ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

“การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” เทคนิคการสอบสวนคดีอาญาที่เป็นทำให้หลักการ “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์” เป็นรูปธรรมจับต้องได้  ทางออกจากวังวนการทำร้ายผู้ถูกกล่าวหา

 

 

“การทรมานเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระดับรากฐานอย่างชัดเจน และขัดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์   ส่วนวิธีการครอบงำทางจิตวิทยาและเทคนิคการสืบสวนสอบสวนแบบขู่บังคับเพื่อให้ได้คำสารภาพนั้นแม้จะดูไม่ร้ายแรงเมื่อเทียบกับการทรมาน แต่ก็เป็นเพียงการปรับปรุงเทคนิควิธีให้แตกต่างไป แต่ยังคงมุ่งบรรลุเป้าหมายเดิม คือทำให้ผู้ต้องสงสัยรับสารภาพ วิธีคิดของผู้ทำหน้าที่สืบสวนยังไม่ได้เปลี่ยนไป ไม่ได้ส่งเสริมอะไร แถมยังบ่มเพาะเชื้อแห่งการขู่บังคับ”

 

Dr. Asbjorn Rachlew ผู้เชี่ยวชาญศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนอร์เวย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยออสโล  ผู้มีประสบการณ์ด้านงานสืบสวนสอบสวนมากว่า 10 ปี เคยสอบปากคำทั้งเหยื่อ พยาน และผู้ต้องสงสัยในคดีอาญามามากกว่าพันครั้ง เป็นที่ปรึกษา เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย และเป็นผู้สอนในสถาบันการศึกษาของตำรวจหลายแห่งทั่วโลก เผยถึงแนวคิดที่มุ่งปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติในการสอบสวนผู้ต้องสงสัย จากวิธีการสอบปากคำแบบเดิม ที่มุ่งเน้นเพื่อให้ได้ “คำรับสารภาพ” จากผู้ต้องสงสัย ไปเป็นวิธีการใหม่ที่เรียกว่า “การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” (Investigative Interview) ในเวทีเสวนา TIJ Forum หัวข้อ “Way Out หนทางใหม่สู่การค้นหาความจริง” ซึ่งจัดขึ้นโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ ศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนอร์เวย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยออสโล เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2564  

 

 

การจะเปลี่ยนวิธีการสอบปากคำเป็นแนวทางใหม่จำเป็นต้องเริ่มจาก “เปลี่ยนวิธีคิดของผู้ที่หน้าที่สอบสวนให้มองต่างไปจากเดิม  ต้องให้ความรู้และวิธีคิดที่จะทำให้พวกเขาพยายามตั้งสมมติฐานทางเลือกแบบต่างๆ ขึ้นมาก่อน แล้วจึงไล่ตรวจสอบสมมติฐานเหล่านั้น แทนที่จะวิ่งตามหาแต่เฉพาะข้อมูลที่มุ่งยืนยันความผิดของผู้ต้องสงสัย (ตามสมมติฐานที่จำกัดแบบเดิม)”  Dr. Asbjorn กล่าว

 

 

เมื่อไปทบทวนดูวิธีการทำงานของตำรวจนอร์เวย์ในอดีต Dr. Asbjorn ค้นพบว่า ถึงแม้จะมีความพยายามเปลี่ยนแปลงจากวิธีการสอบปากคำแบบเดิม ไปใช้วิธีที่เรียกว่า “การครอบงำทางจิตวิทยาเพื่อให้ได้คำรับสารภาพ” แต่นั่นก็ยังหวังผลเพียงเพื่อต้องการให้ได้ “คำสารภาพ” จากผู้ต้องสงสัย ไม่ได้มีความเห็นอกเห็นใจหรือเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แต่อย่างใด และที่อันตรายมากคือแนวทางการสอบปากคำของตำรวจนี้ ยังถือว่าเป็นข้อมูลความลับเฉพาะสำหรับตำรวจและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น

 

 

