TIJ แชร์ความสำเร็จและความก้าวหน้าการจัด ACCPCJ ในเวที Crime Congress
“การประชุมอาเซียนว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (ASEAN Conference on Crime Prevention and Criminal Justice – ACCPCJ) เป็นเวทีที่เกิดขึ้นอย่างถูกที่ถูกเวลาเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันในเรื่องของพลวัตของการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมในระดับภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา และสร้างความตระหนักถึงความร่วมมือระหว่างภาคีจากหน่วยงานต่างๆ ที่นำไปสู่นวัตกรรมการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่ท้าทายในปัจจุบัน”
ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวในปาฐกถาเปิดการประชุมคู่ขนาน หัวข้อ Cross-sectoral collaboration for crime prevention: experience from the ASEAN Conference on Crime Prevention and Criminal Justice (ACCPCJ) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์ ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 14 (The 14th United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice – Crime Congress) ซึ่งจัดขึ้นที่นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
การประชุมระดับอาเซียน ACCPCJ เป็นการประชุมที่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย (ASLOM) ด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (SOMTC) คณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (SOCA) ตลอดจนผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติงาน และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ และแนวทางการปฏิบัติที่ดีระหว่างประเทศสมาชิก ส่งเสริมความร่วมมือทางกฎหมายการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ การดำเนินงานด้านความยุติธรรมทางอาญาอย่างบูรณาการ และสนับสนุนการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 16 ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรมและสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผลรับผิดชอบและครอบคลุมในทุกระดับ และเป้าหมายที่ 17 เสริมความแข็งแกร่งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลก เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในการประชุมที่ Crime Congress ในหัวข้อดังกล่าว ผู้ร่วมการเสวนาในการประชุมได้อภิปรายถึงความก้าวหน้าของความร่วมมือในอาเซียน ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา อันเป็นผลพวงจากการประชุม ACCPCJ ซึ่งล่าสุดได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และมีความเห็นเห็นพ้องกันว่า การป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในปัจจุบันมีความท้าทายในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทั่วโลกเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผู้คนต้องรักษาระยะห่างทางสังคม และอาศัยเทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารและดำเนินชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีแนวโน้มที่จะเกิดอาชญากรรมในรูปแบบขององค์กรข้ามชาติ และไร้พรมแดน ผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ หลักฐานเชิงประจักษ์ และแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อการแก้ไขปัญหาในสังคม
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และประธาน ASLOM ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า การประชุม ACCPCJ เป็นตัวอย่างเวทีการประชุมที่ปรึกษาและแลกเปลี่ยนความคิดที่จะเป็นตัวอย่างให้ความร่วมมือแก่ประเทศต่าง ๆ ได้ และถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ดี แต่ก็ยังจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นประโยชน์ในอนาคตต่อไป
ด้านนายโยชิมิตสุ ยามาอุชิ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ประเทศญี่ปุ่น ยังได้ระบุด้วยว่า หวังว่าจะมีการจัดประชุมระดับภูมิภาคเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลญี่ปุ่นพร้อมที่จะกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับอาเซียนในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ผู้ร่วมงานเสวนาในการประชุมคู่ขนานครั้งนี้ ประกอบด้วย มาดามสุไรนี ชาร์บาวี รองอธิบดีอัยการ สภาอัยการ และเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย ประเทศบรูไน ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และประธาน ASLOM ประเทศไทย นายโยชิมิตสุ ยามาอุชิ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ประเทศญี่ปุ่น นายสุวรรณสาม อัน ผู้อำนวยการสำนักข้อตกลงและกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการอาเซียน และนายจูเลียน การ์ซานี รองผู้อำนวยการสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ดำเนินรายการโดย นายวงศ์เทพ อรรถไกวัลวที ที่ปรึกษาพิเศษ TIJ
ติดตามอัพเดทได้ที่ https://www.unodc.org/unodc/en/crimecongress/about.html หรือ https://www.tijthailand.org/
#TIJ #CrimeCongress #UNODC #ASEAN #ACCPCJ