ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

New Normal ศาลยุติธรรมยุคโควิด-19 “เปิดศาล” ให้เป็นแหล่งเรียนรู้กฎหมาย ประชาชนเข้าถึงง่าย ตรวจสอบได้ทุกคดี

 

“ที่ผ่านมา ศาลฎีกา ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ลึกลับ เข้าถึงยาก เป็นดินแดนมิคสัญญี ผมจะเปิดให้คนภายนอกเข้าชมการทำงานของศาลฎีกา จะเชิญชวนผู้มีวิชาชีพทางกฎหมาย เชิญชวนนิสิตนักศึกษา นักเรียนเข้ามาดูการทำงานของศาลฎีกา ว่ามีระบบการทำงานอย่างไร มีระบบการทำคำพิพากษาอย่างไร ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เหล่านี้ไม่ใช่ความลับ มีกระบวนการทำงานที่โปร่งใส และตรวจสอบได้ ทำให้ศาลฎีกาเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักกฎหมาย และประชาชนทั่วไป ... วันเด็ก ทำเนียบรัฐบาลยังเปิดให้เด็กเข้าชมได้ ทำไมศาลยุติธรรมจะเปิดไม่ได้”

 

“ทำให้สาธารณะเข้าถึงศาลได้” ถือเป็นความพยายามที่จะปรับเปลี่ยน “วิธีคิด” ทั้งของบุคลากรศาลและวิธีคิดที่ประชาชนรู้สึกต่อศาล ซึ่งประธานศาลฎีกา เปิดเผยระหว่างการสนทนาพิเศษครั้งนี้ โดยระบุว่า กำลังให้คณะทำงานของสำนักงานศาลยุติธรรม เตรียมการ “เปิดศาลฎีกา” ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชน ให้พื้นที่ของศาลเป็นสถานที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์กฎหมายของประเทศไทย ประวัติของศาลฎีกา และสามารถเรียนรู้ได้ว่ากว่าจะเป็นคำตัดสินของศาลในแต่ละคดี มีการทำงานที่ละเอียดรอบคอบ ตรวจสอบความถูกต้องจริงหรือไม่ ซึ่งแนวคิดนี้ มาจากความต้องการให้ “ศาลยุติธรรม” เป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง จะช่วยเปลี่ยนความรู้สึกของประชาชนที่เคยมีต่อศาล จากพื้นที่ลึกลับ แตะต้องไม่ได้ ให้กลายเป็นพื้นที่ที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายซึ่งจะนำไปสู่ความไว้ใจศาล และเมื่อศาลฏีกาเปิดได้แล้ว ในขั้นต่อไป ก็เชื่อว่าจะสามารถเปิดศาลอุทธรณ์ได้เช่นกัน

 

ส่วนกระบวนการทำงานต่างๆของศาลที่จะปรับเปลี่ยนไปในช่วงที่ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประธานศาลฎีกา เปิดเผยว่า แนวปฏิบัติในขณะนี้ คือยังต้องลดการมารวมตัวกันที่ศาล ด้วยการอนุญาตให้เฉพาะบุคคลที่จำเป็นเท่านั้นจึงจะเข้าไปในห้องพิจารณาคดี และยังต้องรักษาระยะห่างตามคำแนะนำของทางสาธารณสุข โดยที่ผ่านมา ได้เลื่อนการพิจารณาคดีไปถึง 1.6 แสนคดี แต่เป็นคดีที่ได้พิจารณาแล้วว่าการเลื่อนออกไป จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และขณะนี้ได้ประเมินว่า ภายในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม ถึง สิงหาคม ศาลน่าจะกลับมาให้บริการได้ตามปกติ จึงมีแนวทางที่จะเร่งพิจารณาคดีที่เลื่อนออกไปทันที โดยจะเพิ่มการทำงานในวันเสาร์-อาทิตย์ขึ้นมา เพื่อให้กรอบเวลาการพิจารณาคดีต่างๆเป็นไปตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้ คือ คดีที่ศาลชั้นต้น ใช้เวลาไม่เกิน 2 ปีต่อคดี ส่วนในชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ใช้เวลาไม่เกินคดีละ 1 ปี เพราะศาลทราบดีถึงคำวิจารณ์ในอดีตว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความไม่ยุติธรรม”

 

ส่วนวิธีการอื่นๆ ที่นำมาใช้แล้วเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินต่อไปได้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น การสืบพยานโดยใช้ระบบ VDO Conference ซึ่งเคยใช้ในคดีแพ่งที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาหรือการค้าระหว่างประเทศจึงประยุกต์มาใช้กับคดีอื่นๆให้มากขึ้น หรือ การไต่สวนพยานโดยใช้การแยกห้องพิจารณา ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำอยู่แล้วเพื่อให้ความคุ้มครองในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน

 

กระบวนการปล่อยตัวชั่วคราว ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่ประธานศาลฎีกา ระบุว่า ได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย จากปกติที่ต้องนำตัวจำเลยที่จะถูกปล่อยตัวมาที่ศาล ก็จะปรับเปลี่ยนเป็นการสอบถามจำเลยด้วยระบบ VDO Conference จากที่เรือนจำ เช่นเดียวกับการอ่านคำพิพากษาในกรณีที่จำเลยอยู่ที่เรือนจำอยู่แล้ว ก็สามารถอ่านผ่านระบบ VDO Conference โดยตรง ซึ่งการไม่ต้องนำตัวจำเลยมาที่ศาลยังช่วยลดความเสี่ยงของเขาที่จะต้องออกมาติดเชื้อ และในบางกรณียังช่วยลดความเสี่ยงที่จะถูกชิงตัวหลบหนีด้วย

 

ประธานศาลฎีกา กล่าวสรุปว่า ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายของศาลที่กำลังดำเนินการอยู่ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดของบุคลากรทั้งหมดของศาลและกระบวนการยุติธรรม โดยมีประเด็นที่เป็นหัวใจคือ “ตราบใดที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดมีความผิด ต้องได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่ เว้นแต่มีแนวโน้มว่าบุคคลนี้จะเป็นอันตรายต่อสาธารณะ” และหากมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ก็ต้องมีแนวทางการลงโทษที่เหมาะสมกับความผิด เป็นทางเลือกอื่นซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการจำคุกเสมอไป ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ จะยังต้องผ่านการทำงานร่วมกันอย่างมากในกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติทั้งหมด ซึ่งก็หวังว่าจะเกิดขึ้น เพื่อให้ศาลได้เป็นที่พึ่งของทุกคนได้อย่างแท้จริง

 

“ประเมินความเสี่ยงหลบหนี” แบบฟอรร์มใหม่ ใช้แทน “หลักทรัพย์” ในการประกันตัว ลดความเหลื่อมล้ำคนรวย-คนจน

“การประเมินความเสี่ยงที่จะหลบหนี” ถูกใช้เป็นหลักเกณฑ์ใหม่ในการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวแทนการกำหนดวงเงินประกันตัวไว้สูงๆ เพราะถูกมองว่า ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งแม้จะถูกกล่าวหาในความผิดแบบเดียวกัน แต่คนรวยสามารถประกันตัวออกไปสู้คดีได้ แต่คนจนต้องอยู่ในเรือนจำแม้ว่าในท้ายที่สุดอาจจะเป็นผู้บริสุทธิ์

 

นางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกา จึงแสดงให้เห็นเอกสารสำคัญที่ใช้ในการประเมินความเสี่ยง ซึ่งเรียกว่า “คำร้องใบเดียว” คือ คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่ไม่ต้องเสนอหลักประกันใดๆ ยังไม่ต้องบอกว่ามีหรือไม่มีอะไร เพราะศาลอาจจะไม่ได้ประกันอะไรเลยก็ได้ หากโทษไม่เกิน 10 ปี ศาลอาจปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกัน หรือมีประกันโดยเพียงทำสัญญาไว้แต่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์มาประกัน

 

“เรามีจุดมุ่งหมายว่าการทำงานของเรา อยากให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว เอาคนออกจากคุกให้มากกว่านี้ โดยการลดการเรียกหลักประกัน แต่ต้องให้สังคมมีความปลอดภัย ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นในทุกขั้นตอน”

 

รองประธานศาลฎีกา บอกว่า “มาตรการเชิงรุก” ให้ผู้พิพากษาได้เข้าไปสื่อสารผู้ต้องขังในเรือนจำโดยตรง เกิดขึ้นเพื่อหาคำตอบว่า เหตุใดจึงไม่ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ทราบหรือไม่ว่ามีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวได้โดยที่ยังไม่ต้องเสนอเงินประกัน ได้รับผลลกระทบอย่างไรบ้างในเรือนจำ และคาดหวังอะไรบ้าง จึงพบว่า ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีกว่าร้อยละ 80 ไม่ทราบมาก่อนว่าสามารถยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยยังไม่ต้องเสนอเงินเป็นหลักประกันได้ สะท้อนให้เห็นว่าการประชาสัมพันธ์ยังเข้าไม่ถึงผู้ต้องขัง โดยโครงการนี้เริ่มทำ “ศาลต้นแบบ” 10 แห่ง เป็นศาลส่วนกลางหนึ่งแห่ง คือ ศาลอาญาธนบุรี และกระจายไปตามศาลภาคต่างๆ 9 ภาค เช่น ศาลจังหวัดนครนายก ศาลจังหวัดนครราชสีมา ศาลจังหวัดลำพูน ศาลจังหวัดภูเก็ต มีเป้าหมายว่า ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ศาลชั้นต้นร้อยละ 70 จากทั้งหมด 269 ศาล จะดำเนินการตาม “มาตรการเชิงรุก” ได้สำเร็จ และภายในเดือนกันยายนจะทำให้ศาลชั้นต้นทุกแห่งดำเนินการได้ ซึ่งผลจากมาตรการเชิงรุกนี้จะทำให้ผู้ต้องขังระหว่างไต่สวนพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นมีจำนวนลดลง

 

ส่วนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไป เช่น ให้มารายงานตัวต่อศาลทุกกี่วัน การใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring หรือ EM) และมีมาตรการตั้งผู้กำกับดูแลในกรณีที่จำเลยไม่มีญาติพี่น้องที่จะดูแลได้จะสอบถามไปยังผู้ที่เขาวางใจ ให้ความเคารพ หรือเป็นที่เชื่อถือในชุมชน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่จะมารับรองดูแลคนกลุ่มนี้แทนการเดินทางมารายงานตัวต่อศาลโดยตรง ซึ่งศาลได้ทำ MOU กับกระทรวงมหาดไทยมาหลายปีแล้ว

 

อีกกลุ่มที่ถูกกักขังในเรือนจำ คือ กลุ่มคนที่ได้รับโทษกักขังแทนการเสียค่าปรับ รองประธานศาลฎีกา เน้นว่า “คนกลุ่มนี้มีความผิดเพียงโทษปรับ ไม่ควรต้องมาอยู่ในเรือนจำ” แต่มาอยู่ในเรือนจำเพียงเพราะไม่มีเงินเสียค่าปรับ โดยกฎหมายคิดอัตราจำคุกแทนค่าปรับ 500 บาทต่อวัน แต่จริงๆแล้วกฎหมายให้สิทธิที่จะไม่ต้องถูกจำคุก ด้วยการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์แทนค่าปรับ เช่น งานในโรงพยาบาล กวาดถนน ทำความสะอาด จากสถิติล่าสุดชี้ว่า ผู้ต้องกักขังแทนค่าปรับตอนนี้มีจำนวนลดลงมาก ถือเป็นอีกทางที่ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น

 

ส่วนความกังวลต่อความปลอดภัยของสังคมจากการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขัง นางเมทินี ย้ำว่า แบบประเมินความเสี่ยงที่ถูกนำมาใช้ ถูกพัฒนามาจากงานวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรม ทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒนศักดิ์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เป็นงานวิจัยที่มีตัวชี้วัดและมีผลเชิงสถิติคำนวนออกมาว่ารายไหนมีความเสี่ยงสูง กลาง หรือต่ำ ที่จะหลบหนี

 

วิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาส ศาล นำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการยุติธรรม ลดการมาศาล เพิ่มความรวดเร็ว

นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า การมีคนเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานของศาลมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี บวกกับการทำงานเชิงรุกและต้องปรับเปลี่ยนให้ประชาชนเข้าถึงศาลมากขึ้น จึงมีการวางแผนปี 2020 ให้เป็นปี Digital Court และเมื่อเจอสถานการณ์โควิดแผนงานนี้จึงมีการขับเคลื่อนเร็ว โดยทุกคดีที่เข้าศาลยุติธรรม มีการกำหนดเป้าหมายกรอบเวลาทำงานศาลชั้นต้นไม่เกิน 2 ปี ศาลสูงไม่เกิน 1 ปี และมีการติดตาม โดยใช้เทคโนโลยีทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ในส่วนคดีแพ่ง มีระบบบริการข้อมูลคดี หรือ Case Information Online Service (CIOS) เป็นระบบที่รองรับกับกระดาษแบบเดิม ติดตามคดี ยื่นคำร้องผ่านระบบ ขอคัดถ่ายเอกสารผ่านการส่งไฟล์ไม่มีค่าธรรมเนียม นอกจากนี้ยังมีระบบ e-Filing มาช่วยเรื่องการยื่นคำฟ้อง การส่งคำคู่ความและเอกสาร จากระบบเดิมที่การยื่นฟ้องต้องมายื่นเอกสารด้วยกระดาษที่ศาลทั้งหมด เมื่อใช้ระบบนี้จะมาช่วยให้การทำงานสะดวกรวดเร็วขึ้น โดยยื่นได้ทุกที่ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยข้อมูลจนถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 มีจำนวนคดีทั้งสิ้น 56,144 คดี ที่มีการยื่นฟ้อง ศาลใช้ระบบ e-Filing ทั้งหมด 160 ศาล มีทนายความลงทะเบียนทั้งสิ้น 7,821 คน และยังมีนโยบายว่า  หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาไปแล้วภายใน 10 วันทำการ ประชาชนสามารถคัดถ่ายคำพิพากษาได้ด้วย

 

อีกหนึ่งมาตรการที่มาช่วยให้การทำงานรวดเร็วมากขึ้น คือ เรื่องการไกล่เกลี่ยออนไลน์ เนื่องจากคดีบางประเภทที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีการไกล่เกลี่ย เจรจากันก่อน อย่างเช่น คดีผู้บริโภค คดีแรงงาน ลักษณะนี้จะมีการเอาระบบออนไลน์มาใช้ ซึ่งตอนนี้เริ่มดำเนินการไป 117 ศาล การที่คู่ความสามารถตกลงกันได้ ทำให้คดีไม่ต้องขึ้นไปสู่ศาลสูง ขณะเดียวกันประชาชนก็ได้รับความพึงพอใจจากข้อตกลงที่มีอยู่

 

ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา สำนักงานศาลยุติธรรมมีการทำการตกลงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้ตำรวจยื่นขอหมายจับ หมายค้น ทางออนไลน์ได้ ซึ่งฐานข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศาลจะมีการแลกเปลี่ยนกัน และข้อมูลจะถูกต้องตรงกัน รวมถึงการส่งต่อข้อมูลในเรื่องการห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ก็เชื่อมต่อข้อมูลร่วมมือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองด้วย ส่วนรายละเอียดการใช้กำไล EM ขณะนี้ ศาลมีอุปกรณ์ในระบบทั้งหมด 5 พันเครื่อง สามารถใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ใช้ประกอบกับการปล่อยชั่วคราวกรณีไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอ หรือในกรณีที่ศาลเห็นควรว่าต้องติดตาม

 

ปรับวิธีคิด กระบวนการยุติธรรมแล้ว ต้องสะท้อนให้เห็นแนวปฏิบัติจริง เริ่มตั้งแต่ลดจำนวนคดีก่อนถึงศาล

ศ. ดร. สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ประธานกรรมการบริหาร TIJ ให้ความเห็นว่า การดำเนินงานต่าง ๆ ที่กล่าวมา ศาลไม่สามารถทำได้สำเร็จเพียงลำพัง เพราะเมื่อมีคดีเข้ามาแล้ว ก็เป็นหน้าที่ศาลในการพยายามไกล่เกลี่ย เห็นได้จากตัวเลขแต่ละปี เฉพาะคดีอาญาเกือบ 7 แสนคดี กว่าร้อยละ 60 เป็นเรื่องเอกชนฟ้องกันเอง แต่ใช้กลไกของรัฐมาไกล่เกลี่ย เมื่อได้รับชำระหนี้ก็ถอนฟ้อง จึงต้องมาพิจารณาว่า การที่เราพยายามแก้กฎหมายให้ทันสมัย คุ้มครองสิทธิเสรีภาพมาก แต่หากไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการปฏิบัติก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาเดิมได้ โดยยกตัวอย่างว่า ผู้พิพากษาที่ไม่ยอมให้ประกันตัวเป็นกลุ่มไม่เคยถูกสอบสวนเลย แต่ผู้พิพากษาที่อนุญาตให้ประกันตัวมักถูกสอบสวน หรือในชั้นอัยการ และยังจำเป็นต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมในทุกขั้นตอนได้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะหากประชาชนยังไปถึงโรงพักด้วยความกลัว ไปพบอัยการโดยกังวลว่าจะทำอะไรกับคดีของเขา หรือแม้กระทั่งกลัวการไปศาล ยิ่งไม่มีทางเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เช่น ยังมีความเข้าใจว่าต้องใช้เงินเยอะในการประกันตัว จึงไม่ยื่นเรื่องขอประกัน