“คุณลองนึกดูว่า หากนี่คือโรงพยาบาล ที่เต็มไปด้วยแพทย์แต่ละคนที่ต่างก็ผ่าตัดคนไข้กันด้วยวิธีโบราณและเก็บงำกันเป็นความลับ ต่างคนต่างมีกระบวนการของตัวเองที่แตกต่างกันสิ้นเชิง จะมีประชาชนคนไหนยอมเชื่อถือในองค์กรแบบนั้นบ้าง  (สภาพเช่นนั้น) ย่อมไม่ส่งผลดีต่อวิชาชีพที่ต้องอาศัยความไว้วางใจจากสาธารณชน และคนคาดหวังว่าต้องเป็นมืออาชีพและยุติธรรม ดังนั้นตำรวจในสังคมประชาธิปไตยที่มุ่งทำงานเพื่อหลักนิติธรรม จึงไม่สามารถมีเทคนิคการสอบสวนแบบลับๆได้” Dr. Asbjorn กล่าว

 

 

ส่วน “การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” (Investigative Interview) เป็นวิธีการที่ทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยมีผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์นานถึง 30 ปี เป็นเครื่องยืนยันว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีการสอบสวนเพื่อให้ได้มาซึ่งคำสารภาพแบบเดิม  แนวคิดและปรัชญาที่เป็นรากฐานของวิธีการนี้ คือ การสอบสวนโดยยึดหลักการ “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์”

 

 

Dr. Asbjorn ได้ริเริ่มโครงการฝึกอบรม “การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” อย่างเป็นทางการขึ้นครั้งแรกที่นอร์เวย์ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการทำงานของตำรวจในสหราชอาณาจักร ซึ่งนับเป็นประเทศแรกในโลกที่เปลี่ยนแปลงการสอบสวน โดยได้ตั้งชื่อหลักสูตรอบรมนี้ว่า CREATIV ซึ่งสื่อถึงค่านิยมหรือหลักการของหลักสูตร

 

 

หลัก CREATIV ประกอบด้วย การให้ความสำคัญกับการสื่อสาร (Communication) การยึดหลักนิติธรรม (Rule of law) จริยธรรมและความเห็นอกเห็นใจ (Ethics and Empathy) การฟังอย่างตั้งใจ (Active Consciousness) การสร้างความเชื่อใจ (Trust) การให้ความสำคัญกับการเปิดรับข้อมูล (Information) และการตรวจสอบความถูกต้อง (Verification) 

 

 

โปรแกรมการฝึกอบรม มีทั้งการบรรยายทฤษฎีและวิดีโอแบบฝึกหัด เนื้อหาส่วนหนึ่งกล่าวถึงหลักการสำคัญในการสอบปากคำผู้ต้องสงสัย   ซึ่งคณะกรรมาธิการต่อต้านการทรมานของสภายุโรป ได้กำหนดแนวทางเป็นมาตรฐานไว้ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2545 ว่า “การซักถามผู้ต้องสงสัยในคดีอาญาถือเป็นงานของผู้ชำนาญการเฉพาะทาง ผู้ปฏิบัติงานต้องผ่านการฝึกอบรมมาโดยเฉพาะ”  เนื้อหาหลักสูตรยังมีส่วนที่เกี่ยวกับทฤษฎีความจำของมนุษย์ จิตวิทยาเกี่ยวกับพยานผู้เห็นเหตุการณ์ ทฤษฎีการตัดสินใจ ทักษะการสื่อสาร  ประเภทของคำสารภาพที่เป็นเท็จ และแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดคำสารภาพที่เป็นเท็จ ซึ่งต้องเน้นย้ำไปถึงความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดกระบวนการพัฒนา

 

 

การบรรยายส่วนที่สำคัญที่สุดในหลักสูตร คือ การฝึกเทคนิคการสัมภาษณ์ ซึ่งมีฐานมาจากโมเดลที่เรียกว่า PEACE ของสหราชอาณาจักร โดยการแบ่งขั้นตอนการซักถามผู้ต้องสงสัยออกเป็นการวางแผนและการเตรียมการ ทั้งการเตรียมร่างกาย เตรียมการเกี่ยวกับคดี และเตรียมการเรื่องสภาพทางจิตใจ (Planning and Preparation) การผูกไมตรีและการอธิบาย (Engage and Explain) การเปิดโอกาสให้ผู้ต้องสงสัยเล่าเหตุการณ์หรือตอบคำถาม (Account) การจบการซักถาม (Closure) และการประเมินผล (Evaluation) 

 

 

อย่างไรก็ดี เมื่อนำวิธีการดังกล่าวมาใช้ ก็มีผู้โต้แย้งว่าวิธีแบบนี้อาจจะใช้ได้ดีเฉพาะแต่ในประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศเล็ก ๆ ที่สงบสุขและมีอัตราอาชญากรรมต่ำ แต่ใช้ไม่ได้จริงในประเทศขนาดใหญ่ที่มีอัตราอาชญากรรมสูง Dr. Asbjorn ยืนยันว่าไม่เป็นความจริงเลย เพราะวิธีการ “สัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” ใช้ได้ผลสำเร็จมาแล้วในคดีฆาตกรรมหลายร้อยคดี   ตัวอย่างหนึ่งคือการใช้วิธีการนี้ในการสืบสวนสอบสวน “เหตุก่อการร้าย” ในนอร์เวย์ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2011 ซึ่งทำให้กรุงออสโลกลายเป็น “พื้นที่สงคราม” มีการวางระเบิดในอาคารของรัฐบาลหลายแห่ง  รวมถึงที่เกาะอูเตอยา ซึ่งมีเด็กและเยาวชนรวมตัวกันอยู่เพื่อทำกิจกรรมเข้าค่ายพลเมือง ผู้ก่อการร้ายไล่ฆ่าเด็กให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

 

วันนั้นรัฐบาลของนอร์เวย์ ได้ออกแถลงการณ์สำคัญให้ประชาชนรับทราบ เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า “ในวันพรุ่งนี้นอร์เวย์จะยังเป็นดินแดนในแบบเดิมที่ทุกคนรู้จัก จะไม่มีใครสามารถพรากเอาคุณค่าหรือประชาธิปไตยของเราไปได้” 

 

 

“แถลงการณ์นี้ สำหรับผมในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลการสัมภาษณ์ผู้ต้องสงสัย เหมือนกับเป็นคำสั่งโดยตรงจากรัฐบาลให้เรายึดมั่นในสิ่งที่ฝึกฝนมา ค่านิยมของเราคืออะไร เรามีคำตัดสินของศาลสูง เรามีกฎหมายรัฐธรรมนูญ เรามีอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย แต่กฎหมายและค่านิยมทั้งหมดเหล่านี้ล้วนปลูกฝังอยู่ในระเบียบวิธีการของเรา แน่นอนว่ามันคือคุณค่าที่ปรากฏอยู่บนแผ่นกระดาษ แต่อีกด้านหนึ่งคือการนำเอาคุณค่าเหล่านั้นไปสู่การปฏิบัติในสถานการณ์ที่มีความกดดันสูง” Dr. Asbjorn กล่าว

 

 

ปัจจุบันหลักสูตรการอบรม “การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” ได้รับความสนใจจากหลายประเทศทั่วโลก มีการอบรมอย่างจริงจังในอินโดนีเซีย มีหลักสูตรที่ปรับเป็นภาษาเวียดนาม ภาษาจีน และกำลังได้รับความสนใจจากประเทศเลบานอน รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก TIJ ในการประสานงานจัดการฝึกอบรมร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม หรือ DSI ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 4 ปีแล้ว และองค์การสหประชาชาติอยู่ในระหว่างการจัดทำแนวทางสากลสำหรับการสอบปากคำโดยเจ้าหน้าที่ และได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากทั่วทุกมุมโลกเข้ามาเพื่อรับฟังและตัดสินใจว่าจะเลือกทิศทางที่อยู่บนฐานของวิทยาศาสตร์ ตั้งมั่นในสิทธิมนุษยชน โดยวิธี “การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง” มีผลการวิจัยยืนยันประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม รวมทั้งจะมีการเปิดตัว e-learning การสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง ที่พัฒนาร่วมกับสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ด้วย

 

 

ด้าน Gisle Kvanvig จากศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนอร์เวย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยออสโล เสริมว่า ในการนำวิธีการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริงมาใช้ให้ประสบผลสำเร็จนั้น ต้องอาศัยการเผยแพร่วิธีการนี้ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้าใจในสารัตถะเดียวกันว่าเป็นกลยุทธ์ในการหาหลักฐานที่มีพื้นฐานวิทยาศาสตร์รองรับ  ควรมีการแบ่งปันประสบการณ์ หรือบทเรียนว่าเมื่อนำวิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์นี้ไปใช้จะสามารถเปลี่ยนแปลงการทำงาน และทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพได้จริงอย่างเป็นมืออาชีพได้อย่างไร

 

 

ขณะที่ Ivar Fahsing วิทยากรร่วมให้ความเห็นด้วยว่า ความเชื่อ อคติ การอนุมานของมนุษย์ ทำให้เรามีความโน้มเอียงที่จะมองหลักฐานผิดพลาด มองคดีผิดพลาด และผลลัพธ์อาจลงเอยเป็นโศกนาฎกรรมทั้งต่อผู้เสียหายและผู้ต้องสงสัยได้ จึงต้องมีโมเดลใหม่ในการสืบสวนสอบสวน

 

 

ทั้งยังเสริมด้วยว่า วิธีการสัมภาษณ์เพื่อหาความจริง สามารถนำไปใช้ในการสัมภาษณ์ได้กับทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องสงสัยหรือเหยื่อ เนื่องจากมีเป้าหมายเดียวกันคือการสัมภาษณ์ที่ดีให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ เป็นความจริงเท่าที่จะทำได้ ในกรอบของกฎหมาย

 

“เพราะเราไม่รู้ว่าทุกคนที่เราจับมานั้นเป็นผู้ต้องสงสัย หรือเป็นผู้เสียหาย หรือผู้เสียหายอาจจะกลายเป็นผู้ต้องสงสัยก็ได้”  

 

 

ในงานเสวนาครั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมและนักวิชาการไทยยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซี่งส่วนใหญ่สนับสนุนและเห็นด้วยกับหลักการของ investigative interview ว่าจะช่วยให้กระบวนการยุติธรรมไทยได้รับความ “เชื่อมั่น” จากประชาชนมากขึ้น บางส่วนชี้ให้เห็นถึงความคืบหน้าในการนำ investigative interview มาใช้ในไทย รวมถึงข้อจำกัดในการนำมาปรับใช้กับกระบวนการยุติธรรมไทยด้วย

 

 

คุณฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สนับสนุนว่าในประเทศไทยควรจะนำ investigative interview มาใช้ เนื่องจากหลักการดังกล่าวมุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาเป็นตัวตั้งอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมตระหนักและเห็นความสำคัญกับกระบวนการยุติธรรมที่เน้นสิทธิมนุษยชนมากขึ้น และทำให้เจ้าหน้าที่มีแนวทางหรือกระบวนการอื่น ๆ ในการค้นหาความจริงกับผู้ต้องหา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและไม่ละเมิดสิทธิผู้ต้องหาด้วย

 

 

