สรุปผลการเสวนา Launch Webinar of the Handbook on Restorative Justice Programmes
Executive Summary
รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อสรุปข้อคิดเห็นและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (restorative justice) ที่ร่วมเป็นวิทยากรในงานสัมมนาออนไลน์เพื่อเปิดตัวคู่มือโปรแกรมกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ ๒ Handbook on Restorative Justice Programmes (Second Edition) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime - UNODC) และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice - TIJ) โดยงานสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ได้อธิบายถึงหลักการและความเป็นมาของคู่มือเล่มนี้ รวมถึงเนื้อหาภายในที่ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยและหลากหลายมากขึ้น ทำให้คู่มือเล่มนี้เหมาะกับการนำไปพัฒนาโปรแกรมอมรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนำไปใช้ในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่ต้องการแง่คิดและข้อมูลเพื่อจัดทำแผนปฏิรูประบบยุติธรรม ในระหว่างการสัมมนา วิทยากรแต่ละท่านต่างเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสื่อสารอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจและสร้างศรัทธาต่อระบบยุติธรรมให้กับคนในสังคม รวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เช่น หน่วยงานภายใต้กระทรวงยุติธรรม ผู้บังคับใช้กฎหมายในระดับชุมชน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียหายและผู้กระทำความผิด และแนวทางสำหรับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่ยืดหยุ่น สอดคล้องกับค่านิยม ประวัติศาสตร์ชุมชน วัฒนธรรม และความต้องการที่แท้จริงของผู้เสียหาย
ข้อเสนอแนะที่ผู้เชี่ยวชาญได้หยิบยกขึ้นมาระหว่างการสัมมนาออนไลน์ มีดังนี้
1. รัฐบาลและหน่วยงานยุติธรรมต้องปฏิรูประบบยุติธรรมแบบดั้งเดิมเพื่อปูทางให้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เกิดขึ้นในระดับโครงสร้างให้ได้ ซึ่งต้องอาศัยกฎหมายและนโยบายต่าง ๆ ที่สร้างความชอบธรรมให้กับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
2. หน่วยงานยุติธรรมและผู้เชี่ยวชาญจำเป็นต้องลดแรงต้านของสังคมที่เกิดจากความไม่เข้าใจ ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลและทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อสร้างความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
3. รัฐบาลและหน่วยงานยุติธรรมต้องสร้างเสริมความร่วมมือระหว่างภาคส่วนที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ
4. แนวทางในการประยุกต์ใช้ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ต้องสอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรมและสังคมของชุมชนต่าง ๆ
บทนำ
สภาวะนักโทษล้นเรือนจำคือปัญหาร้ายแรงที่ระบบยุติธรรมของประเทศไทยจำเป็นต้องหาทางบรรเทาอย่างเร่งด่วน หนึ่งในประเด็นที่น่ากังวลที่สุดของสภาวะนักโทษล้นเรือนจำคือประเด็นสุขภาวะ ความเป็นอยู่ที่ดี และการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยและในระดับสากลยิ่งตอกย้ำความสำคัญของการมีกระบวนการยุติธรรมที่ไม่พึ่งพาการควบคุมตัวและการจองจำ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการจัดการปัญหาที่ว่ามา เนื่องจากมันสามารถช่วยช่วยลดจำนวนคดีที่ต้องอาศัยกระบวนการพิจารณาของศาล ทั้งยังลดและป้องกันอัตราการโดนลงโทษด้วยการจองจำของผู้กระทำผิด กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จึงมอบความเป็นไปได้ในการยุติปัญหาที่เรื้อรังและทวีความรุนแรงอย่างปัญหานักโทษล้นเรือนจำ
สำหรับประเทศไทยนั้น กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะองค์ประกอบที่สำคัญในการได้มาซึ่งหลักนิติธรรม (rule of law) และการเข้าถึงความยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นั้นช่วยส่งเสริมความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของผู้ถูกกระทำและผู้กระทำผิดในการเยียวยาความเสียหาย และผลลัพธ์ที่ตามมานั้นคือการอำนวยให้ผู้ถูกกระทำเป็นศูนย์กลางของกระบวนการยุติธรรม และการนำผู้กระทำความผิดกลับคืนสู่สังคมในฐานะปัจเจกบุคคลที่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
