สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดประชุมสัมมนา “คดีล้นศาล นักโทษล้นคุก ปัญหาจุกอกกระบวนการยุติธรรมไทย” (Diversion of Cases and Offenders)
วันที่ 19 สิงหาคม 2558 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดสัมมนาในหัวข้อ “คดีล้นศาล นักโทษล้นคุก ปัญหาจุกอกกระบวนการยุติธรรมไทย” (Diversion of Cases and Offenders)
จากงานวิจัยที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยยังประสบกับปัญหาคดีล้นศาล นักโทษล้นคุก ทั้งนี้ เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไทยมุ่งเน้นใช้มาตรการทางอาญาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการกำหนดฐานความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งที่ในบางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการทางอาญา และเห็นได้ว่า การพิจารณาตัดสินคดีส่วนใหญ่เน้นที่ “การขังคุก” ซึ่งประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ คือ การพิจารณาโทษด้วยวิธีการเช่นนี้ มิได้ทำให้จำนวนผู้กระทำผิดลดลง แต่กลับพบว่ามีผู้กระทำผิดหลายรายกลับมากระทำผิดซ้ำอีก กลายเป็นวัฏจักรที่ไม่มีที่สิ้นสุด
TIJ ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงจัดสัมมนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปัญหา ประสบการณ์ รวมถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น การสนับสนุนมาตรการทางเลือกในการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดนั้น ซึ่งอาจช่วยแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด (correction-rehabilitation) เพื่อไม่ให้กลับมากระทำผิดซ้ำ และอาจช่วยลดปัญหาคดีล้นศาล นักโทษล้นคุกได้
การอภิปรายในการสัมมนาครั้งนี้ แบ่งเป็น 3 หัวข้อ คือ เรื่องกระบวนการยุติธรรมไทยกับคำว่า “อาญาเฟ้อ”, ปัญหาคดีล้นศาลกับมาตรการเบี่ยงเบนคดี, ปัญหานักโทษล้นคุกและมาตรการลงโทษของไทย
สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมมาจากหลากหลายหน่วยงาน จำนวนกว่า 170 คน เช่น ข้าราชการในกระทรวงยุติธรรม ข้าราชการตำรวจ อัยการ ศาลยุติธรรม ราชทัณฑ์ และองค์กรเอกชน นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ เป็นต้น นอกจากนี้วิทยากรที่เข้าร่วมมีทั้งวิทยากรชาวไทย และต่างประเทศเข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ด้วย
TIJ มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การสัมมนาครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นความคิดในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทยให้ก้าวหน้าสืบไป