TIJ ผลักดัน เรือนจำต้นแบบสู่อาเซียน เริ่มประเทศแรกที่กัมพูชา
สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จับมือกรมราชทัณฑ์ กัมพูชา ขยายผล “โครงการเรือนจำต้นแบบ” ไปปรับใช้ในเรือนจำหญิงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเป็นแห่งแรกในอาเซียน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิง และสร้างเสริมแนวปฏิบัติตามมาตรฐานสากลในการฟื้นฟูผู้ต้องขังให้สามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างสงบสุขและยั่งยืน
ปัจจุบันประชากรผู้ต้องขังหญิงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก โดยจากรายงานสถานการณ์เรือนจำโลกล่าสุดของสถาบัน Penal Reform International (PRI) ระบุว่าผู้ต้องขังหญิงและเด็กเพิ่มจำนวนสูงขึ้น 53% ระหว่างปี 2543-2560 จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเรือนจำจะต้องมีกระบวนการและการปฏิบัติงานที่ได้มาตรฐาน โดยคำนึงถึงความอ่อนไหวทางเพศภาวะของผู้ต้องขังหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำข้อกำหนดกรุงเทพ หรือ ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขัง มาปรับใช้เพื่อเปลี่ยนวิธีปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง ตลอดจนสร้างและรักษามาตรฐานการเป็นเรือนจำที่ดี
TIJ นำโดย ศ. (พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ ประเทศกัมพูชา นำโดย ดร. เฮง ฮัก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร. ชาน คิมเซง อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ใน “โครงการเรือนจำต้นแบบเพื่อนำร่องการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพในประเทศกัมพูชา” ด้วยความมุ่งหวังให้มีการยกระดับกระบวนการยุติธรรมในประเทศกัมพูชาให้คำนึงถึงความอ่อนไหวทางเพศภาวะของผู้ต้องขังหญิงและเป็นไปตามมาตรฐานสากล
“การดำเนินโครงการนำร่องครั้งนี้ เป็นการสร้างภาคีความร่วมมือข้ามพรมแดน และเป็นการทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประชากรกลุ่มเปราะบางในสังคม คือผู้ต้องขังหญิงที่เป็นประชากรกลุ่มน้อยในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มักจะถูกละเลยหรือมองข้าม สอดคล้องกับแนวคิดหลักของอาเซียนในปี พ.ศ. 2562 คือการร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ศ. (พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าว
ทั้งนี้ TIJ และกรมราชทัณฑ์ประเทศไทย ได้ร่วมกันผลักดันการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย นับตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยได้ดำเนินโครงการ “เรือนจำต้นแบบ” มีการจัดอบรมหลักสูตรผู้ประเมินเรือนจำตามข้อกำหนดกรุงเทพเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถเข้าใจหลักการในการประเมินเรือนจำต้นแบบและการใช้แบบประเมินการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพได้อย่างถูกต้องและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากหน่วยงานราชทัณฑ์ราชทัณฑ์ทั้งในประเทศและในภูมิภาคอาเซียน และที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ของกัมพูชาได้เข้าร่วมการฝึกอบรม มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการเข้าเยี่ยมชมเรือนจำต้นแบบ และเรือนจำที่นำข้อกำหนดกรุงเทพไปปรับใช้ ได้แก่ เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี เรือนจำกลางนครสวรรค์ เรือนจำชั่วคราวคลองโพ และทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงธนบุรี
ในขณะที่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ ประเทศกัมพูชา ได้เชิญให้ ดร.นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาพิเศษ TIJ และอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ประเทศไทย และนางสาวชลธิช ชื่นอุระ หัวหน้ากลุ่มโครงการส่งเสริมการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดเข้าร่วมประชุมแผนการดำเนินงานโครงการที่กรมราชทัณฑ์ ประเทศกัมพูชา พร้อมกับเข้าเยี่ยมชมการปฏิบัติงานเรือนจำ CC2 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพื่อให้เข้าใจถึงความต้องการเฉพาะของผู้ต้องขังหญิงและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์กัมพูชาด้วย
สำหรับ “โครงการเรือนจำต้นแบบเพื่อนำร่องการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพในประเทศกัมพูชา” ครั้งนี้มีกำหนดระยะเวลาการดำเนินโครงการ 2 ปี มีเป้าหมายเพื่อฝึกอบรมการบริหารจัดการเรือนจำ โดยคำนึงถึงความอ่อนไหวทางเพศภาวะของผู้ต้องขังหญิงแก่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และเจ้าหน้าที่เรือนจำ CC2 เรือนจำหญิงที่ใหญ่ที่สุดของประเทศกัมพูชา การจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อการปรับใช้ข้อกำหนดกรุงเทพในเรือนจำ CC2 การเพิ่มประสิทธิภาพสภาพแวดล้อมของเรือนจำ CC2 ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพ และการร่วมกันพัฒนาโครงการฟื้นฟูผู้ต้องขังเพื่อการส่งกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
TIJ หวังว่า แนวคิดและกรอบการดำเนินงานโครงการเรือนจำต้นแบบจะเป็นประโยชน์สำหรับการนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศกัมพูชา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิงภายใน CC2 ในฐานะเรือนจำนำร่องได้ นอกจากนี้ยังหวังว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นในการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพในเรือนจำหญิงอื่นๆ ทั้งในประเทศกัมพูชาและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติม: โครงการเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ
- โครงการเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ เริ่มดำเนินโครงการ ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 โดยมีแบบประเมินการปฏิบัติของเรือนจำตามข้อกำหนดกรุงเทพ พัฒนามาจากเครื่องมือของ Penal Reform International (PRI) และนำมาปรับให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย ประกอบด้วย 10 หมวด ที่ประเมินการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพตั้งแต่ระดับการกำหนดนโยบาย จนถึงการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทั้งกระบวนการ โดยแบบประเมินนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับประเมินการดำเนินงานและวิธีการปฏิบัติในเรือนจำ ทัณฑสถาน หรือสถานที่ควบคุมตัวอื่นๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง
- การดำเนินงานโครงการเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพ เป็นไปตามความสมัครใจของเรือนจำที่สมัครเข้าร่วมโครงการฯ และมีการดำเนินการเป็นรายภูมิภาค ใช้เวลาภูมิภาคละ 1 ปี ขั้นตอนสำคัญของ TIJ ที่ใช้ในการประเมินเรือนจำต้นแบบ ได้แก่
- การตรวจพื้นที่เบื้องต้น เพื่อแนะนำวิธีการเก็บข้อมูลเอกสารและการเตรียมหลักฐานให้กับเรือนจำ และชี้แนะให้เรือนจำได้เข้าใจมากขึ้นว่าจะสามารถปรับปรุงเรือนจำภายใต้ข้อจำกัดที่มีได้อย่างไร โดยเรือนจำจะมีเวลาประมาณ 3-4 เดือนในการปรับปรุงทางกายภาพ และรวบรวมเตรียมเอกสารหลักฐาน เพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการในขั้นตอนต่อไป
- การตรวจประเมินจริงโดยคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายนอก ผู้เชี่ยวชาญจาก TIJ และผู้แทนกรมราชทัณฑ์ ทำหน้าที่ตรวจประเมินตามแบบข้อกำหนดกรุงเทพ 10 ด้าน ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดหญิงในเรือนจำตั้งแต่ขั้นรับตัว ขั้นเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัว จนถึงขั้นปล่อยตัว
- ประเทศไทยมีเรือนจำต้นแบบทั้งสิ้น 12 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ เรือนจำจังหวัดอุทัยธานี ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง ทัณฑสถานหญิงชลบุรี เรือนจำกลางสมุทรสงคราม เรือนจำกลางเชียงราย เรือนจำอำเภอฝาง ทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก เรือนจำกลางตาก เรือนจำอำเภอรัตนบุรี และเรือนจำกลางนครราชสีมา
ข้อมูลเพิ่มเติมข้อกำหนดกรุงเทพ
ระบบยุติธรรม ประเทศกัมพูชา
- จำนวนผู้ต้องขังหญิงทั่วประเทศ ประมาณ 2,443 คน คิดเป็นร้อยละ 8.6 ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด
- ผู้ต้องขังของกัมพูชา (รวมทั้งชายและหญิง) ร้อยละ 54 กระทำความผิดในฐานที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
- เรือนจำ CC2 (Correctional Centre 2)เป็นเรือนจำขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศกัมพูชา
- จำนวนผู้ต้องขัง 2 ใน 3 เป็นผู้ต้องขังระหว่างการรอลงอาญา หรืออยู่ระหว่างการรอพิจารณาคดี
- กัมพูชาออกกฎหมายผู้กระทำผิดที่เป็นเยาวชนใน พ.ศ. 2560 โดยให้ความสำคัญกับการใช้มาตรการคุมประพฤติมากกว่าการคุมขัง