ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

เสนอคู่มือ New Normal สำหรับ “ตำรวจ” ปฏิบัติงานช่วงโควิด หวั่นตำรวจถูกกักตัวจำนวนมาก กระทบความปลอดภัยประชาชน

 

“ตำรวจเลือกไม่ได้ ว่าจะเข้าไปจับกุมเฉพาะคนที่ไม่มีความเสี่ยงติดโควิด และคนที่ทำความผิด เช่น ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือ เล่นการพนัน ก็มักมีการรวมกลุ่ม กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด แต่ทุกครั้งที่มีเหตุร้าย มีคนร้าย ตำรวจก็ต้องเข้าไป เพราะโดยหน้าที่ เราต้องเลือกให้น้ำหนักกับความปลอดภัยของประชาชนก่อนที่จะสนใจว่าเสี่ยงติดโควิดหรือไม่”

 

ข้อความนี้ ถูกนำเสนอโดย พล.ต.ต.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ซึ่งเข้ามาร่วมนำเสนอข้อมูล ในหัวข้อ Living with COVID-19 ตอน “บทบาทตำรวจและอาชญากรรมที่เปลี่ยนไปในยุคโควิด” ที่จัดขึ้นโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เป็นรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านแอปพลิเคชัน ZOOM ผ่านเครือข่ายด้านหลักนิติธรรมเพื่อการพัฒนา หรือ RoLD (Rules of Law Development) 

 

รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 อธิบายการทำงานของตำรวจในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยระบุว่า การจัดมาตรการป้องกันต่างๆ โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างทางสังคม สามารถทำได้ดีสำหรับงานบริการประชาชนที่สถานีตำรวจ ทั้งแจ้งความ ร้องทุกข์ต่างๆ แต่ภารกิจอีกด้านของตำรวจคือต้องออกไปเป็นสายตรวจดูแลความปลอดภัยประชาชน ทำงานสืบสวนสอบสวนหรือเข้าจับกุมผู้กระทำความผิด เป็นส่วนงานที่ยากจะปฏิบัติตามมาตรการเว้นระห่างทางสังคม โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ล่าสุด ที่มีชายคนหนึ่งถืออาวุธปืนที่ขึ้นลำแล้วจะเข้าไปปล้นธนาคารย่านบางปะกง ตำรวจก็จำเป็นต้องเข้าไปจับกุมโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวกับคนร้ายได้

 

“ลักษณะการทำงานของตำรวจ ต้องทำงานเป็นทีม เข้าจับกุมก็ต้องไปเป็นทีม ตามหลักการว่า เราต้องมีกำลังมากกว่าผู้ก่อเหตุ เมื่อทำงานเป็นทีมหากมีเพียงหนึ่งคน สัมผัสผู้ติดเชื้อ หรือถูกตรวจพบว่าติดเชื้อ คนอื่นๆ ก็จะถูกกักตัวไปด้วยทั้งหมด ในบางกรณีก็อาจต้องกักตัวไปทั้งโรงพัก หรือแม้แต่ที่อยู่อาศัยหลักๆ ก็คือ แฟลตตำรวจ เป็นห้องพักที่อยู่ร่วมกันเป็นชุมชนตำรวจขนาดใหญ่ ถ้าต้องกักตัวก็ยากจะเว้นระยะห่างกับครอบครัวและเพื่อนตำรวจที่อยู่ใกล้กันได้”

 

ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนถึงวันที่ 28 เมษายน 2563 มีตำรวจติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 60 นาย หายแล้ว 44 นาย อยู่ระหว่างการรักษาตัว 16 นาย แต่ที่น่าสนใจคือ มีตำรวจที่ต้องเข้าไป “กักตัวเอง” ทั้งหมด 1,141 นาย โดยปัจจุบันเหลือตำรวจที่ยังต้องกักตัวเอง 243 นาย

 

จากข้อมูลจะเห็นว่า ตำรวจ มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ และถูกกักตัวค่อนข้างมาก ขณะที่ปัญหาอาชญากรรม แม้ว่าอาชญากรรมทั่วไปจะลดลงเพราะมาตรการปิดเมืองและเคอร์ฟิว แต่ก็มีปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนรูปแบบการก่ออาชญากรรมอื่นๆ เริ่มมีแนวโน้มจะกลับมาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะที่เป็นผลพวงมาจากปัญหาเศรษฐกิจ เช่น การปล้นตู้เอทีเอ็ม ปล้นร้านทอง ปล้นร้านสะดวกซื้อ หรือที่จังหวัดจันทบุรี เริ่มมีการปล้นทุเรียนด้วยซ้ำ และคนร้ายส่วนใหญ่ที่ถูกจับกุมไม่เคยมีประวัติอาชญากรรม

 

จากข้อจำกัดที่เกิดขึ้นกับตำรวจ ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการทำงานของตำรวจและเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมในสถานการณ์โควิด-19 ได้นำเสนอ “คู่มือปฏิบัติการสำหรับตำรวจในช่วงสถานการณ์ โควิด-19”  เพื่อให้เป็น “แนวทางในการปฏิบัติตัวของตำรวจ” แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ “มาตรการในการสร้างเสริมสุขภาพ” และ “มาตรการรีบวินิจฉัยและกักกันตัว”

 

“มาตรการในการสร้างเสริมสุขภาพ” คือ การป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับตำรวจจากการปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่การเตรียมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ เฟซชิลด์ ถุงมือยาง หรือแม้แต่บางกรณีที่อาจต้องใช้ชุด PPE ซึ่งหน่วยงานจะต้องจัดสรรให้พร้อมสำหรับตำรวจทุกนาย รวมทั้งควรจัดอบรมการใช้อุปกรณ์ที่ถูกต้อง

 

สิ่งที่ ผศ.ดร.ปารีณา เน้นย้ำ คือ รูปแบบการทำงานใหม่ หรือ New Normal ของตำรวจ โดยเสนอแนวทาง “การจัดการกำลังพล” โดยระบุว่า กำลังพลที่ใช้ในงานสายตรวจ หรืองานสืบสวน ซึ่งมีความเสี่ยงควรมีหลายชุดและวางกติกาไม่ให้กำลังพลแต่ละชุดเข้ามาใช้ชีวิตใกล้กัน เพราะหากมีชุดหนึ่งต้องกักตัว ก็จะยังมีกำลังพลชุดอื่นๆ ปฏิบัติหน้าที่แทนได้  รวมถึงต้องคำนึงถึงการจัดกำลังพลสำรองด้วย  

 

ส่วนในทางยุทธวิธีเข้าจับกุมที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดกับคนร้ายหรือผู้ต้องสงสัย ผศ.ดร.ปารีณา ได้มองถึงความเป็นไปได้ ที่จะมีการจัดอบรมให้ความรู้และทักษะแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้อุปกรณ์ส่วนบุคคลและการปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการจับต้องสารคัดหลั่ง หรือ แม้แต่การตั้งด่านคัดกรองต่างๆ ก็ต้องมีแนวทางปฏิบัติที่เป็นคู่มือ เช่น ไม่ชะโงกศีรษะเข้าไปในรถยนต์ ไม่จับหรือแตะต้องรถ หรือแม้แต่การกำชับให้ใช้อุปกรณ์ส่วนบุคคลเท่านั้นตลอดการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงต้องมีการวางแผนสำหรับประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การตรวจ การส่งต่อรักษา และการกักกันตัว

 

ส่วน “มาตรการรีบวินิจฉัยและกักกันตัว” เป็นมาตรการที่ครอบคลุมทั้งแนวทางในการค้นหาเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ติดเชื้อและแนวทางการกักตัวของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทุกหน่วยงานอย่างเป็นระบบ โดยเสนอว่า หากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด-19 ต้องรีบจำแนกกลุ่มเจ้าหน้าที่เหล่านี้ออกมาและดูว่าเข้าเงื่อนไขใดบ้างตามอาการ เช่นต้องการกักกันตัว หรือต้องตรวจวินิจฉัยโรคทันที เป็นต้น

 

หากพิจารณาแล้วว่าต้องกักตัว จะต้องพิจารณาถึงมาตรการการกักตัวอย่างเป็นระบบ ต้องคำนึงถึงสถานที่ที่จะใช้ในการกักตัวของเจ้าหน้าที่ว่าเหมาะสมหรือไม่ หากที่พักอาศัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เหมาะสมสำหรับการกักตัว รวมถึงสร้างความยากลำบากต่อการกักตัว หน่วยงานจะต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดหาทรัพยากรให้เป็นศูนย์กักกันตัวชั่วคราว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือชุมชนรอบข้าง

 

พล.อ.ต.นพ.ไกรเลิศ เธียรนุกุล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพอากาศ และจักษุแพทย์ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เห็นด้วยว่า รูปแบบการทำงานของตำรวจที่ต้องลงไปในพื้นที่ต่างๆ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้น และไม่สามารถปฏิบัติในแนวทางเดียวกับแพทย์ได้ในบางกรณี เช่น อุปกรณ์ป้องกันตัวที่ไม่สามารถใส่ไปพร้อมๆ กับการปฏิบัติหน้าที่ได้ การรักษาระยะห่างกับคนร้ายทำไม่ได้ ที่สำคัญคือตำรวจไม่ทราบประวัติด้านสุขภาพของคนเหล่านั้นก่อนเข้าไปดำเนินการ หรือแม้กระทั่งข้อมูลที่ได้มามีโอกาสถูกบิดเบือนสูงเพราะผู้กระทำความผิดมักไม่บอกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ที่ไปกับตำรวจ ดังนั้นการดูแลเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนได้รับเชื้อ คือ ต้องให้ความรู้ในการดูแลตัวเอง มีอุปกรณ์ป้องกันตัวเท่าที่จำเป็น รับทราบข้อมูลบุคคลหรือพื้นที่เสี่ยงให้มากที่สุด และควรมีประกันความเจ็บป่วยในกรณีติดเชื้อด้วย แม้จะมีสิทธิในการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลตำรวจ หรือทหารแล้วก็ตาม และเห็นด้วยว่าควรมีสถานที่สำหรับกักแยกตัวโดยเฉพาะของเจ้าหน้าที่ เพราะส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแฟลตที่มีความแออัด

 

ด้านนางสาวชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด TIJ นำเสนอให้เห็นสภาพปัญหาอาชญากรรมในยุคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ โดยระบุว่า ทั่วโลกมีรูปแบบอาชญากรรมบนท้องถนนลดลง ทั้งลักโขมย ชิงทรัพย์ ปล้น ฆ่า ข่มขืน หรือแม้แต่การค้ายาเสพติดบนท้องถนน เพราะเกือบทุกประเทศใช้มาตรการปิดเมือง แต่อาชญากรรมที่เริ่มมีมากขึ้น คือ การไปปล้นร้านค้าที่ปิดอยู่ในช่วงเคอร์ฟิว

 

จากข้อมูลพบว่า ประเทศฟิลิปปินส์ มีสถิติอาชญากรรมทั่วไปลดลง 55% ที่ชิคาโก้ สหรัฐอเมริกา ลดลง 10% แต่คดียาเสพติดลดลงถึง 40% ประเทศสเปน ที่มีผู้ติดเชื้อมาก อาชญากรรมลดลง 50% แต่ในประเทศที่ยากจนมากๆ เช่น เยเมน อินเดีย พบอาชญากรรมในบริบทใหม่ๆ เช่น การขโมยน้ำมาใช้ในการเกษตร ส่วนอาชญากรรมทางไซเบอร์ เพิ่มสูงขึ้นเพราะคนใช้อินเทอร์เน็ตมาก โดยพบการหลอกลวงให้โอนเงินรูปแบบต่างๆ และการหลอกเพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคล

 

“ความรุนแรงในครอบครัว” เป็นอาชญากรรมอีกประเภท ที่นางสาวชลธิศ ระบุว่า “เพิ่มสูงขึ้นมาก” ในช่วงที่คนอยู่บ้าน และผู้หญิงที่ถูกทำร้ายก็อยู่ในบ้าน ออกไปขอความช่วยเหลือไม่ได้ การเข้าถึงความช่วยเหลือยากขึ้น โดยมีสถิติความรุนแรงในครอบครัวสูงขึ้นที่มาเลเซีย 59% สิงคโปร์ 33% และฝรั่งเศส 30% ส่วนในประเทศแถบอเมริกาใต้ ซึ่งมีการค้าขายผิดกฎหมายข้ามพรมแดน หรือการเคลื่อนย้ายคนข้ามพรมแดน ในรูปแบบ “องค์กรอาชญากรรม” ก็ทำได้ยากขึ้น แต่ก็มีแนวโน้มการเปลี่ยนเส้นทางการค้า หรือแม้แต่มีการใช้โดรนเพื่อส่งยาเสพติด

 

ศ. (พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ สรุปผลของการหารือว่า การจะทำให้ “ตำรวจ” หรือ เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทำงานได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ จะต้องเร่งจัดการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล การแนะแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม มีองค์ความรู้ หรือนำคู่มือที่ได้จากงานวิจัยนี้ไปปรับใช้ และยังต้องมีมาตรการในการดูแลสวัสดิภาพของเจ้าหน้าที่และครอบครัว เพราะตำรวจออกไปเสี่ยงติดเชื้อในพื้นที่ต่างๆ แต่ต้องกลับมาใกล้ชิดกับคนในครอบครัว

 

ผู้อำนวยการ TIJ ยังเสนอเพิ่มเติมว่า ตำรวจ อาจจะสร้างกระบวนการทำงานร่วมกับชุมชนต่างๆ เพื่อให้ชุมชนช่วยคัดกรองปัญหาที่ได้รับแจ้งก่อน ซึ่งจะทำให้ตำรวจไม่จำเป็นต้องเข้าไปทำงานในพื้นที่ทุกครั้ง และยังมีแนวทางการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการสืบสวนอย่าง CCTV การทำระบบการแจ้งความออนไลน์ ซึ่งกำลังจะเปิดตัว หรือ แอปพลิเคชันติดตามที่ช่วยให้รู้ประวัติการเดินทางของคนร้ายหรือผู้ต้องสงสัยได้ รวมทั้งอาจจะต้องลดแนวการปฏิบัติบางอย่างที่ไม่จำเป็นลงไป เช่น สามารถออกเป็นแนวทางได้ว่า คดีลักษณะไหน ที่ไม่จำเป็นต้องนำตัวมาที่โรงพักก็สามารถดำเนินการได้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงไปได้อีก

 

ศ. (พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์  ขอให้กำลังใจตำรวจและเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ดูแลความปลอดภุยของประชาชน แม้จะอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงติดเชื้อ โดยระบุว่า เป็น “ฮีโร่” เช่นเดียวกับบุคลากรทางการแพทย์

 


ชมคลิปย้อนหลัง
 

 

 

Back
chat