นับตั้งแต่คู่มือ Handbook on Restorative Justice Programmes ฉบับแรกเผยแพร่สู่สาธารณะในปี ค.ศ. 2006 องค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ รวมไปถึงข้อปฏิบัติในการนำหลักการนี้เข้ามาสู่ระบบยุติธรรมหรือส่งเสริมให้เป็นทางเลือกนอกระบบได้พัฒนาขึ้นอย่างมาก ทำให้การทบทวนความทันสมัยของคู่มือในอดีตเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คู่มือฉบับปรับปรุงแก้ไขครั้งที่สองในปี ค.ศ. 2020 เล่มนี้จึงเป็นผลมาจากความพยายามของผู้เชี่ยวชาญ ในการรวบรวมแนวคิดและหลักการของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ตัวอย่างวิธีการออกแบบ ติดตาม และประเมินโครงการส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ อย่างไรก็ตาม การสร้างความเข้าใจและการทำงานร่วมกันกับภาคส่วนอื่น ๆ คือกุญแจสู่ความสำเร็จของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในทุกส่วนของสังคม ด้วยเหตุนี้เอง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยจึงทำหน้าที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยุติธรรมที่ครอบคลุมทุกคนมากขึ้นด้วยการเป็นผู้ร่วมเผยแพร่คู่มือ
Handbook on Restorative Justice Programme และองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ผ่านการจัดสัมมนาออนไลน์ในครั้งนี้
สรุปผลการเสวนา
กล่าวเปิดนำสัมมนาออนไลน์
โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์
ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย
เป็นเวลาร่วมทศวรรษ นับตั้งแต่คู่มือ Handbook on Restorative Justice Programmes ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2006 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา restorative justice หรือที่คุ้นเคยกันในไทยว่า “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” ก็เริ่มแพร่หลายและเป็นที่รู้จักในฐานะเครื่องมือในการพัฒนาหลักนิติธรรมและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นกระบวนการที่มีพื้นฐานอยู่บนสิทธิ เพราะมองว่าผู้เสียหายคือหัวใจของระบบยุติธรรมทางอาญา นอกจากนี้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ยังเน้นย้ำความเชื่อมโยงระหว่างหลักนิติธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 อันตรายของสภาวะนักโทษล้นเรือนจำปรากฏให้เราเห็นอย่างชัดเจน หากสภาวการณ์เช่นนี้ได้กระตุ้นให้นักนโยบายในหลากหลายประเทศต้องเปลี่ยนวิธีคิดและหันมาใช้มาตรการที่ไม่ใช่การคุมขัง (non-custodial measures) ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ก็ควรได้รับการส่งเสริมมากขึ้นเช่นกัน ด้วยเหตุผลนี้เอง ไม่มีเวลาไหนแล้วที่เหมาะสมกับการตีพิมพ์ Handbook on Restorative Justice Programmes มากไปกว่านี้
หนังสือคู่มือเล่มนี้ครอบคลุมเนื้อหาหลากหลาย ซึ่งรวมถึงการวางแผนออกแบบแนวปฏิบัติที่ดี (good practices) และการนำไปใช้จริง การเก็บรวบรวมทรัพยากรความรู้ที่มีคุณค่าของชุมชน รวมถึงการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อสนับสนุนประเทศต่าง ๆ ในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ คู่มือนี้ยังนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในบริบทสังคมวัฒนธรรมและกฎหมายที่แตกต่างหลากหลาย เมื่อคำนึงถึงความปกติแบบใหม่ (new normal) ที่กำลังดำเนินอยู่ เราจึงควรพิจารณาไตร่ตรองกันให้มากขึ้นว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ได้อย่างไร และนวัตกรรมใหม่ ๆ จะเข้ามามีบทบาทได้อย่างไร สุดท้ายแล้ว กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ก่อให้เกิดความปรองดองในสังคมและความสามารถในการปรับตัวของชุมชน (community resilience) และเราทุกคนควรทำทุกสิ่งที่เราทำได้ เพื่อให้วิสัยทัศน์ที่เรามีร่วมกันนั้นเกิดขึ้นได้จริง
แนะนำหนังสือคู่มือ Handbook on Restorative Justice
โดย Ms. Jee Aei Lee
Crime Prevention and Criminal Justice Officer, Justice Section, UNODC