ขณะที่คุณสันทนี ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ที่ผ่านการอบรมหลักสูตร investigative interview มาแล้ว อธิบายถึงข้อจำกัดในการนำมาใช้ในไทย โดยกล่าวว่า กระบวนการสืบสวนสอบสวนปัจจุบันมุ่งเน้นและผลักภาระไปที่การรับสารภาพมากจนเกินไป โดยให้ความสำคัญกับคำให้การของพยานมาก เหมือนเป็นภาระของพยาน ทั้งที่จริง ๆ แล้ว เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะพิสูจน์ให้เห็นความจริง ดังนั้น เธอจึงเชื่อมั่นว่า investigative interview จะตอบโจทย์ เพราะก่อนสอบปากคำจะต้องเตรียมตัวและสอบทานก่อนว่าหลักฐานพยานที่ได้มา เชื่อถือได้หรือไม่

 

 

พ.ต.ท.(หญิง) เพรียบพร้อม เมฆิยานนท์ รองผู้กำกับกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ในฐานะผู้ริเริ่มและเห็นความสำคัญของกระบวนการสืบสวนสอบสวน ที่ได้กล่าวถึงข้อจำกัดในการนำกระบวนการ investigative interview มาปรับใช้ในไทยว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสืบสวนสอบสวนในประเทศไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” มากเท่ากับหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดังกล่าวในต่างประเทศ เรื่องสิทธิมนุษยชนยังไม่ได้ถูกนำมาเป็น “ค่านิยมหลัก” ในการปฏิบัติการ ดังนั้น สิ่งที่ต้องคิดต่อไป คือ จะทำอย่างไรให้หน่วยงานตำรวจคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

 

 

ด้าน พล.ต.ท. ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้สะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการนำหลักคิดการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนในวงการตำรวจรุ่นใหม่ และข้อจำกัดในการปฏิบัติงานว่า การทำงานของตำรวจปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนมากขึ้น เช่น คดีฆ่า ที่มือปืนรับจ้างมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต หรือ คดีทั่วไป จะมีหลักการทำงาน คือ การพยายามรวบรวมข้อมูลให้มากที่สุด โดยให้ผู้ต้องสงสัยพูดให้มากที่สุด เพื่อหักล้างกับหลักฐานอื่นที่ตำรวจมี ถึงแม้ผู้ต้องหาจะไม่ได้รับสารภาพ แต่การทำเช่นนี้จะทำให้สามารถฟ้องได้ หากมีหลักฐานเพียงพอ แต่ในทางปฏิบัติ ก็ทำได้ยาก เพราะผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่ศึกษาและเข้าใจวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงทำให้การสืบสวนสอบสวน การซักถามไม่ค่อยได้รับข้อเท็จจริง ดังนั้น ความยากไม่ใช่เรื่องเทคนิค แต่ความยาก คือ จะทำอย่างไร ให้ตำรวจทั้งประเทศใช้มาตรฐานเดียวกัน เนื่องจากการทำงานของตำรวจไทยมีข้อจำกัดในเรื่องโครงสร้างและปัจจัยภายนอก เช่น ระยะเวลา สถานที่ เครื่องมือ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันก็พยายามแก้ปัญหาโดยใช้คอมพิวเตอร์ และ โซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไปใช้กับงานด้านการป้องกันปราบปรามทั่วประเทศ

 

 

อย่างไรก็ดี พลตำรวจโท ธัชชัย เห็นด้วยว่า การให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนถือเป็นเรื่องสำคัญ และควรจะมีผสมผสานหลักการและเทคนิคต่าง ๆ ระหว่างต่างประเทศกับประเทศไทย และยังเสริมว่า การจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ คือ การให้ความสำคัญกับเรื่องวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยยกกรณีโรงเรียนนายร้อยตำรวจในปัจจุบันที่เน้นการเรียนการสอนที่นำเอาหลักทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนมากขึ้น และมีความเชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ โดยปัจจุบันโรงเรียนนายร้อยตำรวจเน้นการสนับสนุนให้ใช้ AI หรือ Blockchain รวมถึงล่าสุดกำลังมีการสร้าง Digital Forensic Lab เพื่อให้ทางตำรวจมีเครื่องมือใหม่ ๆ มากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักคิดและนโยบายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่เน้นย้ำว่า “ในการสืบสวนสอบสวนจะเน้นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เท่านั้น ไม่เน้นพยานบุคคล”

 

 

ด้าน ผศ.ดร. ณัฐสุดา เต้พันธ์ อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ผู้สนใจเรื่องประสบการณ์การได้รับบาดแผลทางจิตใจ (Traumatic Experience) ได้สะท้อนหลักคิดทางจิตวิทยาที่สอดคล้องกับหลักคิดของกระบวนการ investigative interview ว่า คนที่อยู่ในกระบวนการสอบสวนย่อมมีบาดแผลทางจิตใจ โดยธรรมชาติคนเหล่านี้เมื่อต้องประสบกับเหตุการณ์หรือเรื่องร้ายๆ ใจและสมองจะถูกบล็อกอยู่ตรงนั้น ทำให้พวกเขาไม่อยากจะกล่าวถึงเรื่องที่ตอกย้ำบาดแผลทางใจเหล่านั้น ส่งผลให้กระบวนการสืบสวนสอบสวนไม่มีประสิทธิภาพมากนัก การทำงานสืบสวนสอบสวนจึงควรอยู่บนพื้นฐานสัมพันธภาพของความปลอดภัยและความไว้วางใจเป็นรากฐานสำคัญ คือ เริ่มจากพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ เพื่อให้การสืบสวนสอบสวนไม่ใช่กระบวนการที่ไปตอกย้ำบาดแผลและกระทำซ้ำโดยไม่รู้ตัว หากทำได้ตามหลักการนี้ ก็จะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

 

นายอุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้จัดการโครงการการสนับสนุนงานด้านหลักนิติธรรม TIJ ได้กล่าวถึง การประยุกต์ใช้ investigative interview กับมาตรการทางเลือกในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ยังมีข้อพิจารณาในหลายประเด็น โดยมองว่า หากกระบวนการยุติธรรมทางเลือก หรือมาตรการทางเลือก เช่น non-state actors ต้องการนำ investigative interview มาปรับใช้ในการจัดการระดับชุมชน เช่น การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หรือ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในชุมชน คนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจะไม่ใช่เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน แต่จะเป็นกลุ่มคนที่เรียกว่า facilitator หรือ mediator ซึ่งต้องวางตัวเป็นกลาง ให้ความสำคัญกับเหยื่อและผู้กระทำผิดเท่า ๆ กัน ซึ่งบทบาทนี้จะแตกต่างจากเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนในกระบวนการยุติธรรมที่เป็นทางการ คนกลุ่มนี้จะมีข้อจำกัดในเรื่องความรู้ความเชี่ยวชาญและทักษะในการสืบสวนสอบสวน จึงจำเป็นจะต้องได้รับการฝึกฝนอย่างเพียงพอ อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงกระบวนการรับประกันคุณภาพการสัมภาษณ์ ระหว่างการสืบสวนสอบสวน รวมถึงการให้ความยินยอมของชุมชน และจะต้องใช้ทักษะ investigative interview ดึงข้อมูลออกมาโดยต้องคำนึงถึงแนวทางของกระบวนการเชิงสมานฉันท์ด้วย ซึ่งถือเป็นข้อท้าทายอย่างมาก

 

 

ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวทิ้งทายในการเสวนาว่า TIJ ได้พยายามจัดเวทีเสวนาเพื่อเชิญชวนสังคมไทยให้มองปัญหาในหลากหลายมิติ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ยังมี “เทคนิคการค้นหาความจริง” ที่สามารถนำมาปรับใช้ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งความจริงในคดี และเราสามารถเรียนรู้เพื่อผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบได้  แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการลงทุนที่ต้องอาศัยเวลา และต้องเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายในด้วย ซึ่ง TIJ จะเชิญบุคลากรจากภาคส่วนต่างๆในกระบวนการยุติธรรมมาหารือกันในโอกาสต่อไป

 

Back
chat