กฎหมายกับบทบาทเพื่อสิทธิเท่าเทียมของผู้มีความหลากหลายทางเพศ
เมื่อพูดถึงกฎหมาย หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องเข้าใจยาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน กฎหมายอยู่กับเราตั้งแต่การแจ้งเกิดไปจนกระทั่งการแจ้งตาย แม้สิ่งเล็กน้อยที่เราอาจมองข้าม ลองเปิดกระเป๋าสตางค์ดูก็จะพบเห็นสิ่งของที่กำกับด้วยกฎหมายมากมาย ทั้งบัตรประชาชน ใบขับขี่ ใบเสร็จค่าสินค้าข้าวของเครื่องใช้ที่บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแม้แต่ “ใบสั่ง” ของตำรวจสำหรับบางคน
“ที่ใดมีสังคม ที่นั่นมีกฎหมาย” (Ubi societas ibi jus) เพราะสังคมต้องอาศัยกฎหมายช่วยทำหน้าที่หลากหลายประการ ทั้งกำกับวิถีชีวิตและกิจกรรมของคนในสังคม เป็นกติกาคุ้มครอง ป้องกัน ให้สมาชิกในสังคมอยู่กันอย่างสงบสุข กฎหมายทำให้เราจัดการกับความขัดแย้งโดยไม่ใช้กำลังเอาชนะกัน เพราะเมื่อมีข้อขัดแย้ง เรามีกฎหมายทำหน้าที่ชี้ขาดตัดสินว่าฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิด ทำให้เกิดความเป็นธรรมอันเป็นจุดสมดุล (equilibrium) ระหว่างประโยชน์ของบุคคลแต่ละคนในแต่ละเรื่องหรือระหว่างบุคคลกับส่วนรวม[1] รวมไปถึงลงโทษผู้กระทำผิดเมื่อจำเป็น นอกจากนี้ กฎหมายยังอาจทำหน้าที่เป็นเครื่องมือชี้นำการพัฒนาเพื่อ “สร้าง” สังคมที่เราอยากให้เป็น และก็เป็นธรรมดาที่แต่ละสังคมก็อาจมีความคาดหวังต่อบทบาทของกฎหมายในระดับที่แตกต่างกันไป
เมื่อกฎหมายมีหน้าที่กำกับดูแลกิจกรรมของคนในสังคมให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย สงบสุข และจัดการความขัดแย้ง กฎหมายจึงควรมีลักษณะสำคัญประการหนึ่งคือ เท่าทันต่อสถานการณ์ เพราะสภาพสังคมและเศรษฐกิจย่อมไม่หยุดอยู่นิ่ง หากแต่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย กฎหมายจึงควรปรับเปลี่ยนเช่นกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม[2]
เช่นเดียวกันกับเรื่องเพศสภาพ และสิทธิประโยชน์ที่ตามมาจากการมีเพศสภาพเช่นใดก็ตาม ก็นับเป็นหนึ่งในความต้องการของคนในทุกสังคมท โดยจะเห็นว่าปัจจุบันผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถเปิดเผยตัวได้เป็นการทั่วไป เราไม่ถือว่าพฤติกรรมการแสดงออกถึงความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ในระยะหลังมานี้ เรื่องราวของผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับการนำเสนออย่างชัดเจนขึ้น ในแวดวงบันเทิง เรามีการผลิต เผยแพร่และส่งออกซีรีส์วาย (ชายรักชาย) [3] อย่างต่อเนื่องเป็นล่ำเป็นสัน จนกำลังกลายเป็นอุตสาหกรรมส่งออกในยุคนี้ของไทย[4] แม้กระทั่งในช่วง Pride Month ที่มีการจัดงาน Pride March ในใจกลางกรุงเทพมหานครเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา[5] ซึ่งมีคนมาร่วมงานมากมายจากหลายวงการ น่าจะแสดงให้เห็นได้ว่าคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจถึงการมีอยู่ของอัตลักษณ์ทางเพศที่มากกว่าชายและหญิงทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ปรากฏการณ์เหล่านี้ สร้างแรงกดดันและประเด็นคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยควรมีกฎหมายรับรองสิทธิในการมีความสัมพันธ์กันแบบครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และห้ามการเลือกปฏิบัติทางเพศที่ชัดเจน
