ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 2-3 มิถุนายน 2559 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้จัดประชุมคณะที่ปรึกษาสำหรับการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 1 (The 1st Consultative Group Meeting: ASEAN Conference on Crime Prevention and Criminal Justice) ณ เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเตรียมความพร้อมด้านสารัตถะและกำหนดประเด็นสำหรับการประชุม ACCPCJ ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่จะถึงนี้ โดยการประชุมนี้เป็นผลจากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย ครั้งที่ 16 และ การประชุมรัฐมนตรีกฎหมายอาเซียน ครั้งที่ 9 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ TIJ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (The ASEAN Conference on Crime Prevention and Criminal Justice – ACCPCJ)


ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ ย้ำถึงความสำคัญของการประชุม ACCPCJ ที่จะจัดขึ้นว่าเป็นเวทีสำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือด้านการป้องกันอาชญากรรมและการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนให้มากขึ้น ซึ่งการที่ TIJ ได้รับการรับรองให้เป็น PNI จะทำให้ TIJ สามารถสนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการด้านหลักนิติธรรม การพัฒนาอย่างยั่งยืน สิทธิมนุษยชน และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้แก่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนได้ดียิ่งขึ้น


ผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนได้นำเสนอประเด็นที่เป็นประโยชน์ โดยผู้แทนจาก TIJ ได้นำเสนอหัวข้อหลักของการประชุม ACCPCJ ในหัวข้อ“การยกระดับมาตรการป้องกันอาชญากรรมและสถาบันยุติธรรมทางอาญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาคมอาเซียน (Enhancing Crime Prevention and Criminal Justice Institutions for Sustainable Development for the ASEAN Community)” ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อย่อย ดังนี้ 1) มาตรการรองรับภัยคุกคามใหม่ด้านความมั่นคงจากการรวมกลุ่มในระดับภูมิภาค (Effective Responses to Emerging Security Threats from Regional Integration) 2) การจัดเก็บข้อมูลและตัวชี้วัดสำหรับการยกระดับการดำเนินงานด้านยุติธรรมทางอาญา (Measurement Matrix for Enhancing Criminal Justice Performances) 3) ยุทธศาสตร์การป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มเด็กและเยาวชน (Crime Prevention Strategies aimed at Children and Youth) และ 4) มาตรการเยียวยาผู้กระทำผิดและการปฏิรูปเรือนจำ (Effective Offender Rehabilitation and Prison Reform)

การประชุมดังกล่าวเป็นก้าวแรกที่สำคัญของ TIJ ในฐานะผู้นำในการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการด้านอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาในอาเซียน

Back
chat