TIJ อบรมข้อกำหนดกรุงเทพแก่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อาเซียน ปีที่ 4
จากแนวโน้มจำนวนผู้ต้องขังหญิงที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ในขณะที่เรือนจำส่วนใหญ่สร้างขึ้นโดยผู้ชาย สำหรับผู้ต้องขังชาย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานราชทัณฑ์ต้องบริหารจัดการเรือนจำให้สามารถสนองตอบความต้องการทางเพศภาวะของผู้ต้องขังหญิงได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ การนำข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือ ข้อกำหนดกรุงเทพ มาปรับใช้ในเรือนจำต่างๆ เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้
นับตั้งแต่ปี 2558 สถาบันเพื่อการบุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในฐานะหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่ออนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพ จึงได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและนักปฏิบัติด้านราชทัณฑ์ระดับสากล พัฒนาหลักสูตรอบรมเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่เรือนจำ ให้ความรู้ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่เรือนจำ เพื่อให้สามารถนำกฎเกณฑ์และมาตรฐานสากลไปปรับใช้ในเรือนจำต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้เริ่มจัดหลักสูตรการฝึกอบรมการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ทั้งในไทยและในอาเซียน ตั้งแต่ปี 2559
สำหรับปีนี้ หลักสูตรการฝึกอบรมว่าด้วยการบริหารจัดการผู้ต้องขังหญิงสำหรับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ระดับอาวุโสในกลุ่มประเทศอาเซียน ครั้งที่ 4 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 29 พฤศจิกายน 2562 โดยครอบคลุมเนื้อหาในประเด็นต่างๆ เช่น การบริหารจัดการเรือนจำโดยคำนึงถึงเพศภาวะ การรับตัวผู้ต้องขังเข้าเรือนจำ สุขอนามัยและการดูแลสุขภาพผู้ต้องขัง ผู้ต้องขังตั้งครรภ์และเด็กติดผู้ต้องขัง ความมั่นคงและความปลอดภัยเรือนจำ การเตรียมตัวก่อนปล่อย เป็นต้น
รวมทั้งมีการศึกษาดูงาน ณ ทัณฑสถานหญิงชลบุรี เรือนจำพิเศษพัทยา มูลนิธิบ้านพระพร และเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเรือนจำที่มีการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปปฏิบัติ โดยระหว่างการอบรมหลักสูตร ผู้เข้าร่วมการอบรมจะได้จัดทำแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการบริหารจัดการเรือนจำและการดูแลผู้ต้องขังหญิงร่วมกัน เพื่อให้สามารถนำข้อกำหนดกรุงเทพไปปรับใช้ได้อย่างสอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของแต่ละเรือนจำได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
ศ.(พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวระหว่างเปิดการอบรมหลักสูตร ว่า
“จุดมุ่งหมายสำคัญของหลักสูตรนี้คือ การส่งเสริมศักยภาพเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ในด้านการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องขังหญิง และการสนองตอบความต้องการเฉพาะทางเพศภาวะของผู้ต้องขังหญิง โดยที่ผ่านมาตัวชี้วัดความสำเร็จของหลักสูตรฝึกอบรมฯ คือการได้รับการตอบรับที่ดีจากหน่วยงานราชทัณฑ์ทั้งในไทยและต่างประเทศที่ส่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้ามาร่วมอบรม และล่าสุดยังได้นำไปสู่การสร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในระดับภูมิภาค โดย TIJ กับกรมราชทัณฑ์ ประเทศกัมพูชา ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการนำข้อกำหนดกรุงเทพ ไปใช้ในเรือนจำ CC2 เรือนจำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกัมพูชา ภายใต้โครงการเรือนจำต้นแบบเพื่อการนำร่องการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพในประเทศกัมพูชา”
ด้าน นางสาวชลธิช ชื่นอุระ หัวหน้ากลุ่มโครงการส่งเสริมการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด ระบุว่า
“จุดเด่นของหลักสูตรอบรมนี้คือเป็นการฝึกอบรมที่ครอบคลุมในทุกมิติของข้อกำหนดกรุงเทพ ในด้านการบริหารราชทัณฑ์ และมีวิธีการสอนแบบ Interactive ให้ผู้ร่วมการอบรมได้มีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น ใช้สื่อประสม และใช้ทั้งการบรรยาย ยกตัวอย่างกรณีศึกษาในภูมิภาค การอภิปราย การทำงานกลุ่ม และการศึกษาดูงาน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าใจและสามารถออกแบบวิธีการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปปฏิบัติจริงในประเทศของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ”