ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดกิจกรรมคู่ขนาน (side event) ในระหว่างสมัยการประชุมคณะทำงานว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสมัยที่ ๘ (8th Session of the Open Working Group on Sustainable Development Goals หรือ OWG-SDGs) เพื่อรณรงค์ให้นานาชาติตระหนักถึงความสำคัญของการผลักดันให้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอันเป็นวาระร่วมกันของนานาชาติในอนาคต บรรจุเป้าหมายและตัวชี้วัดในเรื่องหลักนิติธรรม ความยุติธรรมและความมั่นคงไว้เป็นการเฉพาะด้วย เพื่อให้การพัฒนาเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง

การจัดกิจกรรมคู่ขนานในช่วงที่มีการประชุมหารือในประเด็นสำคัญในกรอบของสหประชาชาตินั้น เป็นเครื่องมือสำคัญที่ประเทศสมาชิก องค์การระหว่างประเทศ ทั้งในกรอบของสหประชาชาติ และองค์กรอื่นๆ ที่ไม่ใช่รัฐบาล (international NGOs) ใช้ในการสร้างความตระหนักรู้และรณรงค์ผลักดันประเด็นสำคัญต่างๆ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ คณะผู้แทนของประเทศสมาชิกต่างๆ ที่ไปเข้าร่วมการประชุมหารือ อีกทั้งเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันอย่างเสรี โดยคาดหวังว่าการเข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานจะช่วยให้ผู้แทนของแต่ละประเทศมีข้อมูลที่รอบด้านมากยิ่งขึ้นในการนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจและกำหนดท่าทีของประเทศของตน ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านต่างๆ ให้มีทิศทางที่สอดคล้องกัน

สถาบัน TIJ ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หนึ่งประการหนึ่งคือ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านหลักนิติธรรมเพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคม แห่งความยุติธรรม ได้กำหนดให้การผลักดันให้นานาชาติเห็นความสำคัญของหลักนิติธรรมในฐานะที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นประเด็นยุทธศาสตร์สำคัญของสถาบันฯ มาแต่แรกเริ่ม   ซึ่งผลงานสำคัญที่ TIJ ได้ดำเนินการไปในระยะเวลาที่ผ่านมาคือ การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหารือระดับนานาชาติว่าด้วยหลักนิติธรรม หรือ The Bangkok Dialogue on the Rule of Law: Investing in the Rule of Law, Justice and Security for the Post-2015 Development Agenda ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ซึ่งได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆ ส่งผู้นำและผู้แทนระดับสูงเข้าร่วมการประชุมหารือกับผู้ทรงวุฒิจากสถาบันวิชาการและผู้แทนจากองค์กรภาคประชาสังคม และยังได้รับพระกรุณาจากพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จมาร่วมการประชุมและประทานพระดำรัส keynote remarks แก่ที่ประชุมด้วย

กิจกรรมคู่ขนานที่ TIJ จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครนิวยอร์กนี้ จึงถือเป็นการก้าวย่างตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวของ TIJ และเป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำเสนอสาระสำคัญรวมถึงข้อเสนอแนะจากที่ประชุม Bangkok Dialogue on the Rule of Law และเปิดตัวรายงานฉบับย่อ (summary report) ของการประชุมดังกล่าวซึ่ง TIJ ได้จัดทำขึ้นเสร็จเรียบร้อยแล้วให้กับ กลุ่มผู้เข้าร่วมการประชุม OWG-SDGs ณ นครนิวยอร์ก เป็นครั้งแรกด้วย

ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ TIJ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากสำนักงานคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก  โดยนายชยพันธ์ บํารุงพงศ์ เอกอัครราชทูตรองผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้ให้เกียรติกล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน  จากนั้นเป็นการอภิปรายโดยผู้ทรงคุณวุฒิรวม ๓ ท่านซึ่งได้มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับหลักนิติธรรมและข้อเสนอแนะสำคัญจากการประชุม Bangkok Dialogue on the Rule of Law ได้แก่  (๑) เอกอัครราชทูตมาร์ค เลอกอง ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ และเอกอัครราชทูตพิเศษของสหรัฐฯ ด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์  (๒) นายแมตตี จูสเซ็น ศาสตราจารย์แห่งวิทยาลัยจอห์นเจย์ สหรัฐเมริกา ซึ่งทั้งสองท่านได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรและผู้ดำเนินรายการในการประชุม Bangkok Dialogue on the Rule of Law ด้วย และ (๓) นายวิเวก มารู ผู้ก่อตั้ง Namati ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนด้านการเสริมสร้างความสามารถทางกฎหมายให้แก่ประชาชน โดยมี ดร. พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และสื่อสารองค์กร TIJ เป็นผู้ดำเนินรายการ

