ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

ดร.นัทธี จิตสว่าง ร่วมเป็นผู้บรรยายพิเศษ World Congress for Community Volunteers in Reintegration of Offenders

 

“อาสาสมัครคุมประพฤติเป็นผู้ที่จะช่วยให้ชุมชนของพวกเขาสามารถยอมรับผู้เคยกระทำผิดกลับคืนสู่สังคมได้ ด้วยการช่วยเหลือให้พวกเขาเหล่านั้นได้มีบทบาทในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของชุมชน”

 

ดร.นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในโอกาสบรรยายพิเศษ หัวข้อ World Congress for Community Volunteers in Reintegration of Offenders วันที่ 7 มีนาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์ไปยังที่ประชุมคู่ขนาน (Ancillary Meeting) ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 14 (The 14th United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice) ซึ่งจัดขึ้นที่นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

 

การประชุมคู่ขนาน ในหัวข้อ World Congress for Community Volunteers in Reintegration of Offenders จัดขึ้นโดย กระทรวงยุติธรรม ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเป็นเวทีให้ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมและอาสาสมัครที่ทำงานในระบบคุมประพฤติ ซึ่งที่ประเทศญี่ปุ่นมีชื่อเรียกว่า ระบบ “โฮโกชิ” (Hogoshi System) ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แนวทางการดำเนินงาน ค่านิยม และทัศนคติเพื่อการสร้างระบบคุมประพฤติที่มีประสิทธิภาพบนพื้นฐานของการให้ความร่วมมือกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญและอาสาสมัคร

 

การประชุมครั้งนี้เริ่มด้วยการกล่าวเปิดงาน การเสวนาระหว่างผู้บรรยายจากหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเจ้าภาพ ซึ่งระบบโฮโกชิ เป็นระบบที่ได้รับการยอมรับและมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือผู้เคยกระทำผิดให้กลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และท้ายสุดมีการเปิดพื้นที่ให้ผู้ร่วมประชุมลงมติรับรองมติข้อกำหนดเกียวโตว่าด้วยอาสาสมัครชุมชนเพื่อการสนับสนุนการคืนสู่สังคมของอดีตผู้ต้องขัง (Kyoto Declaration on Community Volunteers Supporting Offender Reintegration หรือ Kyoto Hogoshi Declaration) ซึ่งเรียกร้องให้มีการสร้างเสริมเครือข่ายอาสาสมัครนานาชาติในด้านการคืนสู่สังคมของผู้ต้องขัง และกำหนดวัน “โฮโกชิ” หรือวันอาสาสมัครชุมชนเพื่อสนับสนุนการคืนสู่สังคมของผู้ต้องขังต่อไป

 

 

ในการนี้ ดร.นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษา TIJ ได้ร่วมเป็นผู้บรรยายพิเศษในการอภิปรายถึงบทบาทของอาสาสมัครชุมชนในอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยระบุว่า ในห้วงเวลานี้ ความท้าทายประการหนึ่งของอาสาสมัครชุมชนคือ ผู้คนใช้สื่อสังคมออนไลน์ตามความคิดและค่านิยมส่วนตัว ทำให้กลุ่มคนที่อายุน้อยมีความคิดและค่านิยมที่แตกต่างจากคนรุ่นเก่า และมีผลต่อการปรับตัวเมื่อต้องเข้ามาเป็นอาสาสมัครชุมชนเพื่อช่วยเหลือคนรุ่นเก่าที่เพิ่งจะพ้นโทษ และในทางเดียวกัน คนรุ่นเก่าที่มาเป็นอาสาสมัครก็ต้องประสบกับความท้าทายนี้เช่นกัน นอกจากนี้ อาสาสมัครชุมชนยังจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีทักษะในการช่วยเหลือผู้พ้นโทษให้สามารถคืนสู่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ดร. นัทธี ยังได้ให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะถึงระบบอาสาสมัครชุมชนดังกล่าวว่า รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโครงการวิจัยเชิงลึก เพื่อสร้างฐานข้อมูลเชิงประจักษ์สำหรับการพัฒนาระบบอาสาสมัครชุมชนในอนาคต รวมทั้งนำวิธีการทดลองและทดสอบมาใช้เพื่อให้การนำระบบอาสาสมัครชุมชนมาใช้ให้ผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง

 

การมีข้อกำหนดเกียวโต ในเรื่องของระบบโฮโกชิ เป็นเวทีนานาชาติที่สำคัญที่จะช่วยให้เกิดการแลกเลี่ยนเรียนรู้กรณีศึกษาของการป้องกันอาชญากรรมในระดับของชุมชน และส่งเสริมให้ประเทศอื่นๆ ได้ศึกษาและยอมรับระบบนี้มากขึ้น โดยปัจจัยที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือการที่เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนทั่วไปตระหนักรู้และยอมรับระบบอาสาสมัครดังกล่าวว่าเป็นแนวทางสนับสนุนที่จะช่วยป้องกันอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

“หากเราพัฒนามาตรฐานนานาชาติขั้นต่ำสหรับระบบอาสาสมัครชุมชนที่ให้ความสำคัญต่อความแตกต่างทางสังคมและวัฒนธรรมในบริบทที่แตกต่างกัน เพื่อยกระดับการดำเนินงานของอาสาสมัครชุมชนทั่วโลกให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอาสาสมัครทั่วโลก”

 

ดร.นัทธี กล่าวเสริม และทิ้งท้ายด้วยว่า

 

“บริการคุมประพฤติและให้บริการชุมชนจะสำเร็จได้ เมื่อชุมชนให้ความร่วมมือ ดังนั้นประสิทธิภาพของอาสาสมัครชุมชนเพื่อช่วยเหลือผู้พ้นโทษในการคืนสู่สังคมจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการนี้”

 

รับชมการประชุม World Congress for Community Volunteers in Reintegration of Offenders ย้อนหลัง ลงทะเบียนได้ที่ bit.ly/3kIj9Wl และติดตามอัพเดทได้ที่ https://www.unodc.org/unodc/en/crimecongress/about.html  หรือ www.tijthailand.org

#TIJ #CrimeCongress #UNODC

 

 

Back
chat