ยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้คุกกี้ (cookie) เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานและเพิ่มความพึงพอใจต่อการได้รับการเสนอข้อมูลและเนื้อหาต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตามนโยบายคุกกี้ของเรา

รายละเอียดเพิ่มเติม
TIJ จัดกิจกรรม Movie Talk กับประเด็น “ภาพยนตร์สารคดี: สื่อทางเลือกสะท้อนความยุติธรรม” Reskill การทำหนังถ่ายทอดเนื้อหาเชิงสังคมมุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลง
 
 
“การทำหนังสารคดีคือการนำข้อมูลที่มี มาทำให้น่าติดตาม สร้าง engagement ด้วยการนำเสนอข้อมูลผ่านความเป็นมนุษย์ โดยนำเสนอเรื่องราวที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกอยากเอาใจช่วย” เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์ ผู้กำกับหนังสารคดีเรื่อง Breaking the Cycle ภาพยนตร์สารคดีที่ติดตามการดำเนินงานของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ระหว่างการเลือกตั้งในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2562 กล่าว
 
 
เอกพงษ์ และ กฤตวิทย์ หริมเทพาธิป โปรดิวเซอร์ผู้ร่วมก่อตั้ง Documentary Club ร่วมเป็นวิทยากรในกิจกรรม Movie Talk กับประเด็น “ภาพยนตร์สารคดี: สื่อทางเลือกสะท้อนความยุติธรรม” เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 ที่โรงภาพยนตร์ Doc Club and Pub กรุงเทพฯ โดยงานนี้เจ้าหน้าที่ TIJ และสื่อมวลชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ยังได้รับชมภาพยนตร์เรื่อง Collective ภาพยนตร์จากประเทศโรมาเนีย ซึ่งถ่ายทอดเรื่องจริงของเหตุการณ์เพลิงไหม้ไนท์คลับชื่อ Collective ที่นำไปสู่การเปิดโปงความฉ้อฉลครั้งมโหฬารของระบบสาธารณสุขและรัฐบาล ที่เดิมพันด้วยชีวิตของประชาชนและจริยธรรมของ “สื่อมวลชน” ด้วย
 
 
เอกพงษ์ เกริ่นนำถึงแนวคิดในการสร้างภาพยนตร์หรือหนังสารคดีว่า ความยากคือการหาจุดเริ่มต้นของเรื่อง เพื่อให้คนเข้าใจถึงเนื้อหาที่ต้องการจะสื่อ “ในหลายเรื่องจะเจอว่ามีข้อมูลจำนวนมากที่ขึ้นจอมาเพื่อให้ background ก่อนตัวหนังเริ่มเหมือนหนัง Star Wars ผู้ทำหนังต้องรู้ว่าอะไรควรเล่า อะไรที่ผู้ชมควรรู้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว และจำเป็นต้องมี Timeframe ว่าต้องเริ่มที่จุดไหน และมีความคิดชัดเจนว่าจะจบที่ตรงไหน”
 
 
สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการมี access เมื่อวางประเด็นที่จะเล่าและมี Timeframe แล้ว ผู้ทำหนังต้องหาตัวละครหลัก เรียกว่า access เพื่อเป็นแหล่งข้อมูล ตัวละครนี้ก็คือผู้เกี่ยวข้องที่จะมาร่วมเล่าเรื่อง อย่างในภาพยนตร์เรื่อง Collective ตัวละครก็คือกลุ่มทุนใหญ่ หน่วยงานรัฐบาล ผู้ได้รับผลกระทบ ผู้สื่อข่าว และประชาชน
 
 
“เรื่องราวของตัวหนังจะลึกได้แค่ไหนอยู่ที่การเข้าถึงแหล่งข้อมูลนี้ เพราะหากยิ่งเข้าถึงได้มาก ยิ่งส่วนตัวมาก ก็จะพาให้ผู้ชมมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจหรืออินเนื้อหาของหนังได้ และการใช้ฉากเปิดที่ดึงดูดความสนใจคนดู ก็จะนำไปสู่การสร้างอารมณ์ร่วมด้วย”
 
