TIJ ร่วมขับเคลื่อนความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์แก้ปัญหาระบบยุติธรรมไทย
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เสนอ “นวัตกรรมด้านความยุติธรรม” เชิญผู้เชี่ยวชาญไทย-ต่างชาติ ร่วมถกหาทางออกปัญหาระบบยุติธรรมไทย สร้างสังคมสันติสุข ผ่านแนวคิดหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
ปัจจุบัน สถานการณ์ในระบบยุติธรรมไทยกำลังประสบกับปัญหาท้าทาย จากการเก็บข้อมูลจัดอันดับผู้ต้องขังของ prisonstudies.org พบว่า ประเทศไทยมีผู้ต้องขังสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก ติดอันดับ 3 ของเอเชีย เป็นรองเพียงแค่จีนกับอินเดีย ที่มีประชากรสูงกว่าไทยมาก อีกทั้งยังเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับประเทศในแถบอาเซียนด้วย ทั้งที่ ประชากรส่วนใหญ่ในเรือนจำก่ออาชญากรรมไม่ร้ายแรง และไม่ว่าประเทศไทยจะเลือกใช้มาตรการลงโทษด้วยการจำคุกเข้มงวดเพียงใด จากสถิติของกรมราชทัณฑ์ก็ยังแสดงให้เห็นว่า สถิติอาชญากรรมไม่ได้ลดลง อัตราผู้กระทำผิดซ้ำก็ยังสูงมาก ทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการทำให้สังคมปลอดภัยได้อย่างแท้จริง
“แม้ปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมจะให้ความสำคัญกับการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดตามหลักสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานระหว่างประเทศมากขึ้น แต่ยังคงมีความท้าทายอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินการ ข้อจำกัดด้านบุคลากรและงบประมาณ การปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเสมอภาค การเยียวยาและเสริมพลังให้เหยื่อ/ผู้เสียหาย และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ประธานกรรมการบริหาร TIJ และอาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กล่าว
ขณะที่ ศ.(พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ ได้นำเสนอเพิ่มเติม โดยเปรียบเทียบฐานคิดเบื้องหลังของหลักการลงโทษเพื่อ “แก้แค้นทดแทน” กับ “สมานฉันท์” ว่า “หลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice – RJ)” เป็นแนวคิดที่เชื่อได้ว่าสามารถนำมาแก้ปัญหาระบบยุติธรรมไทยได้ โดยเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ที่ให้ความสำคัญกับการบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดสำหรับทุกฝ่าย โดยเน้นการเยียวยาชดใช้ความเสียหายให้ผู้เสียหาย การสร้างความสำนึกผิดและความรับผิดชอบของผู้กระทำผิดในการกระทำของตน ซึ่งมีแนวทางในการบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวโดยเปิดโอกาสให้ผู้เสียหาย ผู้กระทำผิด และในกรณีที่เหมาะสม ญาติพี่น้อง ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้แทนของชุมชน ได้พบปะเจรจากันเพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ปัญหา
ทั้งนี้ หลัก RJ จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทย เพราะสังคมไทยเป็นสังคมเอื้ออาทร มีความเชื่อในเรื่องการให้อภัยและการให้โอกาสคนที่สำนึกผิด ชุมชนมีความเข้มแข็งและมีสายสัมพันธ์ระหว่างกัน รวมทั้งยังนิยมใช้วิธีการที่ไม่เป็นทางการอีกด้วย เรื่อง RJ จึงสอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย แต่ไม่ได้มีการนำแนวทางนี้มาใช้มากนัก อย่างไรก็ตามในระยะหลังมีความพยายามจะนำมาใช้ และออกกฎหมายรองรับการนำ RJ มาปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมไทย แต่ยังอยู่ในวงที่จำกัด เช่น ในศาลเยาวชนและครอบครัว เป็นต้น
จากพื้นฐานทางวัฒนธรรมประกอบกับเอกลักษณ์โดดเด่นในด้านความเข้มแข็งของชุมชนของสังคมไทย RJ จึงมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ในบริบทประเทศไทยได้ หากแต่ผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้กำกับเชิงนโยบายจำเป็นต้องปรับกระบวนทัศน์ตามความเคยชินแต่เดิมเสียก่อน
