ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

อาเซียนถกประเด็นเสริมแกร่ง ‘ยุติธรรมทางอาญา’ หลังฟื้นตัวโควิด-19 พร้อมดันเยาวชนเสนอแนวทางสู่โลกเมตาเวิร์ส ในเวที ACCPCJ ครั้งที่ 3

 

ตัวแทนประชาคมอาเซียนร่วมประชุมถกประเด็นหารือทางออก 3 ปัญหาหลักทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญา  ได้แก่ อาชญากรรมไซเบอร์ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และความร่วมมือระหว่างประเทศ  หลังช่วงสามปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบลามถึงกระบวนการยุติธรรม ทั้งซ้ำเติมปัญหาเดิม และเกิดปัญหาใหม่ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ชูแก้ปัญหาคนล้นคุก หารือทางแก้อาชญากรรมไซเบอร์ เน้นความร่วมมือรัฐ-เอกชนและทุกภาคส่วน พร้อมดันเยาวชนมีส่วนร่วม ในงาน “การประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 3 (The Third ASEAN Conference on Crime Prevention and Criminal Justice หรือ 3rd ACCPCJ)” ระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคม ศกนี้ ที่กรุงเทพฯ  โดยมี สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ ทีไอเจ (TIJ) เป็นตัวแทนประเทศไทยจัดงานดังกล่าว

งานประชุม ACCPCJ ครั้งที่ 3 ถูกจัดเป็นครั้งแรกภายหลังการฟื้นตัวของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19   มีหัวข้อสำคัญในการประชุม คือ  “การรับมือกับความท้าทายในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาช่วงฟื้นตัวของอาเซียนหลังสถานการณ์โควิด-19” (“Responding to Crime and Justice Challenges amidst ASEAN Recovery from the Covid-19 Crisis”) ซึ่งเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ แนวทางการปฏิบัติที่ดีระหว่างประเทศสมาชิก ส่งเสริมความร่วมมือทางกฎหมายการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ การดำเนินงานด้านความยุติธรรมทางอาญาอย่างบูรณาการ โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย (ASLOM) เจ้าหน้าที่ด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (SOMTC) คณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (SOCA) ตลอดจนผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติงาน และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมในอาเซียน
 

ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสาระหลักของการประชุมว่า “การประชุมเน้นเจาะลึกแนวโน้มสถานการณ์ปัญหาล่าสุด ความท้าทายปัญหาอุปสรรค ลำดับความสำคัญเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ในการจัดการกับปัญหา และแนวทางในการจัดการปัญหาร่วมกัน จากมุมมองของเจ้าหน้าที่อาวุโส ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติงาน นักวิชาการ และเยาวชนอาเซียน โดยมุ่งหวังว่าเวทีนี้จะเป็นอีกหนึ่งเวทีที่ช่วยจุดประกายแนวทางแก้ปัญหา จากการระดมความคิดและความร่วมมือระดับภูมิภาค ข้ามเสา ข้ามสาขา เพื่อให้เกิดการพัฒนากรอบกฎหมาย ความร่วมมือระหว่างประเทศ ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน และการเสริมสร้างศักยภาพในการขจัดข้อท้าทายต่าง ๆ เกิดเป็นแรงกระเพื่อมในการผลักดันประเด็นเหล่านี้สู่การปฏิบัติในระดับอาเซียนต่อไป เรามีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ที่ว่าเราต้องผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันในกระบวนการยุติธรรมในระดับเดียวกับความร่วมมือกันอย่างแข็งขันทุกภาคส่วนในการฝ่าวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 มาด้วย สืบเนื่องจากประเด็นปัญหาด้านความยุติธรรมทางอาญามีเพิ่มขึ้นและเกิดขึ้นข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ เพราะปัญหาที่เรากำลังเผชิญไม่ได้เป็นปัญหาแค่ภายในประเทศใดประเทศหนึ่ง เราไม่ใช่พลเมืองประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ยังเป็นพลเมืองอาเซียน และต้องเรียนรู้ปัญหาอาเซียนร่วมกัน ผมเชื่อมั่นว่า การจะแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนได้นั่นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย และในการประชุมที่มีทั้งวงประชุมสัมมนาและเวทีประชุมหารือเชิงปฏิบัติการ ที่มีทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมในการหารือเพื่อผลักดันการแก้ปัญหาความยุติธรรมทางอาญาที่กำลังเผชิญอยู่ และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีสิทธิมีเสียงแบ่งปันความรู้ประสบการณ์ และความคิดเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริงดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ กล่าว