ที่ผ่านมา เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายที่อาจช่วยตอบโจทย์ท้าทายนี้อยู่บ้าง เช่น ในปี พ.ศ. 2555 กฎหมายที่เกี่ยวกับการเกณฑ์ทหารได้ยกเลิกการเรียกบุคคลข้ามเพศว่าเป็น “โรคจิตถาวร” [6] ถือได้ว่าเป็นจุดเล็กๆ ที่สำคัญของการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น กระทรวงยุติธรรมก็ได้เริ่มยกร่างกฎหมาย[7] เพื่อกำหนดรูปแบบการรับรองสถานะความสัมพันธ์ให้กับคู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าหลายประเทศจะทยอยกันเริ่มยอมรับสถานะทางกฎหมายของคู่รักหลากหลายทางเพศ[8] แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวในประทศไทยก็ยังคงเป็นเพียงร่างอยู่เหมือนเดิม คนจำนวนหนึ่งมองว่าความล่าช้าดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อความคาดหวังและความเชื่อมั่นต่อรัฐซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเชื่อว่ารัฐควรรับรองความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก เนื่องจากเป็นสิทธิตามกฎหมายที่ทุกคนควรได้รับเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเพศใดก็ตาม การที่ยังไม่มีกฎหมายใดๆ เลยออกมารองรับหรือแม้แต่มาปรับใช้โดยอนุโลม ย่อมให้ผลราวกับว่ากฎหมายมองข้ามการมีตัวตน (visibility) และความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีความหลากหลายทางเพศ และทำให้กฎหมายหย่อนประสิทธิภาพในการดูแลสมาชิกในสังคมกลุ่มนี้ไปโดยปริยาย[9]
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการสมรสที่รับรองเฉพาะชายและหญิง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลประกอบส่วนหนึ่งว่า "การที่ชายและหญิงอยู่กินกันฉันสามีภริยาเพื่อสร้างสถาบันครอบครัว... ซึ่งการสมรสในระหว่างบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอาจไม่สามารถสร้างความผูกพันอันละเอียดอ่อนดังกล่าวได้"[10] ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยหรือเหตุผลที่ถูกยกขึ้นมารองรับคำวินิจฉัยนี้หรือไม่ แต่ท่าทีเช่นนี้แสดงให้เห็นในประเด็นว่ากฎหมายควรรับรองสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่จะมีชีวิตคู่เฉกเช่นคู่สมรสชายหญิงหรือไม่นั้น ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ อย่างน้อยก็มีคนจำนวนหนึ่งมองว่า กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้น มีความ “แตกต่าง” และไม่อาจเรียกร้องให้ปฏิบัติเหมือนกันกับคนทั่วไปได้ โดยไม่มองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้ปิดกั้น หากจะมีกฎหมายมารองรับการอยู่ด้วยกันของคู่รักหลายหลายทางเพศในรูปแบบอื่น
ในอีกมุมมองหนึ่ง ที่มองว่ากฎหมายคือภาพสะท้อนของสังคม ฉันทามติร่วมกันของสังคมจะแสดงผลออกมาในรูปของกฎหมาย การตรากฎหมายขึ้นแล้วเกณฑ์ให้ผู้คนปรับตามให้เข้ากับกรอบที่กฎหมายกำหนด จึงอาจเป็นการฝืนฉันทามติและเสี่ยงที่จะขัดต่อหลักนิติธรรม เมื่อคำนึงถึงบทบาทของกฎหมายที่จะช่วย “สร้าง” สังคมไปในทิศทางใหม่ การคาดหมายให้กฎหมายตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมและการเคารพสิทธิมนุษยชนโดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างไม่ว่าเหตุใด ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้
อันที่จริงแล้ว ประเด็นที่ว่ากฎหมายควรทำหน้าที่อย่างไรเพื่อ “จัดการ” ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของผู้มีความหลากหลายทางเพศ อาจไม่ได้เป็นประเด็นปัญหาสำหรับคนกลุ่มนี้เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น กรอบคิดเรื่องความสัมพันธ์ของคนกลุ่มอื่น รวมไปถึงชายและหญิงที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ก็อาจต้องการให้กฎหมายเข้าไปดูแล “จัดการ” ให้เหมาะสมและตอบโจทย์มากยิ่งขึ้นด้วย
ลองคิดถึงรูปแบบชีวิตของชายหญิงปัจจุบัน เมื่อมีความรักและคบหากัน มักใช้เวลานานกว่าจะตัดสินใจแต่งงาน หลายคู่เลือกที่จะรอให้มีความพร้อมและความมั่นคงในหน้าที่การงานหรือไม่มีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ หลายคู่เมื่อเห็นว่าความสัมพันธ์นั้นมีความชัดเจนพอจะเห็นอนาคตร่วมกันก็มักจะเริ่มมองหาอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินบางอย่าง หลายคู่เริ่มผ่อนบ้านด้วยกัน ซื้อคอนโดมีเนียม ซื้อรถยนต์ด้วยกัน เพื่อ “วางแผนชีวิต” หรือ “เตรียมตัวแต่งงาน” แต่ต่อมาหากความสัมพันธ์ไม่ลงเอยอย่างที่หวังก็จะเป็นปัญหาทันที เพราะไม่มีข้อกฎหมายใดกำหนดทางออกที่ชัดเจนพอจะใช้จัดการสิทธิในทรัพย์สินที่คู่รักหามาร่วมกันได้เลย ถ้าทั้งคู่เลือกที่ยุติความสัมพันธ์ก่อนที่จะได้จดทะเบียนสมรสกัน
หลายประเทศตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องดูแลประเด็นเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการรับรอง “ข้อตกลงการอยู่ร่วมกัน” (Cohabitation Agreement) อันเป็นเหมือนสัญญาระหว่างคนสองคนที่ต้องการจะอยู่ร่วมกัน และมีผลผูกผันทางกฎหมายในการจัดการความสัมพันธ์ในเรื่อง ทรัพย์สิน ธุรกรรม บุตร หรือในกรณีที่อีกฝ่ายเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต และสามารถออกแบบรายละเอียดข้อตกลงรวมถึงข้อยกเว้นต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการได้ เช่น เงื่อนไขระยะเวลา เป็นต้น ตัวอย่างที่น่าสนใจคือใน สหราชอาณาจักรที่ปรากฏอัตราการใช้ชีวิตคู่โดยไม่แต่งงานแต่ทำข้อตกลงการอยู่ร่วมกันสูงขึ้นเรื่อยๆ[11] หรือแม้แต่ในกรณีที่ไม่มีการทำสัญญาใดๆ แต่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันคล้ายคู่สมรสมาระยะหนึ่ง บางประเทศก็ยังมีกฎหมายยอมรับสถานะบางอย่าง [12] ซึ่งเป็นประโยชน์ในการจัดการข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นเมื่อความสัมพันธ์ของบุคคลทั้งสองที่สิ้นสุดลง จะเห็นได้ว่ารูปแบบ
ความสัมพันธ์นั้นมีความหลากหลาย การจดทะเบียนสมรสอาจไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกเดียว เมื่อคำนึงถึงความสอดคล้องกับปรากฏการณ์สังคมปัจจุบัน ทางเลือกอื่นอาจรวมถึงการมีกฎหมายที่เปิดโอกาสให้บุคคลเลือกกำหนดระดับความเป็นทางการของความสัมพันธ์ของตนได้ โดยได้รับความคุ้มครองตามสมควร
มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้การถกแถลงเรื่องสิทธิของคู่รักหลากหลายทางเพศตกอยู่ในวังวนของการคิดแบบสองขั้ว (binary) ไม่ว่าจะเป็น จารีตวิถี[13] หรือหลักศาสนา ทำให้เราเลือกมองเรื่องนี้ว่ามีทางเลือกเพียงแค่สองทางคือ ได้หรือไม่ได้ ดีหรือไม่ดี เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม แต่ประเด็นสำคัญที่น่าคิดคือ การอนุญาตให้คู่รักหลากหลายทางเพศ “สมรส” กันได้หรือ “ใช้ชีวิตร่วมกัน” โดยมีกฎหมายคุ้มครองนั้น ไม่ได้เป็นการไปลิดรอนหรือกระทบสิทธิที่คู่รักชายหญิงมีอยู่เดิมแต่อย่างใด เพราะพื้นฐานสำคัญของกฎหมายการสมรส คือรับรองสถานะในการครองคู่ มีสัมพันธ์เป็นคู่และศรัทธาระหว่างกัน (permanent faithful) [14] ไม่ได้มุ่งจูงใจให้คนแต่งงานกันเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้การแต่งงานไม่ได้นำมาเพียงสิทธิแต่ยังมีหน้าที่ระหว่างบุคคลทั้งคู่ที่ต้องดูแลรับผิดชอบกันและกันด้วย
เรื่องนี้หากดูอย่างผิวเผิน ก็อาจมองว่าเป็นการเรียกร้องเพื่อคนกลุ่มหนึ่ง แต่อันที่จริงแล้ว คือการตั้งคำถามว่ากฎหมายควรก้าวไปพร้อมๆกับปรากฏการณ์ของสังคมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในเรื่องพื้นฐานอย่างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไม่ว่าจะเพศอะไรหรือไม่? การปรับปรุงกฎหมายให้ก้าวทันสถานการณ์ เพื่อป้องกันและแก้ไขข้อพิพาทขัดแย้งที่อาจเกิดนั้น มีประโยชน์ในทางปฏิบัติ (practicality) อย่างชัดเจนใช่หรือไม่? และการปรับตามน่าจะเป็นไปได้มากกว่าการคงกฎหมายไว้และคาดหวังให้ประชาชนหันมาใช้ชีวิตตามกรอบบริบทอดีตกาลที่กฎหมายตราขึ้นครั้งแรกใช่หรือไม่? และสุดท้ายคือ เราคาดหวังบทบาทอะไรจากกฎหมาย? เราอยากให้กฎหมาย “สร้าง” สังคมแบบไหนให้เรา?
เรื่องของความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องส่วนตัวของคนสองคน แต่กลับโยงใยซับซ้อนไปสู่มิติต่างๆ ในการใช้ชีวิต การมีกฎหมายที่รับรองสถานะความสัมพันธ์ในหลายรูปแบบที่มีอยู่ในสังคม ย่อมสะท้อนความพร้อมที่จะปรับตัวและความก้าวหน้าของประเทศนั้นไม่มากก็น้อย ดังที่กล่าวไปแล้วว่า กฎหมายมีบทบาทหลากหลาย ในประเด็นนี้ กฎหมายอาจช่วยถนอมรักษาความสัมพันธ์ที่หลากหลายของคนในสังคม ดูแลความรักและลดความขัดแย้งในยามที่ความสัมพันธ์นั้นอาจไม่หวานเหมือนเดิม
เราอาจจะยังไม่มีคำตอบที่ดีที่สุดในวันนี้ เพราะการตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและการทำความเข้าใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พยายามมองให้เข้าใจถึงที่มาของทางเลือกต่างๆ ด้วยกระบวนการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมุ่งตอบโจทย์ของทุกคนในสังคม ภารกิจนี้เป็นเรื่องท้าทายที่สุด เพราะทุกโจทย์ของสังคมไม่มีคำตอบสำเร็จรูป แต่หากวันนี้เราไม่เริ่มหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยสนทนา ไม่พยายามหาคำตอบที่ทุกฝ่ายยอมรับได้พอจะเริ่มก้าวไปข้างหน้า หรือหากเราเลือกปิดใจไม่รับรู้ถึงปัญหา ก็เท่ากับว่าเรากำลังปล่อยเวลาให้ล่วงเลยเสียเปล่าไปโดยไม่ได้อะไรเลย
[1] Roscoe Pound, An Introduction to the Philosophy of Law (The Lawbook Exchange, Ltd 2003) 43-47.
[2] ‘กฎหมายมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม เศรษฐกิจจริงหรือไม่’ (bangkokbiznews, 10 กันยายน 2563)
[3] สันติชัย อาภรณ์ศรี, ‘หรือ “ซีรีส์วาย” นี่แหละคือซอฟต์พาวเวอร์ของไทย’ (GQ Thailand 23 มีนาคม 2564)
[4] Komsantortermvasana, Suchit Leesa-Nguansuk, Dusida Worrachaddejchai, ‘Asia Falls in Love with Thai Boys Love’ (Bangkok Post 5 May 2021)
[5] ‘Bangkok Celebrates First Pride Parade in 16 Years’ (Bangkok Post 6 June 2022)
[6] กฎกระทรวงกลาโหมที่ 75 พ.ศ. 2555.
[7] พันธุ์ทิพา หอมทิพย์, ‘สิทธิตามกฎหมายที่น่ารู้ของร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต’ (2563), สารวุฒิสภา, 27
[8]‘สมรสเท่าเทียม กับ 30 ประเทศที่เห็นชอบด้วยกฎหมาย เปิดความเท่าเทียมหลากหลายทางเพศ’ (PPTVHD36.com 20 พฤศจิกายน 2564)
[9] บุษกร สุริยสาร, ‘อัตลักษณ์และวิถีทางเพศในประเทศไทย / บุษกร สุริยสาร', องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, โครงการส่งเสริมสิทธิ ความหลากหลาย และความเท่าเทียมในโลกของ การทำงาน (PRIDE), กรุงเทพฯ, องค์การแรงงานระหว่างประเทศ, 2557, 34-36.
[10] คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 20/2564., Emmy Sasipornkarn, ‘Why Hasn’t Thailand Recognized Same-Sex Marriage? (DW 26 December 2021)
[11] Jil Papworth, ‘Why a Cohabitation Agreement Is Essential for Non-Married Couples (The Guardian 9 March 2013)
[12] เช่นประเทศออสเตรเลียมีการรับรองคู่รักที่อยู่อาศัยร่วมกัน โดยมิได้จดทะเบียนสมรส ภายใต้กฎหมาย Family Law Act 1975 ในการจัดการทรัพย์สิน การอุปการะบุตร และการแยกการใช้ชีวิต ในฝั่ง ออสเตรเลียตะวันตกอยู่ภายใต้กฎหมาย Family Law Act 1977 (WA) โดยมีลักษณะดังนี้คือ มีการอาศัยอยู่ร่วมกันคล้ายคู่สมรสไม่น้อยกว่าสองปี หรือมีบุตรร่วมกัน มีการรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายร่วมกันในการใช้ชีวิตร่วมกัน ซึ่งการพิจารณาเป็นไปตามลักษณะการใช้ชีวิตของแต่ละคู่, Michelle Makela, ‘De Facto Relationships, Family and Divorce Lawyers’ (Go To Court)
[13] คำวินิจฉัย (เชิงอรรถ 10). “วิถีสังคมไทยตลอดจนแนวทางปฏิบัติและการตีความกฎหมายของประเทศไทยมีความเชื่อถือสืบต่อกันมาว่าการสมรสสามารถกระทำได้เฉพาะชายและหญิงเท่านั้น”
[14] Maggie Gallagher, ‘(How) Will Gay Marriage Weaken Marriage as a Social Institution: A Reply to Andrew Koppelman, (2004) 2 University of St. Thomas Law Journal