คู่มือ Handbook on Restorative Justice ฉบับปี ค.ศ. 2020 นี้เป็นการต่อยอดจากคู่มือว่าด้วยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้จัดทำขึ้นในปี ค.ศ. 2006 เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับแนวคิดและหลักการที่เป็นรากฐานของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ รวมไปถึงแนวทางการปฏิบัติ และข้อแนะนำ ในการยกระดับหลักการของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ให้ขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม คู่มือเล่มนี้ถือเป็นผลมาจากข้อมติคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Economic and Social Council - ECOSOC) ในปี ค.ศ. 2002 ซึ่งเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกที่มีกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นำกระบวนการดังกล่าวมาปฏิบัติในระบบยุติธรรม หลังจากนั้นเป็นต้นมา แนวคิดและแนวทางสำหรับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ได้เติบโตขึ้นอย่างมาก หลายประเทศได้นำแนวปฏิบัติสำหรับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปปรับใช้กับระบบยุติธรรมภายในประเทศ หรือแสดงความต้องการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ พลวัตเช่นนี้นำไปสู่การประชุมระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในปี ค.ศ. 2017 ณ เมืองออตตาวา ประเทศแคนาดา เพื่อหารือทิศทางของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ต่อมาในปี ค.ศ. 2018 จึงมีการจัดประชุมระหว่างผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนของรัฐบาลไทยเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการพัฒนาคู่มือที่ให้แนวทางในการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์พร้อมข้อมูลที่ทันสมัย ครอบคลุมในทุกมิติมากกว่าในอดีต และมีตัวอย่างจากนานาประเทศเพิ่มขึ้น คู่มือ Handbook on Restorative Justice จึงถูกหยิบยกกลับมาพิจารณา และได้รับการแก้ไขเพื่อเพิ่มเติมข้อมูลที่จำเป็นต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ซึ่งไม่ได้ปรากฏอยู่ในคู่มือฉบับแรก
ในคู่มือฉบับปี ค.ศ. 2020 นี้ ประเด็นที่คณะผู้เชี่ยวชาญให้ความสำคัญคือหลักการของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ภายใต้บริบทสังคมปัจจุบัน ทั้งคำนิยาม และแนวคิดเรื่องกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่ลุ่มลึกและเปิดกว้างมากขึ้น เช่น แนวทางในการปฏิบัติต่ออาชญากรรมร้ายแรง (อาทิ การใช้ความรุนแรงในความสัมพันธ์) ที่กระจ่างชัดขึ้น รวมไปถึงข้อสังเกตและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องคำนึงก่อนที่จะพาผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เนื้อหาอื่น ๆ ที่ถูกเพิ่มลงไปนั้นยังประกอบไปด้วย วิธีการเข้าหาและทำงานร่วมกับผู้เสียหายที่ช่วยให้ผู้เสียหายรู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมมีความหมาย แนวทางการติดตามและการประเมินผลการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายและผู้กระทำผิด แนวทางและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการประนีประนอมยอมความและวีธีในการแสดงความรับผิดชอบ บทบาทของชุมชนในฐานะผู้จัดการความขัดแย้งและผู้เยียวยาความเสียหาย เป็นต้น ตลอดทั้งเล่มจะมีการสอดแทรกผลการวิจัยที่ทันสมัย และแนวทางในการสร้างและปรับใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จากนานาประเทศ คู่มือนี้จึงเหมาะสำหรับนำไปพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการ และใช้เป็นแนวทางในการร่างนโยบายเพื่อปฏิรูประบบยุติธรรมให้รองรับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
การจัดทำแผนกลยุทธ์ระดับชาติสำหรับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
โดย Yvon Dandurand
Fellow and Senior Associate at the International Centre for Criminal Law Reform and Criminal Justice Policy