นาย ทราน ดุ๊ก บินห์ รองเลขาธิการอาเซียนด้านการบริหารและกิจการประชาคม (H.E. Tran Duc Binh, Deputy Secretary-General of ASEAN for Community and Corporate Affairs) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะมันเป็นช่วงครบรอบอาเซียน 55 ปี มองว่าวาระเรื่องของความยุติธรรมหรือกระบวนการยุติธรรมเป็นวาระที่สำคัญสำหรับอาเซียน งานนี้เราได้พาผู้เชี่ยวชาญหลายๆท่านในภูมิภาคนี้มารวมตัวกันทำให้เกิดความร่วมมือทางด้านของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เราได้พาเยาวชนมาเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ ถือว่าทำให้งานนี้มีความหมายมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม แล้วทางอาเซียนเองเราก็ได้มีการทำงานร่วมกันข้ามสาขามากมายเพื่อที่จะก่อให้เกิดการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมแล้วก็ก่อให้เกิดความยุติธรรมทางด้านอาญา เชื่อว่างานนี้จะทำให้เป็นการพัฒนาความร่วมมือและทำให้เกิดผลลัพธ์อันดีในระดับเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้เรายังมีการพูดคุยอภิปรายแล้วก็ทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงต่าง ๆ แล้วก็ partner ต่าง ๆ เพื่อที่ว่าจะทำให้กฎนิติธรรมหรือ Rule of Law แข็งแกร่งขึ้นและทำให้ธรรมาภิบาลในภูมิภาคอาเซียนดียิ่งขึ้น

 

 

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเราจะเห็นเลยว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและเศรษฐกิจเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเราเห็นว่าตอนนี้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสูงขึ้นจึงทำให้เกิดอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่สูงขึ้นตามมาด้วย มากไปกว่านั้นแล้วในช่วงโควิดสิ่งที่เกิดขึ้นคือจำนวนของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นเยอะมากในภูมิภาคนี้ เรียกได้ว่าเป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีคนใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุด เมื่อจำนวนผู้ใช้งานสูงขึ้น จำนวนอาชญากรรมทางโลกไซเบอร์ก็สูงขึ้นตาม จึงมีความจำเป็นที่ประเทศอาเซียนจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อที่จะแก้ไขปัญหา Cybercrime ให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ในขณะที่เรายังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเวลาเดียวกันได้ สิ่งที่เป็นแผนสำคัญที่เรามีกันอยู่ตอนนี้คือ Plan of Action เรียกว่าเป็นแผนปฏิบัติการบันดาร์เสรีเบกาวัน และเรากำลังพยายามให้ความสำคัญเรื่องของ Cybercrime มากขึ้นซึ่งเป็นหนึ่งในวาระที่อยู่ในแผนการทำงานบันดาร์เสรีเบกาวัน ด้วยและสำหรับประเทศไทยเราก็มีการทำงานข้ามเสาและข้ามสาขากันเพราะเราเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่สามารถที่จะให้หน่วยงานใดทำงานได้โดยแค่หน่วยงานเดียว เราต้องทำงานร่วมกัน

 

สำหรับบทบาทอาเซียนบนเวทีโลกกับการแก้ปัญหาและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ทางอาเซียนพยายามที่จะสนับสนุนการใช้กฎนิติธรรม Rule of Law และธรรมาภิบาลอันดีโดยที่เรามีการทำงานร่วมกันในแง่ของกฎหมายแล้วก็มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมหรือกระบวนการทางศาลด้วย เราทำงานกับ partner มากมายในเรื่องนี้แล้วก็ทำงานกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือ stakeholder ต่าง ๆอยู่ตลอดและการที่เราได้มารวมตัวกันในงานประชุมนี้ ก็เป็นนิมิตหมายอันดีที่ทำให้การทำงานร่วมกันของเราแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมเพื่อที่ว่าเราจะได้มาแบ่งปันประสบการณ์และความเชี่ยวชาญซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ทั้งสำนักงานเลขาธิการอาเซียนเรามีการให้การสนับสนุนกับประเทศภาคีในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมต่าง ๆ