กิจกรรมในครั้งนี้มีผู้แทนประเทศสมาชิก และผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมกว่า 50 คน ให้ความสนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยนทรรศนะเกี่ยวกับแนวทาง ในการผลักดันประเด็นเรื่องหลักนิติธรรมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในแง่มุมต่างๆ รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างการผลักดันในระดับระหว่างประเทศ และการขับเคลื่อนภายในประเทศ  และบทบาทของการพัฒนาประเทศซึ่งจะส่งผลต่อการเสริมสร้างหลักนิติธรรม  โดยที่ประชุมเห็นพ้องกันถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้หลักนิติธรรมเป็นสิ่งที่จับต้องได้และมีผลในทางปฏิบัติ (practical rule of law) มากกว่าจะเป็นเพียงหลักการพื้นฐาน โดยเน้นความสำคัญของการจัดให้คนในสังคมมีสถานะทางกฎหมาย (legal identity) อย่างทั่วถึง  ความเป็นอิสระและปลอดจากการแทรกแซงขององค์กรตุลาการ การทำให้ประชาชนมีความรู้และสามารถใช้ประโยชน์ในการรักษาสิทธิทางกฎหมายของตน เป็นต้น

สำหรับการประชุม OWG-SDGs นั้น จัดตั้งขึ้นตามข้อมติสมัชชาสหประชาชาติที่ ๖๖/๒๘๘ เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๕ (General Assembly resolution 66/288 of 27 July 2012) ซึ่งได้รับรองรายงานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Rio+20 โดยความมุ่งหมาย ให้เป็นกระบวนการระดับระหว่างรัฐบาล (intergovernmental process) ว่าด้วยการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเปิดกว้างแก่ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ ประเทศผู้สังเกตการณ์ของสหประชาชาติ และองค์กรอื่นๆ ที่ได้รับเชิญโดยสหประชาชาติ รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เพื่อกำหนดเป้าหมายการพัฒนาสำหรับอนาคตให้สอดคล้องกับแนวทางที่นานาชาติได้เห็นพ้องร่วมกันในเบื้องต้นระหว่างการประชุม Rio+20  การประชุม OWG-SDGs ประกอบด้วยองค์ประชุมหลักได้แก่ ประเทศสมาชิกจำนวน ๓๐ ประเทศ ซึ่งเลือกจากบัญชีกลุ่มประเทศรวม ๓๐ บัญชี (ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มบัญชีซึ่งประกอบด้วย ไทย ภูฏาน และเวียดนาม) หมุนเวียนกันเข้าเป็นองค์ประชุม   โดยเริ่มการประชุมสมัยแรกเมื่อวันที่ ๑๔-๑๕ มีนาคม ๒๕๕๕ และต่อมาก็ได้มีการประชุมต่อเนื่องมาโดยสม่ำเสมอ  สำหรับการประชุมสมัยที่ ๘ นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๓ – ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ถือเป็นสมัยประชุมสุดท้ายสำหรับกระบวนการรวบรวมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ (stock talking phase) เกี่ยวกับประเด็นสำคัญ (priority areas) ก่อนที่ OWG-SDGs จะเข้าสู่กระบวนการสร้างฉันทามติ (consensus building phase) ว่าด้วยเป้าหมาย (goals) และค่าเป้าหมาย (associated targets) ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๗ นี้

โดยหัวข้อการประชุม (themes) ในสมัยสุดท้ายนี้ ประกอบด้วยประเด็นสำคัญ ๓ ประเด็น ดังนี้

  • มหาสมุทร ทะเล ป่าไม้ และความหลากหลายทางชีวภาพ (Oceans and seas, forests, biodiversity)
  • การส่งเสริมความเท่าเทียมด้านต่างๆ รวมทั้งความเท่าเทียมทางสังคม ความเท่าเทียมทางเพศ การส่งเสริมสิทธิผู้หญิง (Promoting equality, including social equity, gender equality and women’s empowerment)
  • การป้องกันความขัดแย้ง การสร้างสันติภาพหลังความขัดแย้ง และการส่งเสริมสันติภาพ หลักนิติธรรมและธรรมาภิบาล (Conflict prevention, post-conflict peacebuilding and the promotion of durable peace, rule of law and governance)


โดยสองหัวข้อสุดท้ายนี้ซึ่งพูดถึงความสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศ (gender equality) สันติภาพ หลักนิติธรรม และหลักธรรมาภิบาล (peace, rule of law and governance) นี้ มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ของ TIJ และล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มี ความเชื่อมโยงกันและเสริมซึ่งกันและกัน (interrelated and mutually reinforcing) เนื่องจากความพยายามในการพัฒนาไม่ว่าจะในทางใด ย่อมต้องอาศัยสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ปราศจากความรุนแรง ความขัดแย้ง และต้องการสถาบันทางสังคมที่มีความเข้มแข็งและยึดมั่นในหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นหลักประกันสำคัญที่ทำให้สังคมปราศจากการใช้ความรุนแรง ประชาชนมีความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สามารถมีส่วนร่วม ในการกระบวนการตัดสินใจทางการเมือง ในขณะที่องค์กรของรัฐมีการทำงานแบบโปร่งใสและตรวจสอบได้ (accountable) ในการจัดบริการสาธารณะ ให้แก่พลเมือง รวมถึงการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับประชากรที่เป็นกลุ่มเปราะบางทางสังคม และกลุ่มที่มีฐานะยากจน

หลักนิติธรรมเป็นหลักการข้อหนึ่งในการบริหารปกครองบ้านเมืองซึ่งถือว่าทุกองคาพยพของสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัจเจกบุคคล สถาบัน และองค์กรใดๆ ทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงรัฐบาลเองด้วย ต่างก็มีความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามและได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายที่มีความเที่ยงธรรม และมีการบังคับใช้อย่างเสมอภาคถ้วนหน้าโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

Back
chat