ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม

เอกอัครราชทูตอดิศักดิ์  ภาณุพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบัน เพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ร่วมการประชุม คณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (CCPCJ) สมัยที่ 22 ณ สำนักงานสหประชาชาติ  กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย  เมื่อวันที่ 22 – 26 เมษายน 2556 คณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (UN Commission on Crime Prevention and Criminal Justice – CCPCJ) เป็นคณะกรรมาธิการภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ CCPCJ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 40 ประเทศ โดยปัจจุบันประเทศไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิก ในวาระตั้งแต่ปีค.ศ. 2012 – 2014 CCPCJ มีภารกิจหลักเกี่ยวกับกำหนดนโยบายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกใน การป้องกันอาชญากรรมและอำนวยความยุติธรรมทางอาญาในระดับระหว่างประเทศ โดยมีสำนักงานว่าด้วย ยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการการประชุม การประชุมประจำปี ของ CCPCJ มีกำหนดจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี

ระเบียบวาระการประชุม CCPCJ สมัยที่ 22 ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของสถาบันฯ ได้แก่ ระเบียบวาระที่ 6 การประยุกต์ใช้มาตรฐานและบรรทัดฐานของสหประชาชาติในการป้องกันอาชญากรรมและปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด  โดย สธท.ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพฯ เพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และระเบียบวาระที่ 8 การเตรียมการจัดประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 13 (Thirteenth UN Congress on Crime Prevention and Criminal Justice) ผู้อำนวยการ สธท. ได้กล่าวถ้อยแถลงเกี่ยวกับบทบาทของไทยในการร่วมกำหนดระเบียบวาระการประชุม และการเตรียมการในด้านต่างๆ โดยร่วมมือกับผู้แทนรัฐกาตาร์ ซึ่งจะเป็นประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าวในปี 2015 ด้วย

นอกจากภารกิจในการประชุมหลักแล้ว  ผู้แทน สธท. ยังรับผิดชอบเป็นประธานการประชุมเจรจาอย่างไม่เป็นทางการเพื่อพิจารณาร่างข้อมติซึ่งจะเสนอให้ที่ประชุม CCPCJ สมัยที่ 22 รับรองด้วย ได้แก่ ร่างข้อมติซึ่งเรียกร้องให้ยกระดับและสร้างความตระหนักรู้ในกลไกของสหประชาชาติที่จะนำเอาหลักนิติธรรม การป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาไปเป็นประเด็นการหารือเพื่อทบทวนระเบียบวาระการพัฒนาของสหประชาชาติภายหลังปี ค.ศ.2015   และข้อมติที่เสนอให้ขยายกรอบเวลาและอาณัติของกลไกการทบทวนข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง เพื่อหาแนวทางปรับปรุงมาตรฐานสำคัญด้านการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในระดับระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพและเหมาะกับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ คณะผู้แทนไทยยังได้รับพระกรุณาเป็นล้นพ้นในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา ทรงรับเป็นประธานการประชุมเจรจาอย่างไม่เป็นทางการเพื่อพิจารณาร่างข้อมติสำคัญอีกหลายประเด็น รวมถึง (1) ร่างข้อมติว่าด้วยการเตรียมการจัดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาครั้งที่13 ซึ่งจะจัดขึ้นในปี 2558 ณ กรุงโดฮาร์ รัฐกาตาร์ ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้เสนอร่วมกับรัฐกาตาร์  (2) ร่างข้อมติเรียกร้องให้มีมาตรการรับมือกับ gender-related killing of women and girls และ (3) ร่างข้อมติว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการในการป้องกันความรุนแรงต่อเด็กในระบบยุติธรรมทางอาญา   เพื่อผลักดันเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศต่อไป โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยจะร่วมกับ UNODC  ในการสนับสนุนจัดประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ในประเทศไทยต่อไป  นับเป็นพระกรุณาธิคุณยิ่งแก่ประเทศไทยและสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่ประเทศไทย


แก้ไขล่าสุด :  29 สิงหาคม 2556

Back
chat