 

อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ ที่ถูกสะท้อนผ่าน ศ.ดร.สุรศักดิ์ คือ มีคดีเข้าสู่ระบบในแต่ละปีมากเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนผู้พิพากษา ทำให้ต้องรับผิดชอบคดีเยอะ ดังนั้น พนักงานสอบสวน ต้องเป็นนักเจรจาต่อรองที่เก่งกาจมากขึ้น ส่วนอัยการก็ควรลงไปมีบทบาทมากขึ้น

 

“ยกตัวอย่างปริมาณคดีทั้งหมด แบ่งเป็น คดีแพ่ง 1,118,431 คดี และคดีอาญา 611,413 รวมเป็น 1,729,844 คดี ในขณะที่มีจำนวนผู้พิพากษา อยู่ 4,771 คน ดังนั้น เท่ากับว่าเฉลี่ยคดีที่แต่ละท่านต้องทำ คือ 362 คดีต่อคน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่หนักสำหรับคนหนึ่งคน”

 

ศ.ดร.สุรศักดิ์ ยังชี้ให้เห็นถึงตัวเลขจำนวนผู้ต้องขังที่ขึ้นลงไม่แน่นอน ทำให้เสียงบประมาณเพื่อดูแลผู้ต้องขังมากเกินไป แทนที่จะนำงบประมาณส่วนนั้นไปใช้ในการสร้างสาธารณประโยชน์อื่นๆ โดยชี้ให้เห็นข้อมูลว่า ไทยใช้เงินดูแลผู้ต้องขัง 54 บาทต่อวันต่อคน ใน 1 วัน จะต้องใช้เงินส่วนนี้เกือบ 20 ล้านบาท และใน 1 ปี ใช้งบประมาณถึง 7 พันกว่าล้านบาท

 

แนะบูรณาการยุติธรรมตั้งแต่ต้นทาง-ใช้มาตรการทางเลือกสกัด New Abnormal Crime

 

“ในอนาคต ธุรกิจจะล้มมากมาย เป็นช่วงเผาจริง Blue Collar Crime ลักวิ่งชิงปล้นจะกลับมา และจะแปลงร่างไป เต็มรูปขึ้น ยิ่งเรามี AI จะเข้าไปอยู่ใน Virtual Community อย่าง Cyberbullying และผู้กระทำผิดใน New Normal เพราะช็อคจากสถานการณ์จะเกิดสถานภาพ เป็นทั้งผู้กระทำผิดและเหยื่อจากพิษโควิด เค้าจะถูก Treat อย่างไร รัฐบาลจะทำอย่างไร”

 

ข้อสังเกตของ รศ.ดร. จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย อาจารย์พิเศษ ภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่า เราถูกคุกคามจากผู้มีอำนาจใหม่ คือโควิด-19 ทำให้เราตกอยู่ในสถานการณ์พิเศษ เป็น New Normal เป็นวิถีใหม่ และการจะแนะแนวทางการดำเนินงานของศาลยุติธรรม จึงต้องดูไป 3 ระยะ คือ มองงานของศาล ในปี 2561-2562 ... มองปัจจุบันเป็นภาวะไม่ปกติ (Abnormal) ที่เกิดขึ้นใหม่ และพยากรณ์ในอนาคต ว่า New Normal เต็มรูปแบบเป็นอย่างไร

 

ส่วนแรก คือ การมองกลับไปในปี 2561-2562 จากสถิติการพิจารณาคดีศาลชั้นต้นในปี 2561 ศาลยุติธรรมประสบความสำเร็จดีมากในการดำเนินคดีในศาลชั้นต้นถึงร้อยละ 94.03  แต่หากมองในมุมอาชญาวิทยา จะพบว่ามีการใช้ห้องพิจารณาคดีอย่างมาก ถ้าโควิด-19 ติดด้วยการสัมผัส การใช้ห้องพิจารณาคดีอย่างเต็มร้อยละ 100 จะทำให้โรคระบาดไปมาก

 

และเมื่อพิจารณาจากคดีที่เกิดขึ้นในปี 2561 พบว่า 5 อันดับของคดีที่เพิ่มขึ้น อันดับ 1 คดียาเสพติด 2 จราจร 3 พนัน 4 คดีเกี่ยวกับปืน และ 5 คดีเกี่ยวกับทรัพย์ ซึ่งถ้ามองอันดับ 1-4 รวมกัน เป็นความผิดที่กฎหมายกำหนด (Mala Prohibita) และเป็น Victimless อาชญากรรมไม่มีเหยื่อ มีน้ำหนักความเป็นอาชญากรรมน้อย แต่ใช้พื้นที่ศาลยุติธรรมมากถึงกว่าร้อยละ 60 ทำให้เห็นว่าศาลต้องทำคดีในคดีที่ไม่ได้น้ำหนัก แทนที่จะเอาเวลาไปทำในเรื่องที่สมควร

 

จากการวิจัยร่วมกัน ระหว่าง TDRI กับสถาบันวิจัยและพัฒนารพีพัฒศักดิ์ พบว่าแนวทางการตัดสินคดีของศาลชั้นต้นในคดีเช็ค จะตัดสินจำคุกทุกคดี จึงน่าสนใจว่า จากนี้ไปซึ่งโควิด-19 ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจมาก อาจทำให้มีคนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจต้องติดคุกมากขึ้น

 

จากงานวิจัยเดียวกันยังพบด้วยว่า ในคดีลักทรัพย์และคดีทำร้ายร่างกาย ศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกร้อยละ 73.3 และร้อยละ 51.9 ตามลำดับ คดียาเสพติด ตัดสินจำคุกและปรับ 60.6% ส่วนศาลฎีกามักจะลงโทษจำเลยด้วยการจำคุกเกือบทุกกรณีศึกษา และจะลงโทษปรับก็ต่อเมื่อตัดสินให้ลงโทษจำคุกแต่ให้รอการลงโทษ ดังนั้นก็มีทางเลือกลงโทษไม่มากนัก

 

รศ.ดร. จุฑารัตน์ ได้เสนอแนะให้บูรณาการในกลุ่มคนที่มีหน้าที่ออกกฎหมายกับศาลที่เป็นกระบวนการยุติธรรม เพราะต้นทางของกระบวนการ คือ การออกกฎหมาย หากเปลี่ยนแปลงรูปแบบการลงโทษทางกฎหมายไม่ได้ ศาล ซึ่งเป็นปลายทาง ก็จะไม่มีทางเลือกในการตัดสิน

 

ส่วนการพยากรณ์อาชญากรรมในอนาคต จะพบว่ามีช่วงหนึ่งที่ Blue Collar Crime ครองเมือง ทำให้มีกำแพงอย่างบางขวาง เป็นยุคที่ปราบปรามการลักวิ่งชิงปล้นได้ดี ยุคต่อมาเรามี 2G 3G เป็น White Collar Crime และ อาชญากรรมข้ามชาติ ส่วนในอนาคต คาดว่า ธุรกิจจะล้มมากมาย Blue Collar Crime จะกลับมา และจะแปลงร่างไปเต็มรูปขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีระบบ AI จะทำให้อาชญากรรมเข้าไปอยู่ใน Virtual Community อย่าง Cyberbullying พร้อมตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ผู้กระทำผิดใน New Normal เพราะช็อคจากสถานการณ์ จะเกิดสถานภาพ เป็นทั้งผู้กระทำผิดและเหยื่อจากพิษโควิด-19

 

รศ.ดร. จุฑารัตน์ เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการบริหารงานยุติธรรม และการอำนวยความยุติธรรม โดยกระบวนการออกกฎหมาย และกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่บูรณาการทิศทางที่ชัดเจน

 

ในส่วนของการบริหารงานยุติธรรม ปัจจุบันพบว่าศาลทำอยู่แล้ว 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือการเลิกใช้เอกสาร เปลี่ยนเป็น Eliminate Paper ซึ่งทำดีแล้ว และควรเชื่อมโยงทั้งกระบวนการ คือ ตำรวจ อัยการ ศาล และกลุ่มที่ 2 คือ ระบบทางไกลต่างๆ เช่น VDO Conference ก็คิดว่าดี และควรขยายการใช้งานมากขึ้น

 

มาตรการทางเลือกแทนการจำคุก เป็นอีกมาตรการที่ รศ.ดร. จุฑารัตน์ เสนอแนะให้นำมาใช้ในกระบวนการบริหารงานยุติธรรมในยุคนี้ โดยระบุว่า เรือนจำมีรายจ่ายสูง และในยุค New Normal รัฐยังจำเป็นต้องนำงบประมาณไปแก้ปัญหาหลายประการ โดยคดีในอนาคตที่จะพบมากขึ้น คือ Hate Crime เช่น คนต่างเชื้อชาติที่ติดโควิด-19 ถูกรังเกียจ มีอาชญากรรมรูปแบบใหม่ซึ่งมีที่มาจากการเกลียดชัง เหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรลงโทษด้วยการจำคุก อย่างรัฐบาลของ บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ มีนโยบายให้ไกล่เกลี่ยคดีแบบนี้ นอกจากนี้ ยังมีคดีความผิดที่รัฐเป็นผู้เสียหายอย่างคดีทางสิ่งแวดล้อม เช่น การตัดไม้ทำลายป่า และควรใช้การ Community Justice และ Restorative Justice ให้ชุมชนมาร่วม ใช้ได้ดีกับกลุ่มอ่อนไหวเปราะบาง และชายขอบต่างๆ

 

ศ. (พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวสรุปโดยชี้ให้เห็นว่า การขับเคลื่อนครั้งนี้ของผู้บริหารศาลยุติธรรม เป็นความหวังครั้งสำคัญของประเทศ เพราะเป็นความพยายามเปลี่ยนแปลงในเชิงลึกลงไปถึงวิธีคิดผ่านการรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย ทั้งผู้ต้องหา จำเลย ผู้เสียหาย และประชาชนทั่วไป นำไปสู่การทำงานเชิงรุกด้วยการส่งผู้พิพากษาไปสัมผัสปัญหาถึงในเรือนจำ โดยเฉพาะการเริ่มเปลี่ยนแปลงกระบวนการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่ง “ศาล” ได้สร้างแบบประเมินความเสี่ยงหลบหนีหรือเป็นอันตรายกับสังคมหรือไม่ ขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการพิจารณาว่าจะให้ประกันตัวผู้ต้องหา แทนการใช้ “เงิน” ซึ่งที่ผ่านมาเห็นแล้วว่า เป็นหลักประกันที่ไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดอย่างแท้จริง และยังทำให้คนที่ไม่มีเงินไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมด้วย หรือ ความพยายามในการแก้ปัญหาให้กับคนจนที่ถูกกักขังแทนการเสียค่าปรับก็เป็นความพยายามที่ดี จึงเชื่อว่า มาตรการต่างๆเหล่านี้ของศาลจะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทางฝ่ายวิชาการอย่างแน่นอน

 

ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ยังกล่าวสนับสนุนมาตรการอื่นๆของศาล ทั้งการใช้เทคโนโลยีอย่างกำไล Electronic Monitoring หรือ EM มาเป็นเครื่องมือช่วยในการติดตามผู้ต้องหา ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้ศาลและชุมชนได้ โดยที่ผู้กระทำความผิดยังสามารถไปทำงานหาเลี้ยงชีพได้ หรือแม้แต่การสร้างกระบวนการติดตามดูแลกันในชุมชน การไกล่เกลี่ยคดีทางออนไลน์ การอ่านคำพิพากษาผ่านระบบ VDO Conference และที่สำคัญคือ แนวคิดที่จะแก้ปัญหานักโทษคดียาเสพติดซึ่งมีมากที่สุดในเรือนจำ ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องมาอยู่ในเรือนจำ ซึ่งทั้งหมดนี้คงต้องผ่านกระบวนการในการแก้ไขกฎหมาย สร้างความเข้าใจในชุมชน สร้างระบบติดตามตัวที่น่าเชื่อถือ จึงขอสนับสนุนให้ศาล ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นหัวใจที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป


ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการบรรยาย
นางเมทินี ชโลธร 
นายสราวุธ เบญจกุล 
ศ. ดร. สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล 
รศ.ดร. จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย



อ่านต่อ
Exclusive Interview ประธานศาลฎีกา ไสลเกษ วัฒนพันธุ์
New Normal ศาลยุติธรรม ส่งผู้พิพากษาเข้าเรือนจำ “เอาคนไม่มีเงินประกันตัวออกจากคุก” เป็นศาลเดียวในโลก  

 


 

Back
chat