ภายหลังจากที่คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติได้มีมติเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ซึ่งนำไปสู่การบัญญัติหลักการพื้นฐานสำหรับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ มีเพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถผสมผสานกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับแผนกลยุทธ์ระดับชาติได้อย่างเต็มรูปแบบ สถานการณ์เหล่านี้ขัดแย้งกับข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญที่ต่างคาดการณ์ว่าระบบยุติธรรมจะก้าวพ้นรูปแบบดั้งเดิมของการลงโทษ อาจกล่าวได้ว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นั้นได้รับการยอมรับในระดับสากล ผ่านประกาศและมติต่าง ๆ แต่ในระดับประเทศนั้น ระบบยุติธรรมแบบดั้งเดิมยังคงไม่ถูกปฏิรูปตามแนวทางของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
แม้ว่าแนวทางในการสร้างกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะนำไปสู่นโยบายต่าง ๆ ที่พยายามรองรับกระบวนการยุติธรรมที่ออกนอกกรอบของกระบวนการยุติธรรมแบบดั้งเดิม แต่ผู้คนส่วนใหญ่ยังขาดความตระหนักรู้ว่าการผสมผสานกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เข้ากับระบบยุติธรรมดั้งเดิมนั้นไม่ได้มีหนทางใดหนทางหนึ่งที่ตายตัว แต่ละประเทศจะต้องมีวิธีการประเมินและประยุกต์ใช้หลักการของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่แตกต่างกันไปตามบริบทสังคมและวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ แต่ละประเทศจึงควรพัฒนาแนวทางและแผนกลยุทธ์สำหรับการสร้างกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ของตนเอง โดยคำนึงถึงความแตกต่างในแต่ละบริบทชุมชน และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปกำหนดทิศทางในการเรียกร้องความยุติธรรม มิเช่นนั้นความพยายามและแนวคิดของผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่จาก “หอคอยงาช้าง” ก็จะเผชิญกับความล้มเหลวในที่สุด
ในทศวรรษที่ผ่านมา แต่ละประเทศมีมาตรการประเมินการทำงานและผลลัพธ์ของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ความรู้ที่ได้จากการประเมินนั้นนำไปสู่การลดลงของช่องว่างระหว่างผู้อำนวยความยุติธรรมและบุคคลธรรมดาที่ต้องการความช่วยเหลือจากระบบ ซึ่งทำให้ผู้เสียหายรู้สึกได้รับการเยียวยาและพึงพอใจกับการทำงานของระบบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การริเริ่มกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นั้นดำเนินไปภายใต้ข้อจำกัดนานัปการ เนื่องจากกฎหมายและนโยบายที่รองรับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ยังไม่ถูกบัญญัติหรือบังคับใช้อย่างจริงจัง นอกจากนี้ข้อท้าทายสำหรับการทำงานเพื่อส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นั้นยังประกอบด้วย การเข้าถึงความยุติธรรมที่ยังมีอยู่อย่างจำกัดสำหรับผู้เสียหาย แรงสนับสนุนจากเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องกับระบบยุติธรรมที่ยังไม่เพียงพอ แรงต่อต้านและแรงกดดันจากสาธารณะที่ยังมีอยู่มาก และความล้มเหลวในการเชื้อเชิญให้ภาคส่วนต่าง ๆ มาเข้าร่วมในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เช่น ครอบครัวของผู้เสียหายและผู้กระทำความผิด และผู้นำท้องถิ่นซึ่งได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดด้วยเช่นกัน การจะเอาชนะข้อจำกัดและอุปสรรคต่าง ๆ จึงจำต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งในและนอกระบบยุติธรรม และอาศัยการทำงานอย่างต่อเนื่อง
ความท้าทายและบทเรียนที่ได้จากความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
โดย Marilou Reeves
Counsel, Criminal Law Policy Section, Department of Justice Canada
ในการประชุมระดับชาติว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เมื่อปี ค.ศ. 2019 ณ กรุงเทพมหานคร หนึ่งในข้อสรุปที่ผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นพ้องต้องกันคือ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบยุติธรรมแบบดั้งเดิม ซึ่งสร้างเงื่อนไขต่าง ๆ ที่สร้างบาดแผลซ้ำให้กับผู้เสียหาย (revictimization) แทนที่จะให้ความช่วยเหลือและเยียวยา ฉะนั้นแล้ว สิ่งที่ปรากฏทั่วโลกนั้นจึงเป็นความพยายามในการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหาย มากกว่าจะผลิตซ้ำความเสียหายนั้น ๆ