สิ่งสำคัญคือ ในกระบวนการ RJ เจ้าหน้าที่หรือผู้ไกล่เกลี่ยต้องให้ความสำคัญกับเหยื่ออาชญากรรมมากยิ่งขึ้น และต้องพยายามทำให้ผู้กระทำผิดเกิดความตระหนักและรู้สึกเห็นใจในความเดือดร้อนเสียหายที่เหยื่อได้รับ อันจะเกิดความรู้สึกต่อการกระทำผิดของตน และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือช่วยเหลือบรรเทาผลร้ายที่ได้กระทำไว้ และจะไม่กลับมากระทำความผิดซ้ำอีกในอนาคต โดยกระบวนการจะกระตุ้นและดำเนินการให้จำเลยรับผิดชอบในผลเสียหาย รวมทั้งหามาตรการเยียวยาที่เหมาะสมให้แก่ผู้เสียหาย อันเป็นการสมานฉันท์ระหว่างเหยื่อและจำเลยได้เป็นอย่างดี ถือเป็นวิธีการที่ดีวิธีการหนึ่งเพื่อให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อและจำเลยกลับคืนสู่สังคมได้ดังเดิมอย่างสันติสุข
การประชุมระดับชาติว่าด้วยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ที่ TIJ จัดขึ้นในวันนี้ (20 มิถุนายน 2562) เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้าน RJ จากทั่วโลก ซึ่ง TIJ เป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC เมื่อวันที่ 17 – 19 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาคู่มือการนำหลักการ RJ มาปฏิบัติ โดย TIJ เชื่อมั่นว่า การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเวทีวันนี้ จะเป็นการจุดประกายให้หน่วยงานต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรม และองค์กรประชาสังคมที่เชื่อมั่นในการเสริมพลังประชาชนร่วมกันผลักดันแนวคิดเรื่องหลักความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สู่การปฏิบัติจริงในกระบวนการยุติธรรมไทยต่อไป
สามารถรับชมววีดิทัศน์การประชุมย้อนหลัง (ภาษาไทย) ได้ทาง Facebook
และสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการอภิบายได้ตามรายชื่อวิทยากรด้านล่าง
ปาฐกถาพิเศษ โดย ศ.พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์
การอภิปรายหัวข้อที่ 1 ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์: แนวคิด เป้าหมาย และหลักการปฏิบัติ
วันชัย รุจนวงศ์, อัยการอาวุโสและผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC)
Dr. Yvon Dandurand, Consultant for the Handbook on Restorative Justice Programmes; Senior Associate, International Center for Criminal Law Reform and Criminal Justice Policy (ICCLR)
Valerie Lebaux, Chief, Justice Section, Division for Operations, United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC)
Dr. Brian Steels, Director, Institute for Restorative Justice and Penal Reform, Patron of the Asia Pacific Forum for Restorative Justice
การอภิปรายหัวข้อที่ 2 จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ: การนาความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปปฏิบัติ
สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ, อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
Dr. Eduardo Vetere, Vice President and Secretary - General, International Association of Anti-Corruption Authorities (IAACA)
Mr. Howard Varney , Independent Cousultant, Human Rights Lawyer and Transitional Justice Expert
Dr. Sandro Calvani, Senior Advisor on Strategic Planning, Mae Fah Luang Foundation (under Royal Patronage)
การอภิปรายหัวข้อที่ 3 ประสบการณ์ในการใช้มาตรการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์: โอกาสและความท้าทาย
Dr. Matti Joutsen, Special Advisor, Thailand Institute of Justice (TIJ)
รศ.ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย, อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Dr. Daniela Bolivar, Assistant Professor, Pontificia Universidad Catolica de Chile (UC)
Jee Aei Lee, Crime Prevention and Criminal Justice Officer, Justice Section, Division for Operations,United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC)