู้กระทำผิดเป็นคนที่มีรูปลักษณ์ทำให้ผู้อื่นรู้สึกว่าเป็นคนไม่ดี) แต่เป็นคนหน้าตาดี มีฐานะในสังคม ก็ยิ่งทำให้ข้อมูลของผู้เสียหายไม่ได้มีความน่าเชื่อถือ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ไม่มีเหยื่อที่สมบูรณ์แบบ และไม่มีผู้กระทำที่สมบูรณ์แบบ”
ส่วนแรงจูงใจให้เกิดเหตุทั้งเหตุรุนแรงและเหตุคุกคามทางเพศ บุษยาภา กล่าวจากประสบการณ์ว่า ไม่ได้เป็นเพราะผู้กระทำมีความต้องการทางเพศเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยมาจากความสนุกที่จะได้ใช้อำนาจเหนือผู้อื่นด้วย โดยเฉพาะเมื่อผู้กระทำมีแหล่งอำนาจมากก็ยิ่งทำได้มาก ดังนั้น ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ คือ ความรุนแรงเชิงอำนาจ และไม่ควรวิเคราะห์ว่าเหตุรุนแรงทางเพศ เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพราะบางคนเมื่อไม่ได้ใช้ยาเสพติดก็ยังมีพฤติกรรมการใช้อำนาจเหนืออยู่ดี
“ปัญหาของสังคมที่เห็น ถ้าเรามองย้อนไป จะพบว่าถ้าเรายอมให้มีการจับต้องตัวได้ จะทำให้ผู้กระทำรู้สึกว่าฉันทำได้ ถ้าไม่มีกฎอย่างจริงจัง ไม่มีข้ออ้าง มีแหล่งอำนาจที่ปิดปากได้ ผู้กระทำจะเริ่มลองไปจนถึงยอดของปิรามิด คือ การข่มขืน ซึ่งการทำให้การคุกคามเป็นเรื่องปกติ เท่ากับเป็นการยอมให้เกิดการคุกคามทางเพศต่อไป”
บุษยาภา ได้เสนอแนวทางในอนาคตว่า ควรเผยแพร่องค์ความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนมายาคติของสังคมที่มีต่อผู้เสียหายในเหตุความรุนแรงทางเพศ ตั้งแต่ในระดับครอบครัว ชุมชน หรือโรงเรียน โดยต้องคำนึงถึงบริบทที่ต่างกันของแต่ละพื้นที่ด้วย เพราะจะทำให้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ที่ต่างกันไป และนำไปสู่การเปลี่ยนทางพฤติกรรมและสังคมได้
ผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเพศ ต้องถูกก้อนอิฐกดทับหลายชั้นจนก่อเป็นกำแพง หากจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
จากข้อเท็จจริงที่มีสถิติบันทึกไว้ว่า มีผู้หญิงไทยที่ประสบปัญหาความรุนแรงทางเพศเข้าสู่ระบบสาธารณสุขถึงปีละมากกว่า 1 หมื่นกรณี แต่ในจำนวนนี้กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นตัวเลขหลักร้อยเท่านั้น และมีเพียงไม่กี่กรณีที่ดำเนินกระบวนการไปถึงชั้นศาล กรวิไล เทพพันธ์กุลงาม นักวิเคราะห์โครงการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง โครงการปลอดภัยและยุติธรรม UN Women เปิดเผยว่า ถ้าลงไปเก็บข้อมูลเชิงลึกจะพบว่ามีผู้หญิงอีกมากที่ไม่ขอรับความช่วยเหลือใดๆ เลยเมื่อเกิดปัญหาความรุนแรงทางเพศ เพราะในกระบวนการต่างๆ ทั้งมายาคติของสังคมไทย และขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ไม่เอื้อให้ผู้หญิงเหล่านี้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวของตนเอง
“เมื่อนึกถึงอุปสรรคที่ผู้หญิงซึ่งถูกกระทำรุนแรงต้องเจอ เราสามารถนึกถึงกำแพงหนาๆ ที่มีก้อนอิฐถูกวางกดทับซ้อนลงไปเป็นชั้นๆ ในแต่ละชั้นก็มีลักษณะความยากที่ต่างกัน ตั้งแต่ชั้นแรกคือวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ค่านิยมของสังคมที่กำหนดว่าผู้หญิงควรหรือไม่ควรทำอะไร ซึ่งทำให้นำไปสู่ก้อนอิฐในชั้นถัดไป คือ เมื่อผู้หญิงถูกสังคมกำหนดว่าต้องไม่มีรอยด่างพร้อย มีคำถามว่า แต่งตัวโป๊มั้ย ทำไมไปที่นั่นคนเดียว ทำไมจึงไปอยู่ในสถานที่นั้นสองต่อสอง ผู้หญิงที่ถูกกระทำก็จะเกิดผลกระทบกระเทือนทางจิตใจจากความกลัวถูกสังคมตีตรา จนกลายเป็นการตีตราตัวเอง จากนั้นหลายคนเกิดอาการป่วย PTSD (โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง) บางคนกลัวโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เลยเถิดไปถึงการคิดอยากฆ่าตัวตาย” กรวิไล กล่าว
ส่วนก้อนอิฐที่กดทับผู้เสียหายจากความรุนแรงทางเพศในชั้นด้านบน กรวิไล กล่าวถึงปัจจัยที่เกิดจาก “ฝ่ายผู้กระทำ” ในลักษณะของ “ผู้มีอำนาจเหนือกว่า” ซึ่งมักจะพบรูปแบบการข่มขู่ให้เก็บเรื่องเป็นความลับ หลอกลวงให้เชื่อ รวมไปถึงการแสวงหาผลประโยชน์ต่างๆ จากผู้เสียหาย และก้อนอิฐในชั้นบนสุดก็คือ กระบวนการยุติธรรม ซึ่งยังมีรูปแบบการหาข้อเท็จจริงที่เป็นการผลิตซ้ำความรุนแรงต่อผู้เสียหาย ถามเหตุการณ์ซ้ำในหลายขั้นตอน ซึ่งเป็นเหมือนการผลักภาระหน้าที่พิสูจน์ความจริงไปที่ผู้เสียหาย
“เราจะเห็นว่า หากผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกกระทำรุนแรงทางเพศจะตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะต้องเผชิญกับอะไรเยอะมาก เช่น หากจะแจ้งความว่าถูกข่มขืน ก็ต้องเผชิญกับมายาคติที่เจ้าหน้าที่รัฐหรือสังคม จะพยายามให้แสดงให้เห็นว่ามีบาดแผลทางร่างกายหรือไม่ มีร่องรอยการต่อสู้ขัดขืนหรือไม่ ทั้งที่มีงานวิจัยมากยืนยันว่า ภาวะการตอบสนองต่อภัยคุกคามของแต่ละคนไม่เหมือนกัน หรือหากผู้หญิงตัดสินใจมาแจ้งความหลังเกิดเหตุไปแล้วนานเกินไป ก็จะถูกตั้งคำถามอีกว่า ทำไมไม่มาแจ้งความตั้งแต่เกิดเหตุ นี่เป็นแค่ตัวอย่างบางส่วนของอิฐที่กดทับซึ่งเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม” กรวิไล กล่าว
กรวิไล ย้ำว่า ต้องเร่งแก้ปัญหาการตอบสนองของกระบวนการยุติธรรมต่อกรณีความรุนแรงทางเพศ โดยเสนอหลักการที่ควรนำไปใช้ไว้หลายประเด็น คือ ผู้เสียหายต้องเป็นศูนย์กลางของการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม ต้องมีสิทธิในการตัดสินใจเองว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร ต้องยึดหลักความปลอดภัยของผู้เสียหายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ต้องทำให้การพิสูจน์ความจริงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐไม่ใช่หน้าที่ของผู้เสียหาย และภาระการแสดงความรับผิดชอบต้องเป็นของผู้กระทำความรุนแรง ซึ่งไม่ใช่การจ่ายเงินหรือยอมแต่งงานกับผู้เสียหาย แต่ต้องรับผิดชอบด้วยการสำนึกผิด ชดเชยเยียวยา และรับโทษทางอาญา
หากจะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ยังคงต้องทบทวนทั้งกฎหมายและวิธีการทำงานอีกมาก ตั้งแต่การทำให้กฎหมายครอบคลุมให้การคุกคามทางเพศในทุกรูปแบบถูกกำหนดเป็นฐานความผิด ทั้งการคุกคามในสถานที่ทำงานหรือในทุกพื้นที่ การเฝ้าติดตามสะกดรอย รวมทั้งการคุกคามทางโลกออนไลน์
ชวนพลิกมุมมอง ปกป้องผู้เสียหาย เปิดโปงผู้กระทำ
เมื่อกล่าวถึงระบบหรือโครงสร้างในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีการใช้ความรุนแรง การคุกคามทางเพศหรือการข่มขืน วันชัย รุจนวงศ์ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและเด็ก เปิดเผยว่า ข้อท้าทายของการทำคดีประเภทนี้มีอยู่สองประเด็น หนึ่งคือ ต้องให้ผู้หญิงที่เป็นผู้เสียหายเล่าเรื่องซ้ำหลายรอบ รอบแรกที่เขาเล่าอาจให้คนสนิทฟังเพื่อตัดสินใจว่าจะดำเนินคดีไหม แต่ถ้ามาเข้าสู่กระบวนการแจ้งความ ก็จะถูกตำรวจซักถามอย่างละเอียดมากจนดูเหมือนขาดความเห็นอกเห็นใจ และเมื่อไปเบิกความในชั้นศาล ก็จะถูกทนายจำเลยซักถามแบบลงทุกรายละเอียดต่อหน้าคนจำนวนมากอีก เพื่อพยายามหักล้างข้อมูลของผู้เสียหาย ซึ่งในคดีทางเพศ หากผู้เสียหายเป็นผู้ใหญ่อายุเกิน 18 ปี ก็ไม่มีระบบปกปิดชื่อเหมือนในคดีเด็กและเยาวชน ในขณะเดียวกัน ระบบกฎหมายก็จะต้องพิจารณาว่าการจะตัดสินลงโทษรุนแรงกับผู้ถูกกล่าวหา ก็ต้องมีข้อมูลเพียงพอที่ทำให้แน่ใจจริงๆ ว่าเป็นผู้กระทำผิดจริง จึงกลายเป็นว่า ผู้ใช้กฎหมายต้องระมัดระวังในการพิจารณาคดี กระบวนการเหล่านี้ จึงทำให้ผู้เสียหายรู้สึกไม่เป็นมิตรและไม่ปลอดภัยเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
“คนในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ถูกอบรมให้เห็นอกเห็นใจผู้เสียหาย ศูนย์กลางจะอยู่ที่ผู้ต้องหา ไม่ได้สนใจผู้เสียหาย เป็นทุกคดี ไม่เฉพาะคดีข่มขืน เมื่อแจ้งความแล้ว ท่านจะไม่ได้รับความคืบหน้าว่าเรื่องถึงไหน และเราไม่มี victim friendly procedure หรือ กระบวนการที่เป็นมิตรต่อผู้เสียหาย เพื่อดูแลผู้เสียหาย ไม่เหมือนกรณีเด็ก ที่มีนักสังคมสงเคราะห์ดูแลในกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นเราต้องสร้างระบบพวกนี้มาช่วยให้ผู้เสียหายสามารถพูดออกมาได้ ต้องให้ความคุ้มครอง ให้เล่าเรื่องได้โดยไม่ถูกเปิดเผย มีระบบรักษาความลับ”
ประเด็นที่สอง คือ คดีข่มขืนเป็นคดีจิตวิทยา วันชัย เปิดเผยผลการศึกษาที่พบว่า ผู้กระทำในคดีข่มขืนส่วนใหญ่ไม่ใช่คนแปลกหน้า เป็นคนที่รู้จักกันอยู่แล้ว มีรูปแบบการสร้างจินตนาการก่อนลงมือ และหาจังหวะที่สามารถลงมือข่มขืนได้ จึงยิ่งกลายเป็นเรื่องยากที่ผู้เสียหายจะตัดสินใจแจ้งความ โดยยังต้องคิดอีกว่า หากแจ้งความแล้ว จะกลายเป็นข่าว มีชื่อ หน้า หรือ อัตลักษณ์บุคคลไปปรากฏอยู่ในสื่อ ทำให้คนรอบข้างในชุมชน ที่ทำงานรู้ว่าถูกข่มขืน โดยเฉพาะผู้เสียหายที่มีคู่ชีวิตอยู่แล้ว ยังต้องกังวลว่า คู่ชีวิตจะยอมรับได้หรือไม่ หากเปิดเผยเรื่องราวออกไป
“ถ้าไปโรงพัก พอเข้าระบบทุกอย่างไม่อยู่ในการควบคุมแล้ว ต้องเป็นไปตามระบบ หลังจากนั้นถอยไม่ได้แล้ว ที่สำคัญคือ คดีข่มขืนส่วนใหญ่ผู้กระทำกับผู้เสียหายมักจะอยู่กันสองต่อสองระหว่างเกิดเหตุ ทำให้ไม่มีพยานบุคคลอื่น ดังนั้นเมื่อคนหนึ่งบอกว่าถูกข่มขืน อีกคนบอกว่าไม่ได้ทำ กระบวนการยุติธรรม ที่ต้องพิจารณาเพื่อเอาคนไปติดคุก 20 ปี จะเชื่อใครดี ดังนั้น พยานแวดล้อมจึงสำคัญมาก หรือหากมีผู้เสียหายหลายคนเข้ามาแจ้งความต่อผู้กระทำคนเดียวกัน ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากเช่นกัน ซึ่งกระบวนการยุติธรรมควรเน้นไปที่เรื่องนี้ เพราะเป็นการเปิดโปงผู้กระทำผิด มากกว่าที่จะไปตั้งคำถามกับผู้เสียหาย”
วันชัย ให้ความเห็นสรุปโดยอยากให้ลองคิดร่วมกันก่อนว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ส่งเสริมการข่มขืนหรือไม่ เพราะมีทั้งวัฒนธรรมการกล่าวโทษผู้เสียหาย สร้างความอับอายแก่ผู้เสียหาย การฟังความแล้วตัดสินผู้เสียหายหรือผู้กระทำโดยไม่พิจารณาบริบทอย่างรอบคอบ จึงเสนอแนวทางต่อกระบวนการยุติธรรม ให้ออกแบบกระบวนการพิจารณาคดีที่ให้ความสำคัญต่อผู้เสียหายขึ้นมา ซึ่งหากยังไม่สามารถทำอย่างเต็มระบบได้ ก็อาจจะดำเนินการได้ก่อนในบางเรื่อง เช่น การเก็บความลับของผู้เสียหาย หรือมีกฎหมายห้ามสื่อเปิดเผยรายละเอียดส่วนตัวผู้เสียหายที่ไม่ยินดีเปิดเผยตัวตน เป็นต้น และเชื่อว่าจะสามารถนำไปใช้ในคดีประเภทเดียวกันที่เกิดกับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย เพราะในกฎหมายของประเทศไทยได้ปรับปรุงถ้อยคำแล้ว โดยใช้คำว่า “ผู้ใดข่มขืนผู้อื่น” ซึ่งไม่ใช่ถ้อยคำที่ระบุเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น
“เหตุคุกคามเหล่านี้เกิดจากการไม่เคารพว่าอีกคนเป็นคนเท่ากัน หากเห็นว่าเป็นคนเท่ากันเหตุเหล่านี้จะไม่เกิด อย่างการคุกคามด้วยข้อความทาง Line ก็เป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นคน (dehumanize) ผู้หญิงอย่างหนึ่ง เมื่อเห็นว่าคุกคามได้ ก็ข่มขืนได้ มองผู้หญิงเป็น social object”