สรุปเสวนาออนไลน์ : การส่งเสริมการคืนสู่สังคมของผู้ต้องขังหญิง หลังได้รับการปล่อยตัว
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับสำนักงานป้องกันอาชญากรรมและปราบปรามยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ (UNODC) จัดงานเสวนาออนไลน์ครั้งสุดท้ายในชุดเสวนาออนไลน์ ว่าด้วยเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ตอบสนองต่อเพศภาวะและการปฏิรูปเรือนจำ”
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะแสวงหาแบบอย่างที่เป็นรูปธรรมในการส่งคืนผู้ต้องขังหญิงสู่สังคม ผู้ร่วมเสวนาได้นำเสนอแนวปฏิบัติจากหลายประเทศที่น่าสนใจ มิวเรียล จอร์แดน เอธวินยอน เจ้าหน้าที่ด้านการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาแห่ง (UNODC) ได้ยกตัวอย่างถึงแนวทางการปฏิบัติเช่น การอนุญาตให้ลากลับบ้าน เรือนจำเปิด บ้านพักพิงชั่วคราว และแนวทางอื่นๆ ที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วม โดยในประเทศโบลิเวีย ได้มีแนวทางการฝึกอบรมผู้ต้องขังให้มีทักษะการทำงานในอุตสาหกรรมที่กำลังเจริญก้าวหน้าอย่างอุตสาหกรรมก่อสร้าง เพื่อให้มีทักษะที่ตลาดต้องการ และช่วยให้พวกเธอมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น นอกจากนี้ หลังจากได้รับการปล่อยตัวแล้ว ผู้หญิงเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนจาก สมาคมแรงงานก่อสร้างหญิงแห่งชาติ ที่จะช่วยให้สมาชิกมีโอกาสหางานและพัฒนาธุรกิจของตนเองด้วย
“การประเมินความสามารถส่วนบุคคลมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าควรจะจัดโครงการฟื้นฟูอย่างไรให้เหมาะสมแก่ผู้ต้องขังหญิง”
- มิวเรียล จอร์แดน เอธวินยอน
ด้าน ร็อบ อัลเลน นักวิจัยอิสระ และที่ปรึกษา UNODC ผู้จัดทำวิจัยว่าด้วยโครงการการคืนผู้ต้องขังหญิงสู่สังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ยกตัวอย่างที่ใกล้เคียงกันจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า โครงการหนึ่งขององค์กรไม่หวังผลกำไรของประเทศกัมพูชา ใช้ชื่อว่า “This Life Cambodia” ซึ่งช่วยให้ผู้ต้องขังหญิงสามารถรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวโดยการช่วยให้ผู้ต้องขังหญิงสามารถมีรายได้และส่งเงินจุนเจือครอบครัวได้ ส่วนในประเทศมาเลเซีย เจ้าหน้าที่พัศดีจะเดินทางไปพบครอบครัวของผู้ต้องขังหญิงทั้งในช่วงเวลาก่อนที่จะปล่อยตัวพวกเธอ และหลังการปล่อยตัวแล้ว โดยมีบริการสนับสนุนในระยะเวลา 24 ชั่วโมงแรกหลังการปล่อยตัว เผื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน ขณะที่ในประเทศไทย หน่วยงานราชทัณฑ์เปิดคาเฟ่ให้ผู้ต้องขังหญิงได้มีโอกาสฝึกงาน เพื่อให้มีทักษะในการเป็นบาริสตา และมีนโยบายให้พวกเธอได้ทำงานนอกเรือนจำ ระหว่างที่ยังรับโทษ นอกจากนี้ ในเรือนจำบางแห่งยังเปิดให้ผู้ต้องขังรับทุนเพื่อเริ่มต้นธุรกิจของตนเองหลังจากได้รับการปล่อยตัว และเพื่อสนับสนุนการปล่อยตัวผู้ต้องขังหญิง หลายประเทศ อย่างมาเลเซียและไทยก็มีบ้านพักชั่วคราวหลังการปล่อยตัวให้บริการด้วย
“ผู้หญิงหลายคนต้องมาใช้ชีวิตในเรือนจำ เพราะสถานะทางการเงิน การช่วยฟื้นฟูและส่งพวกเธอกลับสู่สังคม โดยจัดหาทางเลือกที่จะช่วยให้พวกเธอได้หลุดพ้นจากวงจรนี้ได้จึงถือเป็นความท้าทาย”
- ร็อบ อัลเลน
จากนั้นผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด TIJ ไอชยา ยูลีอานี เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการความยุติธรรมอาญา UNODC และ ลี มาเรียมา ซีเซย์ ผู้จัดการโครงการ AdvocAid เซียร์ราลีโอน ได้นำเสนอตัวอย่างแนวปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงในเชิงลึกยิ่งขึ้น