 
จากนั้นต้องกำหนดบทบาทหน้าที่ของตัวละครต่างๆ เพื่อการดำเนินเรื่องให้ชัดเจน อย่างตัวละครหลักอาจกำหนดให้เป็นผู้นำภารกิจ ตัวละครรองคือผู้ได้รับผลกระทบ ส่วนบุคคลที่สาม เป็นคนเล่ากฎกติกา เป็นต้น
 
 
เอกพงษ์ เล่าด้วยว่า การทำหนังสารคดีมีประเด็นที่อ่อนไหวอยู่มาก เพราะเกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลและชีวิตของผู้คน ดังนั้นเพื่อป้องกันประเด็นอ่อนไหว ผู้ทำหนังสามารถทำใบอนุญาตเพื่อขอใช้ภาพ และให้ access ลงนามยินยอมอนุญาตตั้งแต่ต้น หลังจากนั้นหากมีการถ่ายทำใดๆ เท่ากับ access รับทราบแล้วว่าทุกอย่างที่ถ่ายทำไว้สามารถเผยแพร่สู่สาธารณะได้ แต่ก็มีข้อควรระวังอีกเช่นกันว่า access จะเปิดเผยความจริงหรือจงใจปกปิดเพราะมีการถ่ายทำ ซึ่งจุดนี้ ผู้ถ่ายทำสารคดีต้องประเมินได้เองว่าเป็นรูปแบบใด
 
 
เอกพงษ์ ให้คำแนะนำว่า หากต้องการได้ข้อเท็จจริงก็จำเป็นต้องละลายเกราะของตัวละคร โดยอาจจะเข้าไปพูดคุยด้วยอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติต่อผู้จะมาเป็นตัวละครให้เราทั้งในฐานะคนเดินเรื่องและเพื่อนของเรา
 
 
ด้าน กฤตวิทย์ ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์สารคดีในประเทศไทยว่ามีขนาดเล็ก โดยมีผู้ผลิตอยู่ราว 30 รายเท่านั้น ผู้ที่จะทำหนังสารคดีมักจะเป็นคนที่มีความสนใจแรงกล้าต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และเคยมีประสบการณ์ที่ต้องต่อสู้กับความไม่ยุติธรรมมาก่อน
.
สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา หัวหน้าฝ่ายสื่อสารและดูแลภาพลักษณ์องค์กรของ TIJ เสริมด้วยว่า ข้อจำกัดของผู้ผลิตสารคดี โดยเฉพาะในส่วนของงานข่าวสืบสวนสอบสวนในประเทศไทย คือการที่รายการสารคดีไทยไม่สามารถแข่งขันได้กับรายการอื่นๆ ที่เข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้มากกว่า ทำให้ปัจจุบันแทบจะไม่มีเหลือในรายการโทรทัศน์ไทยแล้ว เพราะไม่มีทั้งทุนและบุคลากรที่จะทุ่มเทในการผลิต
 
 
นอกจากนี้ ผู้ร่วมกิจกรรมยังให้ความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า แหล่งข่าว หรือผู้แจ้งเบาะแส (whistleblower) ในประเทศไทยอาจไม่ได้รับการคุ้มกันจากการถูกคุกคามของกลุ่มผู้เสียประโยชน์ เมื่อต้องเปิดโปงเรื่องราวอยุติธรรมในสังคม
 
 
อย่างไรก็ดี วงพูดคุยยังได้ให้ความเห็นด้วยว่าการทำหนังสารคดีในไทยยังมีความเป็นไปได้อยู่ โดยอาจใช้วิธีการหาเงินทุนจากตลาดภาพยนตร์สารคดีในต่างประเทศ อย่างเทศกาลหนัง Sundance ซึ่งก็เป็นผู้ออกทุนให้กับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Collective ด้วย หรือช่องรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ต่างประเทศต่างๆ แต่ผู้ผลิตหนังสารคดีต้องมีการเตรียมงานไว้เบื้องต้นและเข้าร่วมการ pitch งานตามรอบเพื่อขอทุน
Back
chat