ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

TIJ เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 13 (13 th United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice)

การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-19 เมษายน 2558 ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ สภาพปัญหา กำหนดทิศทางและนโยบายและแนวทางการปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นการชุมนุมกันของผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการและภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในประเด็นดังกล่าวทั้งมิติภายในประเทศและมิติต่างประเทศ โดยที่ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเพื่อเป็นเจ้าภาพ โดยในครั้งนี้ รัฐกาตาร์ เป็นเจ้าภาพ

สำหรับหัวข้อหลัก (overall theme) ของการประชุมครั้งนี้ คือ “Integrating crime prevention and criminal justice into the wider United Nations agenda to address social and economic challenges and to promote the rule of law at national and international levels, and public participation” ซึ่งบทบาทหลักของ TIJ ในการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ คือ การทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนในเชิงสารัตถะ (substantive) การเข้าร่วมการประชุมนำเสนอกลุ่มย่อยในหัวข้อต่างๆ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการจัดนิทรรศการ นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการคัดเลือกเยาวชนในฐานะทูตเยาวชนนิติธรรมที่เป็นตัวแทนของประเทศไทยเข้าร่วมกิจกรรม The Doha Youth Forum อีกด้วย

นอกจากนี้ TIJ ยังเข้าร่วมจัดนิทรรศการ ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2558 เพื่อสะท้อนประเด็นเรื่อง “หลักนิติธรรม” ในการนี้ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงเปิดนิทรรศการดังกล่าวที่ทาง TIJ จัดขึ้น โดยเป็นการนำเสนอผลงานของ TIJ ใน Theme “Rule of Law” ในบริบทของกระบวนการยุติธรรมและการป้องกันอาชญากรรมทางอาญา ที่สอดคล้องกับหัวข้อหลักของการประชุมสมัยที่ 13 TIJ มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สารที่สะท้อนผ่านนิทรรศการครั้งนี้จะช่วยตอกย้ำถึงบทบาทเชิงรุกของ TIJ ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนหลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ในเวทีนี้ได้เป็นอย่างดี

ต่อมาในวันที่ 14 เมษายน และ 15 เมษายน 2558 TIJ ได้เข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนาน (Ancillary meeting) โดยในวันที่ 14 เมษายน ผู้แทนของ TIJ ได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพของสถิติเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมและการป้องกันอาชญากรรมทางอาญา (Improving the Quality of Crime and Justice Statistics – New Standards and Tools) รวมถึงการนำเสนอเกี่ยวกับ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และ อาชญากรรมข้ามชาติ (Justice Reform, Transnational Crime) ส่วนในวันที่ 15 เมษายน 2558 ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และ นายวิพล กิติทัศนาสรชัย ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านหลักนิติธรรมในประเทศ สธท. ได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (Justice Reform) ในแง่ของการวัดผลลัพธ์ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (Measuring Outcomes of Criminal Justice Reform) โดยนำเสนอถึงเหตุผลที่ควรมีตัวชี้วัด เพราะมองว่าตัวชี้วัดเปรียบเสมือนเครื่องมือสำคัญที่นำมาใช้วัดประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรม อันจะช่วยให้เกิดธรรมาภิบาลในกระบวนการยุติธรรมมากยิ่งขึ้น

การนำเสนอประเด็นดังกล่าวของผู้แทน TIJ ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในเวทีนี้ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายจากหลากหลายประเทศรับทราบ และเห็นถึงความสำคัญของข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับความยุติธรรมทางอาญาในมุมมองของประเทศไทย อันจะช่วยกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีแนวทางในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาโดยการนำหลักนิติธรรมไปปรับใช้ อีกทั้งการที่ผู้แทน TIJ ได้มีโอกาสนำเสนอประเด็นที่เป็นประโยชน์นี้ ยังเป็นการตอกย้ำถึงแนวทางในการดำเนินงานของ TIJ ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนและส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักนิติธรรม รวมถึงการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้มีความก้าวหน้าสืบไปอีกด้วย

Back
chat