ชลธิช ชื่นอุระ อธิบายถึงการนำความร่วมมือในรูปแบบภาคีพันธมิตรทางสังคม (Social Partnership Model) มาผผลักดันและพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศไทย เพื่อให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐบาลไทย ซึ่งเกิดเป็นโครงการหลากหลายรูปแบบ เช่น การลดหย่อนภาษีให้แก่บริษัทที่ว่าจ้างอดีตผู้ต้องขัง และยังยกตัวอย่างโครงการโดย TIJ ชื่อโครงการ “เรือนจำต้นแบบเชิงลึก” ซึ่งได้ดำเนินโครงการนำร่องก่อนปล่อยตัว ซึ่งเป็นการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญ 50 คน จากกลุ่มพันธมิตรทางสังคม 9 กลุ่ม เช่น นักบำบัดทางจิต หน่วยงานเอกชน หน่วยงานเพื่อสังคมที่ไม่แสวงหาผลกำไร และผู้นำชุมชน เข้าไปให้การฝึกอบรมผู้ต้องขังหญิงที่กำลังจะได้รับการปล่อยตัว เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้มีทักษะสำคัญอย่างการเสริมความเข้มแข็งทางจิตใจ บริหารจัดการการเงิน การวางแผนอาชีพและธุรกิจ ทั้งนี้ก็เพื่อให้พวกเขาได้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างราบรื่น
“Social Partnership Model ในประเทศไทยออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายสังคมในวงกว้างเพื่อให้ผู้ต้องขังหญิงได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม โครงการเช่นนี้ช่วยลดกำแพงระหว่างคนในเรือนจำและนอกเรือนจำ”
- ชลธิช ชื่นอุระ
ด้าน ไอชยา ยูลีอานี ยกตัวอย่างโครงการลักษณะเดียวกันที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย โดยระบุว่า UNODC กำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อพัฒนาแนวทางเฉพาะสำหรับผู้ต้องขังหญิง และทำงานร่วมกับกระทรวงกิจการสังคมในการพัฒนาบ้านพักชั่วคราวสำหรับผู้ต้องขังที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวและไม่มีที่พักอาศัย หรือไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะอื่นๆ ได้ และก่อนปล่อยตัวยังได้ให้การสนับสนุนทางด้านการบำบัดฟื้นฟูสุขภาพจิต โดยดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาล การบริการสาธารณสุข การฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด การฝึกอบรมทักษะอาชีพ และโครงการจัดหางานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการส่งเสริมครอบครัว หรือเรียกว่า “Homework with Mom” ซึ่งมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเด็กที่ต้องไปโรงเรียนและไม่สามารถมาเยี่ยมผู้ปกครองที่เรือนจำได้ โครงการนี้ช่วยให้เด็กๆ ได้มาเยี่ยมผู้ปกครองสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง พร้อมกับนำการบ้านมาทำด้วย ช่วยให้ผู้ปกครองหรือคุณแม่ที่เป็นผู้ต้องขังได้ใช้เวลากับลูกมากขึ้น ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการศึกษาให้แก่เด็กๆ ด้วย อย่างไรก็ดี เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องใช้วิดีโอคอลล์ผ่านโปรแกรมอย่าง Zoomและ WhatsApp แทนการเข้าเยี่ยมที่เรือนจำ
ขณะที่ จูลี มาเรียมา ซีเซย์ ผู้จัดการโครงการ AdvocAid เซียร์ราลีโอน เผยถึงประสบการณ์จากประเทศเซียร์ราลีโอน ว่ามีโครงการชื่อ Go Bifo Programme บริหารโดย AdvocAid ที่ช่วยให้การศึกษา เสริมพลัง และช่วยเหลืออดีตผู้ต้องขังในการคืนสู่สังคม โดยก่อนจะได้รับการปล่อยตัว ทาง AdvocAid จะติดต่อกับครอบครัวของผู้ต้องขังเหล่านี้เพื่อให้พวกเขาได้ทราบถึงวันที่จะปล่อยตัว แผนการปล่อยตัว และเงื่อนไขในการประกันตัว (ในกรณีที่ต้องมี) นอกจากนี้ ก่อนจะปล่อยตัว เจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์จะทำการสัมภาษณ์ก่อนปล่อยเพื่อประเมินความต้องการของผู้หญิงเหล่านั้น รวมทั้งมีการประชุมติดตามผลรายเดือน เพื่อประเมินสถานการณ์ ขณะเดียวกัน ยังมีหน่วยงานเอกชนประเภทสตาร์ทอัพเข้ามาช่วยเหลืออดีตผู้ต้องขังในการเริ่มต้นธุรกิจขนาดเล็กของตนเอง และอดีตผู้ต้องขังหญิงยังได้รับการส่งเสริมให้เข้าร่วมกลุ่มอดีตผู้ต้องขังหญิงที่จัดตั้งขึ้นเองเพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างกระบวนการคืนสู่สังคมด้วย
หลังจากนั้นวงเสวนาออนไลน์ได้เข้าสู่ช่วงถามตอบ โดยวงเสวนาได้ตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับความสำคัญของนโยบายที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดและการลดความรุนแรง การคืนสู่สังคมในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และบทบาทของอาสาสมัครในชุมชนต่อความสำเร็จในการคืนสู่สังคมของอดีตผู้ต้องขังหญิง
รายละเอียดเกี่ยวกับชุดสัมมนา click here.
Presentation download
Ms. Muriel Jourdan-Ethvignot