พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่งทูตสันถวไมตรี ด้านหลักนิติธรรมสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime- UNODC) ทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่งทูตสันถวไมตรีด้านหลักนิติธรรมสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แก่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เพื่อดำเนินกิจกรรมที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมุ่งเน้นการส่งเสริมความยุติธรรมในสังคม
การทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่งทูตสันถวไมตรีนี้ เป็นผลมาจากการที่ทรงมีบทบาทสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงาน UNODC ในภูมิภาค และการที่ทรงช่วยระดมความร่วมมือในประเด็นระดับโลกที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเสริมวาระ 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
นายยูริ เฟโดทอฟ ผู้อำนวยการบริหารของสำนักงาน UNODC กล่าวผ่านวิดีทัศน์จากสำนักงานใหญ่ ณ กรุงเวียนนาว่า... "พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงมุ่งมั่นและอุทิศพระองค์ในการทำงานเพื่อให้บรรลุวาระแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน...พระเจ้าหลานเธอฯ ทรงมีประสบการณ์สูงจะสามารถสื่อสารกับผู้นำและผู้มีอำนาจถึงความสำคัญในประเด็นดังกล่าว และเชื่อมั่นว่าจะทรงมีบทบาทโดดเด่นในนามของสำนักงาน UNODC ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"
พระเจ้าหลานเธอฯ ประทานพระดำรัสผ่านวิดีทัศน์ใจความว่า "การรับตำแหน่งทูตสันถวไมตรีเป็นโอกาสสำคัญให้ได้สนับสนุนงานของสหประชาชาติด้านหลักนิติธรรมและความเป็นธรรมซึ่งมีผลโดยตรงต่อความสำเร็จของกาพัฒนาที่ยั่งยืน" และทรงเสริมว่า "ข้าพเจ้ามุ่งหมายที่จะทำงานร่วมกับสำนักงาน UNODC ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการลดปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรง ปกป้องกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม จัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่น รวมถึงการสนับสนุนความพยายามระดับโลกในการเสริมสร้างหลักนิติธรรม"
อาชญากรรมเป็นปัจจัยที่ทำลายเสถียรภาพของชุมชน ประเทศ และภูมิภาค ในฐานะทูตสันถวไมตรี พระเจ้าหลานเธอฯ จะทรงมีบทบาทในโครงการของสำนักงาน UNODC ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างหลักนิติธรรม สันติภาพ เสถียรภาพ และวาระ 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในเดือนมีนาคม พระเจ้าหลานเธอฯ จะเสด็จเข้าร่วมในการประชุมระดับสูงในเวทีระหว่างประเทศและเวทีภูมิภาค 2 กิจกรรม จากนั้นจะทรงเข้าร่วมในการประชุมระดับสูงอื่นๆ ตลอดทั้งปี
พระเจ้าหลานเธอฯ ได้ทรงปฏิบัติพระภารกิจเพื่อส่งเสริมความยุติธรรม และความเท่าเทียมของกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่องมากกว่าสิบปี ทั้งยังทรงมีความสนใจพิเศษด้านการช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิงในกระบวนการยุติธรรม โดยได้ทรงริเริ่มดำเนินการโครงการต่างๆ รวมถึงการยกร่างและรณรงค์อันนำไปสู่การรับรองข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขัง หรือข้อกำหนดกรุงเทพฯ รวมถึงการก่อตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรล่าสุดที่เข้าร่วมเป็นสถาบันเครือข่ายของสำนักงาน UNODC
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานของสำนักงาน UNODC นั้น พระจ้าหลานเธอฯ ทรงผลักดันให้เกิดการประชุมเสวนาระดับนานาชาติว่าด้วยหลักนิติธรรม (The Bangkok Dialogue on the Rule of Law) ในปี 2556 เพื่อสร้างแรงผลักดันทางการเมือง ให้ประด็นความยุติธรรม ความมั่นคง และหลักนิติธรรม ได้ถูกบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ในระหว่างที่ทรงดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา ได้ทรงเข้าร่วมเวทีที่สำคัญในการกำหนดนโยบายความยุติธรรมระดับโลก คือการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด (The Commission on Narcotic Drugs - CND) และการประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (The Commission on Crime Prevention and Criminal Justice - CCPC) ซึ่งได้ทรงเป็นประธานในสมัยที่ 21 ด้วย
นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกของสำนักงาน UNODC กล่าวถึงความสำคัญของการเป็นทูตสันถวไมตรีของพระเจ้าหลานเธอฯ และแสดงความยินตีที่พระเจ้าหลานเธอฯ จะทรงเข้ามาร่วมในงานป้องกันอาชญากรรมและความขัดแย้งรูปแบบต่างๆ ที่สั่นคลอนเสถียรภาพในภูมิภาค โดยเชื่อว่าบทบาทของพระองค์ในภารกิจดังกล่าว สามารถส่งเสริมการตระหนักเรื่องความสำคัญของหลักนิติธรรมและความยุติธรรมที่ส่งผลต่อการพัฒนาทุกมิติได้อย่างชัดเจน
ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่ประเทศไทย ในฐานะสถาบันเครือข่ายสหประชาชาติในประเทศไทย ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้ถวายงานพระเจ้าหลานเธอฯ ในภารกิจดังกล่าว ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงสนพระทัยในการเสริมสร้างหลักนิติธรรมและปฏิรูประบบงานยุติธรรมทางอาญตลอดมา และการได้รับการทูลกล้าฯ ถวายตำแหน่งทูตสันถวไมตรีครั้งนี้ จะเป็นโอกาสให้ทรงต่อยอดพระภารกิจเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรม ความยุติธรรม และการพัฒนาทางเลือกให้เป็นกระแสหลักของโลกต่อไป