“เค้าจะมีจุดยืนที่เหนือคนอื่นได้”
เพราะการกลับสู่สังคมของผู้พ้นโทษ ไม่ใช่เพียงแค่การมีที่อยู่ มีงานทำหาเลี้ยงตนเองได้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมีต้นทุนทางชีวิตที่มากกว่าเดิม
“ผมเป็น Robot” ถ้าจะให้คนกลับตัวเป็นคนดีได้ วิธีการหนึ่งคือเราต้องรู้จักเค้าให้ดีพอ
ปัญหาหนึ่งที่พบในระบบราชทัณฑ์ไทยสำหรับ คุณนพพล ชูกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รีเทล บิสซิเนส โซลูชั่น จำกัด คือ เราไม่รู้จักผู้ต้องขังดีพอ ซึ่งเป็นไปเพราะข้อจำกัดต่างๆ โดยเฉพาะด้านกฎระเบียบและด้านงบประมาณ รวมทั้งปัญหาอื่นๆ ที่หากจะกล่าวถึง การพูดคุยคงจะยาวนานไปกว่านี้
คุณนพพล เล่าว่า เริ่มแรกได้แรงบันดาลใจในการเข้ามาทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขัง ตั้งแต่ได้ร่วมการอบรมหลักสูตรหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน (RoLD Programme) รุ่นที่ 1 จัดโดย TIJ ในครั้งนั้น คุณนพพล พบกับความประหลาดใจเมื่อได้เห็นว่า ผู้ต้องขังผูกพันกับผู้คุมมากเพียงใด
“นักโทษผู้หญิงเรียกผู้คุมว่า “แม่” คำนี้ผมค่อนข้างถือที่จะไม่เรียกคนอื่นว่าพ่อกับแม่ คิดว่าเค้าต้องมีความผูกพันกันมาก ผู้หญิงที่ทำผิดและอยู่ในเรือนจำ ส่วนใหญ่ผิดจากความเชื่อ ความรัก น้อยคนนักจะทำผิดในเรื่องใหญ่กว่านั้น” วันนั้น คุณนพพล กลับมาขบคิดถึงวิธีการที่จะช่วยเหลือผู้ต้องขังอย่างจริงจัง และค้นพบว่าการคืนคนดีสู่สังคม คนมักจะคิดว่าฉันทำอะไรอยู่ แล้วจะให้เค้ามาทำอะไรให้ได้บ้าง แต่ไม่มองว่า ต้องทำอะไรบ้าง ให้ผู้ที่เพิ่งพ้นโทษออกมาอยู่ได้
“การคืนคนดีสู่สังคม ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสายพานการผลิตคน ที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดประโยชน์ได้ ต้องไม่มองประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่ต้องมองประโยชน์ของคนที่ได้รับโอกาส และประโยชน์ของส่วนรวมด้วย”
ผลจากแรงบันดาลใจครั้งนั้น ส่งให้คุณนพพล ริเริ่มทำโครงการช่วยเหลือผู้ต้องขัง ตั้งแต่การฝึกอาชีพผู้ต้องขังที่กำลังจะพ้นโทษ โดยนำตัวผู้ต้องขังกลุ่มหนึ่งออกมาช่วยทำงานในฐานะผู้คุมการผลิตในโรงงานเชื่อมโลหะ แบบเช้าไปเย็นกลับ การรับผู้ต้องขังที่เพิ่งพ้นโทษเข้าทำงานที่บริษัท รวมทั้งการตั้งกลุ่มงาน Call Center ให้ผู้ต้องขังเป็นผู้ให้บริการ โดยการโทรศัพท์ออกไปยังลูกค้า
“ก่อนจะให้พวกเขามาช่วยงาน ผมได้เล่าเรื่องบริษัทก่อนว่าเราทำอะไร ถ้ามาทำแล้วเขาจะได้อะไรกลับไปบ้าง ผมมีใบประกาศวิชาชีพให้จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้ และเมื่อมาทำงานก็พยายามทำให้พวกเขาไม่รู้สึกว่าแตกต่างจากคนอื่นๆ” คุณนพพล ยอมรับว่าการทำเช่นนี้ อาจจะผิดหลักความปลอดภัย มีต้นทุนสูง แต่ก็เป็นการเสี่ยงเพื่อสังคม
“ระหว่างที่ผมกำลังเล่าให้ทางเรือนจำฟังว่าโครงการของผมจะช่วยอะไรผู้จะพ้นโทษได้บ้าง ผู้ต้องขังที่เข้ามาฟังด้วย พูดขึ้นมาว่า “ผมเป็น Robot” เพราะเขามีความรู้มีทักษะด้านวิศวกรรม ด้านช่าง แต่เรื่องเหล่านี้ เรือนจำไม่รู้” คุณนพพล กล่าว
“เวลาฆ่าเค้า หรือเค้าฆ่าเวลา”
การที่เรือนจำไม่รู้ภูมิหลังของผู้ต้องขัง เป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาศักยภาพของผู้ต้องขังไม่อาจเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนอาจกล่าวได้ว่า กิจวัตรประจำวันของพวกเขาอยู่ที่การเลือก
“เลือกที่จะให้ “เวลาฆ่าเค้า หรือเค้าฆ่าเวลา” คุณนพพล เกริ่นถึงเรื่องราวที่พบเจอในเรือนจำแห่งหนึ่ง เมื่อได้เข้าไปเยี่ยมชม เพื่อถ่ายภาพมาจัดแสดงในนิทรรศการ “ความงามของโอกาส” ในโอกาสครบรอบ 11 ปี การอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพ
ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการถ่ายภาพชั้นแนวหน้าของประเทศไทย คุณนพพล เผยว่า การถ่ายภาพผู้ต้องขังภายใต้ธีม ความงามของโอกาสนี้ ต่างจากแรงบันดาลใจตั้งต้นของเขา ที่ต้องการจะสื่อถึงโอกาสในการช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้ต้องขังไปสู่จุดที่เหนือคนอื่นได้ ทว่าในทุกโอกาส ล้วนมีความงาม
“กิจวัตรของผู้ต้องขังเป็นการบริหารเวลา ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่มีเงื่อนไข มีข้อจำกัด” ภาพที่คุณนพพล ถ่ายทอดออกมานั้นเผยให้เห็นว่าเวลาของคนหลังกำแพงแตกต่างจากคนข้างนอกด้วยเหตุนี้ “คนข้างนอกทำอะไรได้มากกว่า แต่คนข้างในต้องทำงานซ้ำๆ ในเวลาจำกัด อย่างไรก็ดี การทำซ้ำๆ หากกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ จะฆ่าเวลาได้เร็ว”
รูปพระ หัวใจ ข้อความความหวัง พระบรมฉายาลักษณ์ สีหน้าของผู้ต้องขังเมื่อจดจ่อกับงานที่กำลังทำ กำไล EM ของผู้กระทำผิด จากภาพของคุณนพพล ได้สะท้อนถึงความงามในหลายมิติ ท่ามกลางข้อจำกัดของเวลา สถานที่ และงบประมาณ
“ผมหวังว่าภาพเหล่านี้จะทำให้เห็นว่า ความงามของโอกาส อยู่ที่การบริหารเวลา การมีความสุขกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ความอดทน และการได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น”
ภาพถ่ายชุด “โอกาสที่งดงาม” โดย นพพล ชูกลิ่น หรือ คุณตั้ม จะจัดแสดงที่นิทรรศการ “ความงามของโอกาส” ที่ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 22 - 26 ธันวาคม 2564 เวลา 10.00 - 19.00 น. เนื่องในโอกาสครบรอบ 11 ปี การรับรองข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือ “ข้อกำหนดกรุงเทพ”