พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา
ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจในฐานะทูตสันถวไมตรีด้านหลักนิติธรรมของ UNODC
เสด็จ “เรือนจำต้นแบบ” ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ส่งเสริมการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ต้องขัง
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทูตสันถวไมตรี ด้านการส่งเสริมหลักนิติธรรมประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เสด็จเยี่ยมชม “เรือนจำต้นแบบ” ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ โดยมีนายเจเรมี ดักลาส ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) พร้อมด้วยคณะทูตานุทูตของประเทศต่างๆ และผู้แทนระดับสูงจากทัณฑสถานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมคณะ เพื่อพบปะกับผู้ต้องขัง ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและสภาพแวดล้อมในเรือนจำ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
การเยี่ยมชมทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำความตั้งใจของรัฐบาลไทยและโครงการ “กำลังใจ” ในพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในการปรับปรุงมาตรฐานและแนวปฏิบัติในเรือนจำของประเทศไทย เริ่มต้นด้วยโครงการนำร่องหลายโครงการสำหรับผู้ต้องขังในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่
จำนวนประชากรในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่กลับมีผู้ต้องขังมากถึงร้อยละ 40 ของทั้งภูมิภาค โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งผู้หญิงถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ถูกแสวงประโยชน์ในทางที่ไม่ถูกต้อง และถูกชักจูงเข้าสู่การก่ออาชญากรรม ซึ่งในที่สุดต้องเข้ามารับโทษในเรือนจำที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับผู้ต้องขังหญิงที่มีความต้องการทางเพศสภาพแตกต่างจากผู้ต้องขังชาย
ด้วยความตระหนักถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงเรื่องดังกล่าว พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และรัฐบาลไทย ได้ร่วมกับ UNODC ในการผลักดัน “ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง” หรือ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” ซึ่งได้รับการเห็นชอบโดยสมัชชาสหประชาชาติใน พ.ศ. 2553 อีกทั้งได้ร่วมกันส่งเสริมให้มีการนำไปปฏิบัติอย่างแพร่หลาย โดยมีเป้าหมายสำคัญในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง “ด้วยการคำนึงถึงศักดิ์ศรีขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขัง ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังด้วยความเข้าใจและเห็นใจ ในขณะเดียวกันก็มุ่งสร้างชุมชนที่ปลอดภัย ด้วยการเตรียมความพร้อมในการดำเนินชีวิตหลังพ้นโทษให้แก่ผู้ต้องขังหญิง”
ในโอกาสการเยี่ยมชมทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่นี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประทานพระดำรัสความว่า “ในฐานะที่ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งทูตสันถวไมตรีด้านหลักนิติธรรม ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ UNODC ข้าพเจ้ามีความตั้งใจที่จะส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักนิติธรรม ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับการตัดสินและลงโทษผู้กระทำผิดเท่านั้น หากยังเกี่ยวกับการทำให้เกิดกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ความเข้าใจถึงเหตุผลที่ชักนำให้คนต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ และต้องตระหนักถึงความต้องการเฉพาะด้านของผู้ต้องขังหญิง ซึ่งพวกเราได้พบในการเยี่ยมชมทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ในวันนี้ ผู้ต้องขังหญิงมีศักยภาพที่จะทำประโยชน์ให้แก่สังคมและชุมชนอีกมาก และทุกฝ่ายควรจะต้องร่วมกันสนับสนุนพวกเขาต่อไป”
ศูนย์ฝึกอาชีพผู้ต้องขังภายในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ได้รับการปรับปรุงและขยายขอบข่ายการดำเนินงาน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ต้องขังหลังพ้นโทษ ด้วยการฝึกทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ เช่น การฝึกอบรมและมอบประกาศนียบัตรการนวดแผนไทย การทอผ้า การทำอาหาร และผลิตสิ่งทอต่างๆ ที่สามารถนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ ขณะเดียวกันก็มีการปรับปรุงการดูแลสุขภาพและอนามัยในเรือนจำ ให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะของผู้ต้องขังหญิงเช่นกัน
นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวว่า “โครงการฟื้นฟูผู้ต้องขังและการปรับปรุงดูแลด้านสุขอนามัย ดังเช่นที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่าสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตผู้ต้องขังได้จริง เป็นสิ่งที่เราต้องการสนับสนุนให้เกิดขึ้นในเรือนจำทั่วประเทศ” ทั้งยังได้กล่าวเสริมอีกว่า “สิ่งที่ได้เห็นในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเป็นต้นแบบให้แก่ทัณฑสถานอื่นๆ ทั้งในประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ในการพิจารณานำข้อกำหนดกรุงเทพไปปฏิบัติ ซึ่งการส่งเสริมการนำข้อกำหนดกรุงเทพและข้อกำหนดแมนเดลาไปทำให้เกิดขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ UNODC ได้ร่วมผลักดันไปพร้อมกับพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา”
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวเสริมว่า “การนำข้อกำหนดกรุงเทพมาปฏิบัติ มีผลอย่างสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของทั้งผู้หญิง ครอบครัว และชุมชนที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนต่อไปคือการช่วยให้พวกเขามีโอกาสหลุดพ้นจากสภาพแวดล้อมที่เป็นสาเหตุให้ต้องถูกคุมขังตั้งแต่แรก ความสำเร็จของการดำเนินงานนี้สามารถวัดได้จากอัตราการทำผิดซ้ำที่ลดลง แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นของผู้ต้องขัง”
การทรงงานในฐานะทูตสันถวไมตรีด้านการส่งเสริมหลักนิติธรรม ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ให้เกิดขึ้นในภูมิภาคได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง www.facebook.com/tijthailand.org