“ยุติ–ทำ” หยุดพฤติกรรมที่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคม ครั้งแรกของเทศกาลละครเวทีเพื่อส่งเสียงเรียกหาความยุติธรรมในสังคม
TIJ จัดกิจกรรม Theater Festival for Justice 2023 ขึ้น เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 และ 3 กันยายน 2566 เพื่อเปิดพื้นที่ในการพยายามใช้สื่อละครเวที ตีแผ่ถึงเรื่องราวของความเป็นธรรม ความเสมอภาค และความยุติธรรมในสังคมไทย ผ่านบทละครที่สะท้อนสังคมจากคณะละครเวทีที่มีชื่อเสียงถึง 4 คณะละคร โดยหวังให้กิจกรรมครั้งนี้เป็นตัวกลางสื่อถึงการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมต่อไป
ธีมในการแสดงละครเวทีในครั้งนี้เป็นการสะท้อนโจทย์ “ความไม่เป็นธรรมอยู่รอบตัวคุณใช่หรือไม่?” โดยคณะละครแต่ละคณะได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาได้อย่างน่าสนใจ และแสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของศิลปะการแสดงในการตั้งคำถามสังคม กระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความคิดเห็นที่หลากหลาย และเรียกร้องความยุติธรรมให้สังคมไทย โดยละครแต่ละเรื่องมีรอบจัดการแสดง 1 วัน วันละ 2 ครั้ง และมีผู้ชมที่เป็นบุคคลทั่วไปเข้าร่วมรับชมรอบละ 100-200 คน
วันเสาร์ที่ 2 กันยายน 2566
“พรุ่งนี้ฉันจะกลับมาใหม่ (C U 2 MORROW)” จาก คณะละคร New Theatre Society Production
เมื่อผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งที่กำลังปวดขาจากอาการป่วย ต้องรับข้อร้องเรียนจากผู้ปกครองลักษณะโทรมๆที่ร้องไห้คร่ำครวญมาขอความเป็นธรรมให้กับลูกที่ถูกไล่ออกเพราะสอบตก ทั้งที่ป่วยติดเตียงมา 2 เทอมแล้ว ... เขาไม่คิดที่จะช่วยเหลือเธอ แต่เมื่อถูกรบกวนอาการป่วย ทำให้ผู้อำนวยการโรงเรียนคนนี้ เลือกที่ยอมตามใจเธอ
กำกับการแสดง: ดําเกิง ฐิตะปิยะศักดิ์
นักแสดง: จรรยา ธนาสว่างกุล (ครูหยา นักแสดงจากละครบุพเพสันนิวาส) ศิรเมศร์ อัครภากุลเศรษฐ์ และ อนุสรณ์ อ่อนตีบ
“SPILL THE TEA” จาก คณะละคร สาขาสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรื่องราวยามเช้าของชาวออฟฟิศ เมื่อพนักงาน 3 คน ... รุ่นพี่สุดเนี๊ยบขาเม้าท์ ... สาวแบ๊ว โลกสวย สายกิน ... หนุ่มเนิร์ด หน้าใส ขวัญใจสาวๆ ต้องร่วมกันแก้ปริศนาที่เกิดขึ้น จนทำให้พวกเขาต่างสงสัยกันเอง
วันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน 2566
“เทวียุติธรรม หายไปไหน (WHERE are you?)” จาก คณะละครคนหน้าขาว
เทวียุติธรรม หายไปไหน .... ชายหนุ่มคนหนึ่งที่หลงรักรูปปั้นของเทวียุติธรรมที่เขาเดินผ่านและเฝ้ามองทุกๆวัน มาพบว่า เทวียุติธรรมที่เขาหลงรักหายตัวไปในเช้าวันหนึ่ง เขาจึงออกตามมา และพบว่า เธอกำลังจะฆ่าตัวตาย ... เพราะไม่มีความยุติธรรมหลงเหลือให้เธอได้ภาคภูมิใจอีกต่อไป
“All of Duck” จาก คณะละคร Maemelos Theatre (TSS Drama Club) โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เรื่องเล่าของมนุษย์เป็ด ที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมด้านการศึกษา เด็กแต่ละคนจะแสดงเป็นเป็ดในรูปแบบต่าง ๆ ของตัวเอง และถูกตีกรอบด้วยความเชื่อของพ่อแม่