บทเรียนหนึ่งที่เป็นตัวอย่างของกระบวนการยติธรรมเชิงสมานฉันท์ คือบทเรียนจากประเทศแคนาดา ประเทศแคนาดามีอาณาเขตกว้างขวางและมีความแตกต่างทางเชื้อชาติสูง บทเรียนสำคัญสำหรับผู้ทำงานในระบบยุติธรรมคือการเปลี่ยนความหลากหลายให้กลายเป็นความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน หนึ่งในกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในการประยุกต์ใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในแคนาดาคือกลุ่มที่ทำงานในระดับภาคพื้นสนามนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 เนื่องจากว่าแคนาดาแบ่งการบริหารจัดการทางกฎหมายตามแต่ละรัฐ แต่ละรัฐจึงต้องทำงานร่วมกันและมีภารกิจสำคัญคือการนำการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปใช้ และ ณ ตอนนี้แต่ละรัฐได้รับเอาหลักการของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปใช้แล้ว
นอกจากนี้ หนึ่งในประชากรที่ได้รับผลกระทบจากความอยุติธรรมที่มาจากระบบยุติธรรมในแคนาดาคือคนพื้นเมือง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเข้ามาตั้งรกรากและล่าอาณานิคม ฉะนั้นแล้ว กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในแคนาดาจึงจำเป็นต้องได้รับการชี้นำโดยคนพื้นเมือง แคนาดามีโครงการส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์หนึ่งที่ทำงานอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 25 ปี และอยู่ภายใต้การดูแลของชุมชนคนพื้นเมือง ซึ่งสอดคล้องกับความคิด ประสบการณ์ชีวิต ค่านิยม และธรรมเนียมการปฏิบัติของคนพื้นเมืองโดยตรง ระบบการทำงานที่ยืดหยุ่นและโอบอุ้มทุกคนจึงเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ยังไม่มีนิยามที่แน่ชัดและตายตัว หลักการนี้อาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการอำนวยความยุติธรรม และอาจเป็นส่วนหนึ่งของระบบยุติธรรมแบบดั้งเดิม หรืออาจทำงานควบคู่ไปกับระบบแบบดั้งเดิมเพื่อส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมจากระดับรากหญ้า
การนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาปฏิบัติจริง ปัจจัยส่งเสริมและอุปสรรคต่อการนำมาปฏิบัติใช้อย่างยั่งยืน
โดย Tim Chapman
Chair of the Board, European Forum for Restorative Justice
คู่มือเล่มนี้เป็นดั่งเมล็ดพันธุ์ที่บรรจุข้อมูลอยู่ข้างใน โดยมีปัจจัยในการเจริญเติบโตงอกงามอันประกอบด้วยการสื่อสารและประยุกต์ใช้ข้อมูลอย่างประสิทธิภาพ คู่มือเล่มนี้จำเป็นอย่างมากสำหรับรัฐบาลและนักนโยบายที่ต้องการสร้างระบบยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อทำความเข้าใจความหมายของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ แนวทางปฏิบัติที่สามารถสานต่อเป็นนโยบายในประเทศ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ต่าง ๆ เช่น ภาคประชาสังคมที่ต้องการเงินทุนสนับสนุน
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะก่อให้เกิดระบบที่อาศัยงบประมาณจำกัด สร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้ผู้เสียหายเยียวยาได้ดีขึ้นภายใต้ระยะเวลาที่สั้นลง และแก้ปัญหานักโทษล้นคุกโดยปริยาย ฉะนั้นแล้ว แรงสนับสนุนจากภาคส่วนอื่น ๆ เช่น ศาล ทนาย อัยการ ตำรวจ องค์กรที่ทำงานโดยไม่แสวงหากำไร และสาธารณชนจึงสำคัญมาก และหนทางในการได้มาซึ่งความร่วมมือข้ามภาคส่วนนั้นคือการให้ความรู้และส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
รัฐบาลและนักนโยบายควรมุ่งเน้นไปที่การสร้างระบบยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่มีคุณภาพ ณ ปัจจุบัน วรรณกรรมเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาจากประเทศฝั่งตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ ความแตกต่างทางวัฒนธรรม สังคม และประวัติศาสตร์ในประเทศอื่น ๆ จะช่วยเพิ่มความเข้าใจให้กับทางเลือกในการสร้างกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในบริบทแต่ละประเทศ
คำถามที่ผู้เข้าร่วมมีสำหรับวิทยากรต่าง ๆ มีดังนี้
คำถาม: จริงหรือไม่ที่การปฏิบัติใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นั้นยังไม่เป็นที่แพร่หลาย?
Yvon Dandurand: ใช่ สาเหตุที่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ยังไม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบยุติธรรมแบบดั้งเดิม และยังขาดอำนาจบังคับใช้อย่างจริงจัง เป็นเพราะยังขาดนโยบายและกฎหมายที่ช่วยรองรับการขยายขอบเขตและรูปแบบการทำงานของระบบยุติธรรม เมื่อขาดความชอบธรรมจากระดับสถาบันทางการเมือง พันธกิจที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จึงไม่อาจกลายเป็นความจริงได้โดยง่ายนัก
คำถาม: กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เหมาะสำหรับอาชญากรรมที่ไม่มีผู้ถูกกระทำหรือไม่ และควรจะมีแนวทางในการนำผู้ที่ได้รับผลกระทบมาพูดคุยเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาอย่างไร? จริงหรือไม่ที่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ยังเป็นที่แพร่หลายไม่มากพอ?
Tim Chapman: เราต้องระมัดระวังเรื่องการจำกัดความเหยื่อด้วย ในหลายๆ กรณี ไม่ได้มีเหยื่อในความหมายโดยตรง แต่ก็มีเหยื่อในความความโดยอ้อมเนื่องจากความเสียหายจากการกระทำผิดนั้นส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อม หากเราใช้จินตนาการเสียหน่อย เราก็จะมองเห็นเหยื่อในกรณีที่ไม่ได้มีเหยื่อในความหมายโดยตรง เช่น คดีทรัพย์สินขององค์กร หรือยาเสพติด ในบางครั้งผู้ที่เสียหายก็คือครอบครัวของผู้กระทำผิด และกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นี่แหละที่สามารถเข้ามาเยียวยา นอกจากนี้เราก็ยังมีบางกรณีที่ความเสียหายเกิดแก่ชุมชน และเราสามารถรับเอากระบวนการไกล่เกลี่ยประนีประนอมมาจากคนพื้นเมือง ซึ่งยึดโยงกับครอบครัวและชุมชนของทุกฝ่ายมาใช้ เราควรใช้ความคิดสร้างสรรค์และมีจินตนาการกับวิธีการที่เรานำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้
คำถาม: กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นั้นถือเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative dispute resolution - ADR) หรือไม่?
Marilou Reeve: จริงอยู่ที่กระบวนการนำคู่กรณีมาเจอกันของการระงับข้อพิพาททางเลือกนั้นคล้ายคลึงกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ แต่หลักการของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นั้นมีขอบเขตที่กว้างกว่า โดยไม่มุ่งเน้นไปที่ความขัดแย้งเพียงอย่างเดียว แต่ยังพูดถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้กระทำผิดและชุมชนอีกด้วย
คำถาม: หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง United Nations Latin American Institute for the Prevention of Crime and the Treatment of Offenders (ILANUD) จะให้ความช่วยเหลือเป็นการเฉพาะกับซีกโลกใต้ (Southern Hemisphere) ในเรื่องการสร้างระบบยุติธรรมเชิงสมานฉันท์อย่างไร?
Jee Aei Lee: องค์การสหประชาชาติ สถาบันเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (United Nations Programme Network Institutes – PNIs) และองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในด้านกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ต่างมีบทบาทสำคัญ องค์กรเหล่านี้ให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ทั้งคำแนะนำเชิงนโยบายสำหรับฝ่ายนิติบัญญัติ กระบวนการอบรม วิธีการติดตามและประเมินผล และการทำงานด้วยนวัตกรรม ฉะนั้นแล้ว จึงอยากให้องค์กรที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานภาคประชาสังคมทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะในระดับภูมิภาค
อ่านบทความ: กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ หนทางสู่การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบยุติธรรมไทยและทั่วโลก