TIJ หวังอนาคตข้อกำหนดกรุงเทพ 10 ปีข้างหน้า โทษคุมขังต้องเป็นทางออกสุดท้าย
“เราไม่อาจยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังหญิงได้ โดยไม่ทลายกำแพงที่ขวางกั้นโลกภายในกับโลกภายนอก”
ศ. (พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวในปาฐกถาเปิดงานผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 ไปยังที่ประชุมคู่ขนาน หัวข้อ “A decade of the Bangkok Rules: Advancements, Challenges and Opportunities” ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 14 (The United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice – Crime Congress) ซึ่งจัดขึ้นที่นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
การประชุมคู่ขนานดังกล่าว ร่วมจัดโดย TIJ องค์กรปฏิรูปการลงโทษสากล (Penal Reforms International – PRI) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime – UNODC) เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญนานาชาติถึงผลของความพยายามในการนำข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำความผิดหญิง หรือข้อกำหนดกรุงเทพไปใช้ในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของข้อกำหนดกรุงเทพ อีกทั้งเป็นเวทีให้ผู้ร่วมเสวนาได้อภิปรายแนวทางการใช้ข้อกำหนดกรุงเทพเพื่อประโยชน์สูงสุดที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ข้อ 5 เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และข้อ 16 ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผลรับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ
ศ. (พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กล่าวถึงการนำข้อกำหนดกรุงเทพมาใช้ในภูมิภาคอาเซียนและในไทยว่า ที่ผ่านมา TIJ ในฐานะองค์กรเครือข่ายสถาบันสมทบของสหประชาชาติ (UN-PNIs) ได้มีการเผยแพร่ข้อกำหนดกรุงเทพในระดับภูมิภาค โดยได้ร่วมกับกรมราชทัณฑ์กัมพูชา ในการดำเนินโครงการนำร่องในเรือนจำหญิงที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา ส่วนในประเทศอินโดนีเซีย TIJ ได้ฝึกอบรมว่าด้วยเรื่องของข้อกำหนดกรุงเทพแก่ผู้บริหารเรือนจำหญิงจำนวน 38 คน และมีแผนการจะทำการฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่เรือนจำของมาเลเซียในปีนี้
ขณะที่ในประเทศไทย นอกจากการสนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายร่วมมือกันในการส่งเสริมการกลับคืนสู่สังคมอย่างปกติสุขของผู้ต้องขังหญิงแล้ว ล่าสุด TIJ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย หน่วยงานเอกชน และกรมราชทัณฑ์ในการนำเสนอโครงการ Hygiene Street Food สร้างโอกาส เพื่อให้โอกาสในการสร้างอาชีพใหม่แก่อดีตผู้ต้องขังหญิง และได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นมากกว่า 50 คน ในการพัฒนาโครงการฝึกอบรมแก่ผู้ต้องขังหญิงก่อนปล่อยตัว เน้นที่การสร้างเสริมพลังทางจิตใจ การสานความสัมพันธ์กับครอบครัว การให้ความรู้ทางด้านการลงทุนและการเงิน รวมทั้งการวางแผนอาชีพ
“อนาคตข้างหน้า เราต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลงทุนเพื่อส่งเสริมการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังแทนการจำคุก และทำให้แน่ใจว่าโทษการจำคุกจะนำมาใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และเราต้องทำงานหนักขึ้น ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรือนจำและหน่วยงานภายนอกเพื่อให้ “เรือนจำ” เป็นอีกวิธีการเพื่อให้โอกาสครั้งใหม่แก่ผู้หญิงแทนที่จะเป็นสถานที่ที่ปิดโอกาสของพวกเธอ”
ศ. (พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กล่าวปิดท้าย
ในการประชุมคู่ขนานครั้งนี้ ยังได้รับความสนใจจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและอภิปรายถึงความก้าวหน้าของการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปใช้ในภูมิภาคและประเทศต่างๆ ดังเช่น ร็อบ อัลเลน นักวิจัยอิสระและที่ปรึกษา UNODC เล่าถึงสถานการณ์ในเรือนจำหญิงในภูมิภาคยุโรปว่า เรือนจำในยุโรปยังไม่มีข้อกำหนดหรือข้อปฏิบัติใดที่เฉพาะเจาะจงต่อผู้ต้องขังหญิงโดยตรงเทียบเท่ากับข้อกำหนดกรุงเทพ และคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปว่าด้วยการป้องกันการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม (the European Committee for the Prevention of Torture and Inhuman or Degrading Treatment or Punishment - CPT) ได้รับข้อเสนอให้มีการแก้ไขข้อกำหนดเรือนจำยุโรป ปี 2006 (the European Prison Rules – EPR) ให้สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดกรุงเทพและแนวทางอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาเห็นแล้วว่าถึงเวลาแล้วที่คณะกรรมาธิการยุโรปจะปรับปรุงข้อปฏิบัติเฉพาะที่เหมาะสมต่อผู้ต้องขังหญิงแล้ว นอกจากนี้ ร็อบ ยังได้ยกตัวอย่างถึงแนวปฏิบัติที่ดีในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่เกิดขึ้นในเรือนจำหลายแห่งในยุโรปด้วย เช่น ในประเทศลิทัวเนียและบัลแกเรีย มีการจัดพื้นที่เฉพาะสำหรับผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขัง อย่างไรก็ดี ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก และทุกภาคส่วนยังคงต้องร่วมมือกันผลักดันการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปใช้ต่อไป
ด้าน ดร.บาร์บารา โอเวน ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านยุติธรรมอาญา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียสเตท และที่ปรึกษา TIJ สรุปถึงแนวทางการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพในอนาคตว่าต้องกล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศภายในระบบเรือนจำ ปกป้องคุ้มครองผู้หญิงจากการถูกแบ่งแยกและการกดขี่ เรือนจำต้องให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยและเคารพศักดิ์ศรีของผู้หญิงในทุกระดับของการปฏิบัติงาน และต้องลงทุนในการผลักดันให้นำมาตรการที่มิใช่การคุมขังมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเห็นพ้องกับ ศ. (พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ ว่า ระบบเรือนจำต้องเป็นเหมือนกับสปริงบอร์ดที่จะนำไปสู่การปฏิรูปนโยบายยุติธรรมทางอาญา และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนามาตรการที่มิใช่การคุมขัง
ดร. บาร์บารา กล่าวด้วยว่า อนาคตของข้อกำหนดกรุงเทพ TIJ สามารถเป็นผู้นำในการเผยแพร่และส่งเสริมการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปใช้ในระดับสากล ขณะที่ต้องมีการพัฒนานโยบาย ฝึกอบรมและทำการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายอย่างเข้มแข็งต่อไป
การประชุมคู่ขนานในครั้งนี้ นอกจากผู้ร่วมเสวนาดังกล่าวมาแล้ว ยังมี ดร.ดอรีน เอ็น คยาซซี ผู้จัดการโครงการ องค์กร PRI ประจำภูมิภาคแอฟริกา โคเล็ตตา เอ. ยังเกอร์ จากหน่วยงานความร่วมมือด้านนโยบายยาเสพติดระหว่างประเทศ (International Drug Policy Consortium - IDPC) นางสาวนาตาชา ล็อบเว็ต ผู้ก่อตั้งมูลนิธิ La Boussole ในเม็กซิโก ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ และ ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ เป็นผู้ดำเนินรายการ
Presentation download
Click to view Ms. Doreen Kyazze's PowerPoint
Click to view Mr. Rob Allen's PowerPoint
Click to view Prof. Barbara Owen's PowerPoint