TIJ ย้ำ การใช้ “กีฬา” เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำในกลุ่มเด็กและเยาวชน ในเวที Crime Congress
“การใช้กีฬาเป็นเครื่องมือ (ป้องกันการกระทำผิดของเยาวชน) ไม่อาจให้ผลที่ดีได้ โค้ชต่างหากที่จะช่วยแนะแนวทางให้สัมฤทธิ์ผล”
ปีเตอร์ ออตเต็นส์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเยทส์ (YETS Foundation) กล่าวในการประชุมคู่ขนาน (Ancillary Meeting) หัวข้อ การใช้กีฬาเป็นยุทธศาสตร์ในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชน (Integrating Sport into Youth Crime Prevention and Criminal Justice Strategies) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์ ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 14 (The 14th United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice – Crime Congress) ซึ่งจัดขึ้นที่นครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น
การประชุมคู่ขนาน ดังกล่าว จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือป้องกันเด็กและเยาวชนจากการกระทำผิดซ้ำ ควบคู่กับการส่งเสริมทักษะการใช้ชีวิตของเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำผิด ในช่วงก่อนได้รับการปล่อยตัว อันจะยังผลให้เด็กที่กระทำผิดสามารถกลับคืนสู่สังคมและมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ เนื้อหาในการประชุมครั้งนี้มีความสอดคล้องกับข้อมติเรื่องการใช้กีฬาเป็นยุทธศาสตร์ในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชน ที่ประเทศไทยได้เป็นผู้เสนอในเวทีการประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice- CCPCJ) สมัยที่ 28 และได้รับการรับรองโดยฉันทามติจากประเทศสมาชิก และประชาคมโลกได้นำไปใช้อย่างแพร่หลาย
ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวระหว่างการให้ปาฐกถาเปิดการประชุมว่า ตั้งแต่การประชุม Crime Congress ที่กรุงโดฮา ในปี พ.ศ. 2558 สำนักว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้ผลักดันโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือป้องกันอาชญากรรมในเด็กและเยาวชน ภายใต้สาระสำคัญที่ว่ากีฬาเป็นเครื่องมือที่ช่วยป้องกันอาชญากรรมได้ เพราะมีศักยภาพในการส่งเสริมการยอมรับซึ่งกันและกันและเสริมพลังให้แก่ตนเอง และแนวทางการใช้กีฬาป้องกันอาชญากรรมยังสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการของสหประชาชาติว่าด้วยการกีฬาเพื่อการพัฒนาและสันติสุขด้วย
สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้เสนอข้อมติการใช้กีฬาเป็นยุทธศาสตร์ในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชน ได้มีการร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น โรซี มีค จากภาควิชาจิตวิทยาและอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรอยัล ฮอลโลเวย์ ประเทศอังกฤษ และเจมส์ แมพสโตน ประธานบริหาร องค์กร Alliance of Sport เข้ามาร่วมทำการวิจัยเพื่อทบทวนแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือป้องกันอาชญากรรม และล่าสุดยังประสบความสำเร็จในการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและกีฬาของประเทศไทย บรรจุการใช้กีฬาเพื่อป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มเด็กและเยาวชน ลงในแผนปฏิบัติการด้านกีฬาของอาเซียนอีกด้วย
“ครั้งนี้เป็นการเปิดบทใหม่ของความร่วมมือและนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรมที่พวกเราจะร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมบทบาทของกีฬาต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ความยุติธรรม และสันติสุขทั่วโลกต่อไป”
ดร.พิเศษ กล่าวปิดท้าย
การประชุมครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญนานาชาติร่วมบรรยาย ได้แก่ โจฮานส์ เดอ ฮาน เจ้าหน้าที่ด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา จาก UNODC โรซี มีค จากภาควิชาจิตวิทยาและอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรอยัล ฮอลโลเวย์ ประเทศอังกฤษ เจมส์ แมพสโตน ประธานบริหารองค์กร Alliance of Sport และปีเตอร์ อ็อตเต็นส์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิเยทส์ และดำเนินรายการโดย นายกิตติภูมิ เนียมหอม ผู้อำนวยการสำนักกิจการต่างประเทศและประสานนโยบาย ของ TIJ
ระหว่างการประชุม โรซี มีค จากภาควิชาจิตวิทยาและอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรอยัล ฮอลโลเวย์ ประเทศอังกฤษ ระบุว่า กีฬามีส่วนช่วยพัฒนาเด็กและสังคมได้ โดยอ้างอิงจากรายงานทางวิชาการว่ากีฬามีศักยภาพที่จะช่วยลดความโกรธ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมให้มีสุขภาพกายและใจที่ดีขึ้นได้ และหลักสำคัญในการนำกีฬามาใช้เป็นยุทธศาสตร์เช่นนี้คือการพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญากับชุมชนที่เกี่ยวข้องกับกีฬา โดยต้องไม่ละทิ้งคนกลุ่มน้อยในสังคม และต้องมีการพัฒนายุทธศาสตร์การติดตาม ประเมินผล และการเผยแพร่ที่มีประสิทธิภาพ
ขณะที่ เจมส์ แมพสโตน ประธานบริหาร องค์กร Alliance of Sport เสริมว่า สิ่งสำคัญให้ประสบความสำเร็จในการใช้กีฬาเพื่อป้องกันอาชญากรรมคือการสร้างความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เพียงแค่การให้เล่นกีฬาเท่านั้น โดยองค์กร Alliance of Sport ได้จัดทำโครงการเรียกว่า Levelling the Playing Field (LtPF) ที่เน้นการเสริมพลังแก่คนและองค์กรในท้องถิ่น โดยช่วยเหลือให้พวกเขานำกีฬาและกิจกรรมทางกายอื่น ๆ มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเสริมสร้างสุขภาพและคุณภาพชีวิตแก่เด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะเกี่ยวข้องหรืออยู่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“แทนที่จะบอกให้เด็ก ๆ ทำอะไร เราควรจะให้พวกเขาได้เห็นถึงด้านบวกและด้านลบของวัฒนธรรมกลุ่ม (peer culture) การขาดบุคคลต้นแบบในการดำเนินชีวิต และความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวหรือโรงเรียน”
ปีเตอร์ อ็อตเต็นส์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิเยทส์ กล่าว โดยอภิปรายต่อไปว่า โค้ชหรือผู้แนะแนวทางการใช้ชีวิตที่ดีจะเป็นผู้นำที่ช่วยให้เด็กและเยาวชนก้าวไปในทางที่ถูกต้องได้มากกว่าการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเล่นกีฬาเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ผู้ที่จะดำเนินโครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการใช้กีฬาเพื่อการป้องกันอาชญากรรมในเด็กและเยาวชนควรจะมีปรัชญาตรงกัน และสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระบวนการยุติธรรม เพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพ
ท้ายที่สุด โจฮานส์ เดอ ฮาน เจ้าหน้าที่ด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา UNODC กล่าวถึงข้อสังเกตจากการประชุมผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติเกี่ยวกับการใช้กีฬาเป็นยุทธศาสตร์ในการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาของเด็กและเยาวชน ที่จัดขึ้นโดย TIJ ร่วมกับ UNODC เมื่อปลายปี พ.ศ. 2562 ว่า กีฬานอกจากจะช่วยป้องกันอาชญากรรมได้ ยังอาจช่วยให้ชุมชนมีรายได้และช่วยให้เกิดความสามัคคีในชุมชน รวมทั้งอาจนำไปบรรจุในระบบยุติธรรมทางอาญาเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับกับเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นแนวทางเลือกแทนการคุมขัง การคุมประพฤติ การฟื้นฟูและการกลับคืนสู่สังคมของผู้กระทำผิดได้ โดยต้องไม่ละเลยกลุ่มผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่จะได้รับประโยชน์จากการนำกีฬามาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการป้องกันการกระทำผิดเช่นกัน
ติดตามอัพเดทได้ที่ https://www.unodc.org/unodc/en/crimecongress/about.html หรือ https://www.tijthailand.org
#TIJ #CrimeCongress #UNODC