“Hourglass” ความรักและเวลาที่เหลืออยู่
“ความรักและเวลาที่เหลืออยู่ คือ อารมณ์หลักของภาพ” เจ้าของภาพสีสเปรย์ ภายใต้หมวกและแมสก์เล่าให้เราฟังด้วยเสียงที่มีความหวัง
ศิลปะสะท้อนสีเทาของสังคม
“งาน Street Art มันมีความเทาๆ ของมันอยู่ มีทั้งการสร้างผลงานที่น่ายินดีและผลงานที่ทำลายล้าง โดยรับมาจากวัฒนธรรมตะวันตก และอยู่ที่ศิลปินแต่ละคนว่าจะต่อยอดผลงานตนเองอย่างไร” คุณนรรัตน์ ถวิลอนันต์ หรือ แอ๊บ Abi เล่าถึงผลงานของตน หลังจากที่ได้เกริ่นไว้ว่าเริ่มต้นทำงานในสายนี้อย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2549 โดยเริ่มจากการวาดการ์ตูนในที่สาธารณะ แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป วัยที่ล่วงเลยมาได้ขัดเกลาความคิดให้แหลมคมและตกตะกอนยิ่งขึ้น และค้นตนเองพบว่าสามารถสร้างสรรค์สังคมได้ด้วยศิลปะ
“พออายุมากขึ้น ก็มองเรื่องปัญหาสังคม ทำอย่างไรให้งานมีกิมมิค อยากให้คนได้เห็นแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย ใช่ คือเรื่องจริง” คุณแอ๊บ จึงได้นำตัวละคร ซึ่งตั้งชื่อว่า Abi มาสานต่อในประเด็นสังคมให้คนสนใจ “วิธีการทำงานของผมจึงไม่ได้เป็นแนว popular เหมือนคนอื่น แต่ยึดหลักความเป็นจริง เหมือนตัวละครตัวหนึ่งที่เล่าเรื่องว่าในวันนั้นได้พบเจอความยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรมอย่างไรบ้าง”
“ความหวัง” จดหมายรักถึงนาฬิกาทราย
ส่วนหนึ่งของงานที่คุณแอ๊บ ได้ทำยังรวมถึงเรื่องเล่าถึงเด็กที่โดนทำร้ายและการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นเชื้อไฟชั้นดีให้คุณแอ๊บยินดีที่จะส่งผลงานเข้ามาร่วมแสดงภายในงาน “ความงามของโอกาส” ในโอกาสครบรอบ 11 ปีการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพ
“มือของผมวาดภาพนี้ขึ้นมาเอง” คุณแอ๊บ เล่าถึงภาพวาดนาฬิกาทราย (Hourglass) ซึ่งถูกนำมาจัดแสดงภายในงาน โดยภาพวาดนี้เกิดจากแรงบันดาลใจจากจดหมายหลายฉบับของผู้ต้องขังที่เดินทางมาถึงมือคุณแอ๊บ จดหมายเหล่านั้นได้ถูกเรียบเรียง ตีความ พลิกความคิด กระทั่งมองเห็นถึงความหวังหลังเส้นสายลายมือของผู้ต้องขัง
“รอวันสู่อิสรภาพ เนื้องานมาจากตรงนั้น มาจากทั้งที่เคยได้เข้าไปสังเกตบรรยากาศในเรือนจำ และการอ่านจดหมายของผู้ต้องขัง กระทั่งเกิดแรงบันดาลใจ”
คุณแอ๊บ เล่าว่า จากประสบการณ์ที่เคยเข้าไปเยี่ยมผู้ต้องขัง และเคยเข้าไปศึกษาดูงาน ทำให้คิดว่าเรือนจำน่ากลัว แต่เมื่อโตขึ้นกลับพบว่าเรือนจำดูเคว้งคว้าง และคนที่อยู่ในนั้นไม่ได้ต้องการให้เรื่องราวเป็นแบบที่เป็น
"ผู้ต้องขังอาจจะคิดถึงแม่ คิดถึงวันและเวลาที่รอคอยจะได้กลับไปอยู่ด้วยกัน มองถึงความเป็นคนปกติ และคิดได้แล้ว เสมือนบัวที่พ้นน้ำแล้ว" ภาพๆ นี้จะช่วยสะท้อนให้เห็นว่า “เวลาของแต่ละคนไม่เท่ากัน และเขาควรได้กลับมาทำให้เวลานั้นสมบูรณ์ ก่อนที่จะจากไป” คุณแอ๊บ กล่าวปิดท้าย
ภาพวาด “Hourglass” โดย นรรัตน์ ถวิลอนันต์ หรือ แอ๊บ Abi จะจัดแสดงที่นิทรรศการ “ความงามของโอกาส” ที่ อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 22 - 26 ธันวาคม 2564 เวลา 10.00 - 19.00 น. เนื่องในโอกาสครบรอบ 11 ปี การรับรองข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือ “ข้อกำหนดกรุงเทพ”