 

นาย ลุค ตัง ผู้อำนวยการกองกฎหมายระหว่างประเทศ / กระทรวงกฎหมาย ประเทศสิงคโปร์ (Luke Tang Director International Legal Division) กล่าวว่า จุดแข็งของเราคือสามารถแบ่งปันข้อมูล ประสบการณ์และแนวทางปฎิบัติที่ดีให้กับผู้อื่นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการพัฒนากฎหมายและกฎระเบียบต่างๆในแง่ของความยุติธรรม ยกตัวอย่างคือช่วงโควิดที่สิงคโปร์ ศาลสามารถที่จะให้รับหลักฐานผ่านทางไกลได้ หรือทางออนไลน์ได้เพื่อที่ว่าจะช่วยให้ประชาชนสามารถที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ดีขึ้นแล้วก็ทำให้กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ทาง ASLOM มีคณะทำงานหรือ Working Group ที่ทำงานในด้านของ ASEAN Extradition Treaty หรือสนธิสัญญาการส่งผู้ร้ายกลับประเทศของอาเซียน แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งเมื่อไหร่ที่เรียบร้อยแล้วก็เชื่อว่าจะทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น

 

นายกิตติภูมิ เนียมหอม ผู้อำนวยการสำนักกิจการต่างประเทศและประสานนโยบาย  สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของงานประชุม ACCPCJ เพื่อเกิดความร่วมมือข้ามเสาและข้ามสาขาทุกภาคส่วนของอาเซียน โดยเนื้อหาที่เราพูดถึงคือประเด็นที่เป็นปัญหาสำคัญของแต่ละประเทศ เราพูดถึงการก้าวผ่านวิกฤติการณ์โควิด ซึ่งมุ่งเน้นการพูดคุยในสามประเด็นคืออาชญากรรมไซเบอร์  ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม ทุกประเด็นจะมุ่งเน้นความร่วมมือไม่เฉพาะแต่ในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น แต่เป็นการร่วมมือข้ามสาขาและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

 

จุดร่วมความท้าทายใหม่ในกลุ่มประเทศอาเซียนที่จำเป็นต้องผลักดันให้มีการแก้ไข ได้แก่  อาชญากรรมไซเบอร์ (Cybercrime) ซึ่งเกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรงกว่าที่เคยเป็นมา มีมูลค่าความเสียหายมหาศาล รูปแบบของอาชญากรรมไซเบอร์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนารูปแบบกิจกรรมออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย การฉ้อโกงหลอกลวง รวมถึงการแสวงหาประโยชน์จากกลุ่มเสี่ยง  ซึ่งอาชญากรทางไซเบอร์ในปัจจุบัน ใช้เทคโนโลยีกระทำผิดส่งผลเสียหายต่อบุคคล หน่วยงานทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

 

 

ขณะที่ ปัญหาคนล้นคุก หรือความแออัดในเรือนจำ ยังเป็น ปัญหาเรื้อรัง ในกระบวนการยุติธรรมทั่วภูมิภาคอาเซียน  และจำเป็นต้องมี “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” โดยรากฐานของปัญหาส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้กฎหมายมุ่งเน้นลงโทษหนัก เน้นการจับผู้ต้องหาเข้าเรือนจำ และการคุมขังผู้กระทำผิดโดยไม่มีการแก้ไขฟื้นฟู ภาวะโรคระบาดช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยังเพิ่มปัญหาด้านการบริหารจัดการภายในเรือนจำยากลำบากขึ้น  และไม่สามารถดูแลด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากมีงบประมาณจำกัด โดยงบประมาณส่วนใหญ่เป็นงบค่าอาหารของผู้ต้องขัง และขนาดพื้นที่เรือนจำที่ไม่สมดุลกับจำนวนผู้ต้องขัง โดยเฉพาะเรือนจำในเขตกลางเมืองที่มีขนาดเล็ก ดังนั้นแนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูแทนการคุมขังชำระโทษผู้กระทำผิด ด้วยวิธีการต่าง ๆ อาทิ การคุมประพฤติ การปล่อยตัวก่อนกำหนด หรือ การนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) จึงเป็นอีกแนวปฏิบัติที่จะช่วยลดปัญหาความแออัดในเรือนจำได้ รวมถึงได้ส่งเสริมการฟื้นฟูผู้ต้องขังเป็นคนคุณภาพกลับคืนสู่สังคมอีกด้วย

 

 

ปัญหาสำคัญประการที่ 3 คือ ความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการปัญหากระบวนการยุติธรรมร่วมกัน  สืบเนื่องจากข้อจำกัดด้านการเดินทางช่วงเกิดโรคระบาด  ส่งผลให้การดำเนินการตามคำร้องขอความช่วยเหลือ เช่น ขั้นตอนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน การติดตามทรัพย์สิน เป็นไปด้วยความยากลำบาก และปัญหามีความรุนแรงและซับซ้อนขึ้น

 

 

การประชุมครั้งนี้ถูกคาดหมายว่าจะก่อให้เกิดความคิดและวิธีการใหม่ ๆ ในการป้องกันการเกิดอาชญากรรม และระบบยุติธรรมทางอาญาที่ครอบคลุมมากขึ้น ร่วมมือกันทุกภาคส่วนมากขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่าย มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายด้วย

 

 

นอกจากวงประชุมหลัก ยังมีกิจกรรมคู่ขนานที่เป็นไฮไลท์สำคัญของงานประชุม ACCPCJ ครั้งที่ 3 โดย สถาบันฯ ทีไอเจ คัดเลือกเยาวชนตัวแทนอาเซียน 10 ประเทศ จำนวน 10 คนจากเยาวชนอาเซียนทั้งหมด 150 คนที่ได้ผ่านการเข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการเยาวชนระดับนานาชาติสำหรับเยาวชน หรือ ALSA Forum ครั้งที่ 19  หัวข้อ “Challenging Distances: Metaverse World Intertwined” ซึ่งทาง TIJ ได้ร่วมกับองค์กรนิสิตนักศึกษากฎหมายเอเชีย (Asian Law Student’s Association หรือ ALSA) ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4-7 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา 

 

ในงาน ALSA Forum เยาวชนอาเซียนได้แลกเปลี่ยนความรู้ทาง วัฒนธรรม กฎหมาย และจุดประกายแนวคิดดีๆ  ในประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายโลกเสมือนหรือเมตาเวิร์ส และตัวแทนเยาวชนอาเซียนจะนำแนวคิดหรือไอเดียใหม่ๆ  หัวข้อ “Future of Justice in the Digitized World”  ที่เป็นผลลัพธ์จากงานสัมมนาและกิจกรรมคู่ขนาน มานำเสนอในการจัดการประชุมเวทีคู่ขนาน The 3rd ACCPCJ Youth Forum หัวข้อ “Future of Justice in the Digitized World” วันที่ 24 สิงหาคม เป็นวาระปิดท้ายงานประชุมตลอดช่วงงานประชุม ACCPCJ ครั้งที่ 3

 

 

งานกิจกรรมเยาวชนอาเซียนของทีไอเจ มุ่งหวังให้เกิดการสร้างเครือข่าย และวางแผนการดำเนินงานเกี่ยวกับการผลักดันข้อเสนอ ข้อคิดเห็น และข้อมติสำคัญในเวทีอาเซียน และเป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ผู้นำ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค  และเยาวชน  เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างมีประสิทธิผลและยั่งยืนต่อไป

 

 

การประชุมอาเซียนว่าด้วยเรื่อง การป้องกันการเกิดอาชญากรรม และความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 3 The Third ASEAN Conference on Crime Prevention and Criminal Justice (3rd ACCPCJ) จัดระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคม พ.ศ.2565 ณ โรงแรม แบงค็อก แมริออท มาร์ควิส ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพมหานคร  ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ สมศักดิ์ เทพสุทินรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมด้วย ทราน ดุ๊ก บินห์ รองเลขาธิการอาเซียนด้านสังคมและวัฒนธรรม และ นาโอกิ ซูกาโน ตัวแทนสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เข้าร่วมประชุม

 

ติดตามอ่านบทความ สรุปสารัตถะการประชุมอาเซียนว่าด้วยเรื่อง การป้องกันการเกิดอาชญากรรม และความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 3 

 

Back
chat